ปลูกต้นไม้อย่างไร ไม่ต้องรดน้ำ การให้แสงต้นไม้ (ทดแทนแดดจริง) คนไม่มีพื้นที่ก็ปลูกสร้างสวนหย่อมในบ้านได้! เหล่านี้คือไอเดียที่นำมาสู่การทำได้จริง ปลูกต้นไม้แบบใหม่ สไตล์นิมิมอล ตอบโจทย์คนเมืองสามารถใกล้ชิดธรรมชาติได้ง่าย ๆ
ย้อนกลับไปเมื่อ 8 ปีที่แล้ว การรวมตัวกันเพื่อเริ่มโมเดลธุรกิจเกษตรเล็ก ๆ ของ 3 พาร์ทเนอร์ ซึ่งประกอบด้วย รณยศ พลเสน สายสุพรรณ พลเสน และ จุฬาลักษณ์ น้อยแสง นิสิตปริญญาโทที่ทำงานวิจัยด้านBiotech การปรับปรุงพันธุ์พืช ก่อนจะต่อยอดเทคนิคการผลิตพืชแบบ Tissue culture ซึ่งเป็นแนวทางตามความถนัดเดิม มาสู่ธุรกิจไม้ประดับสวยงามน้องใหม่ในวงการ ภายใต้คอนเซ็ปต์ ไม้ประดับสวยงามของคนเมือง สามารถเลี้ยงดูเล่น ๆ แบบไม่ต้องมีการรดน้ำ เป็นการจำลองธรรมชาติให้มาอยู่ใกล้ชิดกับคน ตามใจที่ต้องการได้
ปลูกต้นไม้อย่างไร ไม่ต้องรดน้ำ
จุฬาลักษณ์ น้อยแสง(กิ๊ก) หนึ่งในหุ้นส่วนของร้าน Parsimony Plant Biotech ให้ข้อมูลกับเราว่า การปลูกต้นไม้ในขวดแก้วที่มีเจลใสเป็นแหล่งธาตุอาหารให้พืชเริ่มเป็นที่รู้จักกันในปัจจุบัน เทคโนลีวิทยาศาสตร์นี้เรียกว่า “การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช” (Plant tissue culture) ซึ่งเมื่อ 8 ปีก่อนยังไม่แพร่หลายนักรู้จักกันในวงแคบของการศึกษาวิจัย และการผลิตกล้วยไม้จำนวนมากเพื่อส่งออกซึ่งใช้เทคโนโลยีนี้มานานกว่า 20 ปี เมื่อวงการไม้ด่างเป็นกระแสนิยมขึ้นมา และเข้าถึงผู้คนทุกเพศทุกวัย
จึงทำให้คนไทยเข้าใจหลักการของพืชเพาะเนื้อเยื่อมากขึ้น ทุกคนสามารถปลูกพืชเพาะเนื้อเยื่อนี้ให้เติบโตสวยงามได้โดยที่ไม่ต้องรดน้ำเลย พืชจะเจริญเติบโตได้เองจากสารอาหารในเจลใส และยังหมดปัญหาที่ทำงาน หรือคอนโดไม่มีแสงสว่างเพราะสามารถใช้แสงไฟทดแทนแสงแดด และปลูกในห้องแอร์อากาศเย็นได้อีกด้วย
พืชมีการเติบโตทั้งส่วนของลำต้น ดอก ใบ และราก การปลูกในเจลใสนี้เราสามารถหยิบดูได้ทุกมุม อย่างรากพืชนั้นมีหลายสีเช่น สีแดง ขาว ดำ เขียว และน้ำตาลตามสายพันธุ์พืช บางคนไม่เคยเห็นรากมาก่อนเลย เพราะแต่ก่อนต้นไม้ปลูกในดินในกระถางเท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องน่าสนุกและเสริมสร้างทักษะการสังเกตเรียนรู้ให้เด็ก ๆ ได้เป็นอย่างดี ที่ร้านพาร์สิโมนี่มีสายพันธุ์พืชในขวดเจลกว่า 30 ชนิดให้เลือกสะสม แต่ละชนิดมีรายละเอียดสวยงาม และหาดูได้ยากอย่างเช่น กลุ่มพืชกินแมลง พรรณดอกไม้ และไม้ด่างในกระแส
การดูแลต้นไม้ในขวดเจล
1. น้ำและปุ๋ย: เนื่องจากการเลี้ยงต้นไม้ในขวดเป็นระบบปิดจึงสร้างสมดุลระหว่างการแลกเปลี่ยนคาร์บอนไดออกไซด์และออกซิเจนในระบบการหายใจของต้นไม้ได้เอง ร้านบรรจุสารอาหารที่จำเป็นสำหรับต้นไม้ไว้ในขวดเรียบร้อยแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องเปิดฝาขวดให้ต้นไม้ได้รับออกซิเจนหรือเติมอาหารอีก
2. แสง: ให้แสงไฟ LED สีขาว วันละประมาณ 8-10 ชั่วโมง โดยวัดค่าความเข้มแสงด้วยแอพพลิเคชั่น Lux Light Meter วางโทรศัพท์ขนานกับใบไม้ หันด้านจอขึ้นให้แสงไฟส่องลงมาที่กล้องหน้า (ควรเชคให้แน่ใจว่าปรับเป็นกล้องหน้าเพื่อวัดแสงแล้ว) วัดที่ระดับใบไม้ให้ได้ค่าแสงที่ 4000-5000 Lux หากใช้แสงธรรมชาติควรระวัง เรื่องความร้อนสะสม และไม่ควรให้โดนแสงแดดโดยตรงเพราะจะทำให้ต้นไม้เสียหายและร้อนอบในขวดได้
3. ห้ามเปิดฝาขวด!!! มิฉะนั้นจะทำให้เกิดเชื้อราบนอาหารเจลได้
รู้จัก “พืชกินแมลง” สายพันธุ์ไม้เด่นจาก Lab ของร้านพาร์สิโมนี่
“ตอนแรกเลยพันธุ์ไม้เราเลือกเป็น‘กลุ่มพืชกินแมลง’ เพราะว่ามันเลี้ยงข้างนอกยาก เป็นพืชที่หาซื้อยากแล้วก็เลี้ยงข้างนอกบางชนิดเขาต้องเย็น ความชื้นในอากาศสูงอะไรแบบนี้ค่ะ มันก็จะเลี้ยงยากหน่อย แต่มาเลี้ยงในเจลแบบนี้ เลี้ยงยังไงก็สวย คือเลี้ยงแบบนี้เลยแล้วเราก็บริการรับย้ายขวดเป็นไซส์ S, M, L ให้ด้วย คนที่เขาชอบเลี้ยงเล็ก ๆ ในขวดแบบนี้ สะดวก ไม่ต้องรดน้ำ แล้วบางบนโต๊ะได้ พอต้นไม้โตเขาก็มาย้ายเป็นขวดที่ใหญ่ขึ้น”
หรือหากลูกค้าต้องการจะย้ายปลูกข้างนอกเอง ทางร้านก็จะมีคู่มือในการให้คำแนะนำดูแลต่าง ๆ ให้ด้วย กลุ่มพืชกินแมลง (Carnivorous Plant) ค่อนข้างเป็นพืชที่หาดูได้ยากทั้งในธรรมชาติ และตามท้องตลาด เนื่องด้วยการเพาะเลี้ยงที่ต้องการการดูแลพิเศษ และเติบโตได้เฉพาะถิ่นเท่านั้น ในประเทศไทยที่พบเห็นได้มากที่สุดคือต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิง (Nepenthes) มีถิ่นกำเนิดทางภาคใต้ ชอบอากาศชื้น แสงไม่มากนักสามารถปลูกในภาคกลาง และในกรุงเทพฯ ได้ พืชกินแมลงอีกชนิดที่มีถิ่นกำเนิดในไทยคือต้นหยาดน้ำค้าง (Sundew/Drosera) พบได้ในพื้นที่อากาศเย็น และชุ่มน้ำอย่างที่ภูกระดึง จังหวัดเลย นอกนั้นเป็นพืชกินแมลงที่นำเข้ามาจากต่างประเทศทั้งสิ้น
ทำไมพืชถึงต้องกินแมลง??? จากวิวัฒนาการของพืชกลุ่มนี้ที่ขึ้นตามพื้นที่ขาดแคลนธาตุอาหารเป็นการคัดเลือกโดยธรรมชาติ
(Natural Selection) เลือกต้นที่สามารถผลิตเอนไซม์ย่อยสลายซาก และต้นที่มีการสร้างกับดักแบบต่าง ๆ เพื่อล่อจับสิ่งมีชีวิตให้สืบพันธุ์ดำรงอยู่มาถึงปัจจุบัน เมื่อแมลงตัวเล็ก ๆ ถูกกับดักจับไว้ได้จะค่อย ๆ ถูกย่อยสลายจากสารที่พืชปล่อยออกมาแล้วพืชจะดูดซึมสารอาหารที่ย่อยสลายได้ไปใช้เพื่อการเจริญเติบโตต่อไป
อะไรคือกับดัก (Trap) ของพืช??? กับดักของพืชมีด้วยกัน 3 แบบคือ แบบหลุมพราง (Pitcher) เช่น หม้อข้าวหม้อแกงลิง ฮีเลี่ยมฟอล่า กระเป๋าจิงโจ้ และซาราสิเนีย แบบกาวเหนียว (Sticky) เช่น หยาดน้ำค้าง และByblis แบบตะครุบเหยื่อ (Snap)
ได้แก่ ต้นกาบหอยแครง
Terrarium สวนย่อส่วนมินิมอล หรือ “สวนขวด” ปลูกต้นไม้แบบใหม่ สไตล์มินิมอล
Terrarium หรือในชื่อเรียกที่คุ้นเคยกันคือ “สวนขวด” เป็นการสร้าง ย่อส่วน หรือจำลองธรรมชาติ ระบบนิเวศน์ให้เหมือนธรรมชาติมากที่สุด สามารถพึ่งพากันเองได้ภายในระบบ ปัจจุบันเป็นที่นิยมในหมู่ของคนวัยทำงาน หนุ่มสาวที่ต้องใช้ชีวิตในเมือง อาศัยอยู่ในคอนโดมิเนียม หรือหอพัก ซึ่งมีพื้นที่จำกัดทำให้ห่างไกลธรรมชาติ การได้เห็นสีเขียวของธรรมชาติจาก “สวนขวด” แม้จะเป็นเพียงการจำลอง ได้เห็นการงอกงามและเติบโตของพันธุ์ไม้ต่าง ๆ
Terrarium แบ่งออกได้เป็น 2 แบบใหญ่ ๆ คือ 1. แบบเปิด เป็นแบบใช้ขวดหรือภาชนะที่ไม่ต้องมีฝาปิด และต้องการการรดน้ำได้ตามความเหมาะสม เพื่อให้ความชื้นไหลเวียนออกไปได้ง่าย 2. แบบปิด เป็นแบบขวดที่มีฝาปิดสนิท ต้นไม้และพืชสามารถที่จะนำความชื้นกลับมาหมุนเวียนใช้ได้ภายในขวดหรือภาชนะบรรจุ
สำหรับ “สวนขวด” หรือส่วนย่อส่วนมินิมอลของร้านพาร์สิโมนี่ จะมี 2 แบบคือ แบบสวนมอสที่แต่งสวนด้วยไม้ใบเฟินเล็ก ๆ ที่เลี้ยงในร่ม ใช้แสงไม่มากได้ดี กับแบบสวนมอสที่แต่งด้วยพืชกินแมลง ซึ่งแบบหลังนี้จะค่อนข้างได้รับความสนใจและเป็นซิกเนเจอร์ของที่ร้านด้วย
การดูแลต้นไม้ในสวนขวด
1.น้ำและปุ๋ย: ประมาณสัปดาห์ละ 1 ครั้ง การให้น้ำโดยใช้วิธีการสเปรย์หรือใช้หลอดหยดให้น้ำ ที่สำคัญต้องระวังไม่มีเกิดน้ำขังอยู่ในภายขวดอย่างเด็ดขาด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดรากเน่า วิธีการดูว่าควรให้น้ำมาก/หรือน้อยแค่ไหน โดยเปิดฝาขวดออกแล้วใช้มือแตะไปที่มอส ถ้าไม่มีความชื้นติดมือมาเลยแสดงว่าควรให้น้ำเติมความชุ่มชื้นได้แล้ว หยดหรือสเปรย์น้ำให้ทั่วไปทั้งขวด
ด้านล่างจะมีสแฟกนั่มมอสที่ช่วยกักเก็บความชุ่มชื้นให้อีกทางหนึ่งด้วย การใส่ปุ๋ยอาจจะให้ด้วยสัก 2-3 เม็ด/ครั้ง ดูตามขนาดขวดหรือจำนวนของต้นไม้ที่ปลูกอยู่ด้านใน ให้ปุ๋ยละลายช้าหรือออสโมโค้ด
2.แสง: ควรวางให้ต้นไม้ได้รับแสงสว่างวันละ 8-10 ชั่วโมงต่อเนื่อง เพื่อให้ใบมีสีเขียว และเจริญเติบโตเเข็งแรง หากต้นไม้ได้แสงไม่เพียงพอจะมีอาการใบยืดยาวเรียว สีเขียวค่อยๆ ซีดลงจนเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล หรือกรณีแสงเข้มแรงเกินไปอาจทำให้ใบไหม้ฉับพลัน สังเกตได้จากสีน้ำตาลช้ำบนใบ เราสามารถวัดความเข้มแสงที่เหมาะสมได้ทั้งแสงแดด หรือแสงไฟ LED ที่ให้กับต้นไม้ได้ด้วยแอพพลิเคชั่นนี้ Lux light meter อ่านค่าความเข้มแสงที่ระดับใบไม้ หงายโทรศัพท์ขึ้น (ปรับให้เป็นกล้องหน้าเพื่อวัดค่าแสง) ดูว่าได้ค่าที่ 4,000-5,000 Lux สำหรับต้นไม้ในขวดอาหารเจล และ 9,000-10,000 Lux สำหรับ Terrarium สวนขวด แสดงว่าต้นไม้ได้รับแสงเพียงพอ
“โควิด” ยิ่งขายดี! มีบริการทั้งหน้าร้านและช้อปผ่านออนไลน์ได้ด้วย
ปัจจุบันร้าน Parsimony Plant Biotech มีหน้าร้านจำหน่ายสินค้าอยู่ในห้างฯ เซ็นทรัลพลาซ่าเวสต์เกต(บางใหญ่) ชั้น 3 บริเวณด้านหน้าร้าน sizzler และมีบริการร้านค้าช้อปปิ้งออนไลน์ผ่านทางพันธมิตร Shopee และ Lazada อีกด้วย จากกำลังการผลิตไม้ขวด(เจล) เฉลี่ย 200-300 ขวด/เดือน การผลิตสวนขวดจะเน้นให้มีครบทุกแบบของร้าน จัดแสดงไว้ที่หน้าร้านเพื่อให้ลูกค้าเลือกซื้อไปดูแลต่อได้ตามความชอบ หรือสามารถสั่งจัดสวนตามแบบของลูกค้าที่ต้องการให้จัดให้ก็ได้เช่นกัน พร้อมการบริการจากทางร้านเอง เช่น กรณีหลังจากเลี้ยงนาน 4-6 เดือน ต้นไม้โตเต็มขวด สามารถส่งย้ายเปลี่ยนขวดขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อขยายพื้นที่ให้ต้นไม้เจริญเติบโตต่อไปได้>> ราคาย้ายขวดอาหารเจล ขวดขนาด S ราคา 100 บาท ขวดขนาด M ราคา 180 บาท ขวดขนาด L ราคา 350 บาท บริการย้ายปลูกจัดสวนขวดพืชกินแมลง เมื่อเลี้ยงต้นไม้ในขวดเจลจนเต็มแล้ว ต้องการทดลองเลี้ยงระบบเปิด สามารถย้ายต้นไม้บางส่วน หรือทั้งหมดออกมาจัดลงสวนขวดTerrariumได้ การย้ายออกปลูกนี้จำเป็นต้องใช้เวลาให้ต้นไม้ปรับตัวกับสภาพแวดล้อมใหม่ประมาณ 30 วัน ก่อนส่งคืนลูกค้า ราคาสั่งทำมีตั้งแต่ 450 ถึง 1,750 บาท ตามขนาดโหล สนนราคาของสินค้าแต่ละรายการเริ่มต้นที่ อย่างไม้เจล คือ 120 บาท/ขวด-500 บาท/ขวด โดยราคาจะขึ้นอยู่กับชนิดของพันธุ์ไม้เป็นเกณฑ์ สวนขวดจะมีเริ่มตั้งแต่ไซส์จิ๋วเลย คือ 55 บาท/ขวด(เด็ก ๆ จะชอบซื้อเพื่อพกไปไหนด้วยก็ได้) จนไปถึงสูงสุด 5,000 บาท/ขวด(เป็นทรงโดม/บ้าน) นอกจากนี้ในช่วง “โควิด” ที่ผ่านมายังถือเป็น “โอกาส” อย่างก้าวกระโดดมากๆ สำหรับร้าน เพราะไม่เพียงสร้างยอดขายดีกว่าหลักแสนบาทต่อเดือนให้แล้ว ยังทำให้ร้านสามารถขยายฐานลูกค้าในตลาดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เปรียบเทียบกับช่วงก่อนหน้าที่เห็นความแตกต่างได้อย่างชัดเจนอีกด้วย
สอบถามเพิ่มเติม โทร. 090-419-6044
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด* * *