พอนึกถึงกบ ก็จะนึกถึงทัวร์จีน เพราะคนจีน ไต้หวัน ชื่นชอบรับประทานกบ แต่สำหรับคนไทยกบเป็นอีกหนึ่งเมนูที่ถูกใจใครหลายคน แต่ด้วยข้อจำกัด คือ เนื้อกบที่มีน้อย และขั้นตอนการทำยุ่งยาก เวลานำมาทำอาหารก็จะเลือกเมนู เช่นแกง หรือ ยำ เป็นเมนูพื้นบ้านทำกันมานาน แต่การนำกบมาใช้กับเมนูเส้น ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน
บะหมี่เกี๊ยวกบ ไอเดียช่วยผู้เพาะเลี้ยงช่วงฤดูราคาตก
วันนี้ พามารู้จักกับ บะหมี่เกี๊ยวกบ และซุปกบตุ๋นยาจีน เป็นไอเดีย ของ “นายนพดล จันทร์หอม” เจ้าของร้านบะหมี่เกี๊ยว “ตี๋น้อยโอชา” ถนนเชียงใหม่-เชียงราย อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ โดยได้นำกบที่มีการเลี้ยงกันเป็นจำนวนมาก ในหมู่บ้านโป่งสามัคคี ตำบลป่าเมี่ยง อำเภอดอยสะเก็ด เชียงใหม่ มาทำเป็นไส้เกี๊ยว จัดเสิร์ฟให้ลูกค้า เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงกบในพื้นที่เจอปัญหาในช่วงฤดูกาลที่กบออกสู่ตลาดเยอะและราคากบตกต่ำ
นายนพดล จันทร์หอม เจ้าของไอเดียเกี๊ยวกบ เล่าว่า เมื่อครั้งที่เดินทางไปเที่ยวหมู่บ้านโป่งสามัคคี ตำบลป่าเมี่ยง อำเภอดอยสะเก็ด เห็นว่าชาวบ้านที่นี่ร่วมกลุ่มกันเป็นวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงกบและมีการเลี้ยงกบกันแถบทุกบ้าน แต่เมื่อมีกบออกสู่ตลาดเยอะ ทำให้ราคากบตก ซึ่งพอได้เห็นปัญหาของเกษตรกรที่เลี้ยงกบ ผมก็เลยกลับมาคิดว่าจะช่วยเค้าได้อย่างไร ผ่านไปสักระยะหนึ่ง ผมก็เลยตัดสินใจว่าจะช่วยเกษตรกรเหล่านั้น โดยการไปซื้อกบของชาวบ้านมาลองทำไส้เกี๊ยวให้คนในครอบครัว และพนักงานในร้านได้ลองกินหลายคนชื่นขอบ เพราะเมื่อทำออกมาก็เห็นว่ามันไปด้วยกันได้และลงตัวกับน้ำซุปบะหมี่เกี๊ยวที่ขายในร้าน ก็เลยตัดสินใจทำขายด้วยการไปซื้อกบของชาวบ้านมาในราคากิโลกรัมละ 80 บาท
ขายได้เฉลี่ยวันละ 100 ชามๆละ 80 บาท
สำหรับเกี๊ยวกบ ถ้าดูภายนอกก็ไม่รู้ว่าเป็นเกี๊ยวกบ เพราะหน้าตาก็เหมือนๆ กัน แต่พอได้ชิมรสชาติลูกค้าหลายคนชื่นชอบ และติดใจในรสชาติของเกี๊ยวกบ สร้างยอดขายต่อวันไม่ต่ำกว่า 100 ชาม ขายในราคาชามละ 80 บาท ซึ่งลูกค้าก็มีทั้งคนในพื้นที่ และลูกค้าต่างจังหวัด ซึ่งคนที่ชื่นชอบเมนูกบ พอลูกค้าทราบว่าทางร้านบะหมี่เกี๊ยวที่ดอยสะเก็ด มีเกี๊ยวกบ ก็ยอมที่จะขับรถเดินทางมาจากต่างจังหวัดหลายกิโลเมตร เพื่อเดินทางมากินเกี๊ยวกบโดยเฉพาะ ซึ่งทางร้านไม่ได้มีแค่เกี๊ยวกบเสิร์ฟให้ลูกค้าเท่านั้น แต่เค้ายังมี บะหมี่เกี๊ยวกบ ซุปกบตุ๋นยาจีน และ หนังกบทอดกรอบ
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา “นพดล” เจ้าของร้านได้เคยสร้างความฮือฮาจากการทำไส้เกี๊ยวจากเห็ดเผาะมาแล้ว โดยในพื้นที่ดอยสะเก็ด ในช่วงฤดูที่เห็ดเผาะออกสู่ตลาดเยอะ ทางร้านก็ได้นำเห็ดเผาะมาทำไส้เกี๊ยว ถูกใจคนที่เคยมาชิมฝีมือการทำไส้เกี๊ยวเห็ดเผาะของที่ร้านมาแล้ว ครั้งนี้ ก็เลยอยากจะมาชิมเกี๊ยวกบของทางร้านอีกครั้ง หลายคนที่ได้มาชิมส่วนใหญ่ก็จะชื่นชอบ และกลับมากินซ้ำอีก
