xs
xsm
sm
md
lg

ลูกทะเลสู่แม่ค้า “ปลาเค็ม-ปลาหวาน” ทำสดใหม่วันต่อวัน จันทร์-เสาร์ไม่หยุด! ขายดีมากว่า 20 ปีแล้ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“เคยนับเวลาทำเยอะ ๆ มีสิบกว่าอย่าง เพราะมันเป็นปลาเวียนวันไหนได้อะไรมา แต่ว่าก็ต้องกะให้พอดีขายหมดต่อวันด้วย ทำแบบง่าย ๆ เน้นสดใหม่ ตี 3 ต้องไปเลือกของเองที่สะพานปลาฯ กลับมาทำปลาต่อเสร็จ 10.00 น. พอเที่ยง ๆ ก็เตรียมออกขายแล้ว”


เรียกได้ว่าเป็นสัมมาอาชีพที่ “พอเพียง”จริง ๆ สำหรับ พี่ตั๊ก-จันทร์ระวี บุญประเสริฐ แม่ค้าปลาเค็ม-ปลาหวานรายนี้ ซึ่งปัจจุบันอาศัยอยู่ที่หมู่ 8 ต.บางแก้ว อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม มีโอกาสได้ถามไถ่ถึงเรื่องราวการทำอาชีพนี้มาก็ทราบว่า เจ้าตัวแต่เดิมที่บ้านทำประมงในทะเลเป็นอาชีพหลักมาก่อน โดยพ่อจะมีเรือและส่วนสาว ๆ ที่เป็นลูกสาวของบ้านนี้ทุกคน จะเป็นนักประดาน้ำที่ลงทะเลทำงานได้ทั้งหมด ก็เรียนรู้ในการหาเลี้ยงชีพกับทะเลมาโดยตลอด จนกระทั่งพออายุถึงวัยซึ่งพี่สาวมองว่าการลงทะเลต่อไปเริ่มไม่ใช่ “ความแน่นอน” สำหรับผู้หญิงควรจะต้องหาอะไรที่เป็นหลักแหล่งกว่านี้ทำได้แล้ว ก็เลยชักชวนให้ขึ้นบกมาหาของทำขายกันดีกว่า ตอนนั้นพี่สาวก็ขายของอยู่ที่ทางรถไฟก่อนหน้าแล้ว ชวนกันไปหาดูของที่สะพานปลาแม่กลองว่ามีอะไรที่พอจะทำขายเองได้บ้าง แรก ๆ เริ่มจาก “ปลาเค็ม” ทำง่าย ๆ อย่างสองอย่างขายคู่กับ “หอยแมลงภู่” ก่อนแล้วพอขายไปสักระยะปรากฎว่า มีลูกค้าเริ่มชอบปลาที่ทำบอกให้มีเพิ่มหลาย ๆ อย่าง จากนั้นก็เลยยึดเป็นอาชีพหลักทำต่อเนื่องมาถึงปัจจุบันกว่า 20 ปีแล้ว


เน้นความสดใหม่ ปลาที่ขายจะทำวันต่อวันเท่านั้น!
พี่จันทร์ระวี เล่าให้ฟังอีกว่า พอลูกค้าเริ่มชอบปลาเพราะทำใหม่แบบวันต่อวัน พอขายหมดไม่เน้นให้มีของเหลือข้ามวัน ประกอบกับในระยะหลังหอยแมลงภู่เริ่มขายไม่ค่อยดี มีคนขายเยอะแล้วก็เลยมาเน้นที่ “ปลา” เป็นหลัก ส่วนมากก็จะทำปลาเค็มยืนพื้นซึ่งปลาเค็มที่หมายถึง คือ เป็นรสชาติความเค็มประมาณรสของ “ปลาทอด” จะไม่ได้เค็มมาก การทำคือจะแช่ปลาที่เตรียมแล้วในน้ำเกลือทิ้งไว้ราว 10-20 นาที(ไม่เกิน 30 นาที) จากนั้นก็จะนำขึ้นตากแดดต่อเลยทันที ตอนนี้ส่วนใหญ่ปลาเค็มที่ทำอยู่ก็จะมี ปลาจวด, สีกุน, อินทรี, กุเลา และปลาหางแข็ง ใช้ปลาไม่ต่ำกว่า 15 กก.ขึ้นไป แต่ถ้าวันที่ทำเยอะคือจะเป็น วันพฤหัสฯ เพื่อจะเตรียมปลาให้พอสำหรับขายในวันศุกร์ เพราะจะมีตลาดให้ออกขายได้ทั้งเช้า-เย็น อย่างนั้นคือมี 20 กก.ขึ้นไปต่อปลา 1 ชนิดที่ทำ และปลาที่ทำในวันพฤหัสฯ ก็จะมีเวลาในการตากนานกว่าจนแห้งพอตลอดทั้งวันแล้ว ซึ่งต่างกันกับวันอื่น ๆ ที่ตากแค่ชั่วโมงกว่าก็ต้องเตรียมปลาเพื่อออกขายแล้ว แต่ว่าสำหรับปลาที่ทำแบบวันต่อวันนี้พี่จันทร์ระวีบอกว่า ส่วนมากจะขายหมดพอดี หรือถ้าเหลือก็ไม่มากนัก เพราะตนเองจะกะปริมาณให้พอดี ๆ แต่ก่อนจะทำปลาแล้ว ซึ่งหากปลาเหลือจะไม่นำมาขายอีกในวันถัดไป เพราะถ้าลูกค้าได้กลิ่นจะรู้ทันทีเลยเป็นปลาเก่า ดังนั้นปลาเก่าที่เหลือและก็เดี๋ยวนี้จะมี “หัวปลา” อินทรีกับปลาทู จะทำการแช่น้ำเกลือและตากให้จนแห้งดีแล้ว มีคนซื้อไปใช้สำหรับการคลุกข้าวเพื่อเลี้ยงอาหารปลาหมาจรจัดด้วย จะขายได้ทั้งหมดและแถมยังขายดีอีกต่างหาก

และส่วน “ปลาหวาน” จะค่อนข้างทำได้ยากกว่า ใช้ปลาทูขนาดตัว/ไซส์กลางเท่านั้นมาทำ เนื้อถึงจะได้เพราะต้องบีบ ต้องแล่เนื้อให้ดีจะไม่ให้มีก้างอยู่เลย จากนั้นการปรุงรสด้วยเครื่อง 3 อย่าง คือ น้ำตาล น้ำมันหอย และก็น้ำปลา ส่วนเรื่องสีสันถ้าจะให้มีสีที่น่ากินขึ้นก็ใช้วิธีการใส่ “ซีอิ๊ว” เพื่อช่วยเพิ่มสีเข้าไปได้ แต่ว่าบางที่(ส่วนใหญ่) ก็จะใช้สีส้ม-แดงใส่เติมเข้าไปแทน ซึ่งการทำปลาหวานก็จะใช้เวลาทำเสร็จวันต่อวันเช่นกัน แต่อันนี้คือตัวเองจะต้องเป็นคนทำเอง และส่วนลูกน้องที่จ้างมาช่วยงานด้วยอีก 1 คน จะให้เขาช่วยทำเฉพาะปลาที่ทำง่าย ๆ แทนมากกว่า


ขายราคาส่ง แม้กำไรไม่มากแต่อาศัยว่า “ขายได้ทุกวัน”
พอได้ปลาที่พร้อมขายในแต่ละวันแล้ว ตลาดหลัก ๆ ที่พี่จันทร์ระวีตระเวนขายปลาอยู่ประจำก็จะมี ตลาดวัดคริสต์ ที่บางนกแขวก จะขายช่วงวันอังคาร ตลาดนัดวัดแจ้งเจริญ มีขายวันศุกร์กับวันจันทร์ วันพุธจะขายอยู่ที่เกาะแก้ว แล้วก็ตลาดนัดวัดสก รวยไม่เลิก จะขายวันอังคารกับวันศุกร์เช้า ส่วนวันที่ไม่ได้ออกตลาดเลย คือ วันพฤหัส เพราะจะอยู่ทำปลาเตรียมเอาไว้สำหรับขายในวันศุกร์(ตลาดเช้า-เย็น) ให้พอ จะมีวันหยุดที่ได้หยุดจริง ๆ เพื่อพักร่างกายบ้าง ก็คือวันอาทิตย์แค่วันเดียว ส่วนนอกนั้นก็ต้องทำปลา-ขายปลาเองตลอด

ราคาปลาแต่ละอย่างที่ขายอยู่พี่จันทร์ระวีบอกว่า เป็นราคาส่งซึ่งตนเองจะขายแบบนี้มาตั้งแต่แรกแล้ว อย่างตอนนี้ราคาปลาก็มี ปลาจวด ราคา 100 กับ 90 บาท/กก.(ขึ้นอยู่กับขนาด) ปลาอินทรี ราคา 100 กับ 90 บาท/กก. ปลาสีกุน ราคา 80 กับ 90 บาท/กก. ปลากะแร้ ราคายืนพื้นที่ 80 บาท/กก. และปลาหางแข็ง ราคา 60 บาท/กก. ส่วน “ปลาหวาน” ราคาเดียวคือ 120 บาท/กก. ซึ่งถึงแม้ว่าตอนนี้บางวันไปซื้อปลามาทำปกติจะต้องมีทุนติดไป ไม่ต่ำกว่า 2,000 บาท/วัน พอข้าวของทุกอย่างขยับแพงขึ้นตามสภาพเศรษฐกิจ ราคาปลาที่ซื้อได้บางวันแพงขึ้นมาเป็น 10-20 บาท/กก. แต่ทว่าเอามาทำขายแล้วตนเองก็ยังไม่ได้ขึ้นราคาอีกจากเดิม ซึ่งถึงแม้ว่าจะได้กำไรน้อยแต่พี่จันทร์ระวีบอกว่า ก็อาศัยทำปลาขายได้ทุกวัน ขายได้มีรายได้เข้ามาทุกวันอาจจะน้อยหน่อย แต่ตนเองก็รู้สึกพอใจแล้ว หลังหักค่าแรงลูกน้องในแต่ละวันเหลืออยู่สัก 500-600 บาทถึง 1,000 บาท/วัน ก็พออยู่ได้แล้วเอาแค่นี้พอแล้ว




ซึ่งสำหรับลูกค้าที่อยู่ทางไกลสนใจอยากจะชิม “ปลา” ต่าง ๆ ที่พี่จันทร์ระวีทำขายอยู่จะสั่งอย่างไรได้บ้าง เจ้าตัวบอกว่าตอนนี้ก็มีน้องชายที่เขาทำขายออนไลน์อยู่ จะมารับปลาจากพี่จันทร์ระวีเพื่อส่งให้กับลูกค้าตามออร์เดอที่สั่งมา ถ้าอย่างนี้คือต้องสั่งในวันพุธแล้วจะทำปลาให้ในวันพฤหัสฯ เพื่อพร้อมส่งได้ หลังจากตากแดดให้ทั้งวันจนแห้งสนิทดีแล้ว ก่อนจะส่งให้ลูกค้าต้องนำไปปลาไปแพ็คเพื่อจะฟรีซแข็งก่อน เป็นการช่วยเก็บรักษาคุณภาพปลาอีกทางหนึ่งเพื่อไม่ให้มีกลิ่น ซึ่งพอถูกส่งไปถึงลูกค้าปลาที่ฟรีซแข็งไปให้ก็จะพอดีกับละลายได้ทันเวลาพอดี




ทุกอาชีพต้องมี “ใจรัก” ถึงจะทำได้!
ถามพี่จันทร์ระวีอีกนิดก่อนจะจบการสนทนาว่า รักหรือชอบในอาชีพนี้มากน้อยขนาดไหน เจ้าตัวหัวเราะเสียงดังก่อนจะตอบกลับมาว่า ถ้าใจไม่รักจริง ๆ ทุกอย่างมันก็ทำไม่ได้หรอก อย่างตนเองก็มีความถนัดในอาชีพทางนี้ แต่ถ้าจะให้กลับไปทำทะเลเหมือนตอนรุ่น ๆ อีกก็คงจะไม่ไหวแล้ว ซึ่งในอนาคตก็แอบคิดเผื่อเอาไว้อีกเหมือนกันว่า อยากจะเปิดร้านของตนเองขายริมทางเพิ่มอีกทางหนึ่งด้วย เพราะการขายในตลาดมันได้ทุกวันก็จริงแต่มีระยะเวลาในการขายสั้น ๆ ไม่กี่ชั่วโมงก็ต้องเลิก ซึ่งหากมีร้านเองตั้งขายริมทางเพราะตอนนี้ก็ย้ายมาอยู่ในเขตของ “ดอนหอยหลอด” แล้ว คิดว่าน่าจะมีโอกาสทางการขายดีเพราะจะมีนักท่องเที่ยวที่เดินทางผ่านอยู่เรื่อย ๆ การขายริมทางมันมีโอกาสเจอ “ลูกฟลุ๊ก” คือขายหมดไวด้วย ในกรณีที่มีนักท่องเที่ยวมาแวะซื้อกันเยอะโอกาสจะขายหมดไวมันก็มีมากกว่า แต่ว่าตอนนี้ก็ยังรอคนมาช่วยทำหวังพึ่งลูกชายกับสามีกะเอาไว้ว่า จะให้เขามาช่วยขายตรงนี้อยู่เป็นหลักแทนต่อไปอีกแรงหนึ่ง

สอบถามเพิ่มเติม โทร. 092-880-0096

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด* * *


กำลังโหลดความคิดเห็น