xs
xsm
sm
md
lg

เรือนไหม-ใบหม่อน ผุดไอเดีย “ผ้ายีนส์ไหมไทย” ป้อนตลาดคนรุ่นใหม่ พร้อมต่อยอดการปลูกหม่อน เลี้ยงไหม แปรรูปเป็นสินค้าสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมื่อต้องการให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจและอนุรักษ์ผ้าไหมไทย เรือนไหม-ใบหม่อน จึงผุดไอเดีย “ผ้ายีนส์ไหมไทย” ป้อนตลาดวัยรุ่นคนยุคใหม่ ผลิตไหมยีนส์จากไหม 100% เพื่อผลิตเป็นเส้นไหมและผ้าผืนที่สามารถนำไปต่อยอดเป็นเสื้อผ้ายีนส์ต่างๆ ให้ตอบโจทย์การแต่งกายของคนรุ่นใหม่กับการประยุกต์ความเป็นไทยและแฟชั่นให้ผสมผสานเข้ากันอย่างลงตัว


นายอาทร แสงโสมวงศ์ และนางสาวทัศนีย์ สุรินารานนท์ เจ้าของกิจการ เรือนไหม-ใบหม่อน จังหวัดสุรินทร์ เล่าว่า เดิมทีทางครอบครัวตนมีอาชีพรับซื้อเส้นไหมจากชาวบ้านและนำส่งให้กับโรงงานทอผ้า เช่น จิม ทอมป์สัน กล่าวคือเป็นการรวบรวมเส้นไหมและส่งไปขายให้กับโรงงานทอผ้านั่นเอง แต่พอนายอาทรเข้ามารับช่วงต่อและรับซื้อเส้นไหมจากชาวบ้านเช่นเดียวกันนั้นในปี 2530 และเริ่มจัดตั้งเป็นบริษัทในปี 2538 สิ่งที่เปลี่ยนไปคือ ปริมาณเส้นไหมลดลงอย่างน่าตกใจ เพราะว่าในอดีตเมื่อตนยังเป็นเด็กนั้น ใน 1 วันสามารถรวบรวมเส้นไหมได้ในจำนวนมาก เรียกได้ว่าสามารถกระโดดเล่นบนกองเส้นไหมเลยก็ว่าได้ แต่ในปี 2530 กลับเหลือไม่ถึง 10 กิโลกรัมต่อวัน


สาเหตุเกิดจากการที่ชาวบ้านที่ทอผ้านั้นมักจะเปลี่ยนวิธีการคิดว่าแทนที่จะผลิตเส้นไหมใช้เอง แต่ซื้อเส้นไหมสำเร็จรูปที่ผลิตจากโรงงานอุตสาหกรรมมาใช้แทน ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวจะเป็นโรงงานที่มาจากต่างประเทศ เช่น จีน ญี่ปุ่น และเกาหลี ทำให้ชาวบ้านที่ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมนั้นลดลงจำนวนมาก ทำให้ตนตระหนักได้ว่าถ้าหากเป็นเช่นนี้ต่อไป การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม การสาวเส้นไหมจะหายไป ภูมิปัญญาเราจะเริ่มหายไป เพราะฉะนั้นจึงเป็นสาเหตุให้ตนเดินหน้าสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีมาอย่างช้านานเอาไว้จนถึงปัจจุบัน


เหตุผลที่ตั้งชื่อร้านว่า เรือนไหม-ใบหม่อน นั้น มีที่มาคือเป็นคำเชื่อมจากเรือนไหมหรือร้านขายเส้นไหมและมีจุดมุ่งหมายที่จะขึ้นไปสู่ต้นน้ำให้ได้ มาสู่การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม “เรือนไหม-ใบหม่อน” ก็คือ ปลูกต้นหม่อนเพื่อที่จะเอาใบไปเลี้ยงไหม ทั้งนี้จากปี 2530 ก็เริ่มทยอยทำมาอย่างต่อเนื่อง เชื่อมโยงกับชุมชนที่มีศักยภาพในการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม นอกจากนี้เรื่องการทอผ้า เนื่องจากมีการเตรียมเส้นไหม และมีการฟอก ย้อมสีเส้นไหมต่างๆ ซึ่งขั้นตอนดังกล่าวจะใช้มือในการทำทั้งหมดทำให้เกิดการล่าช้า จึงทำให้ต้องนำเครื่องจักรเข้ามาทุ่นแรงและลดเวลาในการทำมากขึ้น โดยปกติเมื่อใช้มือทำอย่างเดียวจะใช้เวลาประมาณ 2-3 วัน แต่เมื่อมีเครื่องจักรแล้วจะลดเวลาเหลือ 30 นาทีต่อคน และจะทอผ้าได้มากยิ่งขึ้นอีกด้วย


นอกจากนี้ชาวบ้านส่วนใหญ่ที่เข้ามาทอผ้ากับทางแบรนด์นั้นจะเข้ามาทำเป็นอาชีพเสริม ซึ่งอาชีพหลักของชาวบ้านในจังหวัดสุรินทร์จะทำไร่ ทำนา เป็นหลัก รวมถึงชักชวนกลุ่มผู้สูงอายุที่ไม่มีงานประจำเข้ามาทำงานกับทางแบรนด์ เพื่อให้กลุ่มคนเหล่านี้ได้มีรายได้เสริม ซึ่งเหตุผลที่ชักชวนกลุ่มผู้สูงอายุมาทำงาน เพราะว่าเมื่อคนเรามีอายุมากขึ้น เมื่ออยู่เฉยๆ ร่างกายไม่ได้ขยับอาจจะทำให้เกิดโรคภัยต่างๆ ตามมา แต่ถ้าหากได้ทำงานสมาธิก็จะมุ่งสู่การทำงาน โรคภัยไข้เจ็บก็อาจจะลดลง โดยการทำงานดังกล่าวจะเป็นการทำงานในร่ม


ทั้งนี้ในส่วนของเครื่องจักรที่เข้ามาช่วยลดหย่อนเวลาและแรงงานคนงานนั้น ทางเรือนไหมใบหม่อนเองได้มีการปรึกษาขอทุนกับ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank และเริ่มมีเครื่องจักรในปี 2543 จนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้ยอดขายนั้นดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะสามารถลดหย่อนเวลาจากเดิมได้เป็นอย่างดี ซึ่งในปี 2538 สามารถสร้างยอดขายได้กว่า 20 ล้านบาทต่อปี จนกระทั่งก่อนโควิด-19 ยอดขายขยับขึ้นมาเป็น 60 ล้านบาทต่อปี แต่เมื่อมีโควิด-19 เข้ามานั้นทำให้ต้องประคองสภาพการจ้างงานเอาไว้ กระทบในเรื่องยอดขายต่างๆ ทำให้รายได้ลดลงอย่างเห็นได้ชัด


วิกฤตที่มาพร้อมโอกาส ก่อนโควิด-19 ระบาดประมาณ 1 ปี ได้มีกลุ่มนักธุรกิจคนจีนเข้ามาสนใจและเจรจาเกี่ยวกับสินค้าที่เป็นไส้ผ้าห่มใยไหม ทำให้กลุ่มนักธุรกิจคนจีนเหล่านั้นติดต่อมาที่แบรนด์เพื่อให้ทางแบรนด์ผลิตเส้นใยให้และส่งออกไปให้ในช่วงที่สามารถส่งสินค้าไปต่างประเทศได้ ซึ่งในส่วนนี้ก็จะสามารถปรับประคองธุรกิจได้ในระดับหนึ่ง แต่ยอดขายก็ยังคงติดลบในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19


สำหรับกลุ่มเกษตรกรที่เป็นเครือข่ายของทางเรือนไหมใบหม่อน ปัจจุบันมีทั้งหมด 400 ครอบครัว กลุ่มเกษตรกรเหล่านี้จะทำการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเพื่อที่จะขายตัวรังไหมให้กับทางแบรนด์ ในระหว่างที่ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมนั้นจะมีผลผลิตที่เหลือตกค้าง ทางแบรนด์ได้มีการแนะนำให้เอาใบหม่อนนั้นมาแปรรูปเป็น “ชาหม่อน” นอกจากนี้ยังนำ “ผลหม่อน” ไปต่อยอดเป็น “น้ำลูกหม่อน” ที่บรรจุในขวดแก้ว ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเป็นผลพลอยได้จากการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและนำเส้นไหมมาขายให้กับทางแบรนด์ ส่วนผลผลิตที่ตกค้างก็จะนำไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ขายสร้างรายได้อีกหนึ่งช่องทาง โดยตรงตามจุดประสงค์ของทางแบรนด์คือการลดขยะต่างๆ หรือ Zero Waste


ในการเลี้ยงไหมนั้นจะใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 28 วัน โดยทางแบรนด์จะไปรับรังไหมกับชาวบ้านและให้ค่าตอบแทนทันที ซึ่งขั้นตอนการคัดเลือกรังไหมต่างๆ นั้น จะเลือกรังไหมที่มีความหนาของเปลือกรังไหมและเป็นรังไหมที่มีดักแด้อยู่ นำไปชั่งน้ำหนัก หลังจากนั้นจะใช้มีดหรือกรรไกรตัดปากรังไหมและเทดักแด้ออกมา และเอาเฉพาะตัวรังไหมมาชั่งน้ำหนักและคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ ถ้าหากว่าเปอร์เซ็นต์สูงก็แสดงว่าเปลือกรังมีความหนา สามารถขายได้และราคาก็จะสูงขึ้นตามความหนาของรังไหมอีกด้วย นอกจากนี้ดักแด้สามารถนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลากหลายชนิด ยกตัวอย่างเช่น นำดักแด้ไปเป็นอาหารของถั่งเช่า ซึ่งทางแบรนด์เองก็ได้มีการเลี้ยงถั่งเช่า ดักแด้สด ดักแด้แช่แข็ง แปรรูปเป็นดักแด้อบกรอบ


ผ้าไหมยีนส์ เริ่มต้นมาจากการวิจัยทางตลาดเกี่ยวกับสินค้าผ้าไหม ซึ่งมีผลงานวิจัยออกมาว่ากลุ่มคนที่มีอายุน้อยกว่า 30 ปี พอพูดถึงผ้าไหม กลุ่มคนเหล่านี้จะรู้สึกว่าเป็นผ้าสำหรับผู้สูงอายุ รวมถึงมีเนื้อผ้าที่รีดยาก การดูแลรักษาค่อนข้างยาก รวมถึงค่าใช้จ่ายในการรักษาค่อนข้างแพง ทำให้ทางแบรนด์ได้ตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้ ผ่านการคิดไตร่ตรองว่าจะสามารถดึงดูดกลุ่มคนเหล่านี้ให้หันมาสนใจผ้าไหมได้อย่างไร ทำให้ “ผ้ายีนส์” ตอบโจทย์เพราะเป็นผ้าที่มีอายุการเก็บรักษาได้นาน ซึ่งผ้ายีนส์มีอายุมากว่า 200 ปีและไม่มีตกยุคตกเทรนด์ ยังคงเป็นผ้าที่ทุกวัยสามารถสวมใส่ได้อย่างลงตัว ทำให้ทางแบรนด์คิดค้นการเอาผ้าไหมไปย้อมครามและมาทอเป็นผ้ายีนส์ และเป็นที่มาของไอเดีย “ผ้าไหมยีนส์” ตอบโจทย์กลุ่มคนรุ่นใหม่ได้เป็นอย่างดี


นวัตกรรมผ้ายีนส์ไหมไทย มีแรงบันดาลใจในการผลิต ได้แก่

1.ทอผ้าไหมให้มีความสากล

2.ทอผ้าไหมให้สามารถสวมใส่ได้ทุกวัน

3.เป็นผ้าไหมที่สามารถสวมใส่ทุกเพศทุกวัย

4.สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเส้นไหมและผ้าไหม 


โดยมีแนวคิดในการพัฒนา คือ

1.ทอผ้ายีนส์ด้วยเส้นไหมไทย เนื่องจากผ้ายีนส์เป็นผ้าที่มีอายุยืนยาวมาจนถึงปัจจุบัน

2.ใช้นวัตกรรมในการพัฒนาเส้นไหม เนื่องจากเส้นไหมท้องตลาดไม่สามารถผลิตผ้ายีนส์ได้

3.ใช้ภูมิปัญญาพื้นบ้านในการย้อมโดยการใช้สีธรรมชาติและสีเคมีที่ได้มาตรฐาน เพื่อสร้างความแตกต่าง


นอกจากนี้การดูแลผ้ายีนส์ไหมไทยนั้นสามารถทำได้ดังนี้

1.ซักด้วยเครื่องซักผ้าได้

2.ไม่ควรใช้สบู่หรือผงซักฟอกที่มีฤทธิ์เป็นด่าง

3.ไม่ควรแช่ค้างคืน

4.ควรตากในที่ร่ม

5.ควรรีดในขณะที่ผ้ายังหมาดๆ และรีดด้านใน 

รวมถึงก่อนนำไปตัดเป็นชุดควรอาบน้ำยาก่อนเหมือนผ้าไหมทั่วไป


ผ้าไหมยีนส์กับผ้ายีนส์ธรรมดานั้นมีความแตกต่างกัน เส้นไหมจะมีแอนตี้แบคทีเรียในตัว ซึ่งในขณะที่เส้นไหมและเส้นยีนส์มีขนาดเท่ากัน เส้นไหมจะมีน้ำหนักเบากว่า เนื่องจากเป็นเส้นไหมที่มีที่มาจากโปรตีน เมื่อสวมใส่แล้วจะช่วยรักษาความสมดุลของสภาพผิวเอาไว้ รวมถึงความชุ่มชื้นของผิวไว้ได้เป็นอย่างดี ปัจจุบันทางแบรนด์ได้มีการตั้งราคาผ้าไหมยีนส์ไว้ที่เมตรละ 1,800 บาท ซึ่งทางแบรนด์จะไม่ผลิตเป็นชุดขึ้นมาแต่จะผลิตเป็นผ้าผืนแทน ส่วนผ้าไหมธรรมดาสีเคมีเริ่มต้นที่เมตรละ 500 บาท ส่วนสีธรรมชาติจะอยู่ที่หลักพันขึ้นไป นอกจากนี้ ผ้าไหมยีนส์จะเป็นผ้าไหม 100% มีความหนาและมีน้ำหนักเบา


ปัจจุบันทางเรือนไหมใบหม่อนได้มีการผลิตสินค้าเป็นในรูปแบบของ เส้นไหม ผ้าผืน ที่มีทั้งอุตสาหกรรมและแบบทอมือ และเนื้อผ้าจะมีความแตกต่างจากที่อื่น โดยจะใช้ไหมพันธุ์ไหมทองที่เป็นไหมท้องถิ่นจะมีเนื้อสัมผัสที่นุ่ม และรายได้หลักจะมาจากการขายเส้นไหม ส่วนผ้าทอจะขึ้นอยู่กับกระแสและความต้องการของลูกค้าในช่วงเวลานั้นๆ อย่างไรก็ตามกลุ่มลูกค้าของทางแบรนด์นั้นมีทั้งในประเทศและต่างประเทศ ได้แก่ ประเทศจีน ซึ่งในประเทศ 80% และต่างประเทศ 20% โดยลูกค้าต่างประเทศนั้นจะมีพ่อค้าคนกลางรับขายอีกที

ติดต่อเพิ่มเติม

Facebook :
เรือนไหม-ใบหม่อน "คิดถึงไหมคิดถึงเรือนไหม" : Ruenmaii-Baimon












* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด* * *


กำลังโหลดความคิดเห็น