คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดงานแถลงข่าว การจัดงานวันเกษตรภาคอีสาน ประจำปี 2566 โดยมี รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวเปิดการแถลงข่าว รองศาสตราจารย์ ดร.ดรุณี โชติษฐยางกูร คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ ประธานคณะกรรมการจัดงาน กล่าวแถลงกิจกรรมของคณะเกษตรศาสตร์ นายธงชัย คำโคตร ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 นายสุรพล ธัญญเจริญ ปศุสัตว์เขต 4 นายกมล โสพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 4 จังหวัดขอนแก่น ผู้แทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวแถลงกิจกรรมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการนี้มี ประชาชนที่สนใจ และ สื่อมวลชน เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก ณ ห้อง 5101 อาคาร AG 05 คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
นายธงชัย คำโคตร ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 กล่าวว่า กรมวิชาการเกษตร โดยสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 จ.ขอนแก่น ศูนย์วิจัยพืชไร่ขอนแก่น ศูนย์วิจัยและพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืชขอนแก่น ศูนย์วิจัยและพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตรขอนแก่น และศูนย์วิจัยเกษตรวิศวกรรมขอนแก่น ได้ร่วมกันจัดงานเกษตรภาคอีสาน ประจําปี 2566 ภายใต้แนวคิด “กรมวิชาการเกษตร 50 ปี เทคโนโลยีคู่เกษตรกรไทยก้าวไกลและยั่งยืน” มีพื้นที่จัดงานประมาณ 600 ตารางเมตร เป็นนิทรรศการที่จัดแสดง ประกอบไปด้วย 8 Zone ดังนี้ ZONE 1 50 ปี พืชไร่พันธุ์ดีของกรมวิชาการเกษตร ZONE 2 50 ปี เทคโนโลยีการผลิตและเครื่องจักรกลการเกษตร ZONE 3 การผลิตเมล็ดพันธุ์พืชและบริการตรวจสอบรับรองคุณภาพ ZONE 4 ปัจจัยการผลิต (ปุ๋ยชีวภาพและชีวภัณฑ์) และการตรวจสอบปัจจัยการผลิต ZONE 5 อาหารปลอดภัยใส่ใจมาตรฐาน และพรบ.ปุ๋ยพันธุ์พืช และวัตถุอันตรายทางการเกษตร ZONE 6 การแปรรูปสินค้า และผลิตภัณฑ์จำหน่ายจ่ายแจกพันธุ์พืช ผลผลิต และผลิตภัณฑ์ ZONE 7 เวทีสาธิตและเสวนาวิชาการ ZONE 8 จุด Check in หรือจุดแลนด์มาร์คสำหรับถ่ายภาพ: 50 ปี กรมวิชาการเกษตร ซึ่งทุกโซนล้วนสะท้อนถึงนวัตกรรมด้านการเกษตรที่ประชาชนไม่ควรพลาด
รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า การจัดงานวันเกษตรภาคอีสาน ถือได้ว่าเป็นอีกงานหนึ่งที่จัดขึ้นเพื่อสนองตอบต่อปณิธาน และ ปรัชญาของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ว่าจะเป็นศูนย์รวมทางความคิด สติปัญญาของสังคม และเป็นศูนย์รวมการศึกษาของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นกิจกรรมใหญ่อีกกิจกรรมหนึ่งของมหาวิทยาลัยขอนแก่นและของจังหวัดขอนแก่น ที่ก่อให้เกิดการหมุนเวียน และ เป็นแรงขับเคลื่อนช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจในจังหวัดได้เป็นอย่างดียิ่ง จากการจัดงานครั้งล่าสุดเมื่อปี 2563 มีประชาชนเข้าเที่ยวชมงานรวมกว่า 500,000 คน หรือโดยเฉลี่ยวันละ 50,000 คน และ มีเงินทุนหมุนเวียนภายในงานมากกว่า 500-600 ล้านบาท
รองศาสตราจารย์ ดร.ดรุณี โชติษฐยางกูร คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ มข. ประธานคณะกรรมการจัดงาน กล่าวว่า งานวันเกษตรภาคอีสานประจำปี 2566 ปีนี้นับเป็นปีที่ 31 ของการจัดงาน โดยจัดขึ้นภายใต้คำขวัญ “นวัตกรรมเกษตรอีสาน มุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดนิทรรศการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พร้อมสืบสานพระราชปณิธานภายใต้ร่มพระบารมีพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และ เพื่อแลกเปลี่ยนผลงานวิชาการและวิจัยทางการเกษตรของนักวิชาการทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งองค์กรพัฒนาเอกชนและเกษตรกร เพื่อกระตุ้นและส่งเสริมการขยายตัวของธุรกิจเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรขนาดกลางและขนาดย่อม
“ในส่วนของพื้นที่การจัดงาน ในปี 2566 คณะเกษตรศาสตร์ ได้มีการปรับปรุงทัศนียภาพบริเวณโดยรอบอุทยานเทคโนโลยีการการเกษตร ได้แก่ การจัดทำรั้วคาวบอย การเพิ่มเลนจักรยาน และการจัดทำลู่วิ่งเพิ่มเติม จึงได้มีการปรับเปลี่ยนผังการจัดงานโดยการขยับพื้นที่การจัดงานลงมาทางด้านทิศใต้ของอาคารนิทรรศการจตุรมุข มีการเปิดพื้นที่บริเวณฟาร์มคณะเกษตรศาสตร์และบริเวณทิศตะวันออกของบริเวณจัดงานเป็นลานจอดรถเพิ่มเติม สามารถจอดได้ทั้งรถบัสขนาดใหญ่และรถยนต์ส่วนตัว รองรับจำนวนผู้ที่มาเยี่ยมชมงานในแต่ละวันได้เป็นอย่างดียิ่ง รวมทั้งมีการให้บริการรถรางนำเที่ยวบริเวณรอบ ๆ พื้นที่จัดงานด้วย และหากผู้เข้าเยี่ยมชมงานต้องการหลีกเลี่ยงการจราจรที่ติดขัดสามารถจอดรถบริเวณประตูหน้ามหาวิทยาลัยขอนแก่นและนั่งรถเมล์ปรับอากาศฟรีสายสีเขียว (shuttle bus) เข้ามายังบริเวณการจัดงานได้ ฉะนั้นการจัดงานวันเกษตรภาคอีสานประจำปี 2566 จึงเป็นทั้งความยิ่งใหญ่ของนวัตกรรมด้านการเกษตร และ ภูมิทัศน์ของพื้นที่จัดงานที่สวยงามมากๆ”
“การจัดงานครั้งนี้เป็นการจัดแบบเต็มรูปแบบครั้งแรกหลังงดเว้นไป 2 ปีหลังจากสถานการณ์โรคโควิด-19 คลี่คลาย สำหรับการจัดงานงานวันเกษตรภาคอีสานเป็นงานที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการพัฒนาด้านการเกษตรของไทยเพื่อตอบสนองต่อนโยบายของรัฐบาล ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจแบบ BCG หรือ การพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม 3 มิติไปพร้อมกัน ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ซึ่งเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคม และ การรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุล”