xs
xsm
sm
md
lg

(ชมคลิป) จากนายช่างใหญ่สู่ “ราชาปลาดุกอบโอ่ง” ออร์เดอล้น! ไทยและนอกทำส่งวันต่อวันกว่า 300-600 ตัว!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วิกฤตโควิด (เดลต้า) วิกฤตอาหารการกินขาดแคลน! พลิกวิกฤตเป็นโอกาสใหม่ จากนายช่างใหญ่สู่ “ราชาปลาดุกอบโอ่ง” สดใหม่หมักเครื่องสมุนไพรเน้น ๆ เนื้อหนึบหนังกรอบอร่อย ออร์เดอล้น! ไทยและนอกทำส่งวันต่อวันกว่า 300-600 ตัว!!!


ช่างหยี-กฤษสมัย ประยงค์ เจ้าของร้าน “ราชาอบโอ่ง” ครัวนายช่าง ปัจจุบันตั้งอยู่เลขที่ 560/16 พหลโยธิน 62 ต.คูคต อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี บอกกับเราว่า เดิมตนเองเปิดกิจการร้านซ่อมเครื่องยนต์และโรงกลึงด้วยอยู่ที่นี่ลำลูกกาคลอง 2 มานานกว่า 20 ปีแล้ว จนกระทั่งพอวิกฤตการณ์ “โรคโควิด-19” ระบาดอย่างหนักในช่วงของสายพันธุ์ “เดลต้า” ที่เข้ามาตอนนั้น ซึ่งก็ทำให้มีทั้งคนป่วยและคนเสียชีวิตกันเยอะมากในเขตนี้ ทีนี้ว่า “อาหาร” ก็เลยถูกปิดตัวลงด้วยตลาดแล้วก็คนป่วย ไม่มีใครไปตลาดแล้วก็ต้องปิดตัวลง อาหารการกินเริ่มจะหายาก จะกลับไปพื้นที่ซึ่งตอนนั้นก็มีการแบ่งโซนสี จะกลับบ้านก็ไม่ได้บ้านอยู่ที่ จ.ชัยนาท จะกลับไปเอาอาหารมากินก็ไม่ได้ เพราะว่าห้ามออกนอกพื้นที่ ก็เลยบอกให้แม่ช่วยส่งปลามาให้กินหน่อย เพราะที่บ้านของตนเองจะมีอาชีพในการทำปลาขาย ปลาดุกย่าง ปลาแดดเดียว ซึ่งแม่จะเป็นคนแรก ๆ เลยที่ว่าทำปลาขายอยู่ที่ตลาดเขื่อนเจ้าพระยามานานแล้วเป็นเจ้าแรก สมัยเด็ก ๆ ตอนยังเรียนหนังสืออยู่ที่บ้านก็เคยได้ช่วยแม่ขายปลาด้วย ตอนนั้นคิดเพียงว่าจะให้แม่ส่งปลามาให้กินและก็แบ่งบางส่วนโพสต์ขายในละแวกบ้านลองดู เป็นการแบ่งปันอาหารในยามที่ทุกอย่างและการไปมาหาสู่กันยากลำบาก


วิกฤตโควิด(เดลต้า) วิกฤตอาหารการกินขาดแคลน!
“ก็เลยบอกแม่ ส่งปลามาหน่อยผมอยากจะกิน และก็อยากจะโพสต์ขายแถว ๆ บ้านว่าคนที่เขาป่วยเนี่ยว่าใครอยากจะทานบ้าง ก็มีคนตอบรับมาเยอะ เยอะ ๆ ขึ้นพอรอบแรกมันก็มาได้สวย ขายได้อะไรได้เงี้ย เราก็เลยบอกว่าแม่ส่งมาอีก พออีกรอบหนึ่งปลามันค้างอยู่ที่อยุธยา มันไม่มาถึงเราแล้ว เพราะว่าคนที่ขนส่งเขาป่วย เขาก็ส่งของไม่ได้ก็เลย ของก็เลยเสีย ทีนี้เรารับออร์เดอลูกค้าเอาไว้แล้วจะทำยังไง ก็เลยบอกเขาว่าพี่ปลาแดดเดียวที่สั่งไว้มันไม่ได้แล้วนะ ขนส่งมันปิดตัวลง บอกพี่รับเป็น “ปลาดุกย่าง” มั้ยเดี๋ยวผมจะลองย่างให้ เขาก็ต้องทานเพราะตอนนั้นเขาไม่มีตัวเลือก เราก็ไม่มีตัวเลือกที่จะต้องทานใช่มั้ย พอดีปลาดุกมันมีบ่อแถวบ้านเราที่เขาต้องส่งเข้าตลาดแล้วมันส่งไม่ได้ เพราะตลาดมันปิด เราก็เลยทดลองเอามาย่างดูด้วยเตาเล็ก ๆ แบบนี้ 5 ตัว 10 ตัว เออโอเคมันก็มีคนสั่งเข้ามา พอมีการสั่งขึ้นมา พอครั้งที่ 2 เขาก็สั่งอีก ๆ 10 ตัวเนี่ยมันยังพอไหว 20 ตัวเนี่ยเตามันไม่พอแล้ว! เตาเอาไม่อยู่แล้ว พอ 30 ตัวมันไม่ได้แล้ว! เพราะว่าเตาเราต้องคิดดูว่า 30 ตัวย่าง เตามันจะยาวขนาดไหน?”

การอบใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงเป็นต้นไป ถ้าส่งนอกก็จะต้องให้แห้ง ๆ กว่าที่ส่งในประเทศไทย
แจ้งเกิดเมนูใหม่ “ปลาดุกอบโอ่ง” ก็มา!
“เอ๊ะเราก็ลองโอ่งซิว่ามันจะได้กี่ตัว แล้วมันทำได้มั้ย มันสามารถย่างแล้วมันจะเป็นอย่างไร โอ่งแรกที่ทำ มันเสียหมดเลย คือปลาที่เราซื้อมาใช่มั้ยมาเกี่ยวปุ๊บ มันไม่สด พอมันไม่สดปุ๊บ ถ้าปลาดุกย่างเราเคยชินกับการย่างมันคือแนวนอน ย่างอย่างไรมันก็อยู่แนวนอนมันไม่ไปไหน มันไหม้บ้างสุกบ้างตอนนั้นก็มีคนทาน เพราะความต้องการอาหารมันเยอะ เราก็เลยหาทางแก้ไขวิ่งไปซื้อปลามาใหม่ก็ลองแขวนขอบโอ่งดู เออมันก็สุกนะ! ไม่ร่วงแล้ว ๆ แสดงว่าปลาต้องสด อันดับแรกเราเจอปัญหาคือ ปลาต้องสด พอหลังจากปลาสดปุ๊บเราก็ยังเจอปัญหาอย่างอื่นอีก ปลามันไม่สวยมันดำ มันไหม้ มันอะไร ความร้อนมันไม่ได้หรือไง ถ่านมันไม่ได้หรือไง อากาศเจาะรูโอ่งมันลึก/ตื้นเกินไปเราก็ต้องมาหา ความที่เป็นช่างเราก็ปรับ/แปลง ขอแขวน ที่แขวนตำแหน่งให้ได้ขนาดพอดี อย่าให้มันสูง-มันต่ำเกินไปปลามันก็จะไม่สวย มันก็จะดำมันก็จะไหม้อะไรเงี้ย เราก็ปรับปรุงมาเรื่อย ๆ นะ”

