xs
xsm
sm
md
lg

เปิดวิสัยทัศน์ “วรวุฒิ กุลแก้ว” กับภารกิจขับเคลื่อนมูลนิธิ “ทันตนวัตกรรม”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายวรวุฒิ กุลแก้ว เลขาธิการมูลนิธิทันตนวัตกรรม ในพระบรมราชูปภัมภ์
เลขาธิการมูลนิธิทันตนวัตกรรมฯ เปิดวิสัยทัศน์ การทำงาน 13 ปีที่ผ่านมา เน้นภารกิจการสร้างองค์กรแห่งการพัฒนานวัตกรรมจากฝีมือนักวิจัยไทย เพื่อแก้ปัญหาโรคทางด้านทันตกรรมแบบครบครันทั้งกระบวนการวิจัยและพัฒนา การผลิตตามมาตรฐานสากล และสร้างโอกาสให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์

นับตั้งแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน 2552 ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งมูลนิธิทันตนวัตกรรม ในพระบรมราชูปถัมภ์ขึ้น “นายวรวุฒิ กุลแก้ว” พนักงานคนที่หนึ่งที่ทำงานมา 13 ปี ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเลขาธิการมูลนิธิฯ ยังเดินหน้ากับภารกิจสนับสนุนให้นักวิจัยไทย ทำการพัฒนานวัตกรรมทางด้านทันตกรรมและนำไปใช้ประโยชน์กับภาคประชาชนแบบครบวงจร

นายวรวุฒิ กุลแก้ว เลขาธิการมูลนิธิฯ กล่าวว่า ภารกิจของมูลนิธิฯ นั้น มี 3 เรื่องหลัก ๆ ประการแรก มีหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการของหน่วยทันตกรรมพระราชทานทั้ง 8 แห่ง คือ คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ในฐานะเป็นองค์กรสาธารณกุศลทำหน้าที่ดูแลด้านการออกให้บริการหน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่แก่ประชาชน ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9

ประการที่สอง มูลนิธิฯ มีหน้าที่ในการวิจัยและพัฒนาเพื่อผลิตนวัตกรรมต่าง ๆ ออกมาแก้ปัญหาโรคทันตกรรม ทั้ง 7 โรค คือฟันผุ รากฟันผุ สูญเสียฟัน ปริทันต์ ฟันสึก ปากแห้งน้ำลายน้อย มะเร็งช่องปาก และโรค NCDs ( non-communicable diseases) หรือโรคทางระบบ คือโรคที่ไม่ติดต่อเรื้อรัง แต่โรคทางทันตกรรมอาจส่งผลให้โรคทางระบบรุนแรงขึ้น หรือโรคทางระบบอาจย้อนกลับมาทำให้โรคทางทันตกรรมมีปัญหาได้

ประการที่สาม คือ สร้างโอกาสให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากการผลงานวิจัยและพัฒนา โดยทำให้สามารถผลิตขึ้นได้ในประเทศ หรือต้องสร้างเครือข่ายพันธมิตรไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชนในประเทศ เนื่องจากผลิตภัณฑ์บางอย่าง ไม่จำเป็นต้องสร้างโรงงานใหม่เองทั้งหมด

อาคารที่ทำการมูลนิธิทันตนวัตกรรม
ในขณะเดียวกัน โจทย์ในการวิจัยและพัฒนาของมูลนิธิฯ มีอีก 3 ส่วนหลัก ๆ คือ 1. ต้องเริ่มจากโจทย์หรือเป็นปัญหาสังคม 2. จะต้องช่วยลดความเหลื่อมล้ำ และ 3.คือต้องสร้างความสามารถในการแข่งขันได้ด้วย เพราะฉะนั้นนอกจากสามารถผลิตนวัตกรรมจากงานวิจัยในประเทศและบริการในประเทศได้แล้วยังต้องสามารถส่งออกต่างประเทศได้ด้วย

เลขาธิการมูลนิธิฯ เล่าถึงความเป็นมาก่อนที่จะมาทำหน้าที่อยู่ตรงนี้ว่า เรียนจบวิศวกรรมศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือเมื่อปี 2536 หลังจากนั้นก็ทำงานที่บริษัทปูนซีเมนต์ไทย กลุ่มปิโตรเคมีที่ระยองจนถึงปี 2547 จึงย้ายกลับมาทำงานที่สำนักงานใหญ่บางซื่อเพื่อดูแลคุณแม่ ระหว่างนั้นไปศึกษาต่อปริญญาโทที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า มีโอกาสได้รู้จักกับ ผศ.ทพ.วิจิตร เทพธรานนท์ หนึ่งในทีมทันตแพทย์ประจำพระองค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ซึ่งกำลังทำงานด้านรากเทียม จึงมีโอกาสเข้ามาช่วยเรื่องการตั้งโรงงานผลิตรากฟันเทียม และเมื่อมีการก่อตั้งมูลนิธิฯ ขึ้นมา ศาสตราจารย์พิเศษ ทันตแพทย์หญิง ท่านผู้หญิงเพ็ชรา เตชะกัมพุช ทันตแพทย์ประจำพระองค์และประธานมูลนิธิฯ จึงชวนให้มาทำงานในตำแหน่งเลขาธิการของมูลนิธิฯ

ส่วนการวางแผนองค์กรนั้น ทุกอย่างได้รับการออกแบบมาเพื่อประโยชน์ใช้สอยให้ตรงกับวัตถุประสงค์และภารกิจของมูลนิธิ ฯ อย่างเช่น ที่ทำการมูลนิธิฯ ในปัจจุบันเป็นทั้งสถานที่ทำงานของเจ้าหน้าที่ ที่มีห้องวิจัย (Laboratory) มีโรงงานผลิตสำหรับต่อยอดงานวิจัยที่พัฒนาได้ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ แบบครบวงจร ที่ได้เริ่มสร้างเมื่อปี 2557 ปัจจุบันโรงงานผลิตอาหารมีทั้งระบบการฆ่าเชื้อแบบ UHT และ ระบบการฆ่าเชื้อแบบ Retort ซึ่งได้รับมาตรฐานกระบวนการผลิตระบบการจัดการความปลอดภัยในอาหาร ตามมาตรฐาน FSSC 22000 มาตรฐาน GHPs แล้ว และกำลังดำเนินการสร้างโรงงานผลิตเครื่องมือแพทย์ ให้เป็นไปตามาตรฐานสากลเช่นกัน

เลขาธิการมูลนิธิฯ กล่าวต่อว่าหัวใจของการทำงาน คือการสร้างทีมนักวิจัยและทีมผลิต ซึ่งถือว่าโชคดี เพราะในเรื่องของบุคลากรนั้น ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทุนอานันทมหิดล สาขาทันตแพทย์ศาสตร์เมื่อปี 2534 เป็นรุ่นแรก จนปัจจุบันนี้มีผู้ได้รับทุนประมาณ 26 คน เพราะฉะนั้นมูลนิธิฯ จึงมีนักวิจัยที่จะมาทำงานในการคิดค้นนวัตกรรมทางด้านทันตกรรมขึ้นมาได้เลย
มูลนิธิฯ ยังให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมการจัดการความรู้ คือ การรวบรวมองค์ความรู้อยู่เสมอ เพื่อสามารถนำไปถ่ายทอดให้ผู้ที่มารับช่วงต่อได้ทำงานได้อย่างเป็นระบบ ไม่ต้องยึดติดกับตัวบุคคล รวมทั้งยังมีการหาความรู้ใหม่ ๆ เสมอ เพื่อสามารถนำไปใช้ปรับแนวทางการทำงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์โรคภัยไข้เจ็บที่เกิดขึ้นตลอดเวลา

“เมื่อผมมีโอกาสได้มาเป็นเลขาธิการมูลนิธิของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 คือมูลนิธิทันตนวัตกรรม ในพระบรมราชูปถัมภ์ สิ่งที่ได้รับมอบหมายมาแม้ว่าไม่มีภาพให้เห็น ไม่มีคนรุ่นเก่าสร้างไว้ให้ แต่ผมเชื่อว่าความรู้ หรือสิ่งที่พระองค์ท่านรับสั่งหรือสิ่งที่คณะกรรมการมูลนิธิได้ปรึกษาหารือกัน น่าจะเป็นเส้นทางที่ถูกต้อง ผมก็จะทำให้เต็มที่ และต้องทำด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ” เลขาธิการมูลนิธิทันตวัตกรรม กล่าวในตอนท้าย

ติดตามข่าวสารเกี่ยวกับภารกิจของมูลนิธิฯ ได้ที่
Website: www.dent-in-found.org
Facebook: https://www.facebook.com/dentalinnovation40
YouTube: https://www.youtube.com/channel/UCWWuHSnPKN6UmXHK7J6FDQw
Line : @dent_in_found โทรศัพท์ 062-549-8146, 02-3182351-5 ต่อ 1403,141
6


กำลังโหลดความคิดเห็น