ขายเฉพาะช่วงฤดูที่กบออกสู่ตลาดเยอะ
อย่างไรก็ดี “คุณนพดล” บอกว่า ทางร้านจะทำเมนูกบขายในร้านเพียงแค่ช่วงที่มีกบออกสู่ตลาดเยอะประมาณ 3-4 เดือน กันยายน - ธันวาคม เท่านั้น เพราะถ้าในช่วงไม่ใช่ฤดูที่กบออกสู่ตลาดราคากบค่อนข้างสูง ต้นทุนสูงมาก เพราะราคาเมนูกบของทางร้านเราไม่ได้ตั้งราคาสูง เช่น เกี๊ยวกบราคาแค่ 80 บาท ต้นทุนการทำเกี๊ยวกบไม่ได้แค่ราคากบเท่านั้น แต่จะต้องจ้างชาวบ้านในพื้นที่มาทำการลอกหนังกบ ซึ่งคนทำไม่เป็นก็จะเป็นขั้นตอนที่ต้องใช้เวลาและทำยาก และกบเนื้อน้อย เหลือเนื้อนำมาทำเกี๊ยวได้ไม่เยอะ แต่ทางร้านอาศัยว่าส่วนอื่นๆ ก็สามารถนำมาทำเมนูอื่นๆ ขายควบคู่ไปด้วย โดยกบสด 4 กิโลกรัม เมื่อแร่เอาเฉพาะเนื้อแล้วจะเหลือเนื้อเพียง 1 กิโลกรัม ซึ่งในแต่ละวันทางร้านจะใช้กบวันละ 20 กิโลกรัมในการทำเกี๊ยว
นายนพดล เล่าว่า ในเกี๊ยวนั้นก็จะเป็นเนื้อกบล้วนๆ นอกจากเกี๊ยวกบแล้วเขาก็ยังทำบะหมี่เกี๊ยวกบ ส่วนชิ้นส่วนของกบที่เหลือนั้น เช่น โครงกระดูกนั้นก็จะนำมาทำซุปกบตุ๋นยาจีน ส่วนตีนกบก็จะนำมาชุปแป้งทอด และในส่วนของหนังนั้นลอกมาทอดเป็นหนังกบทอดกรอบให้ลูกค้าได้เลือกชิมด้วย ซึ่งปีหนึ่งลูกค้าจะได้กินเกี๊ยวกบแค่ 3 เดือน ที่ชาวบ้านเลี้ยงกบในฤดู คือตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคมไปจนถึงเดือนพฤศจิกายน 2565 ซึ่งเชื่อว่าการที่ทำเกี๊ยวกบและเมนูจากกบหลากหลายชนิดนั้นจะสามารถช่วยกระจายรายได้ให้กับเกษตรกรป่าโป่งสามัคคีที่เลี้ยงกบด้วยที่สำคัญ กบที่นำมาทำไส้เกี๊ยวนั้นไม่มีกินคาวเพราะชาวบ้านที่นี้เลี้ยงกบกันอย่างสะอาดเปลี่ยนน้ำเป็นประจำเมื่อนำมาทำไส้เกี๊ยวจะได้รสชาติที่สดและใหม่ไม่เหม็นคาว
“เกี๊ยวกบ” เมนูทางเลือกต้อนรับการกลับมา
เที่ยวเชียงใหม่ของนักท่องเที่ยวจีน ...
ทั้งนี้ การที่ทางร้านนำกบที่ชาวบ้านเลี้ยงมาดัดแปลงเมนูใหม่ขายนั้น ช่วยชาวบ้านในตำบลป่าเมี่ยง เพราะปัจจุบันชาวบ้านในตำบลป่าเมี่ยงนั้นมีการเลี้ยงกบทั้งหมด 200 ครัวเรือน มีกบประมาณ 10,000 ตัว ก่อนหน้านี้ก็เลี้ยงไว้บริโภคในครัวเรือน หลังจากนั้นเริ่มนำมาขายซึ่งที่ผ่านมาจะขายกบในราคากิโลกรัมละ 80-100 บาท เมื่อกบมีเยอะทำให้ราคาตกประกอบกับชาวบ้านไม่มีตลาดที่แน่นอน และการที่ทางร้านซื้อกบมาทำเป็นอาหารและหลายคนชื่นชอบจะส่งผลดีกับเกษตรกรเลี้ยงกบ
ใครที่มองหาอะไรแปลกทำขายที่ร้านอาหารของตัวเอง บะหมี่ เกี๊ยวกบ และซุปกบตุ๋นยาจีน เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง โดยเฉพาะในช่วงที่เตรียมเปิดรับนักท่องเที่ยวจีน เมนูกบก็เป็นอีกหนึ่งเมนูที่น่าสนใจ เพราะคนจีนชื่นชอบรับประทานกบกันอยู่แล้ว อาจจะช่วยดูดเงินในกระเป๋านักท่องเที่ยวชาวจีนได้อีกทางหนึ่ง
ติดต่อ FB:ตี๋น้อยโอชา โทร.08-5107-4687
คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด