xs
xsm
sm
md
lg

กรมพัฒน์ฯ แจ้งเกิด 80 ธุรกิจ หลักสูตรมืออาชีพและการตลาดเชิงสร้างสรรค์พร้อมมอบรางวัลการันตีต้นแบบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ปิด 2 คอร์ส พร้อมมอบวุฒิบัตรและโล่รางวัลแก่นักธุรกิจมืออาชีพ (DBD-SPE) รุ่นที่ 11 และนักการตลาดเชิงสร้างสรรค์ (DBD-ACM) รุ่นที่ 9 สร้างผู้ประกอบธุรกิจมืออาชีพหน้าใหม่ป้อนสู่ตลาด 80 ราย สู้กับการเปลี่ยนแปลงในยุคโควิด-19 จบหลักสูตรแล้วได้แผนธุรกิจมาเป็นทิศทาง ช่วยสร้างรายได้ให้กับ SME พร้อมเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ มาช่วยแบ่งเบาการทำงาน บริหารจัดการง่ายขึ้น นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจที่ได้รับรางวัล The Best Practices จำนวน 6 ราย และ Rising Star จำนวน 4 ราย ซึ่งจะเป็นตัวอย่างให้ธุรกิจอื่นเดินตามได้อย่างถูกทาง

ายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานมอบวุฒิบัตรและโล่รางวัลให้นักธุรกิจที่ผ่านการพัฒนาในกิจกรรมนักธุรกิจมืออาชีพ (Smart Professional Entrepreneur : DBD-SPE) รุ่นที่ 11 และนักการตลาดเชิงสร้างสรรค์ (Advance Creative Marketeer : DBD-ACM) รุ่นที่ 9 ณ ชั้น 6 ศูนย์ฝึกอบรมพัฒนาธุรกิจการค้า (11 สิงหาคม 2565) ว่า ขณะนี้สิ่งที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเร่งดำเนินการซึ่งนับเป็นความท้าทายอย่างมากคือ การช่วยเหลือธุรกิจให้สามารถฟื้นตัวภายหลังผ่านพ้นวิกฤต โควิด-19 พร้อมกับสร้างแนวทางการดำเนินธุรกิจในรูปแบบใหม่ๆ เพื่อให้ธุรกิจดำเนินเติบโตต่อไปได้

อธิบดี กล่าวต่อว่า “ในปี 2565 กรมฯ ได้ดำเนินกิจกรรมใน 2 หลักสูตร (หลักสูตรละ 61 ชั่วโมง)คือ 1) นักธุรกิจมืออาชีพ (Smart Professional Entrepreneurs : DBD-SPE) ซึ่งจะช่วยให้นักธุรกิจมีทักษะและกลยุทธ์การทำธุรกิจที่ทันต่อสถานการณ์ยุคใหม่ อีกทั้งนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในการบริหารธุรกิจได้ และ 2) นักการตลาดเชิงสร้างสรรค์ (Advance Creative Marketeer : DBD-ACM) สร้างองค์ความรู้และกลยุทธ์ในการใช้แนวคิดสร้างสรรค์ทางการตลาดยุคดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับความต้องการทางการตลาดในปัจจุบัน ทั้งนี้ เมื่อจบการอบรมผู้ประกอบธุรกิจจะมีความเข้มแข็ง เป็นมืออาชีพ และพร้อมเป็นผู้นำด้านการตลาดสมัยใหม่ ตลอดจนมีทักษะแนวคิดในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยบริหารจัดการธุรกิจ อย่างไรก็ดี ในช่วงเวลาของการอบรมได้มีผู้เชี่ยวชาญลงให้คำปรึกษาแบบเจาะลึกทั้งแบบรายกลุ่ม (Group Coaching) และแบบรายธุรกิจ (One-On-One Coaching) ทำให้มองเห็นปัญหาของแต่ละธุรกิจได้อย่างแท้จริง โดยได้เข้าไปช่วยแนะนำ แก้ไขปัญหาของธุรกิจ ทำให้ปัญหาได้รับการแก้ไขได้ตรงจุด และยังมองเห็นโอกาสทางการค้ารูปแบบใหม่ๆ สามารถนำเทคโนโลยีมาใช้เป็นตัวช่วย ส่งผลให้บริหารจัดการธุรกิจได้คล่องตัวขึ้น และเติบโตได้อย่างมืออาชีพ ซึ่งจากการติดตามผล ของผู้เข้าร่วมโครงการทั้งหมดพบว่า สามารถช่วยสร้างรายได้เฉลี่ยให้ธุรกิจได้เพิ่มมากขึ้นกว่าร้อยละ 14

“สำหรับวันนี้กรมฯ ได้จัดพิธีมอบวุฒิบัตรและโล่รางวัลเพื่อแสดงความยินดีแก่ผู้ประกอบธุรกิจที่ผ่านการพัฒนาใน 2 หลักสูตรข้างต้น มีผู้ผ่านการพัฒนาทั้งสิ้นจำนวน 80 ราย และมีผู้ได้รับโล่รางวัลต้นแบบที่ดี (The Best Practices) จำนวน 6 ราย และรางวัล Rising Star จำนวน 4 ราย นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการจัด Showcase จากธุรกิจที่ผ่านการพัฒนาและเป็นต้นแบบที่ดี (The Best Practices) กว่า 30 บูธ อาทิ ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม เช่น ร้านเอี๊ยบเท่งอิ๋ว สุกี้สไตล์ฮกเกี้ยน, ร้านก๋วยเตี๋ยวเรือจ้าวคุณ, ผักสลัดและขาหมูตรอกซุงบางรักบริษัท ฟาร์มผักอารมณ์ดี จำกัด, ผัดไทย หอยทอด บริษัท ตะวันดากรุ๊ป จำกัด เครื่องดื่มชานมไข่มุกโทระฉะ, ไก่ทอดซอสไทย ร้านไก่เมาเทสท์, กัปตันหมูเส้นอบกรอบ, ธุรกิจเครื่องแต่งกายและแฟชั่น เช่น เสื้อผ้าและกระเป๋า ลิลลี่ กรุ๊ป, แผ่นรองเท้าขึ้นรูปเฉพาะบุคคล บริษัท สปอร์ต แพสชั่น อินเตอร์กรุ๊ป จำกัด,และธุรกิจบริการ เช่น ธุรกิจออกแบบตกแต่งภายใน ไทยเมก้า, บริการตาข่ายป้องกันนก บริษัท ไทยธันวา เอ็นจิเนียร์ จำกัด เป็นต้น”

“ตัวอย่างผลความสำเร็จของโครงการสามารถช่วยให้ธุรกิจพัฒนาโมเดลธุรกิจให้เข้ากับสถานการณ์ หลังโควิด-19 อาทิ ธุรกิจร้านอาหารก๋วยเตี๋ยวเรือจ้าวคุณที่ปรับตัวนำ Social Media Marketing มาช่วยเจาะหากลุ่มลูกค้าที่ตรงเป้าหมายได้ยิ่งขึ้น ทำให้ลดเวลา ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียไป และยังเพิ่มการประชาสัมพันธ์ร้านผ่านช่องทาง Social Media ทำให้ร้านเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น จนปัจจุบันสามารถวางแผนพัฒนาโมเดลธุรกิจด้วยการวางระบบบริหารร้านเพื่อขยายสาขาย่อยเพิ่มไปยังปั้มน้ำมัน และวางแผนก้าวสู่รูปแบบแฟรนไชส์ในอนาคต”

“อีกทั้งยังมีธุรกิจที่สามารถเชื่อมโยงโอกาสทางการตลาดได้จริง อาทิ บริษัท ปากาม้า (ไทยแลนด์)ธุรกิจงานดีไซน์ ได้นำผ้าขาวม้าไทย มาผสานเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อพัฒนาสินค้าให้มีความโดดเด่นและแตกต่างจากคู่แข่ง โดยยังคงเอกลักษณ์ความเป็นไทย พร้อมสร้างคุณค่าของแบรนด์ให้เป็นที่จดจำของผู้บริโภค โดยมีสินค้าที่น่าสนใจ เช่น กระเป๋าผ้าขาวม้าที่มีคุณสมบัติสะท้อนน้ำ เครื่องแต่งกายผ้าขาวม้าที่มีคุณสมบัติป้องกัน ความร้อนจากแสง UV และผลิตภัณฑ์ลายผ้าขาวม้าในรูปแบบ Digital Printing ที่พิมพ์ลงบนวัสดุต่างๆ ส่งผลให้แบรนด์ปากาม้า สามารถสร้างความเข้มแข็งของแบรนด์ จนขยายตลาดไปยังต่างประเทศได้ เช่น ประเทศมาเลเซีย”

“ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเพียงธุรกิจส่วนหนึ่งที่ประสบความสำเร็จและเป็นความภาคภูมิใจของกรมฯ โดยกรมฯ ได้ดำเนินกิจกรรมทั้ง 2 หลักสูตรนี้มาตั้งแต่ปี 2557-ปัจจุบัน มีผู้ประกอบธุรกิจที่ผ่านการพัฒนาแล้วรวมทั้งสิ้นจำนวนกว่า 917 ราย แบ่งเป็นนักธุรกิจมืออาชีพ (Smart Professional Enterprise : DBD-SPE) จำนวน 627 ราย และนักการตลาดเชิงสร้างสรรค์ (Advance Creative Marketeer : DBD-ACM) จำนวน 290 ราย ผู้ประกอบธุรกิจที่สนใจสามารถสอบถามและติดตามการเปิดรับสมัครครั้งต่อไปได้ที่เว็บไซต์ www.dbd.go.th สายด่วน 1570 หรือส่วนพัฒนาเครือข่ายธุรกิจบริการ กองธุรกิจบริการ โทรศัพท์หมายเลข 0 2547 5985” อธิบดี กล่าวทิ้งท้าย


กำลังโหลดความคิดเห็น