ทำไมหลายคนให้ความสำคัญ กับเกษตรกรในกลุ่มผู้ปลูกข้าว หรือ ชาวนา เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่ของคนไทย เป็นพื้นที่เกษตรแบบทำนาปลูกข้าว ปัญหาของเกษตรกร ชาวนาไทย ได้ถูกสะสมมานานหลายชั่วอายุคน หลายคนมองว่า การทำนาตามความเชื่อแบบเดิมของเกษตรกรชาวนาไทย เป็นปัญหาสำคัญ ที่ต้องได้รับการแก้ไข ถ้าเราจะยกระดับชาวนาให้เป็นชาวนา หรือ เกษตรกรในยุค 4.0 ต้องทำอย่างไรบ้าง
ระดมสมองคนรุ่นใหม่ แก้ปัญหาประเทศด้วยนวัตกรรม
วันนี้ มีคำตอบจากการระดมสมอง ของกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่เข้าร่วมกิจกรรมหลักสูตรอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาความสามารถทางนวัตกรรมสำหรับกลุ่มผู้นำรุ่นใหม่ภาครัฐเละเอกชน หรือ PPCIL รุ่นที่ 4 จัดโดย สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กระทรวงอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ซึ่งเป็นหลักสูตรที่สร้างขึ้นเพื่อพัฒนาและสร้างศักยภาพผู้นำรุ่นใหม่ของภาครัฐและเอกชนให้มีแนวคิด เชิงนวัตกรรม และนำมาสร้างสรรค์เป็นข้อเสนอนวัตกรรมเชิงนโยบายที่สามารถนำไปปฏิบัติให้เกิดผลสัมฤทธิ์ ช่วยแก้ปัญหา สำคัญของประเทศด้วยนวัตกรรม พร้อมสร้างเครือข่ายระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อขับเคลื่อน การผลักดัน นวัตกรรมในระดับประเทศ
รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ประธานกรรมการนวัตกรรมแห่งชาติ กล่าวว่า สำหรับในปีนี้มีผู้นำการเปลี่ยนแปลงสำเร็จหลักสูตรฯ จำนวน 81 ราย จากหลากหลายภาคส่วน ซึ่งนอกจากการได้รับความรู้เพื่อนำไปต่อยอดแล้ว ยังก่อให้เกิด “ต้นแบบข้อเสนอนวัตกรรมเชิงนโยบาย” ที่สามารถนำไปสู่ การปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนใน 4 ประเด็น ได้แก่ นวัตกรรมด้านกำลังคน นวัตกรรมด้านการเกษตร นวัตกรรม ด้านสาธารณสุข และนวัตกรรมด้านข้อมูล
นวัตกรรมด้านการเกษตร นำเสนอภายใต้หัวข้อ
“1 ระบบ ครบทุกอย่าง เพื่อเสริมสร้างอนาคตไทย”
นายจิระวัฒน์ เอี้ยวฉาย เจ้าของผลงานนวัตกรรมเชิงนโยบาย ด้านการเกษตร “1 ระบบ ครบทุกอย่าง เพื่อเสริมสร้างอนาคตไทย” กล่าวถึงการเข้าร่วมกิจกรรม PPCIL รุ่นที่ 4 ว่า ครั้งนี้ มีทีมทำงานร่วมกันทั้งหมด 16 คน ประกอบด้วย นิมิต นิพัทธ์ธรรมกุล พรทิพย์ สกุลมาลัย ภรรทิยา โตธนะเกษม กตภัทร วงษ์ภัทรกร ดนุสรณ์ กาญจนวงศ์ สุขวัฑ กีรติมโนชญ์ ธนนนท ตุลาวสันต์ กนกพร แสนทวีสุข จิระวัฒน์ เอี้ยวฉาย ปิติวัฒน์ วัฒนชัย ประอรนุช ประนุช สถาพร ริยะป่า พลอยทราย พรนุเคราะห์ ว่าที่ร้อยตรีวฤษฎิ์ อินทร์มา พ.ต.อ.ดร.ณรัฐช์พงศ์ อุดมศรี
โดยทั้งหมดร่วมกันคิดหาทางออก เพื่อยกระดับชาวนาไทยด้วยนวัตกรรมเชิงนโยบาย ซึ่งมุ่งเป้าไปที่การเปลี่ยนความคิดของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว หรือ ชาวนา ในทุกๆ ด้าน เพราะมองว่าปัญหาของชาวนาส่วนหนึ่งมาจากตัวเกษตรกรเองไม่กล้าที่จะเดินออกนอกกรอบ ยังคงทำอะไรแบบเดิม ปัญหาก็เลยไม่ได้รับการแก้ไข
อย่างไรก็ดี การแก้ปัญหาของภาครัฐที่ช่วยขับเคลื่อนเกษตรกรชาวนา เป็นส่วนสำคัญไม่แพ้กัน ถ้าทั้งสองส่วนได้รับการแก้ไขอย่างเป็นระบบ เชื่อว่า ชาวนาไทยเป็นเกษตรกรกลุ่มแรกที่ก้าวเข้าสู่ เกษตรยุค 4.0 ได้อย่างแน่นอน ปัญหาความยากจนในกลุ่มของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวก็จะหมดไป ส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือ GDP ของประเทศไทย
ปัญหาของชาวนาไทย มีอะไรบ้าง
สำหรับ ปัญหาของเกษตรกรชาวนา เป็นปัญหาที่ไม่สามารถแก้ไขจุดใดจุดหนึ่งได้ จะต้องแก้ปัญหาแบบองค์รวมหรือ บูรณาการ โดยปัญหาหลัก จะถูกแบ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น สภาพภูมิอากาศ และน้ำ ที่ส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตผลผลิตและความเสียหายที่เกษตรกรจะได้รับ ซึ่งเป็นปัญหาที่ไม่สามารถควบคุมได้ และอีกหนึ่งปัญหาที่ยากต่อการตรวจสอบควบคุมเช่นกัน นั่นคือ ปัญหาการแทรกแซงจากนักการเมืองท้องถิ่น ปัญหาเกี่ยวกับเมล็ดพันธุ์ที่ไม่มีคุณภาพ ความไม่แน่นอนของราคาผลผลิตและการขนส่งที่เป็นไปด้วยความลำบาก ปัญหาจากการสนับสนุนเชิงนโยบายในลักษณะประชานิยมของรัฐบาล
นอกจากนี้ ปัญหาที่เกิดจากข้อจำกัดของตัวชาวนาเอง เช่น ปัญหาศักยภาพการผลิตข้าวลดลงจากการขาดผู้สืบทอดอาชีพ ปัญหาการขาดยุ้งฉางและลานตากข้าว ทำให้ต้องรีบขายข้าวแก่โรงสีทันทีที่เกี่ยวเสร็จไป เมื่อข้าวเกี่ยวใหม่มีความชื้นสูงก็ทำให้มีผลต่อราคารับซื้อหน้าโรงสีที่ต่ำ และปัญหาคุณภาพดินจากการเร่งรอบเพาะปลูกและการใช้ปุ๋ยยาต่าง ๆ มากขึ้น
การแก้ไขปัญหาต้องทำตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ
การแก้ไขปัญหา เริ่มจากต้องจำแนกผู้เกี่ยวข้องออกเป็น 3 กลุ่ม ต้นน้ำ ผู้จัดจำหน่ายเมล็ดพันธุ์และเกษตรกร ชาวนา กลางน้ำ พ่อค้าคนกลาง สหกรณ์ ท่าข้าว และโรงสีข้าว ส่วนปลายน้ำ ผู้ส่งออก ตัวแทนจำหน่ายในต่างประเทศ ผู้ค้าส่งในประเทศ ผู้ค้าปลีกในประเทศ และสุดท้ายผู้บริโภค
นายจิระวัฒน์ กล่าวว่า “จากข้อมูลปัญหาของเกษตรกรชาวนาและข้อมูลหน่วยงานในการสนับสนุนระบบการผลิตข้าว คณะทำงานพบว่าช่องว่างสำคัญ ที่เป็นต้นเหตุของปัญหาที่สลับซับซ้อนและสั่งสมมานาน คือระบบการสนับสนุนที่มีจำนวนมาก แยกส่วนการทำงาน ภาครัฐขาดเอกภาพในการจัดการเรื่องข้าวทั้งระบบ ขาดการบริหารจัดการข้อมูลเพื่อช่วยในการตัดสินใจ และชาวนาไม่มีแรงจูงใจในการเพิ่มผลิตภาพ รอการช่วยเหลือจากภาครัฐจึงได้นำเสนอนโยบายนวัตกรรมภายใต้ชื่อ “1ระบบ ครบทุกอย่าง เพื่อเสริมสร้างอนาคตข้าวไทย” ที่มีวิสัยทัศน์ (Vision) คือ “เกิดหน่วยงานที่ดูแลเรื่องข้าวทั้งระบบ มีการขับเคลื่อนด้วยการใช้ข้อมูล (Data Driven) อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพควบคู่กับการปลูกฝังค่านิยม และการมีส่วนร่วมของชาวนา”
ความโดดเด่นที่เป็นเรื่องใหม่ (Newness) ของนโยบายนี้ คือ เกิดการสร้างสรรค์การกระบวนการจัดการข้อมูล มีการใช้ข้อมูล (Data Driven) เพื่อสร้างดุลยภาพของอุปสงค์ อุปทาน ของตลาดข้าว (Demand & Supply) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้ที่เกี่ยวข้องประกอบด้วยบุคคล 3 ฝ่าย คือ ชาวนา หน่วยงานรัฐ และภาคเอกชน
โดยในส่วนของหน่วยงานรัฐนั้น มีหน่วยงานกลางที่ทำหน้าที่ประสานฝ่ายงานส่งเสริมข้าวของหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อสร้างเป็นจุดบริการเกษตรกรชาวนาแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) ที่ขับเคลื่อนด้วยการเชื่อมโยงข้อมูลและบริการต่าง ๆ พัฒนาเป็นระบบงานใหม่ขึ้น เกิดลำดับขั้นตอนการให้บริการตั้งแต่ก่อนการผลิตจนกระทั่งภายหลังการเก็บเกี่ยว โดยมีกลุ่มเกษตรกรหัวก้าวหน้าที่พร้อมในการเรียนรู้นวัตกรรมและปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตข้าวของตนเป็นกลุ่มนำร่อง และมีภาคเอกชนร่วมกันวิเคราะห์และวางแผนการผลิตข้าวให้ได้ราคาที่เหมาะสม สอดคล้องกับสถานการณ์ข้าวของตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ
เครื่องมือและกลไก ในการขับเคลื่อนนโยบาย
ทั้งนี้ การขับเคลื่อนนโยบายนี้ จำเป็นต้องมีเครื่องมือสำคัญ (Key Mechanisms) อย่างน้อย 5 ประการ คือ (1) ต้องมีการกำหนดกฎหมายที่สร้างระบบในการบริหารทรัพยากรที่เกี่ยวข้องกับข้าว รวมถึงเกิดหน่วยงานซึ่งใช้บังคับกฎหมายได้อย่างอิสระ (2) ต้องมีกระบวนการใช้บังคับกฎหมายที่มีประสิทธิภาพ มีหน่วยงานกลางในการบริหารจัดการข้าวทั้งระบบ (One Stop Service) (3) ต้องเพิ่มช่องทางในการเรียนรู้ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์เพื่อเพิ่มผลิตภาพการผลิตข้าวของประเทศ (4) ต้องมีระบบในการบริหารจัดการข้อมูล (Data Driven System) ในการขับเคลื่อน และ (5) มีกลไกในการ เชื่อมโยง Stakeholder ใน Supply Chain เข้าด้วยกัน
ในส่วนกลไกการขับเคลื่อนนโยบาย มีแนวทางดังนี้ (1) สร้างการยอมรับ ของหน่วยงานกับ Stakeholder ใน Supply Chain เพื่อให้เกิดความร่วมมือโดยความสมัครใจและมีกระบวนการโครงการที่เป็นรูปธรรม(2) สร้างการทำงานแบบบูรณาการร่วมกันทุกภาคส่วน โดยมุ่งเน้นการยกระดับรายได้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่อุปทานข้าว ผ่านหน่วยงานส่วนกลางเป็นผู้บริหารจัดการ (3) ปรับปรุงฐานข้อมูล ในการวิเคราะห์และติดตามผลผ่านฐานข้อมูลเดียวกัน มีการจัดเก็บและการวิเคราะห์ข้อมูลอย่างถูกต้อง แม่นยำ และเป็นระบบ(4) พัฒนาทักษะเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้มีความรู้ความเข้าใจในการดำเนินงานจริง โดยยึดการทำงานเป็นทีมที่ยึดเป้าหมายร่วมกัน(5) มุ่งเน้นการพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิต เพิ่มมูลค่า รวมถึงสร้างความรู้ด้านการขายการตลาดแก่ชาวนาและโรงสีข้าว ทดแทนนโยบายอุดหนุนต่างๆ(6) ส่งเสริมการนำนวัตกรรม ไปใช้ในพัฒนาการปลูกการผลิต และการตลาด โดยมุ่งเน้นการเพิ่มมูลค่าและลดต้นทุนการผลิต
ท้ายสุด สิ่งที่คาดว่าจะได้รับจากแนวคิด
“1ระบบ ครบทุกอย่าง เพื่อเสริมสร้างอนาคตข้าวไทย”
