ทำความรู้จักกับธุรกิจฟาร์มแพะครบวงจรภาคอีสานรายแรกๆ ของไทยอย่าง “สต็อกโฮล์ม” เอสเอ็มอีจากจังหวัดมหาสารคาม ที่เริ่มต้นด้วยการเปิดร้านอาหารสัตว์และต่อยอดจนเกิดเป็นฟาร์มแพะครบวงจรในที่สุด พร้อมกับมองเห็นโอกาสการเติบโตของธุรกิจฟาร์มแพะในอนาคต เนื่องจากผลิตภัณฑ์จาก “แพะ” มีทิศทางตลาดเติบโตสูง จากความนิยมรับประทานเนื้อและนม รวมถึงผลิตภัณฑ์แปรรูปที่เพิ่มขึ้น ผลักดันให้มีผู้ประกอบการสนใจเข้ามาลงทุนทำธุรกิจฟาร์มเลี้ยงแพะ จำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
สำหรับ “สต็อกโฮล์ม” (Stockholm) เอสเอ็มอีจาก จ.มหาสารคาม บุกเบิกธุรกิจฟาร์มเลี้ยงแพะเป็นรายแรกๆ ของเมืองไทย และพัฒนาจนยืนหนึ่งด้วยการเป็นฟาร์มเลี้ยงแพะครบวงจร ต้นแบบตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำแห่งเดียวในพื้นที่ภาคอีสาน โดยเฉพาะการเป็นศูนย์ผลิตน้ำเชื้อแช่แข็งแพะ และต่อยอดธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่อง มีส่วนสำคัญ ช่วยสร้างงานสร้างอาชีพให้แก่คนท้องถิ่น โดย SME D Bank ธนาคารเพื่อเอสเอ็มอีไทย เป็นเพื่อนร่วมทาง สนับสนุนให้ธุรกิจเติบโตต่อเนื่อง
เยาวลักษณ์ แดนพันธ์ หรือ “เจี๊ยบ” เจ้าของกิจการ เผยเส้นทางธุรกิจ “สต็อกโฮล์ม” เริ่มจากเปิดร้านขายสินค้าการเกษตร โดยเฉพาะ “อาหารสัตว์” อยู่ที่ อ.เมือง จ.มหาสารคาม ประกอบกับส่วนตัว เรียนจบด้าน “สัตวศาสตร์” จึงนำมารู้ มาขยายธุรกิจ ช่วยเสริมเกื้อหนุนกับธุรกิจเดิม ด้วยการทำฟาร์มเลี้ยง “แพะขุน” อยู่ที่ ต.หนองเรือ อ.นาเชือก จ.มหาสารคาม เพราะมองแนวโน้มสินค้าจากแพะยังเป็นตลาดใหม่ในเมืองไทย โอกาสยังเปิดอีกกว้าง รวมถึง ข้อดีของการเลี้ยงแพะ มีวงจรตั้งท้องเพียง 5 เดือน ทำให้สามารถขายแพะได้ถึง 2 รอบต่อปี
ทั้งนี้เธอได้นำความรู้ด้าน “สัตวศาสตร์” มายกระดับฟาร์มเลี้ยงสู่ศูนย์ผลิตน้ำเชื้อแช่แข็งแพะ ที่ได้มาตรฐานกรมปศุสัตว์ ซึ่งถือเป็นรายแรกของภาคอีสาน และเป็นรายที่สองของประเทศไทยจากทั้งหมดสามราย เปิดจำหน่ายน้ำเชื้อแพะให้แก่ผู้สนใจที่จะทำธุรกิจฟาร์มแพะ นำ “น้ำเชื้อ” ไปผสมเทียมเพื่อขยายพันธุ์ต่อไป โดยพ่อพันธุ์นำเข้ามาจากต่างประเทศ มีพระเอก คือ “แซมมี่ บอย” พันธุ์ Chammy America Bore Goat สุดยอดพ่อพันธุ์ สายแชมป์ นำเข้าจากประเทศสหรัฐอเมริกา ตอนอายุ 8 เดือน ในราคา 5 แสนบาท ปัจจุบันอายุประมาณ 3 ปี ถ้าจะขาย ราคาไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาท
นอกจากนี้เธอยังอธิบายถึงจุดเด่นด้านบริการของ “สต็อกโฮล์ม” ที่นอกจากการจำหน่ายน้ำเชื้อแล้ว ยังสอนกระบวนการผสมเทียมแบบวิธีฉีดน้ำเชื้อผ่านช่องคลองให้ด้วย ซึ่งเป็นวิธีที่ง่าย ใครๆ ก็ทำได้ เหมาะแก่เกษตรกรหน้าใหม่หรือผู้ที่ต้องการประกอบอาชีพนี้ สามารถนำไปต่อยอด ขยายพันธุ์แพะได้ด้วยตัวเองในอนาคต
ไอเดียธุรกิจยังไม่หยุดนิ่งเท่านั้น เธอได้เนรมิตพื้นที่ภายในฟาร์มให้กลายเป็นศูนย์การเรียนรู้การเลี้ยงแพะครบวงจร เปิดโอกาสให้ผู้สนใจเข้ามาเรียนรู้ และเมื่อมีคนเข้ามาจำนวนมาก ต่อยอดเปิดโซนคาเฟ่ไว้รองรับ มีบริการเมนูอาหารและเครื่องดื่มสุดพิเศษจากผลผลิตแพะไว้ให้ลิ้มลอง เช่น พิซซ่าเนื้อแพะ กาแฟนมแพะ คุกกี้ชูครีมนมแพะ ลาบแพะทอด ฯลฯ รวมถึงผลิตภัณฑ์แปรรูป เช่น สบู่นมแพะ เป็นต้น นอกจากนั้น จัดโซนให้นักท่องเที่ยวสายชิว ได้เข้ามาสนุกเพลิดเพลินกับการเลี้ยงป้อนอาหาร และถ่ายภาพกับแพะได้ด้วย
ในฟาร์ม “สต็อกโฮล์ม” มีแพะประมาณ 400 ตัว รายได้หลักมาจากจำหน่ายน้ำเชื้อ ควบคู่กับจำหน่ายแม่พันธุ์ ส่วนผลิตภัณฑ์แปรรูปต่าง ๆ ขณะนี้ยังมีจำหน่ายเฉพาะในฟาร์มและคาเฟ่เท่านั้น เนื่องจากวัตถุดิบมีจำกัด แต่ในอนาคต หากสามารถเพิ่มวัตถุดิบให้เหลือมากเพียงพอ จะขยายทำผลิตภัณฑ์แปรรูปเพื่อจำหน่ายในวงกว้างต่อไป
หนึ่งในปัจจัยที่ผลักดันให้ธุรกิจเติบโตมาถึงปัจจุบัน คือ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank สนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่พาถึงสินเชื่อเสริมสภาพคล่องธุรกิจจำหน่ายอุปกรณ์การเกษตร เมื่อปี 2558 รวมถึงแนะนำเข้าสู่มาตรฐานบัญชีเดียว และเติมทุนเพิ่มเติมในการขยายสาขาใหม่ ต่อเนื่องถึงการต่อยอดธุรกิจฟาร์มแพะ
อย่างไรก็ตามเจ้าของธุรกิจ ทิ้งท้ายว่า โอกาสของตลาดสินค้าจากแพะยังมีแนวโน้มเติบโตอีกกว้างไกล เพราะปัจจุบัน ความนิยมรับประทานเนื้อและนมแพะ ทั้งตลาดในและต่างประเทศ สูงขึ้นเรื่อย ๆ ตามเทรนด์รักสุขภาพ ดังนั้น สต็อกโฮล์ม วางเป้าหมายจะพัฒนาฟาร์มให้มีความสมบูรณ์แบบมากขึ้นไปอีก เพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้มาตรฐาน ช่วยพัฒนาวงการเลี้ยงแพะเมืองไทย ให้เติบโตต่อไปอย่างยั่งยืน
ติดต่อเพิ่มเติม
โทร. : 088 561 9915
Facebook : APMgenetic
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด* * *