“ 2 กุมภาพันธ์ 2536 ” เป็นอีกหนึ่งวันประวัติศาสตร์ที่สำคัญของวงการวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรรมของไทย ด้วยเป็นวันทูลเกล้า ฯ ถวายสิทธิบัตรการประดิษฐ์ “ เครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอย” หรือ “กังหันน้ำชัยพัฒนา” แด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร “ พระบิดาแห่งการประดิษฐ์ไทย ” พระมหากษัตริย์พระองค์แรกของโลกที่ได้รับสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์ และนับเป็นสิ่งประดิษฐ์ “เครื่องกลเติมอากาศ เครื่องที่ 9 ของโลก”
ถวายสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์ เครื่องกลเติมอากาศ ฯ
ต่อมาในวันที่ 2 กรกฎาคม 2536 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ นายอุทัย พิมพ์ใจชน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และคณะพร้อมทั้งกรรมการและ นายสุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา เข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ผู้แทนพระองค์ เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตรดังกล่าว ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต
และด้วยประจักษ์ถึงคุณประโยชน์ของ “เครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอย” หรือ “กังหันน้ำชัยพัฒนา” ที่แสดงให้ทั่วโลกได้เห็นถึงพระปรีชาสามารถในด้านการประดิษฐ์ และทรงเอาพระราชหฤทัยใส่ในปัญหาสิ่งแวดล้อม ห่วงใยต่อสุขภาพของประชาชน ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงพระราชทานพระราชดำริให้ประดิษฐ์คิดค้นขึ้น เพื่อใช้ประโยชน์ในการบำบัดน้ำเสียได้แบบอเนกประสงค์ ทั้งการเติมอากาศ การขับเคลื่อน และการกวนผสมผสาน
เครื่องกลนี้สามารถบำบัดน้ำเสียที่มีความสกปรก หรือค่า BOD 250 มิลลิกรัมต่อลิตร ได้ถึงวันละ 600 ลูกบาศก์เมตร สามารถลดค่า BOD ได้สูงกว่า 90 % และสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายเพียงลูกบาศก์เมตรละ 96 สตางค์ ปัจจุบันมีภาคเอกชนและหน่วยงานภาครัฐ นำสิ่งประดิษฐ์นี้ไปใช้เป็นจำนวนมาก คณะกรรมการบริหารสภาวิจัยแห่งชาติในขณะนั้น จึงมีมติเห็นสมควรทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย “ รางวัลผลงานคิดค้นหรือสิ่งประดิษฐ์ซึ่งเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ ฝ่ายวิทยาศาสตร์ รางวัลที่ 1 ประจำปี 2536”
คณะรัฐมนตรี กำหนด 2 ก.พ.ทุกปี วันนักประดิษฐ์
โดย คณะรัฐมนตรี มีมติเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2537 กำหนดให้ “ วันที่ 2 กุมภาพันธ์ ของทุกปี ” เป็น “วันนักประดิษฐ์” เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และระลึกถึงวันประวัติศาสตร์ของการจดทะเบียนและออกสิทธิบัตรให้แด่พระมหากษัตริย์พระองค์แรกของโลก
ต่อมาในวันที่ 14 สิงหาคม 2544 สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในขณะนั้น ได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานกลางในการจัดงาน “วันนักประดิษฐ์” ขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อดำเนินการส่งเสริมการคิดค้นและประดิษฐ์สิ่งที่เป็นประโยชน์ทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม และเป็นการส่งเสริมการประดิษฐ์คิดค้นของคนไทยให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกเพื่อให้มีความก้าวหน้ามั่นคงต่อไป ทั้งนี้ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในปัจจุบันได้ดำเนินการจัดงาน “วันนักประดิษฐ์” มาอย่างต่อเนื่อง
วช.จัดงานวันนักประดิษฐ์ ยิ่งใหญ่ ปี 2566
สำหรับในปี 2566 นี้ วช. ได้จัดงาน “วันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2566” ขึ้นเป็นครั้งที่ 24 ภายใต้แนวคิด ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมด้วยสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า งานวันนักประดิษฐ์ในปีนี้ วช. ร่วมกับสถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐและเอกชน รวมถึงองค์กรด้านการวิจัยและการประดิษฐ์คิดค้นทั้งในประเทศและระดับนานาชาติ จัดขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร “ พระบิดาแห่งการประดิษฐ์ไทย ” และเป็นเวทีระดับชาติที่เปิดโอกาสให้ผลงานสิ่งประดิษฐ์คิดค้นและนวัตกรรมพร้อมใช้ฝีมือคนไทยได้เผยแพร่ออกสู่สาธารณชนในวงกว้าง พร้อมผลักดันให้เกิดการขยายผลและนำไปใช้ประโยชน์ในมิติต่าง ๆ ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) และเป้าหมาย “ประเทศไทย 4.0” ในการนำการวิจัยและนวัตกรรม เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและพัฒนาสังคมของประเทศ
ที่สำคัญ...ในปีนี้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานรางวัล “รางวัลการวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2566” ซึ่งประกอบด้วย ”รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ” ที่เชิดชูเกียรตินักวิจัยไทยมืออาชีพในแต่ละสาขา ที่อุทิศตนให้กับวงการวิจัยไทยมาอย่างต่อเนื่อง สร้างผลงานวิจัยที่มีคุณประโยชน์เป็นที่ประจักษ์ และเป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับยกย่องว่า มีจริยธรรมของนักวิจัย สมควรเป็นแบบอย่างแก่นักวิจัยผู้อื่นได้ “รางวัลผลงานวิจัย” ที่แสดงให้เห็นแล้วว่าเป็นผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยและสามารถนำไปใช้ได้จริง “รางวัลวิทยานิพนธ์” วิทยานิพนธ์ของนักศึกษาสัญชาติไทยที่มีคุณภาพ และมีศักยภาพสูงในการนำไปต่อยอดใช้งานในอนาคต และ “รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น” ผลงานของนักประดิษฐ์ไทยที่สามารถพัฒนาผลงาน กระบวนการหรือนวัตกรรมที่พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเป็นประโยชน์แก่สังคมและประเทศชาติ
กิจกรรมภายในงาน
ส่วนกิจกรรมในภายในงาน จะมีการปาฐกถาพิเศษ “ ชาติไทยมีนวัตกรรมหรือไม่ ” โดย “ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม การเสวนาวิชาการในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม จากหน่วยงานเครือข่ายในระบบวิจัยและการประดิษฐ์ การประกวดสิ่งประดิษฐ์ระดับนานาชาติ การประกวดสิ่งประดิษฐ์ระดับเยาวชน การจัดอบรม กิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ ตลาดสินค้าและนวัตกรรม และภาคนิทรรศการที่มีการนำผลงานสิ่งประดิษฐ์คิดค้นจากนักประดิษฐ์ไทยและนานาชาติ มาจัดแสดงกว่า 1,000 ผลงาน
ทั้งนี้ นิทรรศการที่น่าสนใจ นอกจากนิทรรศการ “พระบิดาแห่งการประดิษฐ์ไทย” และนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ รวมถึงนิทรรศการผลงานที่ได้รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ และผลงานที่ได้รับรางวัลจากเวทีนานาชาติแล้ว ยังมีนิทรรศการจากหน่วยงานด้านการวิจัยและนวัตกรรม นิทรรศการนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์สร้างสรรค์ นิทรรศการสิ่งประดิษฐ์สร้างมูลค่า นิทรรศการพื้นที่เรียนรู้กับนวัตกรรมโดรน ขบวนการผู้พิทักษ์ป่าไม้ ขุมทรัพย์ป่าชายเลน นิทรรศการ U2T นิทรรศการสิ่งประดิษฐ์สู่นวัตกรรม นิทรรศการนักประดิษฐ์วิจิตรศิลป์ นิทรรศการจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ สู่ก้าวที่ยิ่งใหญ่ มหกรรมสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมนานาชาติ และนิทรรศการจากหน่วยงานเครือข่าย ใน 6 กลุ่มเรื่อง คือ ด้านความมั่นคง ด้านการเกษตรเพิ่มมูลค่า ด้านอุตสาหกรรมและบริหารแห่งอนาคต ด้านนวัตกรรมเพื่อการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพ ด้านนวัตกรรมสังคมผู้สูงวัยและผู้พิการ และด้านนวัตกรรมสีเขียว
ผลงานประดิษฐ์ มันสมองของคนไทย
พลาดไม่ได้...กับไฮไลต์ผลงานประดิษฐ์คิดค้นจากมันสมองของคนไทย อย่างเช่น “นวัตปะการัง” ปะการังเทียมที่มีโครงสร้างเลียนแบบธรรมชาติด้วยกระบวนการออกแบบชีวจำลอง ซึ่งเป็นนวัตกรรมการออกแบบที่ผสมผสานเทคโนโลยีเข้ากับการฟื้นฟูธรรมชาติใต้ท้องทะเลได้อย่างสวยงาม น้ำหนักเบา เคลื่อนย้ายสะดวกทำให้ประหยัดงบประมาณ และไม่กระทบกิจกรรมการท่องเที่ยว “เต่าบินโรโบติกบาริสต้า” นวัตกรรมที่ได้รับรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้นระดับดีเด่น ปี 2566 เป็นการพัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์ชงกาแฟที่คิดค้นชุดอุปกรณ์จับและหมุนแก้วเลียนแบบการทำงานของมนุษย์ มีระบบเชื่อมโยงโครงข่ายเข้าสู่ส่วนกลาง แสดงสถานะของละแต่ตู้ได้แบบเรียลไทม์ โดยเทคโนโลยีกลไกรวมถึงซอฟต์แวร์ต่าง ๆ ถูกบรรจุรวมไว้ในตู้ซึ่งใช้พื้นที่เพียง 1 ตารางเมตร
ส่วน “เท้าเทียมไดนามิกส์สำหรับผู้พิการขาขาดที่แข็งแรง” เป็นนวัตกรรมเท้าเทียมที่ผลิตจากคาร์บอนไฟเบอร์ ทนทาน แข็งแรง น้ำหนักเบาและยืดหยุ่นเสมือนมีข้อเท้าที่งอขึ้นลงและบิดซ้ายขวาได้เหมือนเท้าคนปกติ “การผลิตกระจกเกรียบตามอย่างโบราณ เพื่อพัฒนาสู่การบูรณะและต่อยอดงานศิลปกรรมไทย” ซึ่งมีการฟื้นฟูองค์ความรู้ทางศิลปวัฒนธรรมในอดีตมาผลิตเป็นนวัตกรรมใหม่ และนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต อย่างเช่น “เส้นโปรตีนไข่ขาวพร้อมทาน ไร้แป้ง ไร้ไขมัน ที่ผ่านการฆ่าเชื้อด้วยรีทอร์ท” ซึ่งช่วยเพิ่มมูลค่าไข่ขาวปกติได้สูงถึง 14 เท่าและทำให้การบริโภคไข่ขาวไม่น่าเบื่ออีกต่อไป
นอกจากนี้ยังมี “นวัตกรรมเคลือบผิวกล้วยหอมทองเพื่อการส่งออก” ซึ่งช่วยยืดอายุผลผลิตทางการเกษตร “ชุดตรวจ DNA ไวรัสเด็งกี่” นวัตกรรมทางการแพทย์ ที่มีความไวและจำเพาะสูง สามารถตรวจได้อย่างรวดเร็ว ช่วยลดอัตราการระบาดของโรคไข้เลือดออก และ “ลวดจัดฟันวัสดุฉลาด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดฟันและลดความเจ็บปวด” นวัตกรรมทางทันตกรรมที่สร้างมาจากโลหะจำรูปผสม นิกเกิล-ไทเทเนียม
วช. ขอเชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมชมงาน “ วันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2566 ” ระหว่างวันที่ 2 - 6 กุมภาพันธ์ 2566 ณ อีเวนท์ ฮอลล์100-102 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพมหานคร
คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด