xs
xsm
sm
md
lg

“ชาลีฉายฟาร์มควายไทย” อาชีพเสริมนายตำรวจ ขายน้ำเชื้อสัปดาห์ละ 250,000 บาท พลิกชีวิต...จากควาย"ช้างอุดร" ค่าตัวสูงกว่า 20 ล้านบาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ใครจะคิดว่า อาชีพเลี้ยงควายจะสามารถสร้างรายได้หลักล้าน ไปจนถึงหลายล้านบาทให้กับผู้เลี้ยง จนกระทั่ง เมื่อนักอนุรักษ์ควายไทย ในประเทศเพื่อนบ้าน ต้องการควายไทยสวยๆ เพื่อนำไปประกวด ความต้องการควายไทยสวยๆ จึงได้เกิดขึ้น และเมื่อความต้องการมากขึ้น ราคาก็เพิ่มสูงขึ้น การเพาะขยายพันธุ์ควายไทย ที่มีคุณสมบัติตรงตามความต้องการก็เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย

ร.ต.อ.จีรศักดิ์ คำวะเนตร
ควายพลิกชีวิต นายตำรวจบ้านนอก กลายเป็นเศรษฐีเงินล้าน

ครั้งนี้ เรื่องราวของนายตำรวจท่านหนึ่ง “ร.ต.อ.จีรศักดิ์ คำวะเนตร” (ผู้กองเป๊ก) เจ้าของชาลีฉายฟาร์มควายไทย ซึ่งเป็นอีกคนหนึ่ง ที่จุดประกายให้ความฝันของคนที่ต้องการเพราะขยายพันธุ์ควายไทย ที่มีคุณสมบัติตรงตามความต้องการเป็นจริงขึ้น โดยไม่ต้องลงทุนไปซื้อควายหลักแสนหลักล้านบาทมาเลี้ยง โดยวิธีการขายน้ำเชื้อ ซึ่งผู้กองเป๊ก เจ้าของชาลีฉายฟาร์มควายไทย ได้นำน้ำเชื้อจากควายพ่อพันธุ์ ที่มีคุณสมบัติเด่นสมบูรณ์ตรงตามความต้องการ คือ เป็นควายที่มีความสูง 178 เซนติเมตร มีน้ำหนัก 1500 กิโลกรัม มีหัวโนกนูน ตาใส วงเขาไม่บิดเบี้ยว มีหน้าอกไหล่สวย ลำตัวยาว ท้ายมะนาวตัด โคลนหางปิดตูด เป็นควายที่สมส่วน

ควายของผู้กองเป็ก มีชื่อเรียกกันว่า “ช้างอุดร” วันนี้ ค่าตัวของช้างอุดร มีคนมาเสนอขอซื้ออยู่ที่ 15 ล้านบาท แต่ผู้กองก็ยังไม่ขาย เพราะช้างอุดรตัวนี้ พลิกชีวิต ผู้กอง สามารถปลดหนี้ 3 ล้านบาทให้กับผู้กองภายในระยะเวลาไม่ถึง 1 ปี และที่สำคัญ สร้างรายได้ให้กับผู้กองเป็ก จากการรีดน้ำเชื้อ สัปดาห์ละ 250,000 บาท และ จากการให้ลูกควายที่มีสมบูรณ์ สร้างรายได้หลักหลายล้านบาท ช้างอุดร เป็นเสมือนควายที่ช่วยพลิกชีวิตของนายตำรวจและครอบครัว รวมถึงคนในชุมชนให้มีชีวิตที่ดีขึ้น


ผลบุญจากการไถ่ชีวิตควาย เปลี่ยนชีวิตเห็นกันในชาตินี้

ร้อยตำรวจเอกจีระศักดิ์ คำวะเนตร ( ผู้กองเป็ก) เล่าถึงที่มาของการมาเลี้ยงควายของตนเอง ว่า จุดเริ่มต้นมาจาก เจอลูกควาย โดนจะเอาไปฆ่า หนีออกมาจากรถ เป็นควายเด็กกำลังน่ารัก อายุ 4-5 เดือน ก็เลยถามว่า ควายพวกนี้เอาไปทำอะไร เค้าบอกจะไปขายให้เวียดนาม เวียดนามซื้อไปกิน ตอนนั้นรู้สึกสงสาร ขอซื้อมาจากเจ้าของ เป็นควาย 3 ตัว เค้าคิด 150,000 บาท ต่อรองราคากัน เค้าลดให้เหลือ 94,000 บาท เห็นว่าเราเป็นตำรวจ ตอนนั้นไม่มีเงินก็เลยต้องยืมทองที่หมั้นภรรยาไปจำนำได้เงินมา จ่ายค่าควาย ตอนนั้นก็เลี้ยงไว้ไม่ได้คิดว่าจะทำรายได้อะไรให้กับเราได้ เลี้ยงเพราะสงสาร ซึ่งแต่ละวันก็ต้องจูงควายไปเลี้ยง เป็นภาระมาก จนภรรยาที่บ้านเริ่มไม่พอใจ ว่า ซื้อมาทำไม เสียเงินแล้วยังต้องมาเหนื่อยเลี้ยงควายอีก

กระทั่งวันหนึ่ง จูงควายไปเลี้ยงเหมือนเดิม ก็ไปเจอนายห้อยรับซื้อควาย ก็มาขอซื้อ เขาให้ราคาตัวละ 90,000 บาทถามเค้าไปว่า ซื้อไปทำไม ถ้าซื้อไปฆ่าเราไม่ขายนะ เค้าบอกว่า ซื้อไปเลี้ยง ซื้อราคาขนาดนี้ ใครจะซื้อไปขาย ตอนนั้น ขายควายได้มีกำไรนิดหน่อยก็จะเอาเงินไปคืนภรรยา แต่ก็กลับมาคิดว่า ถ้ามันได้กำไรแบบนี้ เราทำไม ไม่ไปซื้อควายมาขายละ ก็เลยขอภรรยาว่า ยังไม่คืนเงินได้ไหม เดียวจะเอาเงินก้อนนี้ไปซื้อควายมาเลี้ยงต่อ ภรรยาเห็นว่ามันได้กำไรก็เลยให้เอาเงินไปซื้อควายมา นับจากวันนั้น ถึงวันนี้ผ่านมาเกือบ 5 ปี


ในระหว่างนั้น ซื้อควายตัวละ 200,000 บาทบ้าง 300,000 บาท บ้าง 500,000 บาทบ้าง พอนำไปขายมีกำไรแบบเท่าตัว ทำแบบนี้มาเรื่อย ผมศึกษาว่าที่ไหนมีควายสวย มาจากพ่อพันธุ์ดี พอซื้อมาขายไป ได้กำไรหลักล้านบาท จนกระทั่งภรรยาก็บอกว่า แล้วทำไมเธอไม่ซื้อควายพ่อพันธุ์มาเลยละ เวลาไปซื้อก็ต้องคอยถามว่า พ่อพันธุ์มาจากไหน ก็เลยเป็นที่มาของ “ช้างอุดร” ควายพ่อพันธุ์ ที่มีคุณสมบัติตามที่ต้องการ เหมาะที่จะนำมาส่งต่อพันธุ์กรรมได้

“ โดยก่อนที่ผมจะไปซื้อ “ช้างอุดร” ผมศึกษาเรื่องของพ่อพันธุ์พอสมควร เพราะตอนนั้นผมก็พอมีประสบกาณณ์แล้ว เราไม่ได้ต้องการแค่ควายสวยเท่านั้น แต่ต้องการควายที่สามารถส่งต่อพันธุ์กรรมได้ ตอนแรกคิดเพียงว่าจะซื้อช้างอุดรมาผสมพันธุ์ และขายลูกที่เกิดจากช้างอุดร แต่พอมาคิดอีกที่ ช้างอุดร ที่ผมซื้อมาราคา 2 ล้านบาท และถ้าเกิดมันตายไประหว่างทาง ทำยังไง กว๋าจะได้ลูกที่เกิดจากช้างอุดร อาจจะต้องใช้เวลาเป็นปี และเมื่อไหร่เราจะได้ทุนคืน”



รีดน้ำเชื้อเพื่อส่งต่อพันธุ์กรรม สร้างรายได้หลายล้านบาท
 
ทั้งนี้ ด้วยความบังเอิญ หลังจากได้ช้างอุดร มา ก็มีคนมาติดต่อขอซื้อน้ำเชื้อ ตอนนั้น ไม่รู้ว่าเค้ามีการขายน้ำเชื้อกันด้วย และไม่รู้วิธีการขายน้ำเชื้อว่าเค้าขายกันอย่างไร จนทางคนซื้อที่ติดต่อมาขอน้ำเชื้แนะนำให้ และยังแนะนำสัตวแพทย์ ที่มีความเชี่ยวชาญ ชำนาญในการรีดน้ำเชื้อมาให้ พอตกลงว่าจะขายน้ำเชื้อ จ้าง สัตวแพทย์ทำการรีดน้ำเชื้อให้ รีดครั้งแรกได้เงิน 200,000 บาท เป็นรายได้ที่ดี

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ทางชาลีฉายฟาร์มควายไทย มีการรีดน้ำเชื้อควายทุกสัปดาห์ โดยขายหลอดละ 500 บาท ในหนึ่งสัปดาห์ รีดน้ำเชื้อ 2 ครั้ง ๆ หนึ่งก็ได้น้ำเชื้อมาขายยได้หลักแสนบาทสัปดาห์หนึ่งมีรายได้จากการขายน้ำเชื้อ 250,000 บาท เดือนหนึ่งมีรายได้หลักล้านบาท สามารถปลดหนี้ 3 ล้านบาท ได้ภายในระยะเวลาไม่กี่เดือน พอกระแสการเลี้ยงควายสวยงามมากขึ้น ความต้องการน้ำเชื้อมากขึ้น หลายคนปรับขึ้นราคาบางราย ขายหลอดละ 1,000 บาท บ้าง 2,000 บาทบ้าง แต่ผู้กองเป๊ก บอกว่า เค้าพอใจกับราคานี้ เพราะอยากช่วยให้เกษตรกรมีรายได้ ถ้าเราขายแพงเกษตรกรที่อยากจะมีรายได้ การจะไปลงทุนเยอะ ไม่มีเงินมากพอ ผมตัดสินใจไม่ขึ้นราคาให้ทุกคนสามารถนำน้ำเชื้อผสมกับแม่พันธุ์ที่มี และได้ลูกควายสวยๆและสมบูรณ์ไปขายสร้างรายได้ เพราะรายได้สัปดาห์ละ 250,000 บาท สำหรับผมและครอบครัวเยอะมากแล้ว
โดยน้ำเชื้อที่ได้จากควายสายพันธุ์สมบูรณ์ อย่างช้างอุดร สามารถผสมกับแม่พันธุ์ธรรมดาก็ได้ ลูกออกมาเหมือนกับ ช้างอุดร หรือ เป็นควายที่สมบูรณ์ตัวใหญ่ เหมือนพ่อพันธุ์ช้างอุดร ซึ่งควายจะใช้เวลาตั้งครรภ์ประมาณ 10 เดือน หลังจากคลอดลูกออกมา เลี้ยงลูกควายต่อไปสัก 4-5 เดือน ก็สามารถขายได้หลักแสนบาท หรือ เลี้ยงไว้ถึง 1 ปี เขาสามารถเป็นพ่อพันธุ์ได้ ขายได้หลักล้านบาท และถ้าไปชนะการประกวดราคาขยับไปเป็นหลักสิบล้านบาท


แบ่งสร้างรายได้ชุมชน รับดูแลควายวันละ 200 บาท/ตัว

ผู้กองเป็ก บอกว่า ตอนนี้ น้ำเชื้อที่รีดจากช้างอุดร มีคนจองไปถึงเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2566 แล้ว ที่คนหันมาสนใจเลี้ยงควาย ส่วนหนึ่งมาจากประเทศเพื่อนบ้าน อย่างเวียดนาม กัมพูชา เห็นว่าควายบ้านเรามันตัวโต มีความสวยงาม จุดเด่นมีความสูง ความยาว และสมส่วน เพราะควายที่ชนะการประกวดต้องสูง ต้องยาว และต้องสวย จึงจะชนะการประกวด ทำให้คนที่มีพ่อพันธุ์ตรงตามคุณสมบัติเด่น พอออกลูกมาก็จะได้ลูกเหมือนกับพ่อพันธุ์ ทำให้พ่อพันธุ์มีราคาสูง

ตอนนี้ ตลาดเพื่อนบ้านมีความต้องการควายไทย ที่สมบูรณ์ เพื่อใช้ในการประกวด โดยให้เราช่วยเลี้ยงให้ ซึ่งช่วงที่เราช่วยเลี้ยงให้ คิดค่าเลี้ยงวันละ 200 บาท ซึ่งจะกระจายรายได้ให้กับชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งชาวบ้านจะมีรายได้จากการรับเลี้ยงควาย เดือนหนึ่งประมาณ 60,000 บาท ต่อการดูแลควายทั้งหมด 10 ตัว สถานที่เหมาะสมกับการเลี้ยงควาย คือ จะต้องมีทุ่งหญ้า โรงเรือน และต้องมีบ่อน้ำ

สำหรับในส่วนเวทีการประกวด หรือ สนามแข่งควาย หมุนเวียนไปหลายจังหวัด แต่เวทีหลักจะมีที่ จังหวัดสกลนคร และที่จังหวัดอุทัยธานี ในปีนี้ เวทีประกวดสนามแข่งควายประมาณ 10 เวที สุดยอดของคนเลี้ยงควาย คือ การไปชนะการประกวดในระดับถ้วยพระราชทาน ถ้าควายของใครได้ถ้วยพระราชทาน นี้ก็ถือว่าเป็นรางวัลสุดยอดสูงสุดที่คนเลี้ยงควายต้องการมากที่สุด


ความฝันคนเลี้ยงควาย ชนะเวทีประกวดรางวัลพระราชทาน สักครั้ง

ผู้กองเป๊ก เล่าถึง ควายชนะการประกวดระดับรางวัลพระราชทาน ที่มีราคาสูงที่สุดอีกตัวหนึ่ง นั่นคือ เพชรอุดร เป็นควายเพศผู้ ปัจจุบันราคาประเมินไม่ได้ ปัจจุบันเพชรอุดรก็ได้ลูกที่เป็นแชมป์ และราคาเป็นล้าน ชื่อว่า เพชรน้ำหนึ่ง ตัวละ 3 ล้านบาท ส่วนของช้างอุดร ที่ผ่านมาผสมพันธุ์กับควายในคอก และได้ลูกตัวแรก ตอนนั้นอายุ 2 ปี ขายไป 1 ล้าน 2 แสนบาท และควายที่รอขายอยู่ตอนนี้อายุ 7 เดือน ขายอยู่ที่ 400,000 บาท และที่คอกของผู้กองเป๊ก ตอนนี้ยังมีควายเพศเมียที่ราคาหลักล้านบาท ที่ราคาสูง เพราะสามารถให้ลูกที่แชมป์ประกวดมาแล้วหลายตัว


การเลี้ยงควายในปัจจุบันไม่ได้เหมือนอย่างในอดีต ที่เลี้ยงเอาไว้ทำงาน ขายก็ได้หลักหมื่นบาท เดิมเกษตรกรทุกบ้านในพื้นที่ภาคอีสานเค้าก็เลี้ยงควายกัน แต่พอเวลาผ่านไปมีเครื่องจักรเข้ามาแทนที การเลี้ยงควายลดน้อยลงไปมาก เป็นเหตุผลที่มีคนบ้างกลุ่มต้องการที่จะอนุรักษ์ควายไทยเอาไว้ และจากการอนุรักษ์ กลายเป็นการประกวด และเป็นที่มาของอาชีพเสริม ของผู้กอง นายตำรวจ ที่คิดทำบุญไถ่ชีวิตควายในวันนั้น ส่งผลบุญให้ผู้กองนายตำรวจท่านนี้ สร้างรายได้เสริมได้หลักหลายล้านบาท ในปัจจุบัน และส่งต่ออาชีพให้กับคนอื่นๆ ในพื้นที่ เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจของกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงควายให้ลืมต้าอ้าปากได้

ติดต่อ FB:ชาลีฉายฟาร์มควายไทย
โทร. 08-4757-2757

คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า"SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด


กำลังโหลดความคิดเห็น