xs
xsm
sm
md
lg

(ชมคลิป) ขายดีไม่ไหว! ข้าวหลามเจ๊สองพี่น้องสุพรรณบุรี 20 ปีอร่อยโดนใจตลาดทั้งไทยและนอก!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สูงสุดต่อวันประมาณ 8,000 กระบอก! ผลิตสดใหม่ ทยอยส่งป้อนเข้ามาที่แผงค้าในตลาดฯ ทุกวัน ร้านเปิดมากว่า 20 ปีแล้ว ก็ขายดีมาตลอดทั้งลูกค้าที่มาซื้อเองหน้าร้าน และยังมีออร์เดอนอก! ด้วยก็ซื้อขายกันมานาน เข้ามาสานต่อเพราะเห็นพ่อแม่ทำตลอด

ลูกค้าแวะเวียนมาซื้อข้าวหลามที่ร้านอยู่ตลอด
“กุ๊ก” นางสาวพรชนก เหลืองรุ่งทรัพย์ ปัจจุบันอายุ 29 ปีเถ้าแก่น้อยเจ้าของแผงค้า “ข้าวหลามเจ๊สองพี่น้อง”สุพรรณบุรี ร้านอยู่ในโซนค้าขายอาหารแปรรูปตลาดค้าส่งระดับประเทศ “ตลาดสี่มุมเมือง” รังสิต จ.ปทุมธานี บอกกับเราว่า เข้ามารับช่วงต่อดูแลกิจการของที่บ้านได้นานกว่า5 ปีแล้ว หลังจากที่เรียนจบมาด้านการโรงแรม กุ๊กบอกว่าที่เรียนมากับงานที่ดูแลอยู่ตอนนี้ดูเหมือนจะไม่เกี่ยวข้องกันเลย แต่ทว่าแท้จริงแล้วที่เป็น DNA สำคัญนั่นก็คือ การซึมซับในสายเลือดที่ค่อย ๆ บ่มเพาะมา จากการได้เห็นว่าพ่อแม่ทำอาชีพนี้มาตั้งแต่กุ๊กยังเป็นเด็ก และแถมยังได้ฝึกการเป็นแม่ค้าขายข้าวหลามมาก่อนหน้าด้วย เริ่มขึ้นโดยการหิ้วไปฝากคุณครูและเพื่อน ๆ ที่โรงเรียนได้ชิมกัน เพราะทุกคนรู้ว่าที่บ้านกุ๊กทำข้าวหลามขาย จนติดใจและเกิดการสั่งซื้อในที่สุด ไปโรงเรียนด้วยในมือก็หิ้วข้าวหลามเพื่อไปส่งให้กับลูกค้าด้วย! จึงไม่แปลกเลยในวันนี้ หน้าที่ผู้สืบทอดกิจการต่อก็ต้องเป็น “กุ๊ก” เองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย

ข้าวหลามมีขายที่แผงตลอด 24 ชั่วโมง ทุกวัน
จาก “ข้าวหลาม” งานวัดสู่ตลาดค้าส่งระดับประเทศ!
ข้าวหลามเจ๊สองพี่น้อง สุพรรณบุรี ที่กุ๊กขายอยู่ที่แผงเป็นสูตรดั้งเดิม คือมีเพียง “สีขาว” จากข้าวเหนียวขาวกับถั่วดำที่แทรกอยู่ในเนื้อข้าวที่ปรุงรสชาติหวานมันด้วยน้ำกะทิกับน้ำตาลเท่านั้น กับ “สีดำ” จากข้าวเหนียวดำที่มีผสมข้าวเหนียวขาวเข้าไปปนด้วยนิดหน่อย รสชาติที่ได้จะเหมือน ๆ กันทั้งสองสี กุ๊กบอกว่าข้าวหลามของที่ร้านรสจะออกกลาง ๆ ไม่หวานมากเกินหรือว่าใส่กะทิจนมากไป ที่สำคัญคือเป็นสูตร “ข้าวหลามต้ม” จะไม่ใช่เป็นข้าวหลามแบบเอากระบอกข้าวหลามไปตั้ง/เผาไฟจนสุก จะทำคนละแบบกัน ซึ่งเป็นสูตรดั้งเดิมของตากับยายที่ทำมาแต่แรกแล้ว ตอนเริ่มทำขายใหม่ ๆ ยังเป็นการขายตามงานวัดทั่วไปก่อน และจนพอแม่กับพ่อเริ่มเข้าไปทำช่วยด้วยจึงค่อยพัฒนาเป็นการเข้าขายในตลาดค้าส่งใหญ่ มาเริ่มต้นขายในตลาดครั้งแรกอยู่ที่นี่ ตลาดสี่มุมเมือง จ.ปทุมธานี ลองเอาเข้ามาค้ามาขายลองดูก็ปรากฏขายดีขึ้นเรื่อย ๆ มาตั้งแต่นั้น

หน่วยเสริมที่นำข้าวหลามจากโรงงานสองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี เข้ามาเติมที่แผงตลอด
โปรโมชั่นไม่มี ออนไลน์(แทบ)ไม่ต้อง! ของขายได้เพราะอยู่ในตลาดใหญ่!
กุ๊กบอกว่า โชคดีมากที่ร้านอยู่ในตลาดกลางค้าส่งซึ่งมีลูกค้าเยอะอยู่แล้ว ไม่ต้องทำโปรโมชั่น แต่เพียงแค่การคงหรือรักษา
“คุณภาพ” สินค้าให้เป็นมาตรฐานเอาไว้อยู่ตลอด และการจดจำลูกค้าได้(ใคร/ซื้อเท่าไร) ซึ่งถือเป็นอีกเทคนิคการตลาดที่สำคัญ
ท่ามกลางการแข่งขันสูง ร้านค้าที่ขายสินค้าเหมือนกันมีอยู่หลายเจ้าในตลาด หากเราจำลูกค้าได้และรีบทักทายลูกค้าก่อนโดยที่ไม่ปล่อยเขาเดินผ่านหน้าร้านไป ก็ทำให้ช่วยเพิ่มยอดขายได้อีกทางหนึ่งด้วย ส่วนการตลาดผ่านช่องทางออนไลน์กุ๊กบอกว่า นาน ๆ ทีจึงจะมีการอัพเดตทางเพจ : ร้านข้าวหลามเจ๊สองพี่น้อง สักครั้งหนึ่งซึ่งก็เป็นเพราะข้าวหลามพอลงร้านได้สักแปบไม่นานมาก ก็ขายหมดแล้ว! เลยไม่มีเหลือพอให้สำหรับการขายออนไลน์ อีกอย่างเป็นสินค้าอาหารที่การผลิตไม่มี “สารกันบูด” ใด ๆ ที่ใส่เข้าไปเลย หลังจากเสร็จสิ้นกระบวนการ(ออกจากเตามา) ข้าวหลามจะเก็บในอุณหภูมิปกติได้ราว 2 วัน หรือกรณีลูกค้าซื้อไปทานเองถ้ายังไม่หมด สามารถแกะเอาแต่เนื้อข้างในนำเข้าแช่ฟรีซไว้ (ในตู้เย็น) เก็บได้นานเป็นเดือน ๆ จะทานเมื่อไรก็เอามาอุ่นในไมโครเวฟได้ ทั้งนี้ ข้าวหลามที่ขายอยู่จะเป็นแบบยก “มัด” กันไปเลย ใน1 มัดจะมี10 กระบอก ราคาขายเริ่มต้นที่7 บาท/กระบอก(ไซส์เล็กสุด) ถัดไปคือ7.50 บาท และ 8 บาท เป็นต้น โดยขนาดจะต่างกันเป็นมิลลิเมตร ซึ่งเวลาลูกค้ามาซื้อเพื่อไปขายต่อเขาจะมี “ขนาด” และ “ราคา” ที่เคยใช้อยู่เป็นประจำ

รอบนี้มาเติมอีก 800 กระบอก
ของกินพื้นบ้าน ที่แอบโกอินเตอร์มานานแล้ว!
และนอกจากลูกค้าประจำที่ขายในไทย เป็นกลุ่มของพ่อค้ารถเร่ต่าง ๆ และมอเตอร์ไซค์พ่วงข้าง ที่เข้ามาซื้อกันทุกวันแล้ว กุ๊กบอกว่าก็ยังมี “ห้องเย็น” หรือที่เป็นผู้ส่งออกสินค้ากลุ่มพืชผักและผลไม้ด้วย ได้เข้ามาติดต่อเองตั้งแต่สมัยของแม่ที่ยังทำอยู่เพื่อขอดูกระบวนการผลิตและคุณภาพของสินค้า “ข้าวหลาม” ก่อนตามมาด้วยคำสั่งซื้อ โดยให้ร้านผลิตส่งให้เขาด้วย และต่อเนื่องกันมานานจนกระทั่งถึงตอนนี้ ทางผู้ส่งออกจะนำข้าวหลามที่เป็นกระบอก ๆ แบบนี้เพื่อไปใส่ในแพคเก็จจิ้งที่เป็น “แบรนด์” ของเขาอีกทีหนึ่ง สำหรับนำเข้าไปจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ตต่อที่ประเทศปลายทาง ซึ่งตอนหลังมานี้ถามแล้วจึงได้ทราบว่า สินค้าข้าวหลามที่ส่งไปประเทศปลายทาง เช่น สหรัฐอเมริกา และออสเตรีย เป็นหลัก และยังได้ทราบอีกด้วยว่า ไม่เพียงแต่คนไทยที่บริโภคข้าวหลามยังมี “ฝรั่ง” หรือคนในประเทศนั้น ๆ ก็รู้จักและกินข้าวหลามของไทยแลนด์เป็นด้วย แถมฝรั่งเองยังชอบ Texture ของข้าวหลามแบบได้แกะจากกระบอกเพื่อรับประทานเอง ไม่เน้นการทานแบบเป็นเนื้อข้าวหลามล้วน ๆ ที่แกะให้แล้ว แบบนั้นไม่ชอบเลย! และปัจจุบันที่น่าแปลกใจอีกก็คือว่า ปริมาณการสั่งต่อครั้ง จากช่วงแรก ๆ เหมือนแค่การสั่งไปเติมหรือพ่วงไปกับสินค้าตัวอื่นเพื่อให้ตู้ฯ ส่งไปเต็มเท่านั้น ทว่าตอนนี้แต่ละครั้งไม่น้อยกว่า 5,000 หรือเป็น 10,000-20,000 กระบอก แล้วมีการสั่งซื้อทุกเดือน!

เถ้าแก่ตรวสอบสินค้าที่เข้ามาใหม่ดูความเรียบร้อยก่อน
อุปสรรคสำคัญ คือ “ไม้ไผ่” ส่วนนอกนั้น(รายได้) ผ่านฉลุย!
ถามกุ๊กว่าช่วงโควิดที่ผ่านมา ธุรกิจร้านขายข้าวหลามแบบนี้เจอปัญหาอุปสรรคอะไรไหม ได้รับผลกระทบอะไรบ้าง ซึ่งแปลกมากคำตอบที่ได้คือไม่มีเลยหมายถึงตลอดเวลาที่ผ่านมาร้านก็ยังคงเปิดขายตามปกติ แต่ว่ายอดขายก็อาจจะมีแผ่วลงไปบ้าง(นิดหนึ่ง) เหตุผลก็เพราะว่า ความเป็นตลาดกลางค้าส่งขนาดใหญ่ที่ยังเปิดขายได้ตลอด อย่างไม่มีการปิดตลาดเพราะเป็นแหล่งที่ผู้ค้ารายย่อยจะต้องมาซื้อของที่นี่เพื่อไปกระจายต่อยังแต่ละพื้นที่ต่อไป ดังนั้นก็เลยเป็นข้อดีในท่ามกลางภาวะวิกฤขณะที่ตลาดย่อยอื่น ๆ ต้องปิดกันไปบ้างตามมาตรการฯ แต่ที่นี่กุ๊กบอกว่าก็ยังค้ายังขายกันได้ตามปกติ ส่วนที่เป็นอุปสรรคสำคัญของธุรกิจนี้ คือ เรื่องกระบอกไม้ไผ่เท่านั้น จะมีปัญหาการขาดแคลนในบางช่วง อย่างเช่นหน้าฝนที่คนตัดไม้ไผ่ส่งให้จะไม่สามารถเข้าไปตัดจากป่าเอาออกมาได้ ซึ่งจะต้องมีการวางแผนกันไว้ล่วงหน้าเพื่อจะต้องตุนหรือสำรองเอาไว้ ให้มากพอสำหรับการผลิตที่แต่ละวันจะใช้ “กระบอกไม้ไผ่” อยู่ค่อนข้างมาก อย่างถ้าสูงสุดต่อวันก็ตกประมาณ 8,000 กระบอก ไม้ไผ่ที่มีคุณภาพดีจะต้องเป็น “ไผ่กาบแดง” มาจากแหล่ง(ประเทศเพื่อนบ้าน/เมียนมา) ที่ให้เยื่อไผ่หนาดีเท่านั้น จะส่งมาเป็นกระบอกไม้ไผ่ที่ตัดให้เรียบร้อยแล้ว และพอมาเข้ากระบวนการผลิต “ข้าวหลามต้ม” เสร็จแล้วจึงจะค่อยปอกเอาผิวหรือเปลือกสีเขียวออกไป ถ้าวางแผนกักตุนไม้ได้ดีการผลิตก็ไม่มีสะดุดแต่หากผิดพลาดก็คือ พอไม่มีไม้หรือกระบอกหมดเมื่อไร ร้านข้าวหลามก็จะต้องหยุดทันทีด้วย!

แผงค้าที่อยู่ในตลาดสี่มุมเมือง รังสิต
“หลาย ๆ ครั้งที่กุ๊กมอง ก็คือว่าไม่ใช่หน้าผลไม้ ไม่ใช่หน้าผลไม้ฤดูกาล มันก็จะทำให้ข้าวหลามขายดี คนก็ไม่รู้จะทานอะไรมั้ย
ประมาณนั้นค่ะ และก็ด้วยพ่อค้าคนกลาง พอหน้าผลไม้เขาก็จะหันไปขายผลไม้ ตอนนี้กุ๊กมีลูกค้าประจำที่ใช้เยอะ ๆ เลยค่ะก็คือ ประมาณ100 มัดถึง150 มัด ก็ซึ่งตกอยู่ที่ประมาณ 1,000-1,500 กระบอก ทุกวัน! หนึ่งอาทิตย์จะหยุด1 วัน(เวลาพักผ่อน) เป็นรถบางทีเขาก็จะขายคู่กับผลไม้ 1 อย่าง เขาก็จะเอาข้าวหลามไปด้วย แล้วก็จะมีแบบว่า 10 มัด ก็ถือว่าเยอะนะคะ 10 มัด 50 มัด 20 มัด เนี่ยค่ะลูกค้ารายใหญ่ก็คืออย่างที่บอกไปแล้ว และก็ตอนกลางคืนก็จะมีเป็นเจ้าประจำ มี 40 มัด 50 มัด อันนี้ก็ใช้ทุกวันเหมือนกัน”


ของใหม่มาพร้อม! ลูกค้าก็พร้อมซื้อตลอดเช่นกัน

ข้าวเหนียวดำและข้าวเหนียวขาว 2 ไส้นี้ขายดีสุดแล้ว!
ไม่ต้องมีหลากหลายแต่เน้น “ตรงใจตลาด” พอ!
ในตอนท้ายเจ้าของร้านข้าวหลามเจ๊สองพี่น้องยังบอกด้วย “จริง ๆ แล้วมันเป็นธุรกิจครอบครัว ที่เป็นธุรกิจแบบเล็ก ๆ ไม่ได้ใหญ่ ไม่ได้เป็นอุตสาหกรรม ไม่ได้เป็นโรงงาน ถ้าเราจะพัฒนาอย่างเช่น การทำไส้เพิ่ม จริง ๆ แล้วมันเคยมี คือออร์เดอนอกนั่นล่ะค่ะ เป็นไส้เผือก ไส้ข้าวโพด อะไรเงี้ยค่ะแต่ว่า มันไม่ได้ตอบโจทย์ลูกค้า คือมันเป็นข้าวหลามเขาก็ไม่ค่อยอินกับไส้แปลก ก็คือ2
ไส้นี้ขายดี! แล้วพอเราเอามาขายคือมันก็ยังขายดี เราก็ไม่จำเป็นที่ต้องมีไส้นู่นนี่นั่นเพิ่มเติมให้มันยุ่งยาก ในความคิดนะคะ
สิ่งที่จะพัฒนาเลยก็คือว่า พอกุ๊กได้ออกสื่อหรือว่าทำคอนเท้นต์แล้ว จะมีลูกค้าที่มาติดตามเพจร้านเยอะมาก และส่วนมากเป็นลูกค้าต่างจังหวัด เขาต้องการให้กุ๊กส่งไปเหมือนแบบว่า ส่งเหมือนขนมทั่ว ๆ ไปเลย แต่ตอนนี้มันติดตรงที่ว่า ข้าวหลามกุ๊กมันไม่มีสารกันบูดมันเป็นของสด อาจจะต้องส่งไปแบบส่งแบบแช่เย็นก็ได้ แต่ว่าตอนนี้มันอยู่ในขั้นตอนการตัดสินใจที่ว่า กุ๊กจะทำดีไหม? ค่ะอันนี้คือเป็นการพัฒนาที่กุ๊กยังคิดอยู่”




สอบถามเพิ่มเติม โทร.062-660-4724



* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด* * *


กำลังโหลดความคิดเห็น