xs
xsm
sm
md
lg

พิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ น้อมรำลึกในหลวง ร.9 “ในความทรงจำนิรันดร์”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“13 ตุลาคม" วันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ครบรอบ 6 ปีที่พระองค์เสด็จสู่สวรรคาลัย แต่พระเกียรติยศ พระเกียรติคุณพระองค์ยังปรากฏขจรขจายท่วมท้นเหนือเกล้า ทรงสถิตอยู่ในความทรงจำของปวงชนชาวไทย

วันนี้ พามารู้จักพิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ แหล่งเรียนรู้พระเกียรติคุณและพระอัจฉริยภาพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ทางด้านการเกษตร และเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ ด้านภูมิปัญญา นวัตกรรมเกษตรเศรษฐกิจพอเพียงในรูปแบบพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต ชีวิต สุข สนุก เรียนรู้ชัด ปฏิบัติได้จริง แหล่งท่องเที่ยวเพื่อการเรียนรู้เกษตรเศรษฐกิจพอเพียง


ความเป็นมาของพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ

พลอากาศเอก เสนาะ พรรณพิกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เปิดเผยถึงความเป็นมาของ การจัดตั้งพิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เกิดขึ้น ในปีพุทธศักราช 2539 โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดสร้างเนื่องในมหามงคลสมัยที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงครองสิริราชสมบัติครบรอบ ๕๐ ปี และในปีพุทธศักราช 2545พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพล อดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดพิพิธภัณฑ์การเกษตรฯ เมื่อวันที่ ๒๑ มกราคม พ.ศ.๒๕๔๕ ต่อมากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินการจัดตั้งสำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (องค์การมหาชน) ในปี พุทธศักราช ๒๕๕๒ เพื่อดำเนินการบริหารงานตามพระราชกฤษฎีกา


จัดแสดงบนพื้นที่ 374 ไร่ อ.คลองหลวง ปทุมธานี

ทั้งนี้ ภายในพิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ มีการจัดแสดงพิพิธภัณฑ์ในอาคาร พิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง และฐานลงมือปฏิบัติเกษตรเศรษฐกิจพอเพียง บนพื้นที่ 374 ไร่ อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ซึ่งพิพิธภัณฑ์ในอาคาร นำเสนอการเรียนรู้ผ่านรูปแบบเทคโนโลยีทันสมัยมีการจัดแสดงนิทรรศการในอาคารเฉลิมพระเกียรติทั้งหมด 5 พิพิธภัณฑ์ ได้แก่ พิพิธภัณฑ์ในหลวงรักเรา พิพิธภัณฑ์มหัศจรรย์พันธุกรรม พิพิธภัณฑ์ป่าดงพงไพร พิพิธภัณฑ์วิถีน้ำ และพิพิธภัณฑ์ดินดล

และ พิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง เป็นพื้นที่จัดแสดงที่เชื่อมโยงองค์ความรู้หลักการจากทฤษฎี ไปสู่ฐานการเรียนรู้ลงมือปฏิบัติ ผ่าน 2 เส้นทางการเรียนรู้คือ พิพิธภัณฑ์เกษตรตามรอยพ่อ และพิพิธภัณฑ์เกษตรเศรษฐกิจพอเพียง พิพิธภัณฑ์กษัตริย์เกษตร มาดูพาวิเลี่ยน ริมถนนพหลโยธิน เรียนรู้การเดินตามรอยพ่อผ่านสื่อเทคโนโลยีที่ทันสมัย เชื่อมโยงภูมิปัญญาไทยที่สอดคล้องกับวิถีคนรุ่นใหม่ พร้อมร้านอาหารกิน อยู่ ดี จำหน่ายอาหารสุขภาพ ร้านจำหน่ายของที่ระลึก ผลิตภัณฑ์ ของใช้คุณภาพจากเครือข่ายพิพิธภัณฑ์เกษตรฯ และ MADO CAFÉ ร้านกาแฟ อินทรีย์ และเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ


กิจกรรมสำคัญของพิพิธภัณฑ์เกษตรฯ

สำหรับในส่วนของ กิจกรรมสำคัญของพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ ประกอบด้วย กิจกรรมงานมหกรรม นิทรรศการหมุนเวียน ตลาดเศรษฐกิจพอเพียงทุกสัปดาห์แรกของต้นเดือนเพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ทางด้านการเกษตร เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เพื่อจุดประกายความคิด และการแบ่งปัน การถ่ายทอดองค์ความรู้ภูมิปัญญา นวัตกรรมเกษตรเศรษฐกิจพอเพียง การบริหารจัดการผลผลิต การตลาด การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ จากเครือข่ายพิพิธภัณฑ์เกษตรฯ เกษตรกร และผู้ผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพ ตลอดจนการจำหน่ายสินค้า ผลิตภัณฑ์และผลผลิตเกษตรอินทรีย์ต่าง ๆ โดยมีเครือข่ายพิพิธภัณฑ์เกษตรและภาคีความร่วมมือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนดำเนินงาน


โครงการท่องเที่ยวสุขสันต์ ที่พิพิธภัณฑ์เกษตร เป็นกิจกรรมเพื่อสร้างประสบการณ์ส่งเสริมความสัมพันธ์ของครอบครัว ผ่านการเรียนรู้เกษตรเศรษฐกิจพอเพียงด้วยการลงมือปฏิบัติท่ามกลางบรรยากาศธรรมชาติด้วยความสุข สนุกสนาน มีสาระพร้อมเสริมสร้างประสบการณ์ให้ลูกหลาน ในวันหยุดเสาร์ – อาทิตย์ (สัปดาห์ที่ 2 3 และ 4 ของเดือน) พิเศษ! เครือข่ายพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ โดยมีศูนย์เครือข่ายพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ ระดับภาค ระดับจังหวัด และศูนย์เรียนรู้ กระจายอยู่ในทุกภูมิภาคของประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันมี 69 ศูนย์ ครอบคลุมในทุกภูมิภาคเพื่อมุ่งเน้นในการเผยแพร่พระเกียรติคุณพระอัจฉริยภาพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ด้านการเกษตร

และ การขับเคลื่อนงานเผยแพร่พระอัจฉริยภาพและถ่ายทอดองค์ความรู้ผ่านโลกดิจิทัล ผ่านทางช่องทางสื่อโซเชียลมีเดียต่าง ๆ เช่น Facebook เพจพิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ, YouTube ช่องพิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ, Zoom Meeting รวมทั้ง ประชาสัมพันธ์ผ่าน Application Line: พิพิธภัณฑ์เกษตรฯ Instagram: wisdomkingmuseum TikTok: wisdomkingmuseum และพิพิธภัณฑ์เสมือนจริง เป็นต้น


การเข้าชมพิพิธภัณฑ์การเกษตรฯ

ในส่วนของ การเข้าชมพิพิธภัณฑ์การเกษตรฯ มี 2 รูปแบบ การเข้าชมแบบอัธยาศัย สำหรับประชาชนทั่วไปโดยซื้อบัตรเข้าชม ผู้ใหญ่ราคาท่านละ 50 บาท เด็ก นักเรียน นักศึกษา ท่านละ 30 บาท และ การเข้าชมแบบหมู่คณะ ผ่านโครงการส่งเสริมการเรียนรู้เกษตรเศรษฐกิจพอเพียง เรียนรู้พระเกียรติคุณและพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ด้านการเกษตรและปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ผ่านกิจกรรมสร้างสรรค์ความคิด ฐานจัดแสดงพิพิธภัณฑ์ในอาคาร พิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง และฐานฝึกปฏิบัติหลากหลายรูปแบบ ทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ สำหรับทุกเพศ ทุกวัย ปัจจุบันมี 13 หลักสูตร โดยมีระยะเวลาให้เลือกเรียนรู้ตั้งแต่ 2 ชั่วโมง 3 ชั่วโมง 5 ชั่วโมง หรือในรูปแบบค่ายเรียนรู้ 2 วัน 1 คืน และ 3 วัน 2 คืน โดยมีค่าใช้จ่ายแตกต่างกันในแต่ละหลักสูตร ตั้งแต่ 60 – 2,500 บาท


ปทุมธานี จัดงานน้อมรำลึก “ในหลวง ร.9” 13 -16 ตุลาคม นี้

พลอากาศเอก เสนาะ กล่าวว่า “ในปีมหามงคลที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี พิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้จัดงานนิทรรศการหมุนเวียนในความทรงจำนิรันดร์เพื่อน้อมรำลึก ในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร เผยแพร่พระเกียรติคุณ และพระอัจฉริยภาพของพระองค์ตลอดระยะเวลา 70 ปีแห่งการครองราชย์ เพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้กับพสกนิกร ดังพระปฐมบรมราชโองการ “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”

โดยภายในงานมีการจัดนิทรรศการ “ในหลวงในความทรงจำนิรันดร์” นิทรรศการถ่ายทอดพระมหากรุณาธิคุณและพระอัจฉริยภาพของในหลวงรัชกาลที่ 9 “เรื่องเล่าในความทรงจำของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (ร.10) และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี”เมื่อครั้งตามเสด็จพระราชดำเนินไปทรงงานในพื้นที่ต่างๆ และความทรงจำของบุคคลต่างๆ “ในหลวงในความทรงจำของราษฎรทั่วหล้า” จากพสกนิกรหลากหลายอาชีพทั้งเกษตรกร ช่างภาพ นักดนตรี “ในหลวงในความทรงจำของพิพิธภัณฑ์การเกษตรฯ” เมื่อครั้งที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินเปิดพิพิธภัณฑ์การเกษตรฯ เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2545 และในหลวงในความทรงจำของ“เรา”




กิจกรรมเดือนต.ค.นี้ ผ่าน 8 ฐานเรียนรู้ ศก.พอเพียง
สำหรับเดือนนี้นิทรรศการจากพี่น้องเครือข่ายพิพิธภัณฑ์เกษตรฯ มาในหัวข้อ “จากคำสอนพ่อ...สู่งานของฉัน” โดยน้อมนำพระราชดำรัสของในหลวง รัชกาลที่ 9 ความตอนหนึ่งที่ว่า“...เศรษฐกิจพอเพียง เป็นเสมือนรากฐานของชีวิต รากฐานความมั่นคงของแผ่นดิน เปรียบเสมือนเสาเข็ม ที่ถูกตอกรองรับบ้านเรือนตัวอาคารไว้นั่นเอง

ผ่านฐานการเรียนรู้ 8 ฐาน ได้แก่ การเรียนรู้โคก หนอง นา ประสา “ลุงแสบ” ใช้เวลา 3 ปีในการพิสูจน์ตัวตน จากที่เคยโดยกล่าวหาว่าเป็นคนบ้า สู่บุคคลต้นแบบสร้างเครือข่ายการทำเกษตรที่เข้มแข็งกว่า 1,000 คน ฐานการเรียนรู้ร่วมด้วยช่วยกัน "บุกฉัน - แกงเธอ" ยกระดับผลิตภัณฑ์ของเครือข่ายจากวัตถุดิบชุมชนสู่อาหารสำเร็จรูป ฐานการเรียนYoung ตามพ่อ "อยู่เลย" เรียนรู้วิถีเกษตรของคนรุ่นใหม่ ทิ้งเมือง กลับบ้าน พัฒนาชุมชน

