วาฟเฟิล แตกไลน์มาจาก Dancing with a Baker ที่ขึ้นชื่อเรื่องผลิตภัณฑ์ขนมปังไร้แป้ง ไร้น้ำตาล และได้ต่อยอดมาเป็น “วาฟเฟิลไร้แป้งสาลี น้ำตาลและกลูเตน” รวมถึงแป้งสำเร็จรูปและผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่ถูกวางขายกว่า 150 ร้านค้าทั่วประเทศ พร้อมได้ TED Fund สนับสนุนเงินทุนเพื่อนำมาพัฒนาและต่อยอดผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐานและมีคุณภาพ
นายตรัย สัสตวัฒนา (CTO) และ นางสาวพีรดา ศุภรพันธ์ (CEO) เจ้าของแบรนด์ Dancing with a Baker และผลิตภัณฑ์ของ Tasted Better เล่าว่า เดิมทีทั้งสองได้ทำธุรกิจเกี่ยวกับเบเกอรี่ประเภททางเลือกมาก่อน ซึ่งเกี่ยวกับขนมปังไร้แป้งสาลีและน้ำตาล ภายใต้แบรนด์ Dancing with a Bakerโดยเน้นกลุ่มลูกค้าที่เป็นผู้ป่วย ผู้เป็นเบาหวาน และผู้ควบคุมน้ำตาล ต่อมาก็มีกลุ่มลูกค้าติดต่อเข้ามาสอบถามเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ตัวอื่นที่ไม่มีกลูเตน ทางแบรนด์เกิดความสงสัยว่าทำไมลูกค้าสอบถามเข้ามาค่อนข้างมาก จนได้ข้อสรุปคือจะมีกลุ่มคนที่มีอาการแพ้กลูเตน คำถามต่อมาคือทำไมถึงไม่เลือกแบรนด์อื่นๆ และได้คำตอบกลับมาคือ แบรนด์อื่นมีคาร์โบไฮเดรตสูงมาก แต่ของทางแบรนด์เองมีคาร์โบไฮเดรตต่ำมากนั่นเอง รวมถึงยังเป็นผลิตภัณฑ์ที่ Low Carb, Low GI อีกด้วย ทำให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ Tasted Better วาฟเฟิลไร้แป้งสาลี น้ำตาลและกลูเตน ปัจจุบันแบรนด์ดำเนินธุรกิจมาได้ประมาณ 3 ปี
วาฟเฟิลไร้แป้งสาลี ใช้อะไรทดแทน
สำหรับวาฟเฟิลไร้แป้งสาลีของทางแบรนด์จะใช้ Plant Based Protein 100% มาทดแทนแป้งสาลี ซึ่งถูกสกัดเอาเฉพาะโปรตีนจากข้าว ถั่วเหลือง ฯลฯ เพื่อนำมาเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตวาฟเฟิลไร้แป้งสาลี น้ำตาลและกลูเตน ซึ่งจะเป็นการแตกไลน์การผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มลูกค้าและท้องตลาดมากยิ่งขึ้น โดยแบ่งเป็น 2 ไลน์การผลิตได้แก่ 1.แบบพร้อมรับประทาน หรือ Ready to Eat และ 2.แบบผงสำเร็จรูป หรือ Premix ที่ตอบโจทย์ในเรื่อง Ready to Cook โดยจะเหมาะสำหรับกลุ่มคนที่ทำอาหาร ขนม ต่างๆ และสามารถนำผลิตภัณฑ์ของทางแบรนด์ไปปรับเปลี่ยนสูตรได้ตามความต้องการ
นวัตกรรมหลักที่อยู่เบื้องหลังผลิตภัณฑ์
ในส่วนของนวัตกรรมที่อยู่เบื้องหลังผลิตภัณฑ์วาฟเฟิลนั้น 1. คือการพัฒนาและปรับใช้ Plant Based Protein เพื่อทดแทนโปรตีนจากแป้งและข้าวสาลี 2. คือนวัตกรรมการลดค่าดัชนีน้ำตาลที่ถูกพัฒนามาตั้งแต่เริ่มทำ Dancing with a Baker และถูกนำมาปรับใช้กับตัววาฟเฟิล ซึ่งการพัฒนานวัตกรรมดังกล่าวนั้นจะทำให้ผลที่ได้เมื่อรับประทานเข้าไปจะให้ความรู้สึกไม่แตกต่างจากขนมปังและวาฟเฟิลทั่วไป นอกจากนี้ขนมปังหรือแป้งปกตินั้นค่าดัชนีน้ำตาลจะอยู่ที่ 75:100 ซึ่งถ้าหากมากกว่า 70 จะถือว่ามีค่าดัชนีน้ำตาลที่สูง แต่ขนมปังที่ Low Carb และ Low GI ส่วนใหญ่ค่าดัชนีน้ำตาลจะอยู่ที่ 35-45:100 ในขณะที่ข้าวแบบ Low GI จะอยู่ที่ 45:100 แต่ขนมปังและแป้งของทางแบรนด์ Dancing With A Baker จะมีค่าดัชนีน้ำตาลอยู่ที่ 1.6 : 100
นอกจากนี้ทางแบรนด์ยังมีการใช้เทคนิคการลดค่าดัชนีน้ำตาลและเทคนิคการปรับใช้ Plant Based Protein บวกกับนวัตกรรมการทำให้โปรตีนมีสัมผัสเหมือนกับคาร์โบไฮเดรตมากที่สุด
กลุ่มลูกค้า
สำหรับกลุ่มลูกค้าของทางแบรนด์นั้นเจ้าของแบรนด์ให้ข้อมูลว่า ลูกค้าจะเป็นลูกค้าเฉพาะกลุ่มเป็นหลัก เพราะผลิตภัณฑ์ของทางแบรนด์มีจุดประสงค์ที่ชัดเจนว่าเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพที่ไร้แป้งสาลี น้ำตาลและกลูเตน รวมถึงยังมีค่าดัชนีน้ำตาลที่ต่ำมาก ซึ่งกลุ่มลูกค้าหลักๆ ได้แก่ 1.คนที่แพ้กลูเตน 2.ผู้ป่วยที่คุมน้ำตาล หรือผู้ที่ลดการรับประทานน้ำตาลรวมถึงกลุ่มที่งดกลูเตนบางวันและลดน้ำตาลบางวัน ซึ่งจะเป็นคนที่มีอาการป่วยและผู้สูงอายุเป็นจำนวนมาก รวมไปถึงเด็กที่ต้องการเลือกรับประทานผลิตภัณฑ์ที่ไร้แป้งสาลี น้ำตาลและกลูเตน และลูกค้ากลุ่มดูแลสุขภาพ ออกกำลังกายต่างๆ ซึ่งผลิตภัณฑ์ของทางแบรนด์ค่อนข้างตอบโจทย์และตอบสนองความต้องการกับลูกค้ากลุ่มเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังมีกลุ่มลูกค้าทั่วไปที่ต้องการผลิตภัณฑ์ของแบรนด์
เทคนิคและกลยุทธ์ทางการตลาด
การตลาดเป็นส่วนสำคัญในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งทางแบรนด์ยังคงทำการตลาดออนไลน์เป็นหลัก รวมถึงเน้นการสื่อสารกับลูกค้าเพื่อให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงแบรนด์ได้ง่าย ซึ่งจะโปรโมทผลิตภัณฑ์ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ เช่น Facebook, Line และ TikTok นอกจากนี้ทางแบรนด์ยังมีการวางแผนที่จะทำงานร่วมกับเชฟมืออาชีพมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะนำเอาผลิตภัณฑ์ประเภทแป้งสำเร็จรูปไปต่อยอดให้เกิดประโยชน์ต่อกลุ่มผู้บริโภคได้มากที่สุด เช่น อาหารในโรงพยาบาล สามารถนำผลิตภัณฑ์ของแบรนด์ไปต่อยอดให้กับผู้ป่วยได้
กำลังการผลิต
เมื่อมีความต้องการกำลังการผลิตต้องเพียงพอ สำหรับกำลังการผลิตทั้งตัววาฟเฟิลและแป้งสำเร็จรูปนั้น ทางแบรนด์ให้ข้อมูลว่า แป้งสำเร็จรูปสามารถผลิตได้เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้า ส่วนตัววาฟเฟิลก็เช่นกัน ยังคงสามารถผลิตได้เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้า รวมถึงได้รับมาตรฐานและคุณภาพได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้สำหรับตัววาฟเฟิลนั้นจะมีทั้งหมด 2 รสชาติ ได้แก่ รสออริจินอลและรสโกโก้ ซึ่งเป็นโกโก้ไฟเบอร์ โดยเป็นการสกัดมาจากไฟเบอร์อย่างเดียวและไม่มีไขมันหรือสารอื่นๆ แต่จะยังมีกลิ่น รสชาติและสัมผัสของโกโก้เอาไว้
ผลตอบรับที่ได้จากลูกค้า
เมื่อมีคนสนใจและนิยมมากขึ้นทำให้สินค้าและผลิตภัณฑ์ขายดีเป็นอย่างมาก ทำให้ทางแบรนด์หยุดขายไประยะหนึ่ง เนื่องจากมีอุปสรรคเรื่องการบริหารวัตถุดิบ ซึ่งวัตถุดิบบางตัวถูกนำเข้ามาจากต่างประเทศ และจะมีช่วงที่วัตถุดิบเกิดการล่าช้าในการขนส่ง ทำให้ไม่สามารถจัดการและบริหารวัตถุดิบในส่วนนี้ได้ แต่ก็เป็นเพียงช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น หลังจากนั้นก็จัดการกับปัญหาดังกล่าวและกลับมาขายต่อได้ เพื่อสนองความต้องการของลูกค้าที่รอผลิตภัณฑ์ของทางแบรนด์อยู่นั่นเอง ปัจจุบันสินค้ามีวางขายอยู่ในร้านค้ากว่า 150 ร้านค้าทั่วประเทศ แต่สินค้าตัววาฟเฟิลยังคงเป็นการผลิตแบบทำตามออเดอร์ ยังคงไม่มีการส่งไปวางขายตามร้าน ส่วนสินค้าอื่นๆ นั้นมีวางขายตามปกติ
ผลกระทบจากโควิด-19
เมื่อทุกคนต้องพบเจอกับปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ในช่วงที่มีโควิด-19 ระบาด ซึ่งทางแบรนด์เองก็เช่นเดียวกัน ลูกค้าที่เป็นกลุ่มทางรอด กล่าวคือกลุ่มคนที่เป็นผู้ป่วยที่ต้องลดน้ำตาลหรือ กลุ่มแพ้สารต่างๆ เช่น กลูเตน ก็ยังคงสนับสนุนสินค้าของทางแบรนด์อย่างต่อเนื่อง ส่วนลูกค้าทางเลือกก็จะห่างหายไปเพราะต้องระมัดระวังในการจับจ่ายซื้อของในช่วงที่เจอสถานการณ์ดังกล่าว แต่ในช่วงแรกของโควิด-19 ผู้คนวิตกกังวลเป็นจำนวนมากเกี่ยวกับสุขภาพของตนเอง ทำให้ผลิตภัณฑ์มากมายที่ตอบโจทย์และส่งเสริมสุขภาพที่ดีนั้นตอบสนองกลุ่มคนเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี ทางแบรนด์ก็เช่นเดียวกัน ถือว่าในช่วงแรกสินค้าและผลิตภัณฑ์ได้รับความนิยมและสนใจเพิ่มขึ้นอย่างมาก
เข้าร่วมโครงการขอทุนกับ TED Fund
สำหรับการเข้าร่วมโครงการสนับสนุนเงินทุนของ TED Fund นั้น จุดประสงค์แรกที่เข้าร่วมคือทางแบรนด์ขาดความมั่นใจว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้นจะมีตลาดรองรับหรือไม่ แต่ทางแบรนด์มั่นใจว่านวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ใช้กับผลิตภัณฑ์นั้นสามารถเกิดขึ้นได้และเป็นประโยชน์ต่อกลุ่มผู้บริโภคได้ ซึ่ง TED Fund ช่วยให้แบรนด์สามารถก้าวข้ามอุปสรรคและช่วยลดความเสี่ยง รวมถึงสนับสนุนให้ทางแบรนด์ทำตามสิ่งที่ถนัดให้สำเร็จ ทำให้ทางแบรนด์ได้ทดลองตลาดและได้ผลสรุปมาว่ามีตลาดที่รองรับผลิตภัณฑ์ของแบรนด์อยู่จริง นอกจากนี้ TED Fund ยังทำให้ทราบว่าสิ่งที่วางแผนไว้นั้นสามารถทำได้จริงและมีการตอบรับที่ดี ซึ่งเป็นการได้รับโอกาสที่ดีสำหรับทางแบรนด์
TED Fund คือ กองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ที่ร่วมมือกับ สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กับเครือข่ายร่วมพัฒนาผู้ประกอบการ (TED Fellow) จำนวน 18 หน่วยงานทั่วประเทศ ที่หวังบ่มเพาะ พร้อมให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการที่ต้องการเงินทุนวิจัย และพัฒนาต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์และ Tasted Better ก็เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่ได้รับโอกาสจาก TED Fund
โดยในปี 2565 ได้กำหนดจัดสรรเงินสนับสนุนผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม ในรูปแบบการสนับสนุนทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม ได้แก่ 1.โปรแกรม IDEA (Ideation Incentive Program) ให้ทุนสนับสนุนแบบให้เปล่าวงเงิน 100,000 บาท แก่ผู้ประกอบการซึ่งเป็นนักศึกษาระดับปริญญาตรี โท เอกหรือบัณฑิตจบการศึกษาไม่เกิน 5 ปี เพื่อนำไปพัฒนาแผนธุรกิจฉบับสมบูรณ์และผลิตภัณฑ์ต้นแบบ 2. โปรแกรม POC (Proof of Concept) ให้ทุนสนับสนุนแบบสมทบบางส่วน วงเงินสูงสุดไม่เกิน 1,500,000 บาท แก่ผู้ประกอบการที่เป็นนิติบุคคล เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบ ต่อยอดงานวิจัยและการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์
ทุนที่ได้จาก TED Fund นำมาพัฒนาด้านใดบ้าง
สำหรับการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์โดยได้รับการสนับสนุนเงินทุนจาก TED Fund นั้นทางแบรนด์ได้นำมาต่อยอดในส่วนของ 1. การพัฒนาผลิตภัณฑ์วาฟเฟิลไม่มีแป้งสาลี ไม่มีน้ำตาลทราย ไม่มีกลูเตน แบบพร้อมรับประทาน 2. พัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์พรีมิกซ์ ที่สามารถยืดอายุการเก็บได้นานขึ้น พร้อมทั้งสามารถปรุงรับประทานเองได้และ 3. ทดสอบการยอมรับจากผู้บริโภค และทดสอบผลิตภัณฑ์ในคนเพื่อหาคุณค่าทางโภชนาการ เพื่อจัดทำฉลากโภชนาการ และทดสอบอายุการเก็บรักษาของผลิตภัณฑ์ต้นแบบ
อย่างไรก็ตามในอนาคตทางแบรนด์ได้มีการจัดการวางแผนการต่อยอดผลิตภัณฑ์ให้ไปในทิศทางของการพัฒนาตัวแป้งให้แตกไลน์ไปทำเป็นผลิตภัณฑ์ประเภทอื่นได้อีกมากมาย รวมถึงการต่อยอดที่ได้จาก TED Fund คือ การพัฒนาการทดแทนกลูเตน นอกจากนี้ทางแบรนด์ยังมีแผนส่งออกไปยังกลุ่มประเทศในยุโรป ในช่วงปลายปีนี้
ติดต่อเพิ่มเติม
Facebook : Dancing With A Baker ขนมปังไม่มีแป้ง ไม่มีน้ำตาล , Tasted Better
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด* * *