xs
xsm
sm
md
lg

สกัดสารซีบีเอ็นพัฒนา “ยาแก้ปวด” รูปแบบใหม่ ไม่เสพติด ลดเสี่ยงโรคไต นิยามใหม่กัญชาเพื่อการแพทย์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ประเด็นร้อนปัญหาจากสารทีเอชซีที่อาจก่อให้เกิดการเสพติด ในพืชกัญชา-กัญชง การพัฒนาโดยใช้เทคโนโลยีการผลิตยาเข้ามาแก้ปัญหา ซึ่งการศึกษาวิจัยพบว่าทีเอชซีเป็นวัตถุดิบที่สำคัญในการผลิตสารซีบีเอ็นที่แพทย์ยอมรับว่ามีผลข้างเคียงน้อยกว่า


เมื่อเร็ว ๆ นี้ ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย สวทช. บริษัท โมดิฟายด์ เอพีไอ จำกัด เปิดตัวศูนย์นวัตกรรมเพื่อการแพทย์ที่มุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีทางด้านเคมีและเภสัชกรรม เพื่อส่งเสริมการพัฒนาสารสกัดจากกัญชาและกัญชงในประเทศที่ปัจจุบันนี้ยังมีความท้าทายอยู่มากโดยเฉพาะประเด็นร้อนปัญหาจากสารทีเอชซี (THC) ที่อาจก่อให้เกิดการเสพติด ทางออกในเรื่องนี้จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีการผลิตยาเข้ามาแก้ปัญหา ซึ่งการศึกษาวิจัยพบว่าสารทีเอชซีสามารถใช้เป็นวัตถุดิบที่สำคัญในการผลิตสารซีบีเอ็น (CBN) ที่แพทย์ยอมรับว่ามีผลข้างเคียงน้อยกว่า


คุณสิทธิรุจน์ เสถียรจารุพงศา ประธานบริษัทฯ กล่าวว่า การก่อตั้งศูนย์นวัตกรรมของทางบริษัทได้รับการสนับสนุนพื้นที่ห้องวิจัยและสำนักงานรวมทั้งการบริการทางด้านการวิจัยจากอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย สวทช. ซึ่งจะช่วยผลักดันให้“กัญชา” เป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น เรามุ่งเน้นการผลิตสารซีบีเอ็นที่ใช้สารตั้งต้นมาจากภาคการเกษตร โดยที่สารซีบีเอ็นให้ผลดีในการระงับการปวดและช่วยส่งเสริมคุณภาพการหลับ เราวางเป้าหมายไว้ว่าการพัฒนายาแก้ปวดรูปแบบใหม่จะช่วยแก้ปัญหาความเสี่ยงโรคไตจากการใช้ยาแก้ปวดกลุ่มพาราเซตามอลหรือที่เรียกว่าเอ็นเสด ทางบริษัทได้มีการหารือเรื่องคลินิกวิจัยกับบุคลากรการแพทย์จากโรงพยาบาลเมดพาร์คและคณะแพทยศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง โดยที่เรามีบริษัท ซาลัส ไบโอซูติคอล จำกัดเป็นแหล่งวัตถุดิบสำคัญเพื่อใช้ในกระบวนการผลิตซีบีเอ็น การควบคุมมาตรฐานและตรวจสอบย้อนกลับทำโดยเทคโนโลยีบล็อกเชน เอ็กซ์โค่ สมาร์ท แพลตฟอร์ม เพื่อส่งต่อสารตั้งต้นที่ได้เข้าสู่กระบวนการผลิตยา


นายแพทย์อนวัช เสริมสวรรค์ รองคณบดี คณะแพทยศาสตร์ฯ กล่าวว่า คลินิกวิจัยมีความสำคัญอย่างมากต่อการผลิตยาใหม่และจำเป็นต้องมีกระบวนการที่ต้องได้รับการยอมรับจากวงการแพทย์ นับว่าเป็นก้าวใหม่ที่ประเทศไทยจะได้มีบริษัทยาสัญชาติไทยที่สามารถเปลี่ยนจุดอ่อนเป็นจุดแข็ง สร้างโอกาสทางด้านสุขภาพให้กับคนในประเทศได้เข้าถึงยาที่ปลอดภัยมากขึ้น

ดร.พรชัย อินทร์ฉาย รองผู้อำนวยการ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กล่าวว่า การขับเคลื่อนนวัตกรรมด้วยงานวิจัยจะเป็นการสร้างความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการศึกษาในระยะยาว ช่วยให้เกิดการตื่นตัวกระตุ้นเยาวชนรุ่นใหม่สนใจวิทยาศาสตร์มากขึ้น สสวท. ภูมิใจที่บุคลากรที่เชี่ยวชาญเป็นพิเศษทางด้านการพัฒนายาจะได้เข้ามาเป็นกำลังหลักในการใช้องค์ความรู้เฉพาะทางมาช่วยแก้ไขปัญหาของประเทศ นอกจากนี้พันธกิจการผลิตบุคลากรที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอย่างต่อเนื่องจะช่วยให้ประเทศสามารถปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในการพัฒนาได้


ในช่วงท้ายเป็นการนำเยี่ยมชมผลงานวิจัยของศูนย์นวัตกรรมฯ โดย ดร.เกรียงศักดิ์ ขาวเนียม ผู้อำนวยการฝ่ายนวัตกรรมและเทคโนโลยี ของโมดิฟายด์ เอพีไอ กล่าวว่า ถ้าเราอยากจะขับเคลื่อน “กัญชาเพื่อการแพทย์” ให้ส่งออกได้ ก็ต่อเมื่อไม่ส่งออก “ทีเอชซี” ซึ่งทั่วโลกมีข้อกังวลเรื่องการเสพติด ดังนั้นโจทย์ง่ายมากต้องส่งออกในรูปของซีบีเอ็น (CBN) หรือซีบีดี(CBD) การพัฒนาในครั้งนี้เราถอดบทเรียนมาจากของอเมริกาบ้านเขาปลูกกัญชาหรือว่ากัญชงจะได้ สารทีเอชซีในปริมาณน้อยมากเมื่อเทียบกับสารซีบีดี แต่สารซีบีดีในท้องตลาดราคาถูกกว่าทีเอชซี ประเทศไทยเรามีจุดแข็ง คือ สภาพอากาศไม่ว่ากัญชาหรือกัญชงสายพันธุ์ไหนเข้ามาปลูก เจออากาศบ้านเรา กลายเป็นทีเอชซีหมดเลย ไม่ว่าจะปลูกกันอย่างไรสุดท้ายเกษตรกรบ้านเราเลยเป็นที่มาของคอขวดที่บอกว่า ทำไม่คุ้มหรอก เป็นไปไม่ได้! แต่ถ้าเรามีทีมเทคโนโลยีนวัตกรรมโดยบริษัทอยากจะชูว่า นวัตกรรมสามารถขับเคลื่อนการแพทย์ก็ได้ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจก็ได้ แต่ที่แน่ ๆ ต้องขับเคลื่อนเรื่องปากท้องของคนไทยได้




จากกรณีตัวอย่างของอเมริกา เขาพยายามสกัดทีเอชซีที่มีปริมาณน้อย เพื่อเปลี่ยนไปเป็นสารซีบีเอ็น(CBN) เพราะราคาในตลาดตอนนี้ 1.5 -2 ล้านบาท/กิโลกรัม ขณะที่สารซีบีดีราคาในตลาดตอนนี้หลักแสน ซึ่งประเด็นหลักเลยของบริษัทคือได้ช่วยคนไทย หางานส่งให้กับคนไทยที่มีความหวังว่า “กัญชาเพื่อการแพทย์” แล้วทางคุณหมอเองก็อยากได้ยาดี ๆ การปรับปรุงโครงสร้างสารสำคัญให้มีคุณสมบัติตามความต้องการทางยา เช่น เพิ่มความจำเพาะต่อโรค หรือลดอาการข้างเคียง นอกจากเป็นการเพิ่มมูลค่าหลังจากการเก็บเกี่ยวพืชกัญชา-กัญชงแล้วยังเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของสารออกฤทธิ์อีกด้วย และไม่เพียงสารซีบีเอ็นที่มีคุณค่าทางยาแล้ว ทางบริษัทมีการพัฒนาตำรับใหม่ในการใช้สารซีบีเอ็นเชิงเดี่ยว หรือเป็นตำรับร่วมกับสารซีบีดี เพื่อทดแทนการใช้สารทีเอชซีที่สังคมมีความกังวลถึงผลกระทบต่อระบบจิตประสาทที่มากกว่า


พร้อมกันนี้ ประธานบริษัทฯ บอกว่า โมดิฟายด์ เอพีไอ เราเป็นบริษัทที่ทำเกี่ยวกับยาคือเป็นฟาร์ม่า จริง ๆ ต้องบอกว่าเราต่อยอดมาจากสิ่งที่ชาวบ้านปลูกและก็ยังหาทางออกไม่เจอในเรื่องของทีเอชซี ฉะนั้นคือเป็นบริษัทแรกเลยที่เราพัฒนาตรงนี้เรื่องนี้มา เราสามารถพัฒนาจากทีเอชซีที่เขาว่าเป็น “ยาเสพติด” ตอนนี้ไม่ใช่ยาเสพติด 100% เพราะพัฒนามาเป็นสารซีบีเอ็นแทน แล้วก็นำไปพัฒนาต่อยอดในเรื่องของ “ยา” ยานอนหลับ ยาแก้ปวด ซึ่งอันนี้ดีมากเลยคือเป็นทางเลือกใหม่ เพื่อทดแทนยาเอ็นเสด คือกลุ่มยาเดิมพวกนั้นอาจจะมีผลข้างเคียงว่า อาจจะเกี่ยวกับไต ทำลายไต แต่ตัวที่เราทำพัฒนาขึ้นมานี้คือ ไม่ทำลายไต 100% อันนี้คือสิ่งที่เราแก้ปัญหาจากต้นทาง ตอนนี้เราคือเจ้าแรกที่ทำเรื่องนี้ได้สำเร็จ ผลิตยาโดยนวัตกรรม และก็เป็นนวัตกรรมใหม่ด้วยเทคโนโลยี และของคนไทย ซึ่งตอนนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนของคลินิกวิจัยที่ทำร่วมกับ สจร. และทางเมดพาร์คโดยคาดว่า ต้นปีหน้า พ.ศ.2566 จะมีการเปิดตัวเพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับคนไทยทั้งประเทศเลย ส่วนเรื่องราคาต้องบอกว่า ของคนไทยพัฒนา เพื่อคนไทย ฉะนั้นก็อยู่ในเรทที่ไม่แพงสำหรับคนไทยแน่นอน แต่ยาตัวนี้เราจะออกไปขายทั่วโลก ราคาทั่วโลกก็จะเป็นอีกราคาหนึ่ง แต่คนไทยต้องได้รับสินค้าที่เป็นของคุณภาพและก็ราคาถูกเพื่อคนไทยจริง ๆ

สำหรับผู้ที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร.080-419-1919

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด* * *


กำลังโหลดความคิดเห็น