“ในแว้บแรกเลยของเราจะเน้นเรื่อง “กลิ่น” ถ้ามาในช่วงเวลาที่มีลูกค้าจอแจแล้วเรามีการปิ้งบนเตา กลิ่นของเราจะฟุ้งมากขนมปังพอทาเนยปิ้งเตาถ่านจะมีควันเกิดขึ้นเล็กน้อยแต่ว่า กลิ่นของมันจะค่อนข้างใหญ่มาก ลูกค้าเดินมาหัวซอยจะได้กลิ่นปังปิ้งแล้ว”
จริงอย่างที่ “คุณกอลฟ์-กิตติ์กวิน บุญเชย” เจ้าของแบรนด์ “ปังก้อนทอง” บอกกลิ่นปังปิ้งหอมฉุยเตะจมูกชวนหิวเลย วันนี้เรามีนัดกันที่ตลาดต้นสัก ย่านสนามบินน้ำ-นนทบุรี คุณกอลฟ์ และ “คุณเอก-ภฑิล จิตตวนา” หุ้นส่วนธุรกิจคนสำคัญในการก่อตั้งแบรนด์จนโด่งดังมาด้วยกัน ชวนผู้เขียนกับทีมงานให้มาเจอกันที่ร้านสาขาเปิดใหม่(แฟรนไชส์ซี) ซึ่งจุดหมายครั้งนี้ก็เพื่อจะให้ดูถึงความสำเร็จของลูกค้าด้วย เพราะทราบมาว่าลูกค้ารายนี้เพิ่งเปิดได้เดือนเศษ ๆ ก็คืนทุนได้ทั้งหมดแล้ว เป็นอีกความภูมิใจของเจ้าของแบรนด์ที่ได้มีส่วนในการส่งต่ออาชีพสร้างความสำเร็จ หลังจากที่เมื่อ 6 ปีก่อนตัวเองก็เคยได้ชื่อว่าเป็นคนหนึ่งซึ่งพยายามจะสร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมาใหม่ การตัดสินใจลาออก “งานประจำ” ที่ใครต่าง ๆ ก็มองว่า “ความมั่นคง” ดีอยู่แล้ว จะลาออกมาทำอะไร? แต่ทว่าเหตุผลในใจที่มีอยู่มันแตกต่างกัน! นั่นคือคำตอบ
ทำไมต้อง “ปังก้อนทอง” แฟรนไชส์ขนมปังปิ้งเตาถ่าน
คุณกอลฟ์เล่าย้อนถึงที่มาธุรกิจนี้ให้ฟังว่า ตนเองนั้นทำงานอยู่ในรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง และส่วนคุณเอกก็เป็นข้าราชการระดับชำนาญการแล้วอยู่ในสังกัดของ ก.เกษตรฯ ก่อนจะตัดสินใจลาออกมาโดยตนเองเป็นคนแรกที่ก้าวออกมาก่อน จนกระทั่งพอธุรกิจเริ่มเดินหน้าได้เต็มตัวแล้ว ทั้งสองคนก็เลยต้องมาช่วยกันเพื่อขับเคลื่อนต่อไป ย้อนไปช่วงที่เริ่มทำก็คิดเพียงว่าอยากทำค้าขาย ตอนนั้นก็ยังทำ “สวนขวด”Terrarium เป็นงานรายได้เสริมอยู่บ้างแต่ด้วยภาระค่าใช้จ่าย(มีหนี้) จึงทำให้ต้องมองหาอาชีพอื่นทำเพิ่มเติมด้วย อะไรที่ลงทุนน้อยแต่ว่าขายได้เรื่อย ๆ ก็เลยเริ่มต้นจากความชอบกินของตนเอง โดยมองว่าของกินอย่างไรเสียมันก็น่าจะขายได้แหละ เป็นคนชอบกินเบเกอรี่และพวกขนมปังสังขยามาก จึงเริ่มค้นหาสูตรการทำในยูทูบด้วยและถามจากคุณแม่บ้าง ว่าสูตรสังขยาแบบดั้งเดิมเขาทำกันอย่างไร รวมถึงสูตรการทำขนมปังซอฟต์โรลก็ทำเองด้วย จนได้สูตรของตัวเอง จากนั้นก็มาคิดเรื่องการนำเสนออีกว่า จะชูเป็นแบบโบราณ “ปิ้งเตาถ่าน” ไหม? เสิร์ฟเป็นขนมปังสอดไส้? ในคอนเซ็ปต์นี้
