ลอยกระทง ปีนี้ (2565) กลับมาคึกคักกันอีกครั้ง หลังจากที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โรคโควิด19 ทำให้การจัดกิจกรรมวันลอยกระทง ต้องงดการจัดงานมานานถึง 3 ปี สำหรับลอยกระทงปีนี้ ตรงกับวันอังคารที่ 8 พฤศจิกายน 2565 ทุกจังหวัดเดินหน้าจัดกิจกรรมวันลอยกระทงกันอย่างคึกคัก ส่วนหนึ่งเพื่อคืนความสุขให้กับคนไทย และสืบสานวัฒนธรรมประเพณีที่โดดเด่นของประเทศไทย และที่สำคัญชวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติให้กลับมาร่วมกิจกรรมลอยกระทงที่ประเทศไทยเหมือนเช่นทุกครั้งที่ผ่านมา เพื่อขับเคลื่อนและกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ
ลอยกระทง ปี 2565 คึกคัก
ขอนแก่นจัดยิ่งใหญ่ สีฐานเฟสติวัล
ในปีนี้ (2565) ทางสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดขอนแก่น ขานรับนโยบายของกระทรวงวัฒนธรรม ในการอนุรักษ์และสืบสานวัฒนธรรมประเพณีลอยกระทงในแบบอีสาน โดยร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น และจังหวัดขอนแก่น จัดงานสีฐานเฟสติวัล “บุญสมมาบูชานาค” ประจำปี 2565 นี้ เพื่อป็นแหล่งเรียนรู้ ให้ประชาชนคนขอนแก่น และภาคอีสาน ตลอดจนนักท่องเที่ยวจากทั่วประเทศ เกิดแรงขับเคลื่อนในการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมไทย และช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค ระดับชาติ และระดับนานาชาติในอนาคต
นางสาวธนียา นัยพินิจ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า งานสีฐานเฟสติวัล“บุญสมมาบูชานาค” ประจำปี 2565 Sithan KKU Festival 2022 นับเป็นงานลอยกระทงที่สืบสานศิลปวัฒนธรรมไทย และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจจังหวัด เป็นงานใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เราพยายามผลักดันให้เป็นงานระดับชาติ และระดับนานาชาติ ในอนาคต เสน่ห์ คือ ศิลปวัฒนธรรมอีสานที่มีความสนุกสนาน โดดเด่น สวยงาม โดยมีชาวขอนแก่นเป็นเจ้าภาพร่วมกัน ต้อนรับผู้มาเยือนในเทศกาลนี้อย่างดียิ่ง ให้สมกับเป็น“ขอนแก่นเมืองน่าอยู่ มุ่งสู่มหานครแห่งอาเซียน” และเชื่อว่าจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง
จ. ขอนแก่นเมืองแห่งไหม
ทำกระทงรังไหม ปลูกจิตสำนึกสิ่งแวดล้อม
สำหรับไฮไลท์ของงานนี้ นอกจากกิจกรรมต่างๆ ภายในงานจัดอย่างยิ่งใหญ่แล้ว สิ่งสำคัญ คือ กระทงที่นำมาใช้ลอยในวันงานลอยกระทง สีฐานเฟสติวัล ครั้งนี้ ทาง สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดขอนแก่น โดย จ.อ.นาวี แสงฤทธิ์ ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า ทางวัฒนธรรมจังหวัดขอนแก่น ต้องการที่จะให้ประเพณีลอยกระทงในปีนี้ เล็งเห็นถึงแนวทางการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จึงได้เชิญชวนให้ทุกคนหันมาทำกระทงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สามารถย่อยสลายได้ และจังหวัดขอนแก่น เป็นเมืองแห่งไหม เกือบทุกบ้านมีการปลูกหม่อน เลี้ยงไหม เพื่อนำมาทอผ้าไหม และรังไหมเหลือทิ้งไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์อะไร ทางวัฒนธรรมจังหวัดขอนแก่น เสนอให้ทุกบ้านนำรังไหมทำประดิษฐ์เป็นกระทง และนำมาลอยในวันลอยกระทง ปีนี้
โดยได้รับความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา และโรงเรียนต่างๆ ช่วยกันออกแบบกระทงทำจากรังไหม และหนึ่งในนั้น เป็นผลงานของ น้องกชรมน ศิริอุเทน และ น้องอรปภา หวังหมุ่กลาง ตัวแทนยุวฑูตวัฒนธรรมจังหวัดขอนแก่น เป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนอนุบาลขอนแก่น ที่สร้างสรรค์ผลงานกระทงรังไหม ออกมาได้สวยงาม เป็นแบบอย่างให้กับคนขอนแก่น และเยวชนคนรุ่นใหม่ขอนแก่นและจังหวัดใกล้เคียงที่ปลูกม่อน เลี้ยงไหม ได้นำไอเดียดังกล่าวไปต่อยอดทำกระทงรังไหม ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นำมาใช้ลอยในวันลอยกระทง
ข้อดีของกระทงรังไหม
ย่อยสลายเป็นอาหารปลา
สำหรับข้อดีของกระทงรังไหม คือ สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ และยังสามารถเป็นอาหารให้กับปลา และสัตว์น้ำอื่นๆ ก็สามารถกินรังไหมได้โดยไม่เป็นอันตราย ซึ่งการทำกระทงรังไหมเป็นการทำร่วมกับการใช้วัสดุตามธรรมชาติ อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นต้นกล้วย กาบกล้วยใบตอง ดอกไม้สด ฯลฯ เพื่อเป็นแบบอย่างในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้กับเยาวชน รุ่นใหม่ได้ทำตามต่อไป โดยผ่านผลงานของน้องๆ “กชรมน” และ “อรปภา” ยุวทูตวัฒนธรรมของจังหวัดขอนแก่น
ทั้งนี้ ปกติรังไหมที่ชาวบ้านมีอยู่จากการทำผ้าไหม นำมาใช้ประโยชน์โดยการนำมาทำเครื่องสำอาง สบู่ เพราะรังไหม ประกอบด้วยกรดอะมิโน 18 ชนิด มีสารต้านอนุมูลอิสระ และสารช่วยขจัดเชื้อแบคทีเรียบางชนิดที่เป็นสาเหตุของโรคผิวหนัง กรดอะมิโนเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในร่างกายมนุษย์ กรดอะมีโน ชนิดที่สำคัญคือเซอริซิน (Sericin) และไฟโบรอิน (Fibroin) สามารถอุ้มน้ำได้ดีรักษาความชุ่มชื้นของผิว กระตุ้นการสร้างCollagenและมี Whitening ด้วยเหตุนี้ นิยมนำรังไหมมาทำผลิตภัณฑ์ความงาม
อย่างไรก็ดี การนำรังไหมมาทำกระทง ช่วยเสริมความแข็งแรงให้กับปลาและสัตว์น้ำด้วยคุณสมบัติที่ดีของรังไหมตามที่กล่าวมาข้างต้น โดยทางจังหวัดขอนแก่นจะทำการรณรงค์ให้มีการนำรังไหมมาทำกระทงต่อไปในอนาคต แต่ด้วยปีนี้เป็นปีแรกของแนวคิดกระทงรังไหม 2022 จึงยังไม่ได้มีการจัดประกวดกระทงรังไหม ส่วนในปีถัดไปทางผู้จัดงาน ก็คงจะได้มีการเสนอแนวคิดการจัดประกวดรังไหม เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมการจัดงานสีฐานเฟสติวัลฯ เพราะทางวัฒนธรรมจังหวัดขอนแก่น ต้องการที่จะรณรงค์กระตุ้นให้คนขอนแก่นและเยาชนหันมาทำกระทงจากวัสดุธรรมชาติ ย่อยสลายได้
นำศิลปวัฒนธรรมซอฟต์พาวเวอร์
ถ่ายทอดคนขอนแก่นและทั่วโลก
นางกมนรัตน์ สิมมาคำ วัฒนธรรมจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า ในการจัดกิจกรรมครั้งนี้ วัฒนธรรมจังหวัด เน้นการนำศิลปวัฒนธรรมอันดีงามของไทย เป็นซอฟต์ พาวเวอร์ (Soft Power) ถ่ายทอดไปยังผู้เข้าร่วมงาน อาทิ สร้างรูปแบบลานวัฒนธรรมให้แตกต่างทันสมัยแต่แฝงด้วยอัตลักษณ์ ด้วยศิลปะพื้นบ้าน การละเล่นพื้นบ้าน การแสดงหมอลำพื้นบ้าน การสาธิตวิธีทำกระทงจากรังไหม ช่วยลดปัญหาภาวะโลกร้อน และในยุคปัจจุบันเป็นยุคดิจิทัล ออนไลน์ จะมีการ Live สด บนเพจเฟซบุ๊กวัฒนธรรมจังหวัดขอนแก่น ทั้ง 3 วัน เพื่อให้ประชาชนภูมิภาคอื่น ๆ และ ทั่วโลกได้เห็นความยิ่งใหญ่ของศิลปวัฒนธรรมชาวอีสาน
รศ.นพ. ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีภารกิจส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม ตามยุทธศาสตร์เศรษฐกิจสร้างสรรค์ เป็นไปตามบัญญัติของ ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี นายกสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งท่านเป็นนักเศรษฐศาสตร์ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ท่านได้ให้แนวคิด เรื่องจัดงานสีฐานว่า “Pass Legend, Future tense สู่อนาคตแห่งอดีตกาล” คือการไม่หลงของเก่า ไม่เมาของใหม่ การพัฒนาศิลปวัฒนธรรมแบบสมัยใหม่ โดยใช้รากวัฒนธรรมมาเป็นจุดแข็งเพื่อต่อยอดให้ดียิ่งขึ้น การจัดงานในครั้งนี้เป็นการจัดแบบเต็มรูปแบบครั้งแรกหลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย
โดยงาน จัดขึ้นระหว่างวันที่ 6 – 8 พฤศจิกายน 2565 ประกอบด้วย วันอาทิตย์ที่ 6 พฤศจิกายน 2565 คือ ศรัทธา ในช่วงเช้าจะมีพิธีทำบุญตักบาตรและอัญเชิญพระอุปคุต เพื่อความเป็นสิริมงคลในการเริ่มกิจกรรมซึ่งเป็นวิถีดั้งเดิมของชาวอีสาน ส่วนในช่วงเย็นมีขบวนแห่พระบรมสารีริกธาตุ พร้อมพิธีเปิดงานสีฐาน KKU เฟสติวัล 2022 การประกวดวงดนตรีสากล การประกวดวงดนตรีลูกทุ่ง การแสดงหมอลำคณะศิลปินภูไท
และ วันจันทร์ที่ 7 พฤศจิกายน 2565 คือ มหาสนุก พบกับขบวนแห่ “KKU Carnival” ส่วนวันอังคารที่ 8 พฤศจิกายน 2565 คือ ปลุกวิถีวัฒนธรรม พบขบวนแห่อันวิจิตรงดงามที่สะท้อนอัตลักษณ์ความเป็นไทยและอีสาน ในขบวนแห่กระทง และการประกวดกระทง การประกวดนางนพมาศ ประจำปี 2565 ผู้สนใจเข้าร่วมงานได้ในวันเวลาดังกล่าว
คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด