ธุรกิจและอุตสาหกรรมการผลิตเสื้อผ้าเติบโตอย่างรวดเร็ว การผลิตจำนวนมากในภาคอุตสาหกรรมทำให้ต้นทุนลดลงหลายเท่า เสื้อผ้าจึงหมุนเวียนเปลี่ยนคอลเลคชันไปอย่างรวดเร็วเพื่อตอบสนองความพึงพอใจของผู้บริโภค
ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้เกิด อุตสาหกรรม Fast Fashion ที่ส่งผลกระทบมหาศาลต่อโลกและสิ่งแวดล้อม โมเดล BCG จึงเป็นทางออก อุตสาหกรรม Fast Fashion’ ในอนาคตที่จะตอบโจทย์ผู้บริโภคและผู้ประกอบการในการสร้างความยั่งยืน (Sustainability) ที่แท้จริงให้เกิดขึ้นได้
Fast Fashion คืออะไร?
เสื้อผ้าที่เน้นสวมใส่เพียงไม่กี่ครั้งตามกระแสนิยม โดยมีกระบวนการผลิตที่รวดเร็ว ใช้ต้นทุนต่ำทั้งในส่วนของวัตถุดิบในการผลิตและแรงงาน เพื่อให้เสื้อผ้ามีราคาไม่แพง เข้าถึงได้ง่าย เป็นแฟชั่นวงจรสั้น ๆ เปลี่ยนรูปแบบไปเรื่อย ๆ เน้นการขายปริมาณมากในเวลาอันรวดเร็ว
Fast Fashion ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร
อุตสาหกรรม Fast Fashion เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสร้างยอดขายให้อุตสาหกรรมเสื้อผ้ายุคนี้ได้อย่างมหาศาล ขณะที่เสื้อผ้าจะสวมใส่แค่ไม่กี่ครั้งแล้วถูกทิ้งไปอย่างรวดเร็ว เพื่อจะได้ตามแฟชั่นคอลเลคชันใหม่ที่อินเทรนด์กว่าอย่างรวดเร็วนั่นเอง
ด้วยเหตุนี้เองทำให้อุตสาหกรรม Fast Fashion เป็นตัวการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมามากกว่า 1.2 พันล้านตันต่อปี หรือคิดเป็นสัดส่วนถึงประมาณ 8 - 10 % ของอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนทั่วโลก ซึ่งเป็นตัวเลขการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่มากกว่าอุตสาหกรรมการเดินเรือและการบินเสียอีก
เท่านั้นยังไม่พอ อุตสาหกรรมดังกล่าว ยังใช้น้ำจำนวนมหาศาลในกระบวนการผลิต และเป็นตัวการปล่อยน้ำเสียและมลพิษมากมายเกือบ 20 % ของปริมาณน้ำเสียทั่วโลกออกสู่สิ่งแวดล้อมอีกด้วยแฟชั่นหมุนเวียน คือทางออกวิกฤต Fast Fashion
ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมแฟชั่นจำนวนไม่น้อย ที่พยายามหันมาเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความยั่งยืน (Sustainability) ให้กับธุรกิจ จึงเกิดเป็นกระแส Eco Fashion หรือ Sustainable Fashion
ปัญหาส่วนใหญ่เริ่มจากความต้องการของผู้บริโภค ทางออกของปัญหาก็น่าจะเริ่มต้นจากผู้บริโภคเช่นกัน เพราะความไม่สมดุลกันระหว่างความต้องการซื้อและการใช้งานจริง ก่อให้เกิดขยะเสื้อผ้ามากมาย
แนวทางการบรรเทาปัญหาด้วยแฟชั่นหมุนเวียน โมเดล BCG
แนวทางการบรรเทาปัญหาด้วยแฟชั่นแบบหมุนเวียน เป็นหนึ่งในแนวคิด ‘เศรษฐกิจหมุนเวียน’ อันเป็นส่วนหนึ่งของ โมเดล BCG เช่น การนำเอาวัสดุรีไซเคิลมาทำเป็นเสื้อผ้าใหม่ หรือการให้เช่าและขายเป็นเสื้อผ้ามือสอง ถือเป็นอีกทางเลือกที่เราสามารถเอาสินค้าเดิมมาหมุนเวียนใช้ซ้ำและแลกเปลี่ยนกันได้ ช่วยลดขยะแฟชั่นได้ไม่น้อย
ทั้งนี้ จากข้อมูลที่น่าสนใจของบริษัท Thredup ซึ่งเป็นร้านค้าออนไลน์มือสองขนาดใหญ่ในสหรัฐอเมริกา ได้คาดการณ์ว่า อีก 10 ปี ข้างหน้า มูลค่าตลาดของเสื้อผ้ามือสองจะมีมูลค่าสูงกว่า Fast Fashion มากถึง 2 เท่า
เนื่องจากเทรนด์การบริโภคที่มีแนวโน้มเปลี่ยนไป ทั้งจากปัญหา Fast Fashion รวมไปถึงการที่คนรุ่นใหม่ ๆ เริ่มตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม สนใจแฟชั่นแบบหมุนเวียนมากขึ้น ซึ่งแนวโน้มของผู้บริโภคเปิดใจต่อการซื้อเสื้อผ้ามือสองเพิ่มมากขึ้นในทุก ๆ ปี จึงเป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้ที่สนใจธุรกิจเสื้อผ้ามือสอง ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างมาก
ทางออก อุตสาหกรรม Fast Fashion จะไปสู่ความยั่งยืนได้อย่างไร?
ปัจจุบันเจ้าของธุรกิจแบรนด์แฟชั่นหลาย ๆ แบรนด์ หันมาให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อมและรับผิดชอบต่อโลกมากขึ้น โดยเฉพาะเจ้าของแบรนด์แฟชั่นชั้นนำ ที่ล่าสุดได้ร่วมลงนามในกฎบัตรด้านอุตสาหกรรมแฟชั่น (Fashion Industry Charter for Climate Action) ของสหประชาชาติ ได้ถูกกำหนดขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาของอุตสาหกรรมแฟชั่นที่ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และตั้งเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมแฟชั่นให้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2050 หรือ ปี พ.ศ. 2593
โดยผู้ลงนามตั้งเป้าที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดซัพพลายเชนลง 30 % ภายในปี ค.ศ. 2030 หรือ ปี พ.ศ. 2573 ซึ่งในช่วงเวลาที่ผ่านมา เริ่มเห็นแบรนด์เสื้อผ้า หันมาเปลี่ยนกระบวนการผลิตเสื้อผ้าให้เข้าใกล้กับ ความยั่งยืน (Sustainability) มากขึ้น เช่น การใช้ใยผ้าที่ทำมาจากวัสดุรีไซเคิล 100% รวมทั้งวัสดุออแกนิกส์
ตัวอย่างธุรกิจแฟชั่นที่ใช้แนวคิด BCG โมเดล
รู้หรือไม่ ? ฟุตบอลโลก 2022 เสื้อนักกีฬาทำมาจากขยะพลาสติกริมชายหาด หนึ่งในบริษัทที่น่าสนใจ ในการนำแนวทาง Circular Fashion แฟชั่นหมุนเวียน คือ การนำขยะพลาสติกหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งในปัจจุบันมีหลายแบรนด์เริ่มนำโมเดล BCG มาใช้ เช่น เสื้อนักกีฬา ‘ฟุตบอลโลก 2022’ ของ Adidas ที่ใช้ในการแข่งขัน FIFA World Cup 2022 ทำมาจากขยะพลาสติกที่เก็บจากท้องทะเลและเกาะต่าง ๆ บริเวณชายหาด และพื้นที่ชุมชนตามแนวชายฝั่งถึง 50 % เลยทีเดียว โดย Adidas ได้ผลิตให้กับ 5 ทีมชาติ ได้แก่ อาร์เจนตินา เยอรมนี ญี่ปุ่น เม็กซิโกและสเปน
สำหรับขยะเหล่านี้ได้มาจากโครงการ Parley Ocean Plastic ที่ Adidas ร่วมกับองค์ Parley ก่อตั้งขึ้น เพื่อไม่ให้ขยะพลาสติกเป็นมลพิษในทะเล จึงนำมาใช้ประโยชน์แทน หลักในการรีไซเคิลคือ ผ้า Polyester เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตชุดแข่งกีฬารวมไปถึงชุดแข่งฟุตบอล
โดยผ้า Polyester นั้นสร้างจาก Polyethylene Terephthalate หรือ PET ซึ่ง PET ยังเป็นวัตถุดิบหลักของการผลิตขวดพลาสติกบรรจุเครื่องดื่มหรืออาหารต่าง ๆ ดังนั้นจึงทำให้ขวดพลาสติก หรือสิ่งต่าง ๆ ที่ทำจาก PET จะมีคุณภาพสูงในการนำมารีไซเคิลเป็นเส้นใย Polyester กระบวนการผลิต คือ รวบรวมขยะเหล่านี้มารีไซเคิล โดยการทำความสะอาดและแบ่งประเภท หลังจากนั้นหั่นหรือบดให้กลายเป็นชิ้นเล็ก ๆ และเข้ากระบวนการหลอมขึ้นมาใหม่ เพื่อถักขึ้นมาเป็นเส้นใย Polyester
โดยในการผลิตชุดกีฬาจะนำขวดพลาสติกมาเข้ากระบวนการรีไซเคิลเป็นเส้นใย Polyester เช่น ในชุดแข่ง 1 ชุด ใช้ขวดพลาสติกรีไซเคิล 18 ขวดในการผลิตโดยชุดทั้งหมดของ Adidas ผลิตโดยใช้ โพลีเอสเตอร์รีไซเคิล 100% โดยยังคงคอนเซ็ปต์ที่จะทำให้นักฟุตบอล สามารถโชว์ศักยภาพออกมาได้เต็มที่ ด้วยคุณสมบัติ ใส่สบาย น้ำหนักเบา ใช้เทคโนโลยีทำให้นักฟุตบอลรู้สึกเย็นสบายเวลาสวมใส่นอกจากจะได้ผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ แล้ว การรีไซเคิลขวดพลาสติกยังมีส่วนช่วยในการประหยัดพลังงานได้ เนื่องจากขวดพลาสติกทำมาจากน้ำมันดิบ เมื่อมีการรีไซเคิลขวดพลาสติก 1 ตัน จึงมีส่วนช่วยลดการใช้น้ำมันได้ 3.8 บาร์เรล หรือคิดเป็น 159.11 ลิตร และช่วยประหยัดพื้นที่ในการฝังกลบขยะได้
คุณสมบัติเหล่านี้ ทำให้ขวดพลาสติก PET เข้าไปมีบทบาทในเทรนด์การทำธุรกิจเพื่อความยั่งยืน (sustainability) ขององค์กรต่าง ๆ และกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างผลิตภัณฑ์จากขวดพลาสติกจากหลายแบรนด์อีกหนึ่งตัวอย่างธุรกิจ ที่นำแนวทาง Circular Fashion แฟชั่นหมุนเวียนมาใช้ คือ ‘บริษัท วาวา แพค จำกัด’ ธุรกิจที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับพลาสติก และเส้นใยต่าง ๆ จึงมีแนวคิด ‘Upcycle’ โดยการนำขยะเหลือทิ้งที่เกิดจากกระบวนการผลิตที่จะมีเศษผ้า เศษกระสอบพลาสติกเหลือทิ้งมากมาย นำมาเย็บเป็นกระเป๋ารักษ์โลก สไตล์ทันสมัย โดนใจวัยรุ่น
นอกจากเป็นการลดขยะ (Waste) พลาสติก เศษผ้า ถุงพลาสติกเหลือทิ้งในโรงงาน ประโยชน์อีกอย่างหนึ่ง คือจะมีคนในชุมชนละแวกโรงงานที่ต้องการทำงานที่บ้าน สามารถนำถุงกระสอบไปเย็บเป็นกระเป๋าที่บ้านได้ เป็นการสร้างงานให้ชุมชนใกล้เคียงด้วย ที่สำคัญ คือทำให้โรงงาน ไม่มีขยะหรือของเสียที่เหลือทิ้งไปอย่างเปล่าประโยชน์
สายช้อป ช่วยโลกพ้นจาก Fast Fashion ได้อย่างไร
ทั้งนี้ เราทุกคนสามารถช่วยกัน Slow Down Fast Fashion โดยลดการซื้อและเน้นเสื้อผ้าที่มีคุณภาพ อาจจะเลือกแบบหรือโทนสีพื้น ๆ สไตล์ Minimal ที่สามารถนำมาใส่ซ้ำได้ไม่เบื่อ โดยมีเคล็ดลับที่ทำง่ายดังนี้ เช่น นำเสื้อผ้ามาใส่ซ้ำ ใช้บริการร้านเช่าชุด ซื้อเสื้อผ้ามือสอง สนับสนุนแบรนด์ Eco-Friendly เป็นต้น
ดังนั้น แฟชั่นหมุนเวียน น่าจะเป็นทางออกที่ดีของผู้บริโภค รวมไปถึงการปรับแนวคิดและทัศนคติการเลือกซื้อเสื้อผ้า ว่าจุดไหนถึงจะพอดี ที่ตอบสนองความต้องการได้ และสามารถลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไปพร้อม ๆ กันได้
สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า ความยั่งยืน (Sustainability) จะกลายเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการทั่วโลกต้องให้ความสำคัญ การเปลี่ยนจาก Fast Fashion มาเป็น Eco Fashion อาจจะเป็นเรื่องไม่ง่ายนัก ซึ่งปัจจุบันแบรนด์ไทยหลายๆ แบรนด์ เริ่มหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น ทำให้ผู้บริโภคมีตัวเลือกที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน ดังนั้น การบริโภคแบบใช้ซ้ำ รวมไปถึงกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม น่าจะเป็นจุดสมดุลของการแก้ไขปัญหาที่เหมาะสม ท่ามกลางสังคมบริโภคได้เป็นอย่างดี
ติดตามได้ที่https://www.bangkokbanksme.com/en/12up-bcg-model-fast-fashion-industry-solution
คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด