ความยากของงานหนังปลากระเบน ที่กลายเป็นซิกเนเจอร์สำคัญของแบรนด์ไทย “TARA” กระเป๋าหนัง Exotic แจ้งเกิดในตลาดมาได้กว่า 20 ปี พร้อมแตกไลน์สินค้าเจาะกลุ่ม Niche market ไทยและเทศที่ชื่นชอบเฉพาะ แต่ราคาขายเน้นการเข้าถึงได้ง่าย!
Shop กระเป๋าและเครื่องหนังดูหรูหราราคาแพงแห่งนี้ ภายใต้ชื่อแบรนด์ “TARA”(ธารา) ซึ่งตั้งอยู่ใน Central Phuket Floresta ชั้น G ใครเลยกี่มากน้อยคนจะรู้ว่า เส้นทางของธุรกิจเครื่องหนังแบรนด์สัญชาติไทยรายนี้ จะมีจุดเริ่มหลังการเจอมรสุมเศรษฐกิจอย่างหนักมาแล้วครั้งหนึ่ง ค่อย ๆ นับหนึ่งมาพร้อมการแจ้งเกิดของโปรเจคต์ใหญ่ “OTOP” ระบบเศรษฐกิจใหม่ที่ใช้ฐาน “ท้องถิ่น” ช่วยในการขับเคลื่อนด้านการผลิตและการค้าขาย เพื่อให้เกิดเศรษฐกิจที่พลิกฟื้นโดยเริ่มมาจากฐานรากของประเทศไทย ในยุคนั้นห้วงเวลานั้นเองที่ “คุณแจ็ค-สิทธิเดช ถนิตฤทธิพร”บอกว่า การขยับขยายเพื่อขับเคลื่อนชีวิตให้ไปต่อได้ การเปิดตัวผู้ประกอบการรายใหม่ หากแต่ว่าเป็นคนหน้าเก่าที่ในวงการเครื่องหนังรู้จักกันเป็นอย่างดี เดินหน้าต่อสู่การผลิตเพื่อขายเองงานหนังจาก “ปลากระเบน” ตามแนวถนัดเดิมเป็นสินค้าหลักก่อน
จาก “ช่างทำกระเป๋า” สู่เจ้าของแบรนด์
คุณแจ็ค เล่าให้ฟังว่า เส้นทางธุรกิจนี้หากนับเวลาย้อนกลับไปรวมกว่า 37 ปีแล้ว ตั้งแต่ตนเองยังเรียนอยู่ชั้น ป.1 ก็เห็นคุณพ่อทำอาชีพช่างเครื่องหนังอยู่ก่อนหน้ามาตลอด ซึ่งตอนนั้นการทำงานหนังโดยเฉพาะกระเป๋าหนังจากปลากระเบน เป็นงานที่ช่างเพียงไม่กี่คนเท่านั้นจะรับทำเพราะว่าค่อนข้างทำได้ยาก งานหนัง Exotic ที่ตลาดมีความต้องการสูงแต่ทว่า จากความแข็งที่มีมากกว่าหนังชนิดอื่น ๆ(มีคัทเตอร์กรีดไม่เข้า!) เลยทำให้พ่อกับทีมงานซึ่งเป็นช่างรุ่นที่คิดวิธีในการเย็บหนังพวกนี้ได้จนสำเร็จมีบริษัทใหญ่เจ้าของแบรนด์ติดต่อเข้ามาจ้างโรงงานพ่อผลิตเพื่อป้อนส่งชิ้นงานให้ ซึ่งก็จะเป็นลักษณะของโรงงานผลิตสินค้าส่งมาก่อน จนกระทั่งต่อมาพอเจอพิษเศรษฐกิจฟองสบู่ (แตก!) เกิดขึ้น ทำระบบเศรษฐกิจทั่วโลกล่ม ส่งผลกระทบต่อหลาย ๆ ธุรกิจต้องปิดตัวไป และการผลิตสินค้าส่งที่พ่อทำอยู่ก็ถูกยกเลิกไปแบบกระทันหันด้วย! การพยายามเดินหน้าต่อที่ทำได้ในตอนนั้นก็คือว่าลอง! นับหนึ่งใหม่ในการเป็นผู้ผลิตเพื่อขายเองลองดู!
“ของจากโรงงานที่มี ที่มันเริ่มส่งไม่ได้ขายไม่ได้ เราก็ไปเปิดท้ายในช่วงนั้นคงจะนึกออกนะครับว่า มันจะมีเปิดท้ายขายของอะไรพวกนี้ครับ ก็เริ่มต้นมาขายเองตั้งแต่ยุคนั้น จากที่ทำส่งโรงงาน แล้วผมก็เพิ่งเรียนมหาวิทยาลัยพอดีก็ต้องเอาของที่บ้านมาขายแล้ว เพราะธุรกิจเรามันแย่ทั้งประเทศเลยตอนนั้นโดยรวม เขาก็เปิดท้ายกัน เราก็ไปขาย หลังจากการเริ่มต้นนั้นราไปออกงานไปอะไรก็เจอคนเจอเพื่อนแนะนำกัน เริ่มออกงาน OTOP แล้วที่บ้านก็ทำเองด้วยก็เลยไปจดทะเบียนเป็น “โอทอป”
ไปทำโอทอปอะไรแบบนี้ครับ ก็เป็นการเริ่มต้นใหม่อีกแบบหนึ่งเลยจากทำส่งก็มาขายปลีกเอง”
จากของที่มีอยู่แล้ว (สินค้าที่ส่งไม่ได้) เครื่องมืออุปกรณ์ในการทำ มีโรงงาน มีลูกน้องอยู่แล้ว ก็เริ่มมาขายปลีกเองและพอจะก้าวเข้าไปขายใน OTOP ด้วย ก็เลยต้องจดทะเบียนเป็น “โอทอป” โดยตอนนั้นสถานที่ตั้งของโรงงานผลิตจะอยู่ที่ จ.ขอนแก่น ตามภูมิลำเนาเดิมของช่าง(ลูกน้องพ่อ) คือพอทางนี้ไม่มีงานจ้างผลิตแล้วเขาก็เลยขอย้ายกลับไปอยู่บ้าน และเมื่อเริ่มมีงานใหม่ให้ทำอีกครั้งก็เลยเปิดโรงงานให้เขาทำส่งอยู่ที่บ้านแทน เคยมีการส่งเข้าประกวดสินค้าโอทอปของจังหวัดฯ ด้วย ได้โอทอป 3 ดาวบ้างหรือ 4 ดาวบ้างก็มี เพราะใช้วัสดุผลิตเป็นของแหล่งอื่นที่ต้องมีการสั่งซื้อเข้ามา ตอนนั้นเป็นโอทอปโดยใช้ชื่อแบรนด์ว่า“J Leather”เอาแบบให้เข้าใจง่าย ๆ ก่อนก็คือว่า “ตัวเจ” มาจากชื่อย่อของในจำนวนพี่น้องและตอนขอจดทะเบียนโอทอปก็จะใช้ในนามสามคนพี่น้องรวมกัน
“ภูเก็ต” ทำเลทองของการขายสินค้าหนัง Exotic
“พอเราเริ่มเข้า OTOP ได้ มันก็เริ่มมีงานเมืองทองงานใหญ่ ๆ แล้ว เริ่มไปเชียงใหม่ไปจังหวัดนั้นไปจังหวัดนี้ หรือในกรุงเทพฯ ก็มีงานโอทอป แต่มีครั้งหนึ่งมาจัดที่ “ภูเก็ต” ซึ่งเมื่อก่อนภูเก็ตจะมีห้างฯ แค่ บิ๊กซี โลตัส ยังไม่มี Central เราก็มาออกงานโอทอปด้วย และก็สินค้าเราที่ว่าเป็น Exotic ทำจากพวกหนังที่แปลกและหายาก คือพอมาอยู่ที่ภูเก็ตมันกลับเป็นที่ ที่ใช่! ลูกค้าจะแวะเวียนกันเข้ามาดูอยู่ตลอดเลย ซึ่งต่างกับตอนที่ขายคนไทยจะค่อนข้างเป็น Niche หรือความชอบที่เฉพาะกลุ่มจริง ๆ แต่ว่าพอเป็นชาวต่างชาติมันกลายเป็น “ของดี” เป็นของหายากของเขา ทำให้ตอนนั้นเราแค่มาออกงานระยะสั้น(ประมาณ15 วัน) แต่ผมอยู่ต่อถึงแม้ว่าคนอื่น ๆ จะกลับกันหมดแล้ว เราก็หาพื้นที่ตรงนั้นอยู่เพื่อจะขายของต่อไป”
จากจุดเริ่มต้นการมาขายอยู่ในห้างฯ บิ๊กซีภูเก็ต คุณแจ็คบอกว่า ตอนนั้นก็อยู่แบบนานเลยจนกระทั่งตอนหลังก็ให้คุณแม่ตามลงมาอยู่ด้วย เพราะความแตกต่างของการขายอยู่ที่นี่(จ.ภูเก็ต) เปรียบเทียบกับที่อื่นเวลาไปออกงาน คือส่วนใหญ่จะขายดีเฉพาะวันแรก ๆ กับวันสุดท้าย มันจะเป็นลูปแบบนี้มาตลอด แต่ว่าพอมาภูเก็ตขายได้ทุกวันเลยและแถมราคาก็ดีด้วย
“นับจากวันนั้นที่ว่ามาออกงานโอทอป จนถึงวันนี้ก็ 20 ปีพอดีเลย อยู่ยาวเลยมาตั้งแต่นั้น เริ่มปักหลัก พอมี Central เปิดเราก็เลยมาขอพื้นที่ โดยเริ่มจากเป็นคีออสเล็ก ๆ ก่อน ต่อมาก็เริ่มออกบูธกับออร์แกไนซ์ใน Central ด้วย พอได้สักระยะหนึ่งเริ่มเจอวิกฤตก็คือว่า ทางห้างฯ ขอเอาพื้นที่คืน ทำให้เราเองก็ต้องดิ้นรนหาทางต่อเจรจาขอพื้นที่กับทางห้างฯ จนในที่สุดก็ได้มาเป็นที่ว่างข้าง ๆ ราวบันได เขาก็ให้ไปลองออกแบบขนาดของหน้าร้านมา เพื่อจะดูว่าเข้ากันได้พอดีกับพื้นที่ไหม ซึ่งพอได้แล้วตอนนั้นก็เริ่มค่อย ๆ เป็นรูปเป็นร่างของหน้าร้านตัวเองที่ชัดขึ้นมา แต่ว่าขณะเดียวกันทางห้างฯ เองก็จะมีการปรับปรุงเปลี่ยนโฉมใหม่อยู่เรื่อย ๆ ตลอดเวลา ก็ถือว่าเราเองส่วนหนึ่งการพัฒนาก็เติบโตมาคู่กับห้างฯ ด้วย ก็อยู่อย่างนั้นมาจนกระทั่งไม่กี่ปีที่แล้ว ก่อนโควิด-19 ไม่นาน ก็มีCentral Floresta มาเปิดเป็นลักษณะของ Luxury ด้วยความที่เราอยู่นานก็เลยขอพื้นที่ศูนย์การค้าก็ได้ตอนนี้จากเป็นราวบันไดเลยเป็นห้องเป็น Shop แต่ว่าก็จะอยู่ในโซนที่เป็นพวกของฝากและมีศูนย์อาหารด้วย”
คุณแจ็ค ยังบอกด้วย พอเริ่มมาขายดีอยู่ทางภูเก็ตและมีการปักหลักอยู่อย่างจริงจังที่นี่ ทำให้การผลิตเองตอนหลังก็มีพัฒนาการที่เปลี่ยนไปด้วย เริ่มมีการเพิ่มชนิดของสินค้าที่หลากหลายมากขึ้น แต่ว่ายังคงแนว Exotic เป็นหลักอยู่เหมือนเดิม อาจจะมีเพิ่มงานหนังจากจระเข้บ้าง งานหนังจากงู ที่นอกเหนือจาก “ปลากระเบน” เป็นหลักที่เพิ่มขึ้นมาด้วย ตามออร์เดอของลูกค้าที่สั่ง ซึ่งความน่าสนใจของงาน Exotic คือ การมีเอกลักษณ์เฉพาะของชิ้นงานนั้น ๆ โดยจะไม่มีการซ้ำกับใครเลย เป็นกระเป๋าเหมือนกันแต่ว่า “ลาย” ก็จะไม่มีทางเหมือนกันเลย ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้ลูกค้าชาวต่างชาติมีความนิยม ชื่นชอบ งานจากหนัง Exotic ที่มีความพิเศษกว่า และขณะเดียวกันพอเริ่มรู้จักคนในวงการมากขึ้น กลายเป็นเครือข่ายกัน ที่ต่างคนก็รู้ว่าใครทำอะไร หรืออยากได้ของอะไรต้องหาได้ที่ไหน เป็นต้น ดังนั้นการผลิตก็ค่อย ๆ กระจายไปยังพาร์ทเนอร์ที่เป็นเครือข่ายกันเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ด้วย ทั้งนี้เพื่อให้ธุรกิจมีความสะดวกสามารถรองรับลูกค้าได้อย่างราบรื่นมากขึ้น
“TARA” แบรนด์น้องใหม่ งานคุณภาพในราคาที่เข้าถึงได้!
สำหรับที่มาของชื่อแบรนด์ใหม่ “TARA” (ธารา) คุณแจ็คบอกว่า ก็ยังคงมีความหมายที่สื่อถึงคนในครอบครัวและนามสกุลด้วยอยู่ดี กับอีกความหมายหนึ่งต้องการจะสื่อถึงตัวสินค้าหลักที่ทำมาแต่แรกนั่นก็คือ ปลากระเบน ด้วย ทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจนี้จะสื่อความหมายที่รวมกันไว้ในชื่อนี้ โดยเริ่มใช้ตั้งแต่ตอนเข้ามาขายอยู่ในห้างCentral ตอนนั้นเขาให้มีการตั้งชื่อร้านขึ้นมา ก็เลยใช้ชื่อว่า “TARA” Leather ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
ส่วนเรื่อง “ราคา” ของเครื่องหนังแบรนด์ “TARA” เจ้าของก็บอกด้วยว่า ความที่ชาวต่างชาติจะรู้จักและยอมรับในคุณภาพของเครื่องหนังจากประเทศไทยกันดีอยู่แล้ว ดังนั้นหากเทียบราคากับแบรนด์ใหญ่ที่เป็นเจ้าตลาดมาก่อน สินค้าแบรนด์ “TARA” ก็จะมีความย่อมเยาลงมาอีกนิดกว่า ซึ่งทำให้ลูกค้าที่รู้จักเครื่องหนังดีอยู่แล้วก็จะตัดสินใจซื้อได้ง่ายกว่า เพราะว่าเรื่องของคุณภาพที่ไม่ได้แตกต่างกัน โดยเฉพาะลูกค้าชาวต่างชาติมักจะซื้อไปเป็น “ของฝาก” และบ่อยครั้งกลับมาอีกเป็นลักษณะของการ “ซื้อซ้ำ” ด้วย ขณะที่ราคาก็จะไล่เรียงไปตั้งแต่ “ถูกสุด” ในบรรดาสินค้า Exotic ของร้านที่มีอยู่ คือ จะเป็น “หนังงู” ราคาเริ่มต้นเทียบจากไซส์เล็กสุดเป็น Wallet หรือขนาดของกระเป๋าสตางค์ มีราคาหลักร้อยจนไปถึงหลักพันต่อใบ ถัดไปก็จะเป็น “หนังปลากระเบน”(ใช้หนัง 1 ตัว: ชิ้นงาน 1 ชิ้น) ราคาเริ่มต้นที่หลักพันแต่ว่าก็มีราคาหลักร้อย (บ้าง) แล้วแต่ เช่น 800 หรือ 900 ขึ้นไป จนถึงราคาแพงสุด (ใบใหญ่) ก็มีเป็นหลักหมื่นบาท ส่วนที่แพงสุดจะเป็น “หนังจระเข้” ที่เป็น KING ของเครื่องหนัง ในไซส์เล็กขนาดwallet เท่ากันแต่ราคาเริ่มต้นจะอยู่ที่หลักพัน อาจจะเป็น 2,000-3,000 ขึ้นจนไปถึงเกือบ ๆ หลักแสน ถ้าเป็นใบใหญ่ของที่ร้านเอง ราคาจะอยู่ระหว่างใบละ8 หมื่นหรือ9 หมื่นบาท ก็มี
“โควิด-19” บทพิสูจน์ธุรกิจที่แข็งแกร่ง!
ตลอดช่วงเวลากว่า 20 ปีที่มาปักหลักทำธุรกิจอยู่ที่ภูเก็ต คุณแจ็คเล่าให้ฟังด้วย ก็มีทั้งประสบความสำเร็จและไม่ประสบความสำเร็จเลยในบางงาน ก็มี แต่ถือว่าเป็นการเรียนรู้มาด้วยกัน จนกระทั่งพอมาเจอวิกฤติ “โควิด-19” ในช่วงแรก ก็ปิดร้านที่มีอยู่ตอนนั้นไปหลายที่เหมือนกัน จะคงเอาไว้ก็แต่ร้านที่อยู่ใน Central ซึ่งไม่ได้ปิดไปเลย ในระหว่างนั้นก็พยายามที่จะประคองธุรกิจเอาไว้เพื่อให้รอดผ่านพ้นไปให้ก่อน ในท่ามกลางธุรกิจอื่น ๆ ที่อาจจะมีการปิดไปตามสถานการณ์ซึ่งเกิดขึ้น ตอนนั้นร้านเองใช้กลยุทธ์ทั้งการลดราคาที่พิเศษกว่าปกติ เพื่อจูงใจให้เกิดการซื้อทำทุกอย่างให้ในช่วงนั้นมีรายได้ที่เข้ามาบ้าง โดยใช้ทรัพยากร(สินค้า) ที่มีอยู่แล้วเพื่อให้เกิดรายได้หมุนเวียนเข้ามา ถึงแม้ว่ากำไรในตอนนั้นจะไม่มีแต่ก็ยังดีกว่า เพราะว่าก็ทำให้มีรายได้เข้ามาเพื่อใช้ในการบริหารร้านช่วงนั้นต่อไป ประกอบกับในช่วงนั้นทางห้างฯ เองก็มีมาตรการช่วยเหลือในเรื่องของการลดราคาค่าเช่าให้ด้วย และอีกกลยุทธ์หนึ่งที่ใช้ควบคู่ด้วยนั่นคือ การพัฒนาคนหรือลูกน้องที่อยู่ในร้าน ไม่ได้มีการเลิกจ้างงานเลยแต่ว่าก็จะใช้วิธีการคือ ให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการช่วยกันขับเคลื่อนร้านให้ไปต่อได้ ก็จะมีการพูดคุยกันกับลูกน้องเพื่อเพิ่มกลยุทธ์ทางการขาย โดยเน้นการใส่ใจและดูแลให้ลูกค้าที่เข้ามาเกิดความประทับใจได้ซื้อของที่เขาเองรู้สึกว่าได้รับความคุ้มค่าและก็ตอบโจทย์สำหรับจุดประสงค์ที่เขาซื้อไปมากที่สุด เหล่านี้เป็นต้น ทำแบบนี้มาจนกระทั่งสามารถผ่านพ้นวิกฤติได้และพอสถานการณ์เริ่มดีขึ้นตามลำดับ ทางร้านเองก็เริ่มกลับมาทำธุรกิจได้ตามปกติตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้ว เรื่อยมาจนถึงในขณะนี้
เดินด้วยกันไปได้ไกล ในเวลาที่สั้นลงกว่า “ดั่งคำพ่อสอน”
คุณแจ็คยังบอกด้วย ส่วนหนึ่งที่ทำให้ตนเองสามารถนำพาธุรกิจผ่านพ้นช่วงเวลาที่วิกฤติมาได้ก็คือ การมีหลักยึดที่ได้มาจากการเข้าร่วมโครงการพัฒนาตนเองผ่าน “โครงการพัฒน์ PLUS+” ได้แนวคิดมาจากหลักคำสอนของ “พ่อ” (ในหลวงรัชกาลที่ 9) ทำให้สามารถวิเคราะห์ปัญหา หาสาเหตุ และหาวิธีการในการแก้ไข้เพื่อให้สำเร็จลุล่วงจนสามารถข้ามผ่านมาได้ในที่สุด
และการเรียนรู้ถึงความสำคัญของ “การรวมกลุ่มกัน” เพื่อแชร์ทรัพยากรร่วมกัน ให้เกิดการพัฒนาที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นไปอีก ซึ่งจะทำให้ SMEs สามารถก้าวเดินด้วยกันไปได้ไกล และใช้ระยะเวลาในการประสบความสำเร็จที่สั้นลงอีกด้วย
เช่นเดียวกับการร่วมกันทำโครงการ CSR “ตัดเสื้อน้องแต่พอตัว”รวมผู้ประกอบการ ซึ่งมีจุดร่วมเดียวกัน ที่เห็นปัญหาความขาดแคลน ในโรงเรียนขนาดเล็ก จึงร่วมกันช่วยเหลือและสนับสนุนการแก้ไขปัญหาความขาดแคลนชุดนักเรียน ด้วยโมเดลสหกรณ์ เพื่อช่วยสนับสนุนให้โรงเรียน เด็ก ๆ ผู้ปกครอง ชุมชน สร้างผลิตภัณฑ์ เกิดรายได้ กลับมาที่สหกรณ์ของโรงเรียน และกองสวัสดิการเครื่องแบบนักเรียน ให้เด็ก ๆ ได้มีชุดนักเรียน ใช้อย่าง พอดี เพียงพอ และเกิดความพอเพียง พึ่งพาตนเองได้
สอบถามเพิ่มเติม โทร.094-428-9632
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด* * *