xs
xsm
sm
md
lg

แหล่งเดียวในประเทศไทย! สืบสานพระปณิธานพระพันปีหลวง ปล่อย “ฟ้ามุ่ย” คืนสู่ป่าผ่านการท่องเที่ยวบ้านปงไคร้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ช่วยสร้างความเจริญให้แก่ชุมชนและท้องถิ่นให้มีรายได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นโดยสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากพืชเศรษฐกิจ พืชอาหาร พืชสมุนไพร และไม้ดอกไม้ประดับ ฯลฯ รวมถึงการเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์กล้วยไม้ไทยหายากแล้วปล่อยคืนสู่ป่าให้อยู่ในสภาพธรรมชาติตามเดิม”

การขยายพันธุ์กล้วยไม้ป่าหายากด้วยเทคนิคที่ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีมา
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงมีพระเสาวนีย์ ผ่านสวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ จากจุดเริ่มต้นดังกล่าวกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) หรือ สพภ.(BEDO) จึงได้เข้าไปร่วมกับชาวบ้าน บ้านปงไคร้ หรือ หมู่บ้านฟ้ามุ่ย จัดเป็นพื้นที่แหล่งเดียวของประเทศไทยที่มี “กล้วยไม้ฟ้ามุ่ย” อยู่ในธรรมชาติ เพื่อดำเนินงานโครงการ “ธนาคารกล้วยไม้ระดับชุมชนบ้านปงไคร้” ภายใต้โครงการธนาคารความหลากหลายทางชีวภาพระดับชุมชน ของ BEDO นอกจากจะจัดทำขึ้นเพื่อการอนุรักษ์ใช้ประโยชน์กล้วยไม้ท้องถิ่นอย่างยั่งยืนโดยการบริหารจัดการด้วยชุมชนแล้วยังเป็นการ สืบสานต่อยอดพระราชเสาวนีย์ ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

LAB เพาะเลี้ยงขยายพันธุ์กล้วยไม้ป่าหายากของหมู่บ้านปงไคร้
นางสุวรรณา เตียรถ์สุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า ฟ้ามุ่ย เอื้องฟ้ามุ่ย หรือ Blue Vanda หนึ่งในกล้วยไม้ที่คนนิยมเลี้ยงมากที่สุด ด้วยสีสันและความสวยงามจึงถูกคุกคามนำออกจากป่าเป็นจำนวนมาก ฟ้ามุ่ยในธรรมชาติลดน้อยลงเสี่ยงใกล้สูญพันธุ์ อดีตฟ้ามุ่ยเคยถูกจัดให้เป็นกล้วยไม้ที่อยู่ในบัญชี 1 ไซเตส ซึ่งเป็นบัญชีควบคุมทางการค้าระหว่างประเทศอย่างเข้มงวด เพื่อควบคุมไม่ให้มีการนำต้นออกจากป่ามาจำหน่าย ปีพ.ศ.2547 ประเทศไทยได้เสนอให้ถอดชื่อกล้วยไม้ฟ้ามุ่ยออกจากไซเตส บัญชี 1 ไปอยู่บัญชี 2 เพื่อเปิดช่องทางให้มีการพัฒนาพันธุ์เพื่อการค้ามากขึ้น

กล้าพันธุ์กล้วยไม้ฟ้ามุ่ยหลังผ่านการเลี้ยงมาที่พร้อมปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ
สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ หรือ BEDO จึงร่วมกับวิสาหกิจชุมชนกลุ่มลี้ยงฟ้ามุ่ยบ้านปงไคร้ จัดทำโครงการ “ธนาคารกล้วยไม้ระดับชุมชนบ้านปงไคร้” ภายใต้โครงการธนาคารความหลากหลายทางชีวภาพระดับชุมชน เพื่อการอนุรักษ์ใช้ประโยชน์กล้วยไม้ท้องถิ่นอย่างยั่งยืนโดยการบริหารจัดการด้วยชุมชน

ชาดอกกล้วยไม้ (เอื้องคำ) พร้อมสมุนไพรที่มีประโยชน์เป็นชุดอาหารว่างสำหรับต้อนรับนักท่องเที่ยวที่มาเยือน
ด้าน นายวันชัย อินยม ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเพาะเลี้ยงฟ้ามุ่ย บ้านปงไคร้ ต.โป่งแยง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ เปิดเผยว่า เบโด้ ได้เข้ามาสนับสนุนส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเพาะเลี้ยงฟ้ามุ่ย เกี่ยวกับการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์กล้วยไม้อย่างเป็นระบบ เริ่มตั้งแต่ ให้ความรู้ในการสำรวจความหลากหลายกล้วยไม้ เทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อกล้วยไม้ และเทคนิคการนำกล้วยไม้ออกจากขวด รวมทั้งกระบวนการปล่อยกล้วยไม้คืนป่า ส่งผลให้ชุมชนมีความรู้ความเข้าใจได้เป็นอย่างดี

ต่อยอดกล้วยไม้ฟ้ามุ่ยทำเป็นของที่ระลึกและของประดับตกแต่งเพื่อจำหน่ายแก่นักท่องเที่ยวที่สามารถนำกลับบ้านได้
“ที่ผ่านมาองค์การบริหารส่วนตำบลโป่งแยง และชาวบ้าน ร่วมกับสวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ จัดกิจกรรมคืนถิ่นฟ้ามุ่ยบ้านปงไคร้ นำเมล็ดกล้วยไม้ฟ้ามุ่ยที่เคยอยู่ในป่า มาเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์อาหารสังเคราะห์ ก่อนจะปล่อยคืนกล้วยไม้ฟ้ามุ่ยสู่ธรรมชาติ เพื่อหยุดการนำพ่อแม่พันธุ์ออกจากป่า และอนุรักษ์พันธุกรรมกล้วยไม้ฟ้ามุ่ยในธรรมชาติเนื่องจากเห็นความสำคัญเป็นกล้วยไม้ไทยหายากที่ถูกภัยคุกคามและอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ การขยายพันธุ์จะใช้เวลาค่อนข้างนานเป็นปีถึงสองปี จึงนำออกมาขยายต่อได้ หลังปล่อยไปแล้วบางครั้งก็มีตายไปซึ่งก็จะต้องนำไปปล่อยทดแทนใหม่อีก กล้วยไม้ป่าเป็นพืชที่เลี้ยงยาก ดังนั้นต้องใช้ความอดทนสูงมากไม่รักจริง ๆ ทำไม่สำเร็จ”

โครงการธนาคารกล้วยไม้ระดับชุมชนบ้านปงไคร้
ธนาคารกล้วยไม้ระดับชุมชน หนึ่งในกิจกรรมอนุรักษ์ทรัพยากรท้องถิ่น มีกล้วยไม้ลงทะเบียน 200 ต้น 36 ชนิด กล้วยไม้ในธนาคารกล้วยไม้ระดับชุมชน จะเป็นกล้วยไม้ที่ชาวบ้านใช้ผลิตฝักกล้วยไม้ อาทิ ฟ้ามุ่ย นกคุ้มไฟ เอื้องคำ และเอื้องม่อนไข่ เป็นกล้วยไม้ที่จะนำไปเพาะขยายพันธุ์เพิ่มจำนวนกล้วยไม้ให้มากขึ้น ขณะเดียวกันชาวบ้านยังมีต้นกล้ากล้วยไม้ที่ได้จากการเพาะเมล็ดไว้จำหน่วย หรือเตรียมไว้ให้นักท่องเที่ยวทำกิจกรรมปล่อยกล้วยไม้คืนสู่ป่าอีกด้วย

“การทำธนาคารระดับชุมชนของเราคือ การใช้ประโยชน์ด้วย ใช้ประโยชน์ก็คือเอาไปทำเป็นไม้ประดับ เอาไปทำเป็นชา หรือทำให้มันสวยงามเอาไปขายได้ เสร็จแล้วคือมีเงินในกระเป๋ามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อันนี้คือเรียกว่าเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ ก็คือหมายความว่าพื้นฐานในท้องถิ่นมีสายพันธุ์อะไร มีทรัพยากรอะไร เราเอาตรงนั้นมาพัฒนาแล้วใช้ประโยชน์ แล้วก็เราต้องแบ่ง อย่างกรณีของธนาคารระดับชุมชนของเราจะต้องมีข้อกำหนดไว้เลยว่า เมื่อมีรายได้ต้องแบ่งปันผลประโยชน์กลับมาสำหรับการอนุรักษ์ เพราะฉะนั้นก็อาจจะเพาะกล้าไม้เสร็จแล้วแจกจ่ายไป ไปปลูกในที่อื่นหรือว่าคืนกลับป่า แบบนี้ก็เรียกว่าเป็นการอนุรักษ์เพื่อให้เกิดความยั่งยืน”

เป็นหมู่บ้านแห่งเดียวในประเทศไทย ที่คนมาซื้อของแล้ว คนขายยังได้ของชิ้นนั้นอยู่ในหมู่บ้านต่อไป
สำหรับหมู่บ้านปงไคร้ อยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ กรมป่าไม้ เป็นหมู่บ้านที่มีสภาพอากาศค่อนข้างเย็นตลอดทั้งปี มีป่าต้นน้ำที่อุดมสมบูรณ์ระบบนิเวศป่าดิบเขา ที่มีต้นไม้ใหญ่ หลากหลายสายพันธุ์กระจายหนาแน่นทั่วผืนป่า เป็นต้นน้ำที่สมบูรณ์น้ำไหลตลอดปีแหล่งต้นน้ำสำคัญของจังหวัดเชียงใหม่ เป็นหมู่บ้านอนุรักษ์ป่าดีเด่นของจังหวัดเชียงใหม่ และหมู่บ้านฟ้ามุ่ย ที่พบกล้วยไม้ฟ้ามุ่ยในธรรมชาติแหล่งเดียวของประเทศไทย ที่มีการเพิ่มจำนวนการปลูก กล้วยไม้ฟ้ามุ่ยจากการเพาะเมล็ด ปล่อยคืนสู่ป่ามาอย่างต่อเนื่อง

“กิจกรรมปล่อยฟ้ามุ่ยสู่ธรรมชาติ “ซื้อของ ไม่ได้ของกลับบ้าน แต่ได้หัวใจที่รักธรรมชาติกลับไปแทน” โดยนักท่องเที่ยวมาที่นี่มาซื้อของแต่ไม่ได้ของ แต่สิ่งที่ได้กลับไปคือหัวใจการอนุรักษ์ เพราะว่ามาอาจจะมีการจ่ายค่าร่วมกิจกรรมแต่ทุกคนคิดว่าจะได้กล้วยไม้กลับลงไป แต่ปลูกก็ไม่ได้อยู่ดี ต้องอากาศเย็น แสงได้ ความชื้นได้ สว่างเกินไปแดดเกินไปก็ไม่ได้ มืดเกินไปก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นเขาอยู่เหมาะกับที่นี่เพราะเป็นบ้านเขา เพราะฉะนั้นเราก็ซื้อของเพื่อให้เขากลับบ้านเขา แต่สิ่งที่เราได้คือความภูมิใจ สิ่งสำคัญที่สุดคือเราปลูกหัวใจการเป็นนักอนุรักษ์ให้คนในเมืองได้เข้ามามีส่วนร่วมด้วย” ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) กล่าว


กิจกรรมปล่อย ฟ้ามุ่ย คืนสู่ป่า
ปัจจุบัน หมู่บ้านปงไคร้ พื้นที่สำคัญ เพียงแหล่งเดียวของประเทศไทย ที่มีการปล่อยฟ้ามุ่ยคืนสู่ป่า และชมกล้วยไม้ฟ้ามุ่ยในธรรมชาติส่งผลให้ชุมชนมีวิถีชีวิตที่ดีขึ้นแล้ว โปรแกรมท่องเที่ยวหมู่บ้านปงไคร้ ทำให้มีเม็ดเงินหลั่งไหล นำรายได้สู่ชุมชนเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ที่พักในชุมชน อาหารจากธรรมชาติ สมุนไพร และชาจากดอกกล้วยไม้ คืออีกแหล่งรายได้หลักสำคัญของชุมชนจากการท่องเที่ยวชีวภาพที่ใช้ความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ หลากหลายของทรัพยากร มาหล่อเลี้ยงการเพาะเลี้ยงกล้วยไม้ฟ้ามุ่ยเพื่อปล่อยคืนสู่ป่าของชุมชนได้เป็นอย่างดี

กล้วยไม้ฟ้ามุ่ยแสนสวย
ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) ได้จัดกิจกรรมการปล่อยฟ้ามุ่ยคืนสู่ป่า ณ บ้านปงไคร้ ต.โป่งแยง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ของผู้บริหาร ประชาชนและสื่อมวลชนด้วย ทั้งนี้ สำหรับนักท่องเที่ยวหรือผู้สนใจกิจกรรมการปล่อย “ฟ้ามุ่ย” คืนสู่ป่า สามารถทำได้ในโอกาสสำคัญต่าง ๆ ด้วย สอบถามรายละเอียดพร้อมโปรแกรมท่องเที่ยวเพิ่มเติม โทร.081-998-3766

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด* * *


กำลังโหลดความคิดเห็น