กรมพัฒนาธุรกิจการค้า น้อมนำพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ‘สืบสาน รักษา ต่อยอด’ สู่วิถีชีวิตพอเพียง สร้างสมดุลการใช้ชีวิต ครองงานพร้อมครองตนด้วยหลักบริหารชีวิต 8-8-8 ยกระดับและพัฒนาศักยภาพทั้งร่างกายและจิตใจ พร้อมสร้างสังคมแห่งการแบ่งปัน...นำไปสู่การให้บริการภาคธุรกิจและประชาชนอย่างเต็มประสิทธิภาพ..ด้วยสติที่ตั้งมั่น ซื่อสัตย์สุจริต
นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการนำข้าราชการและเจ้าหน้าที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเข้าร่วมโครงการส่งเสริมคุณธรรมและจริยธรรม ประจำปี 2566 ว่า “กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้น้อมนำพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ‘สืบสาน รักษา ต่อยอด’ สู่วิถีชีวิตพอเพียง มาปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมแก่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่กรมฯ และนำแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอันประกอบด้วย พอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกัน ความรู้คู่คุณธรรม มาประยุกต์ใช้และสร้างสมดุลการใช้ชีวิตทั้งการครองงานและครองตน พร้อมสร้างสังคมแห่งการแบ่งปันส่งต่อการให้อย่างไม่มีวันสิ้นสุด โดยได้ดำเนินกิจกรรมที่หลากหลาย เช่น การกำหนดจิตด้วยสมาธิ การเรียนรู้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง การอุทิศแรงกายแรงใจและจิตอาสาพระราชทานในการฟื้นฟูศาสนสถาน การแบ่งปันโดยการมอบสิ่งของที่จำเป็นแก่ผู้สูงอายุ ณ ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุวาสนะเวศน์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อเฉลิมพระเกียรติและถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565
กิจกรรมที่กล่าวมาข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งของสัญลักษณ์การแสดงออกที่ส่งเสริมและปลูกฝังความมีคุณธรรมให้แก่บุคลากรกรมฯ เป็นการพัฒนาจิตใจและจริยธรรมพฤติกรรมทั้งด้านการใช้ชีวิตและการปฏิบัติงาน ทำให้เกิดความสมดุล ความพอดี สอนให้รู้จักการใช้ชีวิตอย่างพอเพียง มีเหตุผล มีการเฉลี่ยเวลาในแต่ละวันอย่างเหมาะสม ทั้งการทำงาน การให้เวลากับครอบครัว เวลาในการพักผ่อน เวลาที่จะอุทิศตนเพื่อสังคม และเวลาที่ใช้ดูแลพัฒนาตนเอง ภายใต้หลักบริหารสร้างสมดุลชีวิต 8-8-8 ประกอบด้วย *8 ชั่วโมงสำหรับการทำงาน คือ ทำงานอย่างเต็มที่เต็มความสามารถ *8 ชั่วโมงสำหรับการดำเนินกิจกรรมของชีวิต/การผ่อนคลาย และ *8 ชั่วโมงสำหรับการพักผ่อน/นอนหลับ
การสร้างคุณธรรมและจริยธรรมเป็นการกระตุ้นศักยภาพที่มีอยู่ในแต่ละบุคคลให้ตื่นตัว พร้อมผลักดันศักยภาพนั้นให้แสดงออกในรูปของประสิทธิภาพเพื่อใช้เป็นแนวป้องกันการดำเนินชีวิตท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ประกอบกับการสร้างความสมดุลให้กับชีวิต เป็นการยกระดับ ‘การใช้ชีวิตประจำวัน’ และ ‘วินัยการทำงาน’ ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นำไปสู่การให้บริการภาคธุรกิจและประชาชนอย่างเต็มประสิทธิภาพ ด้วยสติที่ตั้งมั่น และความซื่อสัตย์สุจริต สามารถบริหารจัดการอารมณ์/ความรู้สึก และสร้างความตระหนักรู้ถึงจิตบริการ เคารพกติกาสังคม รู้จักหน้าที่ ทำงานและใช้ชีวิตอย่างมีความสุข รวมทั้ง สร้างสังคมแห่งการแบ่งปันที่ส่งต่อความมีน้ำใจ ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ แก่เพื่อนร่วมงาน คนในครอบครัว และผู้มาติดต่อขอรับบริการ ซึ่งล้วนแล้วแต่ส่งผลดีต่อตนเอง ครอบครัว องค์กร สังคม และประเทศชาติทั้งสิ้น” อธิบดีฯ กล่าวทิ้งท้าย