สิ่งที่คาดว่าจะได้จากนโยบายนี้ คือ ลดความยุ่งยากและซับซ้อนในการติดต่อหน่วยงานภาครัฐของเกษตรกร ชาวนามีส่วนร่วมในการกำหนดราคาข้าวมากขึ้น เกิดการยกระดับการปลูกข้าว และความสามารถในการรักษาระดับราคาข้าวในตลาด ผลเหล่านี้นำไปสู่ผลลัพธ์ คือ (1) เกิดระบบนำร่องในการแก้ปัญหาความซับซ้อนของหน่วยงาน จากการเกิด One Stop Service เพื่อสนับสนุนกิจกรรมต่างๆของชาวนาทั้งระบบ (2) เพิ่ม GDP ของประเทศ จากผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคเกษตรซึ่งมีข้าวเป็นผลิตภัณฑ์หลัก (3) ลดความเสี่ยงในการเกิดหนี้เสีย และโอกาสในการเกิดหนี้สาธารณะ จากการที่ชาวนามีรายได้สูงขึ้น การอุดหนุนของภาครัฐลดลง (4) ประเทศไทยเป็นแหล่งเรียนรู้การบริหารจัดการข้าวของโลกจากการพัฒนาความรู้ ทักษะ และ (5) ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงข้อมูลจากการใช้ประโยชน์ของข้อมูล
ผลกระทบ (Impact) ที่เกิดจากนโยบายนี้ คาดหวังว่าความสำเร็จของนโยบายจะนำไปสู่การนำแนวทาง “1 ระบบ” ไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่น GDP ภาคเกษตรเพิ่มขึ้น ไม่น้อยกว่า 10% จากข้าว อัตราหนี้เสียของชาวนา ลดลง 10% จากการลงทุนปลูกข้าวที่ผิดพลาด และประเทศในกลุ่ม ASEAN มีการร่วมลงทุนหรือการวิจัยในไทย ทำให้ยกระดับการผลิตข้าวไทยให้มีประสิทธิภาพและมีคุณภาพมากขึ้น
หลักสูตรพัฒนานวัตกรรมกลุ่มผู้นำรุ่นใหม่ตอบโจทย์สังคมด้านใดบ้าง
ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า “หลักสูตรนี้ไม่ใช่เพียงการออกแบบและพัฒนานวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะจุด แต่เป็นการวางระบบจัดการ เชิงนโยบายโดยอาศัยแนวทางการคิดเชิงอนาคตและร่วมกันออกแบบนโยบายที่เข้าใจบทบาทของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้นวัตกรรมเชิงนโยบายที่เกิดขึ้นนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ถึงแม้หน่วยงาน ในประเทศต่างก็มีทรัพยากรที่ต่างกัน แต่ทุกภาคส่วนสามารถร่วมมือกันเพื่อพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมเชิงนโยบายให้เกิดขึ้นได้ จริง”
โดย ตลอดระยะเวลา 10 สัปดาห์ที่ผ่านมา เกิด “ต้นแบบข้อเสนอนวัตกรรมเชิงนโยบาย” ขึ้นระหว่างการเรียนรู้ใน 4 ประเด็น ประกอบด้วย 1) นโยบายด้านกำลังคน ได้แก่ ส่งเสริมการใช้ Soft Power เพื่อสร้างการรับรู้เรื่องอุตสาหกรรมในอนาคต พัฒนากำลังคนในภาคอุตสาหกรรมและยกระดับภาคการศึกษาให้นำไปสู่การพัฒนาประเทศ 2) นโยบายด้านการเกษตร การบูรณาการหน่วยงานในการสนับสนุนกิจกรรมของชาวนาทั้งระบบให้นำไปสู่การเพิ่มผลิตภาพ ยกระดับคุณภาพชีวิตชาวนา 3) นโยบายด้านสาธารณสุข เพื่อป้องกันดูแล และแก้ปัญหาสุขภาพจิตในกลุ่มเยาวชนเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้า และ 4) นโยบายด้านการจัดการข้อมูล การบริหารจัดการระบบและบริหารข้อมูลของเมืองอย่าง เป็นระบบ”
คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEsผู้จัดการ”รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด
SMEs manager