xs
xsm
sm
md
lg

9 ปี ข้าวอิ่ม มหาสารคาม สานต่อพระราชดำริในหลวง ร.๙ “กรณ์” ร่วมจุดประกาย “เกษตรอินทรีย์” ปลดหนี้ชาวนา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


จิราภรณ์ อินทะสร้อย
“พวกเราอยากหลุดพ้นจากการเป็นหนี้ เราไม่อยากเจ็บป่วยล้มตายจากสารเคมี เราอยากเห็นหมู่บ้านเราเป็นหมู่บ้านที่มีสุขภาพดี ไม่มีหนี้สิน”
เสียงสะท้อนจากพี่จิ “จิราภรณ์ อินทะสร้อย” ชาวนา บ้านหนองหิน ต.โคกก่อ อ.เมือง จ.มหาสารคาม ที่บอกเล่าถึงเหตุผลของการตัดสินใจ เปลี่ยนวิถีปลูกข้าวแบบเดิม มาเป็นเกษตรอินทรีย์ จากคำแนะนำของ “กรณ์ จาติกวณิช” อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ที่ใครต่อใครมองว่าเขาเป็นนักเรียนนอก เป็นนักธุรกิจ เก่งด้านการเงิน เป็นนักการเมืองในเมืองหลวง ไม่มีประสบการณ์ปลูกข้าวทำนา จะมารู้ดีกว่าชาวนาตัวจริงได้อย่างไร


ย้อนชีวิต 9 ปี อาชีพทำนามีแต่หนี้
ก่อนมาเป็น “ข้าวอินทรีย์บ้านหนองหิน”


“จิราภรณ์” ย้อนความว่า เมื่อ 9 ปีที่แล้ว เป็นช่วงที่มีปัญหาเรื่องจำนำข้าว ราคาข้าวตกต่ำเหลือเพียงเกวียนละ 8,000 กว่าบาท ชาวนามีหนี้สินสะสมเกือบทั้งหมู่บ้าน แต่ไม่รู้จะไปทำอาชีพอะไร ตัวเองก่อนหน้านี้ก็พยายามที่จะทำโรงน้ำ แต่ก็ขาดทุน จึงต้องทนทำนาด้วยความหวังว่าราคาจะดีขึ้นสักวัน แต่สุดท้ายก็อยู่ในวังวนเดิมคือ ต้องกู้หนี้ยืมสินมาลงทุนปลูกข้าวในฤดูกาลต่อไป จนกลายเป็นวังวันหนี้สินไม่รู้จักจบสิ้น เพราะทั้งเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง ราคาพุ่งสูงขึ้น ชาวนาบางรายได้รับผลพวงจากการสัมผัสสารเคมี เจ็บป่วย ล้มตายก็มีไม่น้อย คุณภาพชีวิตย่ำแย่ ดินเสื่อมจากปุ๋ยเคมี ผลผลิตตกต่ำ ข้าวไม่ได้น้ำหนัก และไม่ได้ราคา ทั้งที่ข้าวซึ่งเป็นผลผลิตจาก จ.มหาสารคาม ได้รับการยอมรับจากชาวต่างชาติว่า รสชาติอร่อยที่สุดในโลก


“จิราภรณ์”เล่าต่อว่า เมื่อคุณกรณ์ ลงพื้นที่มาแนะนำกลุ่มชาวนา ให้ทำเกษตรอินทรีย์ ภายใต้ “โครงการเกษตรเข้มแข็ง” เพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิต เราก็มาคุยกันในหมู่บ้าน นั่งฟังแล้วเกิดความคิดว่า ในเมื่ออยู่ไปก็ไม่มีอะไรดีขึ้น เราน่าจะลองทำเกษตรวิถีใหม่ ตามที่ “คุณกรณ์” แนะนำ จึงมีคนเห็นด้วยและพร้อมที่จะลุยกัน 7 ครอบครัว จึงได้จดจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนปลูกข้าวอินทรีย์บ้านหนองหิน และทำกันจริงจัง แบบหักดิบ

“ตอนนั้น ก็มีคนหัวเราะเราว่า ข้าวไม่ใส่ปุ๋ยจะโตได้ยังไง เราก็ไม่ท้อนะ ลงนาพลิกฟื้นผืนดินใหม่ ทำปุ๋ยหมักจากขยะ ปีแรกขาดทุน แต่เราเข้าใจว่าเป็นช่วงปรับดิน แต่พอเข้าปี 2 เริ่มดีขึ้น พอปี 3 เราได้กำไรเลย ข้าวเริ่มดีมีน้ำหนัก ขายได้ราคาจากตันละ 8,000 เป็นตันละ 20,000 – 25,000 บาท เพิ่มขึ้นมา 3 เท่าตัว ชาวนาที่มีหนี้มีสิน เริ่มปลดหนี้ปลดสินกันได้ และปีนี้ ซึ่งเป็นปีที่ 9 กลุ่มของเราได้รับรางวัลข้าวคุณภาพเป็นลำดับที่ 3 ของประเทศ ไม่ว่ารัฐจะมีโครงการอะไรเข้ามาเราก็สมัครเข้าร่วมหมดตอนนี้ เราเลยมีทั้งรถเกี่ยวข้าว โรงสีชุมชน เครื่องบรรจุสุญญากาศ ฯลฯ ทำให้เราพัฒนาการผลิตได้อย่างเต็มที่ อย่างพี่เองแต่ก่อนก็หนี้สินรวมราว ๆ 3 ล้าน จนเหลือไม่กี่แสนแล้ว นอกจากปลดหนี้ เราก็ยังมีเงินได้กิน ได้ใช้ และได้ส่งลูกเรียนจนจบ” จิรภรณ์ เล่า


“กรณ์” จุดประกายชาวนา เดินตามแนวพระราชดำริในหลวง ร. 9

“กรณ์ จาติกวณิช” ซึ่งวันนี้ มาสวมหมวก หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า บอกว่า การแก้ปัญหาข้าวราคาต่ำนั้น ตนได้มีโอกาสอ่านเรื่องราวที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้เคยรับสั่ง กับ “ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” อดีตผู้ว่าการแบงก์ชาติ เมื่อปี 2524 หรือราว 30 ปีที่แล้ว พระองค์ทรงให้ข้อคิดว่า ข้าวแทนที่จะขายเป็นถุงหรือเป็นกระสอบ ความจริงน่าจะนำมาทำแพกเกจจิ้ง ทำเรื่องการตลาด ซึ่งจะทำให้ราคาสูงขึ้นได้ ขณะที่ช่วงเวลานั้นยังไม่มีใครคิดถึงเรื่องนี้

“หลังจากที่ได้อ่าน เลยตัดสินใจลงมือปฏิบัติตาม แม้จะช้าไปถึงเกือบ 30 แต่ก็ได้พยายามทำตามแนวพระราชดำรัสด้วยการทำ “ข้าวอิ่ม” กับชาวบ้านในจังหวัดมหาสารคามเมื่อ 9 ปีที่แล้ว เพราะเห็นว่าราคาข้าวตกตํ่ามาก จึงชักชวนให้ชาวนาขายข้าวถุงโดยตรงผู้บริโภค แทนที่จะขายข้าวเปลือกให้กับโรงสี ด้วยสมมติฐานว่าจะเป็นการตัดขั้นตอนเพื่อให้ชาวนาขายข้าวได้ในราคาที่สูงขึ้น” กรณ์ กล่าว


เงื่อนไขทำอย่างไร ชาวนาขายข้าวได้ 20,000-25,000 บาท/เกวียน

“กรณ์” บอกกับชาวนาว่า ทุกคนสามารถทำข้าวให้ได้ในราคา 20,000 – 25,000 บาทต่อเกวียน แต่ต้องอยู่บนเงื่อนไขสำคัญคือ 1. คุณภาพสินค้าต้องดี เพราะผู้บริโภคมีสินค้าให้เลือกเยอะ 2. ทุนหมุนเวียนต้องมี เพราะการขายปลีกหมายถึงรายได้จะค่อยๆ เข้ามาตามที่ขายได้ ต่างกับการเหมาขายให้โรงสีที่จะมีเงินเข้ามาเป็นเงินก้อนทันที และ 3. ต้องเข้าถึงตลาดได้ ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่สำคัญที่สุด

อย่างไรก็ดี เงื่อนไขทั้ง 3 ข้อนี้ไม่ง่าย และมีประเด็นที่ท้าทายมากมาย เช่น 1. การรวมตัวชาวนาให้มีเอกภาพเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย เพราะเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้รวมตัวกันได้คือเรื่องผลประโยชน์ ที่มาจากการขายข้าว ต้องให้ความมั่นใจแก่ชาวนาว่าข้าวสารของเขาจะขายได้แน่ และขายได้ในราคาที่ดีกว่าการขายให้โรงสี 2. การขายข้าวให้ได้ราคาต้องเป็นข้าวมีคุณภาพ ทั้งพันธุ์ข้าวและวิธีการปลูกที่ควรปลอดจากการใช้สารเคมี และโน้มน้าวให้ชาวนาเปลี่ยนกรรมวิธีเพื่อให้ได้คุณภาพเป็นเรื่องที่ท้าทาย 3. เรื่องทุนสำคัญมาก เพราะชาวนารายเล็กจะยากจน เขารอรับเงินไม่ได้ และพร้อมขายเหมาถูกๆ เพื่อแลกกับการได้เงินเร็ว 4. เราขาย “ข้าวอิ่ม” ที่ซุปเปอร์มาร์เก็ตต่าง ๆ ได้ แต่จะทำอย่างไรให้ชาวนาทุกคนมีช่องทางแบบนี้ กระบวนการมีรายละเอียดค่อนข้างมาก


“ข้าวอิ่ม” ได้เปรียบคุณภาพข้าวมาจากแหล่งปลูกดีที่สุดเมืองไทย

ทั้งนี้ “กรณ์” บอกว่า ไม่เหนือความคาดหมาย เพราะสุดท้ายชาวบ้านก็สามารถรวมตัวกันได้ เพียง 7 ครัวเรือน แต่สิ่งที่ชาวนา จ.มหาสารคามได้เปรียบคือ คุณภาพข้าวในพื้นที่ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทุ่งกุลาร้องไห้ ถือเป็นข้าวเกรดเอของไทย ที่ชาวโลกนิยมว่าอร่อยที่สุดในโลก เมื่อเรามีความได้เปรียบอยู่ตรงนี้ แล้ววันนี้เริ่มเห็นแล้ว ตลาดของกลุ่มผู้บริโภคที่พร้อมจะจ่ายราคาสูงขึ้นได้ ถ้าเป็นข้าวที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ซึ่งเป็นตลาดที่ขยายฐานอย่างรวดเร็ว เรามีต้นทุน เรามีความได้เปรียบ เพียงแต่เรายังไม่ได้ใช้ความได้เปรียบนี้อย่างเป็นระบบ


นอกจากนี้ “กรณ์” มองว่าการที่จะขายสินค้าระดับ premium หรือสร้าง brand ขึ้นมาได้ 1.ของทุกคนต้องดี 2.ผู้บริโภคต้องมั่นใจว่า สินค้าที่ซื้อเป็นของแท้ 3.ต้องมี packaging มีเรื่องราวที่มาของสินค้า เพื่อผูกใจผู้ซื้อกับตัวสินค้าหรือผู้ขาย นั่น จึงเป็นที่มาของการทำ แพคเกจจิ้งที่ดูดี มีเรื่องราที่มีความเป็นอัตถลักษณ์ในท้องถิ่น เริ่มต้นจากข้าวหอมมะลิอินทรีย์ จากจังหวัดมหาสารคาม ปลูกแบบพรีเมียมอย่างต่อเนื่องเข้าสู่ปีที่ 9 บรรจุแพคเกจ “กระจูดสาน” จากป่าพรุภาคใต้ และ "ถุงผ้าขาวม้าทอมือ" จากกลุ่มแม่บ้านชาวนาสารคาม ยิ่งไปกว่านั้น สุดพิเศษปีที่ 9 กระเป๋ากระจูดผสมผสานผ้าบาติก เขียนมือทุกผืน อัตลักษณ์ดั่งเดิมกว่า 20 ปี จากบ้านบ่อแร่ จังหวัดภูเก็ต มาเพิ่มมูลค่าเป็นกระเป๋าบรรจุภัณฑ์ จึงรวมเป็นแพคเกจจิ้งที่มีเรื่องราว และความงดงาม เพิ่มมูลค่า ช่วยชาวบ้านเพิ่มรายได้ทั้ง 3 จังหวัด 2 ภูมิภาค น่าซื้อหามาเป็นของขวัญ ของฝาก ในโอกาสต่าง ๆ ได้มากมาย


ยกระดับข้าวพื้นเมืองสู่ ข้าวพรีเมี่ยมจาก จ.มหาสารคาม

สำหรับ 9 ปี คือบทพิสูจน์ความสำเร็จของชาวนามหาสารคาม ที่สามารถส่งข้าวพื้นเมืองสู่ข้าวพรีเมี่ยม ภายใต้แบรนด์ “อิ่ม” ที่สามารถยกระดับคุณภาพผลผลิตทางการเกษตร ให้ได้รับการยอมรับ 

ข้าวอิ่ม” เป็นผลิตภัณฑ์ข้าวกล้องปลอดสารฯ คัดพิเศษ ประกอบไปด้วย ข้าวกล้องพันธุ์พื้นเมืองจากทุ่งกุลาร้องไห้ 3 สายพันธุ์ ได้แก่ ข้าวหอมมะลิ 105 ข้าวหอม มะลิแดง และข้าวหอมนิล ผสมกันบรรจุอยู่ใน ถุงสุญญากาศอย่างดี โดยมีกลุ่มชาวนาเป็นผู้ดูแลขั้นตอนการผลิต ตั้งแต่ ปลูกเอง เกี่ยวเอง ดูแลการสีข้าวเอง และแพ็กใส่ถุงเอง ทำให้ ผู้ซื้อยังมั่นใจได้ว่ามีส่วนร่วม โดยตรงในการช่วยเหลือให้วิถีชีวิตชาวนามี ความยั่งยืน และยังได้บริโภคข้าวที่มีคุณภาพ ปลอดสารพิษอีกด้วย


สิ่งที่จะได้จาก ข้าวอิ่ม ของขวัญสุดพรีเมี่ยม จากเกษตรกร 3 จังหวัดคือ 1. กระบวนการปลูกแบบอินทรีย์พรีเมียม 2. สนับสนุนต้นทุน 4,000 บาท/ไร่ ลดการก่อหนี้ของเกษตรกร 3. รับซื้อข้าวเปลือกราคาเป็นธรรม เฉลี่ยตันละ 25,000 บาท สูงกว่าราคาตลาด 4. ข้าวหอมมะลิอินทรีย์ พันธุ์ท้องถิ่นจากทุ่งกุลาร้องไห้ 5. ผสมข้าวสูตรพิเศษ โดยเชฟมืออาชีพ เพื่อรสสัมผัสของผู้บริโภค 6. เพิ่มมูลค่าสินค้าจากกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร (ผ้าขาวม้าทอมือ, งานหัตถกรรมกระจูด) 7. เกษตรยุคใหม่ นำเทคโนโลยีทางการเกษตรมาช่วยเพิ่มผลผลิต และ 8. สร้างผู้ประกอบการภายในชุมชน โดยกลุ่มเกษตรกร ลูกหลานกลับมาพัฒนาท้องถิ่น

ติดต่อ โทร.096-672-2093
Facebook : immrice LINE :@immrice

คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEsผู้จัดการ”รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด
SMEs manager



กำลังโหลดความคิดเห็น