ปลาดุกที่อบสุกใหม่ ๆ หนังจะกรอบ เนื้อหนึบ กินอร่อย
ที่มาของไอเดีย “อบโอ่ง” ก็คือปัญหาการย่างที่เริ่มไม่พอ ก็เลยแก้เรื่องเตาเพราะว่าเตามันไม่พอเลยต้อง “อบ” แทน แต่ก็เรียนรู้ไปด้วยกับมัน ต้องใช้ไฟประมาณนี้นะ ความแรงเท่านี้นะ ก็ได้ถือโอกาสในการเรียนรู้ไปกับมันในช่วงเวลานั้น เหมือนกับว่าเป็นโอกาสหนึ่งให้ได้ทดลองงานไปด้วย ว่าแบบนี้นะ ต้องใช้ไฟขนาดนี้ อุณหภูมิขนาดนี้ ก็ปรับปรุงไปพร้อมกับการทำในตอนนั้นเลย

“ใน 1 โอ่งจะได้ 20 ตัว แต่ช่วงนั้นช่วงที่เราปรับปรุง รสชาติเราก็ปรับปรุงไปเรื่อยโดยที่ว่า เราให้ลูกค้าในซอยในชุมชนเนี่ยทาน เหมือนว่าเอ้ยเค็มบ้างอะไรบ้างอะไรเงี้ยครับ เราก็ปรับปรุงมาเรื่อย ๆ ปรับปรุงเรื่อย ๆ จนกระทั่งเราแหวกแนวคือเราอยากจะขายแล้ว คิดว่าคนต้องการปลาเราเยอะแล้ว โอ่งใบแรกไม่ได้แล้วเริ่มจะมีแตกร้าว เพราะว่าใช้โอ่งเก่าใช่มั้ย เราก็เลยไปหาซื้อโอ่งใหม่มา พอเราซื้อโอ่งใหม่มาเราก็อยากจะขายในชุมชนสายไหม ที่มันกว้าง ๆ บ้างเราต้องทำยังไง เพราะว่าเราอบได้ทีนึง 20 ตัว เราก็เริ่มเอ๊ทำยังไงให้มันแตกต่างจากปลาดุกย่างใช่มั้ย เราก็เริ่มเอาสมุนไพรเข้ามาใส่ พอเราใส่สมุนไพรตัวนี้มากไปกลิ่นมันขึ้นไม่ถูกใจ ใส่ตัวนี้น้อยเกินไปมันก็ไม่ดี ไม่มีกลิ่นหอม(ไม่เหมือนทุกวันนี้ที่เราเห็น) เราก็ปรับเปลี่ยน และก็รสชาติเราก็ปรับปรุงไปเรื่อย ๆ เพราะช่วงนั้นมีคนคอยแบบว่าเขาเรียกว่าอะไร คอยคอมเม้นต์กลับมาเรื่อย ๆ แห้งเกินไป สุกเกินไป อะไรอย่างเงี้ย พอมีคอมเม้นต์มาเราก็ปรับปรุงมาเรื่อย ๆ แล้วก็ไปห้อยตามบ้านคนที่เขาป่วย ห้อย ๆ เราก็ให้เขาโอนเงินเข้ามา เราก็มีหน้าที่ขับรถไปห้อย ๆ ช่วงนั้นโรงเรียนก็ปิดลูกชายลูกสาวก็ช่วย ๆ กัน เรา 4 คนก็ช่วยกัน ช่วยกันทำแล้วก็ไปห้อยให้เขา ห้อยให้เขาดูว่าเออมันเก็บไว้ได้นานนะคุณไม่ทานวันนี้ พรุ่งนี้เช้าคุณก็ทานได้ ถ้าเป็นปลาแต่ถ้าเป็นอย่างอื่นคุณทานไม่ได้ ถ้าเป็นแกงมันก็อาจจะบูด ตั้งแต่นั้นมาพอมีคนมาถ่ายรีวิวมีอะไรเพิ่มขึ้น ยอดมันก็เลยเพิ่มขึ้น”

วันนี้เป็นออร์เดอของแม่ค้าสายหิ้วที่สั่งจองเอาไว้
ที่เลือกใช้ “ปลาดุก” เพราะใคร ๆ ก็เข้าถึงได้ง่าย
ช่างหยี บอกด้วย พื้นที่เดิมตรงนี้เคยเป็นที่เลี้ยงไก่ชน และก็ขายอาหารไก่ด้วย พอสนามชนไก่มันปิด คนเลิกเลี้ยงไก่ เราก็เอาไก่ไปแจกเพื่อนจากเดิมที่เราชอบไก่มีไก่เยอะเป็น100 กว่าตัว ก็เอาไก่ไปแจกเพื่อน ฝากคนโน้นเลี้ยงคนนี้เลี้ยงใครชอบก็เอาไป แล้วตัวเองก็เริ่มปรับปรุงตัวจาก “ช่างซ่อม” ก็เพิ่มเป็นว่ามาทำ “อบโอ่ง” ให้หนักขึ้น เพราะว่าความต้องการอาหารมันเยอะในตอนนั้น

“ทำไมถึงต้องเป็น “ปลาดุก” มีคนถามหลายคนนะครับ ผมลองแล้ว ไก่ก็ดีปลาอย่างอื่นก็ดี อันดับแรกผมคิดขึ้นมาก่อนเลยว่า
เขาป่วยอยู่คนป่วยแล้วเราจะทำยังไงที่ว่าราคา เขาซื้อทานได้ทุกวัน เขาจับต้องได้ ไก่ตัวหนึ่ง 
150 โอ้โหคนป่วยก็คงไม่ไหวนะ กินวันหนึ่งก็เบื่อแล้วอะไรเงี้ย เออปลานี่มันก็กินได้ทั้งบ้านนะ ทั้งครอบครัวอะไรเงี้ย ส่วนใหญ่ไม่ว่าจะป่วยแบบไหนก็ทานปลาได้หมด เราก็คิดว่าถ้าเป็นปลานี่มันน่าจะจับต้องได้ แล้วอีกอย่างคือเราถนัดทางด้านปลาอยู่แล้วด้วย ที่บ้านทำปลาอยู่แล้ว ก็เลยเอามาดัดแปลงทำ “อบโอ่ง” อย่างเงี้ยให้มันเข้าถึงได้ทุกคน ตอนนั้นที่ผมขายแรก ๆ เลย35 บาท พอตอนนี้ถ่านมันขึ้นราคาของมันขึ้นราคาเราก็เลยขึ้นมาตามกลไกตลาด แต่ว่าถ้าจะให้ทำอย่างอื่นมันก็ทำได้ คือใจเราเจตนาตอนนั้นเราอยากทำอย่างไรให้เขาเข้าถึงเราได้”


ประกอบกับตอนนั้นมีผู้สูงอายุในชุมชนก็เยอะด้วย ก็ต้องการทานอาหารที่มันสามารถย่อยง่าย ๆ โปรตีนดี โอเมก้า-3 สูง อย่างนี้ก็เลยเข้าทางของเราเลย และก็ช่วงโควิดตอนนั้นพอดีกับ “สะเดาทะวาย” กำลังออกมาด้วย มีการจัดชุดแบบ “สะเดาน้ำปลาหวาน” ทานคู่กับปลาดุกย่าง(อบโอ่ง) ซึ่งปรากฏว่าก็ขายดีมาก ๆ

น้ำจิ้มที่ดัดแปลงใหม่จากแจ่วก็ปรับใหม่เป็นสูตรนำ้พริกเผาที่ปรุงรสเพิ่มแทน เก็บได้นาน รสชาติไม่เปลี่ยน

เมนูตามฤดูกาล สะเดานำ้ปลาหวาน ทานคู่กันกับปลาดุกที่ครัวนายช่างก็จะมีจัดชุดเพื่อจำหน่ายด้วย
ไม่เพียงแต่คนไทย เมนูนี้ยังโดนใจต่างประเทศด้วย!
“สูตรสมุนไพรนี่เราก็ พยายามปรับและคิดมาเรื่อย ๆ นะแบบว่าสมัยก่อนเราใส่ใบมะกรูดมันถูก แต่พอใส่ใบมะกรูดเยอะเกินไปแล้วกลิ่นใบมะกรูดเวลามันสุกแล้วจะออกเปรี้ยว มันจะออกซ่า มันก็ต้องลดตรงนั้นลง ใส่ตะไคร้มากเกินไปก็ไม่ดี มันจะหืน เราก็ปรับลดลงมา พริกไทย ลูกผักชี อะไรเงี้ยเราก็ปรับไปเรื่อย ๆ สีสรรราก็ใช้อาศัยความเป็นธรรมชาติ อย่างขมิ้น เพราะว่าเราต้องส่งออกจะมาใส่สีผสมอาหารหรืออะไรเข้าไปไม่ได้”

ความแตกต่างของ “ปลาอบโอ่ง” คือ เนื้อจะแน่นกว่า เหนียวกว่า จะไม่เหมือนกับปลาย่างที่เนื้อจะซุย ๆ จากประสบการณ์ที่เคยย่างปลามาก่อนจะรู้ดี ถึงความแตกต่างในข้อนี้ของเนื้อปลาที่ได้ และก็ปลาอบโอ่งคือมันจะต้องใช้ “ปลาสด” เพราะถ้าปลาไม่สดเอามาทำเนี่ย มันก็จะเสียหาย เพราะมันจะร่วง เหมือนตอนแรก ๆ ที่เริ่มทำ

“ก็จะมีต่างประเทศหลาย ๆ ประเทศมารีวิวทั้ง สหรัฐอเมริกามาครับ เกาหลี ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน ฯลฯ แล้วคนไทยก็มีรีวิวส่งไป ใช่ครับเขาเห็นจากในยูทูบที่เขาลงไป จากรีวิวต่าง ๆ ในประเทศเขาด้วย เขาก็มีการสั่งจากแม่ค้าที่เป็นคนไทย เจ๊ลองสั่งเจ้านี้มาลองอะไรเงี้ย แรก ๆ ก็สั่งไม่เยอะหรอกครับ หลัง ๆ มาเขาเออจากได้ชิมรสชาติแล้ว ของไปไม่เสียหาย เขาก็จะสั่งมาเรื่อย ๆ“

ช่างหยี บอกอีกว่า ในการทำปลาดุกสูตรของร้านคือจะไม่มีการใส่น้ำตาลอยู่แล้ว มันจะต่างกับปลาดุกย่างที่บางคนเขาอาจจะใส่น้ำตาลด้วย และก็ต่างชาติเขาชอบในกลิ่นสมุนไพรของไทย ถึงแม้ว่าในต่างประเทศก็มี เคยถามดูแล้วเขาก็มีหมดเหมือนกัน ขิง ข่า ตะไคร้ ฯลฯ แต่ว่าเหมือนกับพื้นที่ในการปลูกแล้ว “กลิ่น” มันจะไม่ได้เหมือนของไทย

“ตอนนี้นะครับปลาดุกที่เราส่งออกไป หลัก ๆ เลย สหรัฐอเมริกา เราก็มี 6-7 เจ้า แล้วก็มีแคนาดา มีเกาหลี มีไต้หวัน ฮ่องกง เบลเยียม พม่า และล่าสุดมีมาอีกคือ ฟินแลนด์ กับฝรั่งเศสด้วย แต่ว่าในแต่ละประเทศก็จะมีแบบว่าหลายเจ้า(แม่ค้าหลายเจ้า)เหมือนกับว่าบ้านเราร้านนี้ก็ขาย ร้านเราก็มีนะ ร้านเราก็มี เขาก็สั่งไปขายกัน แต่ส่วนใหญ่ตลาดหลัก ๆ เลยคือ ประเทศสหรัฐอเมริกา เพราะว่าประชากรเยอะและก็มีหลายรัฐ ฝรั่งก็ทานด้วยคนไทยก็ทานด้วยครับ เพราะว่าคนไทยที่โน่นก็นิยมทานปลาดุกกันอยู่แล้ว”


ก่อนส่งจะซีลแบบสุญญากาศให้
ขนาดตัวปลาและราคา คนกินต้องรู้สึกว่าคุ้มค่าด้วย
ปัจจุบันไซส์หรือขนาดของตัวปลาดุกบิ๊กอุยที่ครัวนายช่างเน้นใช้ทำอยู่ จะเป็นปลาขนาด 7 ตัวต่อ 2 กิโลกรัม เหตุผลที่เลือกไซส์นี้เจ้าของร้านบอกว่า ปลาที่ใช้อยู่ตอนนี้เป็นขนาดที่ใหญ่กว่า “8 ตัวต่อ 2 กก.” ที่เคยใช้มาก่อนหน้านี้ ซึ่งพอเวลาเราอบแล้วมันจะไม่เหมือนกับปลาย่าง มันจะทำให้ตัวเล็กลงและแห้งลง ถ้าใช้ปลาไซส์เล็กเกินไปก็จะดูไม่น่ากิน แล้วบางคนถ้าไม่เข้าใจในการอบ หลักการอบก็คือ ทำให้มันแห้ง บางคนก็จะมองว่าทำไมปลาตัวเล็กจัง ก็เลยต้องขยับไซส์ปลาที่ใช้ขึ้นมา แล้วอีกอย่างคือมีออร์เดอต่างประเทศด้วย ปลา1 ตัวพอไปถึงที่โน่นซึ่งจะมีการซีลแบบสุญญากาศไปให้ มันก็จะบีบตัวลงมาอีก ดังนั้นก็ต้องใช้ปลาที่ตัวใหญ่ขึ้นเพื่อให้ทางโน้นเขามีการตอบรับ กินแล้วมันคุ้มค่ากับราคากับเงิน อะไรประมาณนี้

“ตอนนี้ผมขายอยู่ที่ราคาตัวละ 40 บาท ตอนนี้เราขยับไซส์ปลาขึ้นมาจากตอนแรกเราใช้ 8 ตัว: 2 กิโล เราก็มาขยับปลาขึ้นบวกกับราคาค่าถ่าน ค่าสมุนไพร อะไรต่าง ๆ ที่ปรับขึ้น เราก็ปรับขึ้นเล็กน้อยเพื่อให้เราอยู่ได้ แล้วเขาอยู่ได้ แต่ไม่ได้ขึ้นแบบก้าวกระโดดไป 50 /60 อะไรอย่างเงี้ย แม่ค้าบางคนก็คอมเม้นต์มาว่าเออเขาขายราคา ตัวหนึ่ง 50 /60 เนี่ยเขายังขายยาก เราก็จะเอาราคาเรามาเปรียบเป็นที่ตั้งไม่ได้ เพราะเราทำจำนวนเยอะ คือตามร้านขายกันตัวหนึ่ง 50 /60 บาท แต่ทีนี้ว่าราคานี้เขาทำก็เข้าใจ ว่าเจ้าหนึ่งเขาทำกัน 5 ตัว 10 ตัว แต่เราทำหลายร้อยมันก็ถัวกันไป”

และสำหรับราคา “ตัวละ 40 บาท” ช่างหยีบอกว่าก็จะมีน้ำจิ้มให้ด้วยนะ เป็นแบบสูตรน้ำพริกเผา โดยจะทำแบบเดียวกับที่บ้านต่างหวัดทำอยู่ก็จะใช้น้ำพริกเผาแล้วก็มีการเติมพริกมะขามลงไปด้วย เพื่อช่วยเพิ่มความเข้มข้นขึ้นอีก สามารถเก็บได้นานเพราะว่าไม่มีการใส่แป้งที่ทำให้เสียง่าย


จากอาชีพหลักกลายเป็นอาชีพรอง เพราะมีอาชีพใหม่! “ราชาอบโอ่ง”
“ตอนนี้วันหนึ่ง ๆ ผมขายประมาณวันละ 300 ตัว รอบนึงผมจะทำได้ประมาณ 200 (จาก 10 โอ่ง) เราจะสแตนบายไว้ 2 หลัก ๆ เลยเราใช้ 10 โอ่งก็คือ รอบละ 200 ตัว บางวันก็มีถึง 400 /500 ตัวมี แล้วแต่ออร์เดอ แต่พื้น ๆ ถ้าเราจะเปิดโอ่งยังไงต้องมี ถ้าวันธรรมดาเราก็รับอย่างน้อยเป็นร้อย เพื่อเราจะได้มีเวลาคุ้มกับมันที่การทำ เพราะว่ามันต้องใช้คนงาน ทำกันอยู่ 4 คน ล้าง เสียบ แล้วก็มาลงโอ่ง ทำใหม่ทุกวันครับปลา และก็โอ่งอันดับแรกแนะนำเลย ต้องสะอาด ไม่ดำ ผมจะล้างทุกวันเลยโอ่งเนี่ยเน้นมาก เพราะเวลาขึ้นมากลิ่นของโอ่งถ้าไม่ล้าง มันจะมีกลิ่นออกมา ก็จะต้องสะอาดด้วย”

งานซ่อมก็เริ่มจะกลับมาแล้วแต่ว่าตอนนี้ กลายเป็นอาชีพรองจากงานอยโอ่งไปเสียแล้วนายช่างบอก
สูงสุดต่อวันถามนายช่างว่าทำส่งได้มากสุดเท่าไร ซึ่งคำตอบที่ได้คือ 600 ตัว! เหตุผลก็เพราะว่ามันจะมีเวลาในช่วงการหมักสมุนไพร และก็ช่วงการอบ(ประมาณ 2 ชม.ขึ้นไป) คือรอบมันจะพอดีกันเลย วงรอบในการทำงานมันก็จะพอดีกัน จากนั้นพอทำเสร็จแล้วก็จะส่งภายในวันเดียวกัน ส่งได้ทั้งคืน ก็คือจะส่งให้กับทางชิปปิ้งรับไปเพื่อทำการแพ็กสุญญากาศสำหรับการส่งออกต่อไป กรณีการสั่งเพื่อส่งไปต่างประเทศลูกค้าจะต้องมีการออร์เดอล่วงหน้าก่อนอย่างน้อย 1 วัน ให้ทางร้านได้รู้ว่าวันนี้มีรับใครไว้หรือยังไม่ได้รับนัดใคร บางคนล่วงหน้าทีเป็นเดือน เพราะว่าเขาจะมีบินวันที่เท่านี้ ๆ นะ ไปแคนาดาวันนี้ ขอวันที่เท่านี้ ๆ ก็จะมีการจดลงในสมุดออร์เดอเอาไว้ แล้วก็ค่อยจัดส่ง แต่อย่างกรณีของลูกค้าขาจรที่แวะมาซื้อไปทานเองที่หน้าร้าน ก็มีให้แต่ว่าจะไม่ได้เผื่อไว้เยอะในวันธรรมดา ส่วนใหญ่จะเปิดครัวให้ซื้อวันเสาร์-อาทิตย์ เพราะจะมีเมนูหลายอย่างให้ซื้อด้วย

“ปลาดุกนะครับหัวใจของมันก็คือ ทำเพื่อเป็นการถนอมอาหาร แล้วก็ทำให้มันแห้งและก็ทำยังให้มันแบบว่าสวยงาม น่าทาน แล้วก็อยู่ได้นาน จับต้องได้ทุกคน อยู่ได้นานใช่มั้ยครับถ้าเราซื้อไปแล้วใส่ตู้เย็น อยู่ได้นานเป็นหลายอาทิตย์เลยครับ ไม่ต้องซีลก็อยู่ได้ 2 อาทิตย์ก็ยังอยู่ได้เลย อย่างเวลาส่งไปต่างประเทศก็คือจะเป็นการส่งแบบแช่เย็น แต่ถ้าส่งในไทยก็จะมีปัญหาบ้างหนึ่งเรื่องขนส่ง บางทีบางเจ้าส่งไปของเป็นเดือนแล้วก็ยังไม่ถึงก็มี ขนส่งตรงนั้นไม่พร้อมบุคลากรน้อย บางที่ส่งวันนี้พรุ่งนี้เช้าได้เลย อะไรอย่างเงี้ย ก็ต้องบอกลูกค้าว่าสะดวกขนส่งของอะไรในพื้นที่นั้น ลูกค้าแจ้งผมด้วยนะครับ”



ปัญหาและอุปสรรคของธุรกิจนี้ เจ้าของร้าน “ราชาอบโอ่ง” ครัวนายช่าง บอกด้วย ก็มีเรื่องของปลา(ขนาดหรือไซส์) ที่ว่าหลัก ๆ เลยจะไม่เท่าเทียมกันทุกวัน เพราะว่าจะใช้ปลาจากหลายตลาด แล้วปลาอบโอ่งจะเป็น “ปลาสด” ถ้าทำรอบเช้าก็จะสั่งตลาดหนึ่งที่เขาทำปลากลางคืน เพราะต้องลงปลาแต่เช้าเลย พอรอบสายก็จะสั่งอีกตลาดหนึ่งเขารับปลาสายมาเพื่อส่งให้เราคือปลาต้องสด รอบบ่ายก็จะเป็นอีกเจ้าหนึ่งที่เขาทำเตรียมจะขายรอบเย็น ใช้ปลาสด ซึ่งถ้าหากใครคิดจะทำอาชีพนี้ ต้องหาตลาดปลาก่อน จะทำวันละกี่รอบแล้วจะหาตลาดปลาได้มั้ย เช้า-กลางวัน-เย็น นับไปเลย3 เวลา อย่างที่ทำอยู่คือรอบเช้าก็เจ้าหนึ่ง แล้วรอบบ่ายก็อีกเจ้าหนึ่ง แล้วอีกอย่างคือจะต้องมีตลาดก่อน(มีคนซื้อ) เพราะว่าจริง ๆ แล้วการทำไม่ได้ยากมากแต่สำคัญคือ การขายซึ่งค่อนข้างยากกว่ามาก

ในตอนท้าย นายช่างเล่าให้ฟังด้วย “ช่วงที่ว่าตอนนั้นที่โควิดระบาดหนัก ๆ กระทบหมดเลย ลูกค้าเอารถมาทำกับเรามาซ่อมกับผมก็ เขาก็ป่วย เขาก็มาเอารถไม่ได้ คนไม่ได้มีงานวิ่งไม่มีงานทำ เราก็เลยไม่ได้ซ่อมรถช่วงนั้นงานรถก็น้อยลงไป นักเรียนก็หยุด เราต้องกินต้องใช้ ลูกค้าก็ต้องกินต้องใช้ เราก็ต้องหาทางออกของบ้านเราทำยังไงดี เหมือนที่บอกว่าเราเคยเลี้ยงไก่ก็ต้องเลิกเลี้ยงนะเพราะว่ามันก็ใช้การกินอาหารเยอะ ของที่ขายได้เราก็ขายไม่ได้อะไรอย่างเงี้ย เราก็ต้องปรับเปลี่ยนไปตรงนั้นก็ต้องถือว่าเป็น “โอกาส” อย่างหนึ่งที่เราจะได้หา อาชีพเสริมที่มันใหม่ แต่กลายเป็นทุกวันนี้ กลายเป็นอาชีพหลักไปแล้ว”

ถึงแม้ว่าตอนนี้ “โควิด-19” ก็ยังอยู่! แต่ว่าอาชีพใหม่คือ “ปลาดุกอบโอ่ง” ก็ยังอยู่ด้วยและที่สำคัญ กำลังสร้างรายได้ให้อย่างดีมาก ๆ กับนายช่างและครอบครัว

สอบถามเพิ่มเติม โทร.084-085-9422



คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด


กำลังโหลดความคิดเห็น