สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กรมพลศึกษา และภาคีเครือข่าย ร่วมกันจัดเวทีประกวด “นักพากย์เรือเยาวชนสร้างสุขระดับประเทศ” ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ครั้งที่ 2 ณ แม่น้ำน่าน เชิงสะพานพัฒนาภาคเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดน่าน
ทั้งนี้ เพื่อเปิดพื้นที่ให้เยาวชนได้แสดงศักยภาพ และค้นหาแรงบันดาลใจให้แก่ตนเอง ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ห่างไกลปัจจัยเสี่ยง เหล้า บุหรี่ และยาเสพติด รวมทั้งยังเป็นการปลูกฝังให้เยาวชนได้เข้ามามีส่วนร่วมเรียนรู้ สืบสานวิถีวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีซึ่งมีมาแต่โบราณ โดยมีเยาวชนนักพากย์เรือจากทั่วประเทศเข้าร่วมการแข่งขันทั้งประเภทเดี่ยวและประเภททีม จำนวนกว่า 22 คน ผลการแข่งขันในประเภทเดี่ยว ผู้ชนะเลิศซึ่งได้รับถ้วยรางวัลพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมทุนการศึกษาจำนวน 10,000 บาท ได้แก่ ด.ช.ภูพิพัฒน์ กิตินันท์ และรางวัลรองชนะเลิศ ได้แก่ นายนันทกานต์ พรมศรี ด.ญ.ปริยฉัตร ปะระมะ และนายรักแท้ จานทอง ตามลำดับ
ส่วนการแข่งขันประเภททีม
โดยทีมที่ชนะเลิศซึ่งได้ถ้วยรางวัลพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมทุนการศึกษาจำนวน 25,000 บาท ได้แก่ ทีมจากภาคเหนือ (จังหวัดน่าน) เยาวชนนักพากย์เรือ ประกอบด้วย ด.ช.ณัฐประวุฒิ ชุมนันท์ ด.ช.ศักรินทร์ ยาแก้ว น.ส.จิราธร กรีเรียน ด.ญ.รุจิลักษณ์ ชัยสมทิพย์ น.ส.เขมอักษร ทิพย์ปัญญา ส่วนรางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 ได้แก่ทีมจากภาคใต้ (จังหวัดชุมพร) และ รางวัลรองชนะเลิศ ได้แก่ทีมจากภาคอีสาน (จังหวัดสุรินทร์)
นายวิษณุ ศรีทะวงศ์ ผู้จัดการแผนพัฒนานโยบายสาธารณะฯ สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) กล่าวว่า งานประเพณีแข่งเรือปลอดเหล้ามีการรณรงค์มากว่า 17 ปี ตอนนี้ถือเป็นประเพณีประจำในหลายจังหวัดแล้ว สคล.และสสส. พยายามยกระดับการพากย์เรือเพื่อร่วมเชิดชูงานศิลปวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่าแบบนี้ให้ได้ไปต่อด้วยการเชื่อมไปยังคนรุ่นใหม่ โดย “นักพากย์สร้างสุข” จะเป็นการเชื่อมของคนสามวัย ทั้งผู้สูงวัย วัยกลางคนและคนรุ่นใหม่เข้าด้วยกัน ข้อมูลต่าง ๆ จะถูกถ่ายทอดและส่งต่อเรื่องของวิถีวัฒนธรรมและประเพณีการแข่งเรือที่ทรงคุณค่าจากคนรุ่นเก่าสู่คนรุ่นใหม่
โดยนักพากย์เรือเยาวชนไม่เพียงแต่มีทักษะในการพากย์เรือเท่านั้น แต่ยังเป็นกลไกสำคัญในการสื่อสารประเด็นสุขภาวะ การประชาสัมพันธ์รณรงค์เพื่อปรับเปลี่ยนค่านิยมทางสังคมลดปัจจัยเสี่ยง ให้งานแข่งเรืองานบุญประเพณีปลอดเหล้าบุหรี่การพนันและความเสี่ยงต่างๆ โดยที่ผ่านมา น้องๆที่มาร่วมงานการพากย์เรือสามารถพัฒนาตนเองไปสู่เส้นทางอาชีพอื่น ๆ เช่น พิธีกร นักจัดรายการวิทยุ โดยอนาคตอาจจะเชื่อมโยงไปเป็น ยูทูปเปอร์ สตรีมมิ่งเกม นักพากย์กีฬาชนิดต่งๆ รวมทั้งพิธีกรในงานต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องท้าทาย ดังนั้น การพากย์เรือ จึงเป็นจุดทางเข้าที่นำไปสู่ความสร้างสรรค์และการพัฒนาศักยภาพตนเองในแง่มุมต่างๆ แทนการใช้เวลาไปยุ่งเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่หรือยาเสพติดชนิดต่าง ๆ ที่กำลังเป็นปัญหาของเยาวชนในปัจจุบัน
ด้านอาจารย์อธิปัตย์ สายสูง เลขาฯ ชมรมเรือพาย ม.เทคโนโลยีราชมงคลล้านนา จ.น่าน และผู้ควบคุมทีมเรือซุ้มย่าสั่งลุยได้เล่าถึงความรู้เรื่อง “จุมสล่าเฮือน่าน” และอัตลักษณ์ของการแข่งเรือ จ.น่าน ที่แตกต่างและโดดเด่นกว่าพื้นทื่อื่น ๆ แก่เยาวชนนักพากย์เรือสร้างสุขก่อนการแข่งขัน กล่าวว่า ก่อนที่น้องๆ จะพากย์เรือ จะต้องรู้ใน 3 สิ่ง คือ รู้เรือ รู้พาย สายน้ำ (คำพูดของ อ.ขวัญทอง สองศิริ) ซึ่ง รู้เรือ หมายถึง รู้เรื่องเรือ ไม่ว่าจะเป็นเรือลำนี้สร้างมาจากช่างฝีมือสายไหน มีเอกลักษณ์โดดเด่นอย่างไร เพื่อให้ได้ข้อมูลอธิบายให้ผู้ฟังได้ชัดเจนและเชิงลึกซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อน้อง ๆ นักพากย์ ส่วน รู้พาย หมายถึง ฝีพายเป็นใคร มีความพร้อมระดับไหน ประวัติความเป็นมาและผลงานที่ผ่านมาเป็นอย่างไร และน้อง ๆ จำเป็นต้องรู้ สายน้ำ เพราะสายน้ำมีผลต่อชัยชนะ บางครั้งเรือสูสีกัน น้องจะได้มองภาพออกว่าลำไหนจะขึ้นนำหรือแซงขึ้นได้
“เป็นกิจกรรมอีกรูปแบบหนึ่ง ที่จะทำให้น้อง ๆ เข้าร่วมกิจกรรม ได้ โดยดึงพวกเขาออกจากอบายมุขและปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ คนที่ค้นพบตัวเองและไปต่อจนประสบความสำเร็จ ก็จะเป็นตัวอย่างที่ดีเป็นไอดอลให้กับรุ่นน้องถือเอาเป็นแบบบอย่างที่ดีได้” อาจารย์อธิปัตย์ กล่าว
ขณะที่น้องภูผา-ด.ช.ภูพิพัฒน์ กิตินันท์ ผู้คว้ารางวัลชนะเลิศ ประเภทเดี่ยว ชั้น ม.2 โรงเรียนท่าวังผาวิทยาคม จ.น่าน เผยความรู้สึกว่า ต้องขอขอบคุณ สสส.และ สคล. ที่มีโครงการดีๆ แบบนี้ทำให้เรามีโอกาสได้ค้นหาตัวเอง ส่วนตัวชอบการพากย์เรือตั้งแต่อายุ 8 ขวบ และพัฒนาฝึกฝนตนเองมาตลอดจนถึงปัจจุบันอายุ 14 ปี ดีใจมากที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ ผมจะฝึกฝนตนเองในเรื่องการพากย์เรือและพัฒนาให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป และจะเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับน้อง ๆ เยาวชนในโอกาสต่อไป การแข่งขันครั้งนี้ นอกจากประสบการณ์ที่ดี ได้สืบสานวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามแล้ว เรายังได้เพื่อนใหม่จากต่างถิ่นด้วย ส่วนอนาคตผมอยากทำงานด้านสื่อสารมวลชน อยากเป็นนักข่าวหรือพิธีกรครับ
ด้านน้องออมสิน- ด.ญ.รุจิลักษณ์ ชัยสมทิพย์ ตัวแทนผู้ชนะเลิศประเภททีม ชั้น ม.2 โรงเรียนสตรีศรีน่าน จ.น่าน กล่าวว่า ที่สนใจการพากย์เรือเพราะบ้านติดแม่น้ำ เห็นการพากย์การแข่งเรือก็อยากลองจับไมค์ดูบ้าง การพากย์เรือเราต้องมี 3 รู้ คือ รู้เรือ-มาจากไหน ผลงานที่ผ่านมา รู้พาย- ฝีพายชุดไหน มีผลงานอย่างไรบ้าง และ สายน้ำ - สายน้ำตะวันตกหรือตะวันออก การพากย์เรือเราจะเรียก ร่องน้ำแดง ร่องน้ำน้ำเงิน ซึ่งสิ่งเหล่านี้เราได้รับความรู้มาจากโครงการอบรมนักพากย์เยาวชนสร้างสุข จัดโดยสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) หนูได้รับความรู้ เทคนิคการพากย์ หลายอย่างจากโครงการนี้ เช่น การพากย์ต้องชัดถ้อยชัดคำ เสียงดังฟังชัด พากย์ได้น่าฟังด้วย ซึ่งหนูนำไปต่อยอดโดยนำไปใช้กับการเป็นพิธีกรในงานของหมู่บ้านและงานโรงเรียนคะ
“ตั้งแต่ สสส. สคล.เข้ามามีการงดเหล้างดเบียร์ในงานประเพณี และเกิดเป็นสโลแกนที่ว่า คนน่านภูมิใจ๋ แข่งเฮือยิ่งใหญ่ บามีเหล้าเบียร์ งานประเพณีแข่งเรือจังหวัดน่าน ซึ่งเป็นประเพณีเก่าแก่ที่สืบต่อกันมาแต่โบราณ ไม่มีการจำหน่ายแอลกอฮอล์ ทำให้ช่วยลดอุบัติเหตุลงด้วย อนาคตอยากเป็นตำรวจ เพื่อที่จะได้มาดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อยให้กับพื้นที่ของตนเองคะ” น้องออมสินกล่าวทิ้งท้าย