“ไปขายงานแรกที่ “งานศาลเจ้าพ่อหลักเมือง” จ.ราชบุรี ปีนั้นปี2559 ตรงกับสงกรานต์พอดีเลย ก่อนขายผมก็ไปไหว้เจ้าพ่อหลักเมือง(ไปมู) ว่าเจ้าพ่อครับหนี้หนูมันก็เยอะจบงานนี้ 7 วันนี้ หนูขอสักหมื่นนึง ให้มันมีแบบตังค์จ่ายภาระหนี้ตอนสิ้นเดือนได้ไหม โอเคเราก็ไปตั้งร้านกัน การตั้งร้านของปังก้อนทองครั้งแรกผมก็มี ความสามารถด้านงานกราฟิกฯ มาจากการทำงานเดิมอยู่แล้ว ก็เอาโต๊ะมาตั้งออกแบบโลโก้ คิดชื่อร้าน ทำป้ายตกแต่งเองทั้งหมดเลย ก็ตั้งขายวันแรกที่งานเจ้าพ่อหลักเมืองฯ อย่างในวันแรกเราก็ขายได้ประมาณสัก 400-500 บาท เราก็เริ่มรู้สึกดีใจแหละ เพราะการทำขนมปังขายเป็นครั้งแรกมันมีปัญหาเยอะมากเลย เป็นการขายของครั้งแรกในชีวิตเราด้วย คือไม่เคยขายของกินมาก่อนเลย มีปัญหาเรื่องความสะอาด มีปัญหาเรื่องแดดลมฝนฝุ่นต่าง ๆ อะไรแบบนี้ครับ ก็พยายามแก้ไขปัญหาและประคองสถานการณ์จนขายจนจบ ณ วันนั้น พอขายจบเราก็รู้สึกว่าเฮ้ยมันก็ดีนะ เห็นเงินแบบเป็นกอบเป็นกำ ลูกค้าก็ให้ผลตอบรับดี แต่ว่าประมาณสักวันที่2 ที่3 ในช่วงงานที่เราขายอยู่ มีลูกค้าเป็นผู้ชายท่านหนึ่งมาซื้อ แล้วเขาก็เดินไปสักพักนึงเขาเดินกลับมา ด้วยแบบสีหน้าดีใจหรือแบบอะไรสักอย่างหนึ่ง เขาบอกว่าเฮ้ยน้อง! ขนมน้องแมร่งไม่ธรรมดาว่ะ ประมาณนั้นแล้วเราก็รู้สึกว่า ในมุมมองเราสิ่งที่เราตั้งใจทำมันถูกส่งต่อไปแล้ว เขาเห็นในความตั้งใจเรา แล้วเขากลับมาชื่นชมเรา เราก็เลยรู้สึกว่าเฮ้ยมันเป็นธุรกิจที่มันน่าสนใจ แล้วเราก็ควรจะยืนอยู่ตรงนี้ไปในหนทางของเราแล้วแหละ!”
จากตอนแรกที่คิดว่าตัว “ขนมปัง” จะนำเสนออย่างไรให้แตกต่าง แต่พอลูกค้ามาจุดประเด็นให้คุณกอลฟ์เล่าว่า ก็เลยเอาตรงนั้นมาวางแนวทางเป็นคอนเซ็ปต์ของตัวแบรนด์เลย คือว่าตัวแบรนด์จะต้องมีการคงเอกลักษณ์ของ “เตาถ่าน” แล้วเตาถ่านมีข้อดี-ข้อเสียอะไรบ้าง ก็ลองเอา “ถ่าน” แต่ละชนิดที่หาได้ในท้องถิ่น มาลองปิ้งดูว่าถ่านชนิดไหนให้คุณสมบัติอย่างไรบ้าง มีความกรอบ มีกลิ่นอย่างไร มีปัญหาอะไรเกิดขึ้นระหว่างการทำงานบ้าง ผลสุดท้ายก็เลยได้ “ถ่านกะลา” ที่เป็นกะลา100%จาก จ.ราชบุรี ภูมิลำเนาที่เราอยู่ เป็นถ่านที่ส่งคุณลักษณะของขนมปังปิ้งที่ดีที่สุด ส่วนขนมปังซอฟต์โรลจากตอนแรกที่ทำเอง(มีสูตรเอง) แรก ๆ จะเจอปัญหาเรื่องการยุบตัวและอายุในการเก็บสั้นแต่ว่า พอมาทำเป็นธุรกิจแล้วก็มีการคุยกับทางโรงงานที่รับผลิตให้ ช่วยปรับแก้ไขในจุดที่เจอปัญหาเพื่อให้สามารถส่งวัตถุดิบที่มีคุณภาพดีกว่าขึ้นมาแทน จากนั้นใช้เวลาอยู่ประมาณสัก1 ปีก็เปิดแฟรนไชส์ต่อเลย เพราะว่าในช่วง1 ปีนั้นการเรียนรู้ปัญหาของแบรนด์ปัญหามันเข้ามาถาโถมมาก แต่ก็เลือกที่จะมองว่าในปัญหามันคือ “โอกาส” ที่เราได้เรียนรู้ เหมือนเป็นการ shortcut ตัวเองให้ก้าวขึ้นบันไดได้เร็วขึ้น เราต้องเจอกับปัญหาอะไรบ้างก่อนที่เราจะขจัดปัญหานั้น แล้วส่งต่อธุรกิจที่ปราศจากปัญหาหรือมีปัญหาน้อยที่สุด ให้กับลูกค้า
“เราเป็นคนค่อนข้างมู ก่อนขายของเราก็ไปขอเจ้าพ่อศาลหลักเมืองฯ แล้วทีนี้ในเรื่องของสี ในเรื่องของชื่อ ในเรื่องของโลโก้ อะไรอย่างนี้ เป็นคนที่เอาความเป็นมงคลเข้ามาทั้งหมด “ปังก้อนทอง” มันคือขนมปังปิ้งที่มีสีเหลืองทองเต็มก้อน แต่อยากให้ชื่อแบรนด์มี 3 พยางค์ ก็เลยเป็น ปัง-ก้อน-ทอง เท่านั้นเลยครับ”
แตกต่างอย่างไร? ที่จูงใจลูกค้าให้แวะมาอุดหนุนร้าน
นอกจากเรื่อง “กลิ่น” ที่หอมเย้ายวนกวนต่อมความหิวให้ทำงาน คุณกอลฟ์บอกด้วย ยังมีเรื่องของ “ไส้” จากเริ่มต้นคือจะมี 4 ไส้
สังขยาใบเตย สังขยาชาไทย นมข้นหวานกระป๋อง และก็ แยมสตรอเบอรี่ แต่ด้วยความที่เห็นว่า “สังขยา” แบรนด์เองน่าจะมีการต่อยอด และจากอาชีพการงานเดิมก็พอจะมีเครือข่ายเกษตรกรที่ทำมะพร้าวอยู่แล้ว อีกอย่าง “มะพร้าว” จ. ราชบุรี ก็ขึ้นชื่อเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง เป็นสินค้า GI (สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์) ของจังหวัดฯ และอีกหลาย ๆ โครงการดี ๆ ที่ซับพอร์ตเรื่องของมะพร้าวอยู่แล้ว ก็เลยมีการนำมะพร้าวเข้ามาลองปรับปรุงทั้งมะพร้าวกะทิ(แกง) และมะพร้าวน้ำหอม ลองเอามาใส่ในสูตรของสังขยาและพัฒนามาเรื่อย ๆ จนทุกวันนี้สังขยาของปังก้อนทองกลายเป็นซิกเนเจอร์ของแบรนด์ไปเลย
“ณ ตอนนี้ครับมีทั้งหมด 14 ไส้ ที่เป็นไส้ที่โรงงานเราผลิต homemade เองทั้งหมด เป็นสูตรของปังก้อนทองเฉพาะเลย การผลิตของเราจะค่อนข้างซีเรียสเรื่องของการใช้วัตถุดิบ แบบ 100% มาก ๆ ทุกวันนี้เราใช้กะทิแบบไหน ใช้มะพร้าวแบบไหน 100% แบบไหน เราก็ยังทำอยู่แบบนั้นก็เป็นความซื่อสัตย์ที่เรามอบให้ กับตัวแฟรนไชส์ซีและก็ตัวลูกค้าด้วย”
สำหรับเรื่อง “ราคาขาย” คุณกอลฟ์บอกว่าตอนนี้อยู่ที่ชิ้นละ 25 บาท ถือเป็นราคาที่อยู่กลาง ๆ จะรู้สึกว่าขนม1 ชิ้น มันก็แทนข้าวได้เกือบ1 มื้อแล้ว หรือว่าลูกค้าจะทานอาหารคาวแล้วก็ปิดท้ายมื้อของคุณให้สมบูรณ์ด้วย ขนมปังของปังก้อนทองสักชิ้นหนึ่ง ก็เพียงพอแล้ว ทุกสาขาจะขายราคา 25 บาทเท่ากัน
ปังก้อนทอง “กำไร50%” แต่สำคัญ คือ เลือกทำเลการขายให้ถูก!
คุณกอลฟ์บอกอีกว่า ความง่ายของการทำร้านขนมปังปิ้งตามแบบฉบับ “ปังก้อนทอง” คือว่า สาขามีหน้าที่เพียง ปิ้งขนมปัง อุ่นไส้ พร้อมตักเสิร์ฟลูกค้าได้เลย ใช้เวลาประมาณ 5 นาทีในการปิ้ง 1 ชิ้น หรือใน1 ครั้งจะปิ้งพร้อมกันได้ทีละ 15 ชิ้นเลย ต่อ 1 เตา ทำให้เวลามีลูกค้าเข้ามาพร้อม ๆ กันก็จะสามารถเคลียร์คิวของการเสิร์ฟขนมปังได้อย่างค่อนข้างไม่มีปัญหา สำหรับตัวขนมปังที่แบรนด์ใช้อยู่จะมีอายุเก็บ ประมาณ 10 วัน และไส้ที่ส่งแบบแช่เย็นให้ก็มีอายุการเก็บ ประมาณ 1 เดือน ทั้งนี้ ในการตักเสิร์ฟแต่ละชิ้นก็จะมีการกำหนดปริมาณไว้ให้เป็นมาตรฐาน โดยใน 1 ชิ้น Margin ที่เซ็ตไว้คือจะอยู่ที่ประมาณ 50% ดังนั้นหน้าที่ของร้านคือจะต้องทำอย่างไรเพื่อให้ตนเองได้รับความคุ้มค่าจากตรงนี้ให้ได้มากที่สุด ซึ่งสิ่งที่จะช่วยได้อีกอย่างหนึ่งก็คือ ต้องมีการสื่อสารกับลูกค้าด้วย การปิ้งขนมปังอยากจะได้กรอบแบบไหนอย่างไร ลูกค้าสามารถบอกกับทางร้านให้ทำให้ได้เลย ก็จะช่วยทำให้การขายประสบความสำเร็จได้มากขึ้นไปอีก
“ถ้าลูกค้าท่านใดสนใจที่จะเริ่มธุรกิจนี้ อยากให้มองเป็นตลาดชุมชนก่อนแบบตลาดต้นสัก แบบนี้ครับ คือเป็นตลาดที่มีร้านค้าหลาย ๆ ร้านมาจอยกัน หรือเป็นแบบตลาด Street Food ข้างถนนที่มีเป็นชุมชนร้านค้า เพราะพื้นที่ที่เราใช้ไม่เกิน 2 เมตร เป็นล็อค 2x2 เมตร เนี่ยสามารถประกอบธุรกิจได้แล้ว”
“ชีวิตใหม่” และความรับผิดชอบที่ใหญ่ขึ้น!
เจ้าของแบรนด์ฃ “ปังก้อนทอง” ยังบอกด้วยว่า ปัจจุบันแฟรนไชส์ปังก้อนทองมีประมาณ 150 สาขา ทั่วประเทศ เหนือจรดใต้ แต่ว่าถ้าทางภาคใต้สาขาจะค่อนข้างเยอะหน่อย ทางตะวันตกลงไปภาคใต้สาขาจะมีค่อนข้างเยอะ
“6 ปีที่ปังก้อนทองเดินทางมา มันทำให้เราโตขึ้น จากแต่ก่อนเราคิดถึงตัวเราว่า โอเคเราทำงานหาเงิน-ใช้หนี้ ทำงานหาเงิน-ใช้หนี้ แต่ ณ วันนี้เราคิดถึงคนอื่น เรามีครอบครัว เรามีลูกน้อง คนที่อยู่ข้างหลังเราก็ต้องสบายไปด้วย(นี่พูดแล้วยังขนลุกอยู่!) คือคนที่อยู่ข้างหลังเราไม่ว่าจะเป็น พ่อแม่ของเรา หรือว่าเป็นพนักงานของเรา หรือพี่น้องหรือคนที่ทำงานร่วมกัน แม้แต่กระทั่งแฟรนไชส์ซี ก็ต้องสบายไปพร้อมกับเราเหมือนกัน เราต้องคิดถึงเขามากขึ้น เราต้องทุ่มเท เราไม่ได้มองว่าทำเพื่อเราแล้ว เราทำเพื่อองค์กร ทำเพื่อแบรนด์ของเรา”
สอบถามเพิ่มเติม โทร.089-243-2417
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด* * *