และฐานการเรียนรู้ปลูกข้าว สานต่อวิถีแห่งความพอเพียงจากพ่อสู่ลูก วิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์รักษ์ธรรมชาติ บ้านโสกขุมปูน ฐานการเรียนรู้มะพร้าวมากคุณค่า จากวิกฤติมะพร้าวชาวบ้านทุ่งสะท้อนรวมกลุ่มตั้งวิสาหกิจชุมชน 100 พันมะพร้าวไทย ร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์สร้างรายได้มั่นคงให้กับชุมชน ฐานการเรียนรู้เกษตรกรรมยั่งยืน พลิกฟื้น เขา ป่า นา เล กลุ่มเกษตรกรต้นแบบพัฒนาเป็นผู้ประกอบการเกษตรกรรมยั่งยืน ฐานการเรียนรู้วัด บ้าน ร่วมใจ ผักปลอดภัยขึ้นห้าง ฐานการเรียนรู้ หมากไม้ป่าพัฒนาภูพาน ต่อยอดจากผลผลิตในชุมชน ผลิตน้ำผลไม้ป่า


ฟังบรรยายวิชาของพ่อ วิชาของแผ่นดิน
ทั้งนี้ ตลอด 4 วัน กับวิชาของพ่อ วิชาของแผ่นดิน การบรรยายและการอบรมเชิงปฏิบัติการ โดยเกษตรกรผู้มากด้วยประสบการณ์เพื่อส่งต่อแรงบันดาลใจ บอกเล่าประสบการณ์จริงผ่าน“วิชาของแผ่นดิน”แลกเปลี่ยนเรียนรู้และถ่ายทอดองค์ความรู้ภูมิปัญญา สู่การน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่วิถีของตนเอง อาทิ หลักสูตรโซล่าเซลล์ เพื่อการพึ่งตนเอง หลักสูตรเกษตรไร่นา สวนผสม หลักสูตรธนาคารน้ำใต้ดิน หลักสูตรเกษตรสร้างปัจจัย 4 เป็นต้น
นอกจากนี้ ชม ช้อป ตลาดเศรษฐกิจพอเพียง ตลาดมิตรภาพและการแบ่งปัน พื้นที่แห่งการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ สินค้า ผลผลิตเกษตรปลอดภัยที่คัดสรรมาให้เลือกซื้อ สมุนไพรไทย ต้นไม้นานาพันธุ์ผักพื้นบ้าน ผลไม้ตามฤดูกาล ผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพ รวมถึงอาหารพื้นบ้านคาวหวานทั้ง 4 ภาคที่มากด้วยคุณภาพจากผู้ผลิต ราคาเป็นกันเองกว่า 200 ร้านค้า


ชวนคนไทยร่วมกิจกรรมน้อมรำลึกในหลวง ร.9

ผู้อำนวยการสำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรฯ ชวนให้ประชาชนร่วมงาน และร่วมทำบุญตักบาตรข้าวสารอาหารแห้งพระภิกษุสงฆ์ 69 รูปวันที่ 13 ต.ค.นี้ เวลา 8.00 น. เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล และในเวลา 15.52 น. นำพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวง รัชกาลที่ 9 มาร่วมกิจกรรมน้อมรำลึก และรับฟังบทเพลงแห่งความทรงจำ ในช่วงเย็นเวลา 18.00 น. จัดพิธีจุดเทียนน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ พร้อมเข้าชมพิพิธภัณฑ์ในหลวงรักเราโดยไม่มีค่าใช้จ่ายตลอด ทั้งวัน

สำหรับ นิทรรศการหมุนเวียน “ในความทรงจำนิรันดร์” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 13 - 16 ตุลาคม พ.ศ. 2565 ตั้งแต่เวลา 08.00 - 17.00 น. ทาง Online Facebook พิพิธภัณฑ์การเกษตรฯ และ Onsite ที่พิพิธภัณฑ์การเกษตรฯ ปทุมธานี

ติดต่อ โทร. 02-529-2212-13, 08-7359-7171
www.wisdomking.or.th
facebook / Instagram /Line ID : @wisdomkingmuseum
Youtube พิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ

คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด


กำลังโหลดความคิดเห็น