คุณคิดว่าการมีงานประจำ ตำแหน่งนายช่างระบบไฟฟ้าก่อนตามด้วย “สถาปนิก” ผู้จัดการสาขาพ่วงอีกหน้าที่หนึ่ง อยู่ในบริษัทใหญ่ (ธุรกิจข้ามชาติ) เงินเดือนที่ได้จะสูงขนาดไหน? แต่ว่าสำหรับเขาคนนี้มันเริ่มไม่สำคัญเท่า การมี “ชีวิตที่เลือกเอง” !!
ในวัยเลขสามปลาย ๆ อายุ 37 ย่างเข้า38 ปี ขณะที่การงานกำลังก้าวหน้าขั้นสุด! อย่างที่หลายคนต่างก็ใฝ่ฝัน 15 ปีเต็มกับการทำงานและเติบโตในบริษัทใหญ่ แต่ใครบางคนกลับเริ่มรู้สึกว่าพอแล้ว! อยากกลับบ้านมาทำการเกษตร ขอใช้ชีวิตในแบบที่เลือกเองและมีความสุขแทน!
“ผมเรียนจบมาจาก มทร.ธัญบุรี คณะครุศาสตร์ วิชาเอกวิศวกรรมไฟฟ้า และก็ทำงานอยู่ที่ภูเก็ตมา 15 ปี โดยทำตำแหน่ง “สถาปนิก” งงไหมครับจบไฟฟ้ามาเป็นสถาปนิก! ก็ตอนแรกได้ดูแลออกแบบระบบไฟฟ้าทีนี้คนที่คุมหน้างาน เขาขาด! เจ้านายที่เป็นสิงคโปร์บอกว่าโต้งลองไหม? ทั้งออกแบบระบบไฟฟ้าและสถาปนิกคุมไปทีเดียวเลย ผมตอบโอเคครับเอา ก็ทดลองงานก็ผ่านครับ15 ปีในการเป็นสถาปนิกที่ภูเก็ต โดยออฟฟิศใหญ่ของผมอยู่ที่กรุงเทพฯ แต่ผมจะทำที่ภูเก็ตและตะวันออกกลางครับ เคยถูกส่งไปทำงานที่กาตาร์มา แล้วก็คือพอเราเริ่มโตปุ๊บ มันเริ่มไม่ใช่ครับ คือพอเราเริ่มโตปุ๊บเงินยิ่งเยอะแต่ “ความสุข” ผมเริ่มรู้สึกว่าส่วนตัวนะครับ ผมเริ่มรู้สึกว่าผมยิ่งลด ผมยิ่งต้องห่างพ่อแม่ ห่างลูก ก็เลยครบ15 ปีหักดิบ! บอกกลับบ้านที่นครฯ ครับ ตัดสินใจลาออกกลับบ้านเลย ตอนนั้นก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรเลยนะครับทั้งเรื่องการเงินของบริษัท เงินเดือนผมก็ขึ้นตำแหน่งก็ขึ้น เจ้านายจะให้ไปคุมงานที่มัลดีฟส์อีก แต่ว่ามันไม่ใช่ ผมบอกเจ้านายว่ามันไม่ใช่แล้ว เพราะว่าผมต้องการอะไรที่มันไม่ใช่เงินเดือนแล้ว ทีนี้พอยื่นใบลาออก เจ้านายไม่คุยด้วย2 สัปดาห์และก็เจ้านายคงคิดได้ ก็เลยให้หนังสือมาเล่มหนึ่งพร้อมลายเซ็นบอกว่า “ให้เวลา2 ปีในการให้เธอไปทำในสิ่งที่เธอเรียกว่าความฝัน” ผมยังจำได้ดี”
“เรียกผมว่า CEO”
“ตอนที่ทำงานที่ภูเก็ตผมเป็นสถาปนิกตำแหน่งผู้จัดการ สาขาภาคใต้ แล้วตำแหน่งที่ผมคิดว่านะหลาย ๆ คนที่ใฝ่ฝัน ในการทำงานบริษัทเอกชนก็คือ CEO ก็คือท่านประธานอยากเปิดบริษัทเองอะไรเงี้ยครับ แล้วชีวิตผมไม่ได้เปิดบริษัทก็ต้องกลับมาอยู่บ้าน พอกลับมาอยู่บ้านปุ๊บไปเยี่ยมอาจารย์ที่โรงเรียน อาจารย์ถามว่าโต้งเอ็งกลับมาบ้านมารับตำแหน่งอะไร ผมคิดได้เลยตอนนั้นปุ๊บเป็น CEOครับ! อาจารย์บอกโอ้โห้เอ็งใหญ่มากแล้วนะ ผมบอกครับใหญ่ที่สุดแล้วในฟาร์มฯ ตอบอย่างไม่ลังเลเลยครับบอกว่าเป็น CEO แล้วหลังจากนั้นก็ทั้งอาจารย์ ทั้งเพื่อน คุณซีอีโอบ้าง น้องซีอีโอบ้าง พี่ซีอีโอบ้าง ก็เลยติดปากเรียกเป็นฉายากันแต่นั้นมา” ซีอีโอโต้ง-นายกัมปนาท บัวจันทร์ เจ้าของ “ฟาร์มสุขมี” เกษตรอินทรีย์ เฉลยถึงที่มาของฉายาตัวเขาเองในปัจจุบันที่หลาย ๆ คนเริ่มคุ้นเคยแล้ว
“ฟาร์มสุขมี” บนเนื้อที่ 1 ไร่ 47 ตารางวา
ก่อนจะมาเริ่มบททดสอบความฝันในการเป็นเกษตรกรนั้น ซีอีโอโต้งบอกว่าได้ออกแบบเขียนแปลนครอบคลุมในพื้นที่ “1 ไร่ 47 ตารางวา” ครบล่วงหน้าเอาไว้ก่อนแล้ว จะต้องทำอะไรบ้าง จากที่ดินตรงนี้เคยเป็นที่รกร้างว่างเปล่ามานานมรดกตกทอดมา จากทวดชื่อ “สุข” และทวดชื่อ “มี” ได้ยกให้กับแม่แล้วแม่ก็ยกให้ตนมาอีกทอดหนึ่งต่อ ซึ่งพอมาทำเกษตรเป็นเกษตรกรไม่มีเงินเดือนแล้วจะทำอย่างไร? จากความตั้งใจแน่วแน่ไว้คือ ต้องทำเกษตรปลอดภัยหรือ“เกษตรอินทรีย์”แบบ100% ให้ได้! อันดับแรกจะต้องมี “รายได้” เป็นแบบรายวันให้เกิดขึ้นมาก่อน โดยมีการผลิต “ถ่านไบโอชาร์” เพื่อจำหน่ายในราคา 15 บาท/กก. จากไม้ใช้ระยะเวลาการเผาถ่านโดยเตาที่ออกแบบมา เผาวันนี้-พรุ่งนี้ขายถ่านได้แล้ว ก็ปรากฎว่าถ่านที่ผลิตได้ขายดิบขายดีมากและยังทำให้มีออร์เดอใหม่! ที่เพิ่มเข้ามาอีกนั่นคือ จากเผาถ่านได้วันละ300 กลายเป็นผู้ผลิตเตาขายให้กับชาวบ้านด้วย ซึ่งในปีแรกนั้นต้องไปสร้างเตาให้ตามจำนวนที่สั่งถึง 50 เตาเลย
ถัดมาอีกจากการเผาถ่านแล้ว ก็จะเป็นการเลี้ยง “ไส้เดือน” สายพันธุ์ AF เพื่อการผลิตปุ๋ยใช้เองทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมี เริ่มต้นจากเลี้ยง 1 กก.หรือ 1 กะละมังก่อน มีการปลูกพืชเศรษฐกิจด้วยซึ่งได้แก่ ฝรั่งไส้แดง “ซีกัวปาล่า” หรือฝรั่งแตงโมก็เรียกกัน ประมาณ 270 ต้น เป็นสายพันธุ์มาจากไต้หวัน (เช่นเดียวกับพันธุ์หงเป่าสือ) โดยที่ฝรั่งไส้แดงพันธุ์นี้จะค่อนข้างเหมาะกับการปลูกที่ภาคใต้เพราะไม่เจอปัญหาเรื่องการติดลูก (ผลร่วงไม่มี) รสชาติดีหวานกินอร่อย และยังมีการขุดบ่อเพื่อการใช้น้ำภายในฟาร์มพร้อมการปล่อยเลี้ยงพันธุ์ปลาน้ำจืดเศรษฐกิจ อย่างปลานิล ควบคู่ไปด้วยอยู่ในบ่อน้ำเพื่อการไม่เสียประโยชน์เปล่า ๆ อีกทางหนึ่ง เป็นต้น
“การผลิต” ที่เขียนแบบไว้ แต่การสร้าง “รายได้” คนซื้อเป็นผู้ชี้ทาง!
จากการผลิตเริ่มต้นที่มีการออกแบบเอาไว้ ซีอีโอโต้งเล่าให้ฟังอีกว่า การต่อยอดในเรื่องของการสร้างรายได้ที่ตามมา ตั้งแต่การตั้งใจจะเผาถ่านขายแต่ก็ได้ออร์เดอการสั่งผลิตเตาพ่วงเข้ามาอีกอย่างด้วย แล้วก็ยังมีมาจากการเลี้ยงไส้เดือน AF ที่ตนเองก็เพิ่งจะมารู้ตอนหลังว่า “มูลไส้เดือน” มีการนำไปใช้สำหรับการปรับสภาพน้ำในบ่อเลี้ยงกุ้งด้วย เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งในเขตจ.นครศรีธรรมราช ต้องการซื้อกันมากซึ่งพอเขารู้ว่า ที่นี่มีการเลี้ยงไส้เดือนเขาก็เลยมาติดต่อเพื่อจะขอซื้อไปใช้ ทำให้รู้ได้เลยว่านี่คือตลาด(จากที่ไม่เคยรู้มาก่อนเลย) สามารถที่จะหล่อเลี้ยงครอบครัวได้แล้ว ตอนนี้ก็เลยขยายการเลี้ยงเพิ่มมาเป็น 300 กะละมังแล้ว ผลิตได้เดือนละประมาณ 1 ตัน โดยเกษตรกรบ่อกุ้งจะเข้ามารับซื้อมูลไส้เดือนไปสัปดาห์ละ1 ครั้ง พอต้องร่อนมูลไส้เดือนเพื่อส่งทีและอีกส่วนหนึ่งจะนำไปเป็นปุ๋ยใส่บำรุงให้กับฝรั่งไส้แดงด้วยในคราวเดียวกัน ก็ปรากฏว่าทำให้พืชเจริญเติบโตดีมาก/งาม พอใครมาเห็นก็ถามว่าใส่ปุ๋ยอะไร เลยกลายเป็นช่องทางสามารถขายปุ๋ยให้กับพี่น้องเกษตรกรได้อีก และยังตามมาด้วยการถามถึง “ดินปลูก” ว่าใส่ดินอะไรเพื่อรองก้นหลุมปลูกพืชถึงได้งามดี มันก็เปิดช่องทางให้ทำดินปลูกเพื่อขายได้อีก ในพื้นที่1 ไร่มีการทำบ่อเล็ก ๆ เพื่อหมักดินกับเศษที่เหลือจากการเลี้ยงไส้เดือนและมูลบางส่วนเพื่อผลิตดินปลูกขายด้วย
บรรจุใส่ถุง ๆ ละ 25 บาท(ขาย 4 ถุง 100 บาท) ตั้งวางขายอยู่ที่หน้าบ้านไม่ต้องไปเช่าแผง รวมทั้งยังมีพ่อแม่พันธุ์จำหน่ายให้กับคนที่ต้องการอยากจะเลี้ยงไส้เดือนไว้ใช้เอง
นอกจากนี้ในส่วนของฝรั่งไส้แดงหรือฝรั่งแตงโม พอเริ่มติดผลผลิตได้แล้วมีหลาย ๆ คนที่ได้ชิมรสชาติต่างก็ติดใจ เป็นที่มาของการสั่งซื้อฝรั่งแตงโมที่ผลิตแบบเกษตรอินทรีย์ 100% จากสวนแบบบอกต่อกัน ปากต่อปาก เพราะด้วยติดใจในรสชาติ
ความหวานของฝรั่งที่สวนมีการวัดด้วยเครื่องมือวัดที่รับรองได้ว่า ไม่น้อยกว่า 10 องศาบริกซ์ขึ้นไป เพื่อไม่ให้เกิดข้อคำถามหรือเถียงกันเรื่องของรสชาติหวานไม่หวานก็เป็นอันจบ ทั้งยังมีการขยายพันธุ์ทำกิ่งตอนแบบ “ชำในถุง” ที่เกิดรากพร้อมสำหรับปลูกไว้ กรณีคนที่สนใจโดยเฉพาะ “มือใหม่” อยากจะได้พันธุ์ของฝรั่งแตงโมเพื่อนำไปปลูกด้วย
เป็นเกษตรกรเต็มวัน “จันทร์-ศุกร์” แต่ “เสาร์-อาทิตย์” ขอพบปะผู้คนบ้าง!
สิ่งหนึ่งที่คนในยุคนี้มักใช้กันแน่นอนว่าคือเรื่องของ “โซเชียลมีเดีย” ต่าง ๆ บ้างก็ใช้เป็นช่องทางทำการตลาดในการนำเสนอสินค้าเพื่อขาย ซีอีโอโต้งบอกด้วยตัวเองก็ใช้การตลาดผ่านออนไลน์เช่นเดียวกับคนอื่น ๆ โดยจะใช้ช่วงเวลาเย็น-กลางคืนสลับหน้าที่เพื่อเปลี่ยนมาเป็น “พ่อค้า” ทางออนไลน์ด้วย ขณะที่กลางวันจะเป็นเกษตรกรเต็มวัน “จันทร์-ศุกร์” ใช้เวลาตลอดทั้งวันสำหรับการผลิต ทำแบบนี้ควบคู่กันมาตั้งแต่แรกแล้ว แต่ว่าที่กลายเป็นจุดพี้คสุด ๆ ของฟาร์มเลยก็คือ ช่วงวัน “เสาร์-อาทิตย์”
จากจุดเริ่มต้นคือว่ามีการทำ “พิซซ่า” แบบโฮมเมดโดยลองทำให้ลูก ๆ กินเองก่อน ใช้วัตถุดิบหลักที่มีอยู่ในฟาร์มอย่างเช่น ปลานิล กล้วย และฝรั่ง แต่งเป็นหน้าพิซซ่าแล้วเข้าอบใน “เตาฟืน” ที่ประยุกต์ขึ้นใช้เอง แต่ว่า “แป้งพิซซ่า” จะนำมาจากเชฟเจ้าของสูตรผลิตให้ ปรากฏว่าเด็ก ๆ ได้ชิมกันแล้วบอกโอเคเลย อร่อย! เพราะปกติจะชอบทานพิซซ่ากันอยู่ด้วย ไม่ต้องบึ่งรถกว่า 50-60 กม.เข้าเมืองไปกินพิซซ่าอีกแล้ว ก็เลยได้ไอเดียงั้นลองเปิด/ชวนคนอื่น ๆ เข้ามาเที่ยวสวนและชิมพิซซ่าด้วย
สรุปคือจุดประสงค์ที่ต้องการพบปะผู้คนด้วย ช่วงวัน “เสาร์-อาทิตย์” ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี มีการจองคิวตามรอบที่เปิดให้ครบทุกครั้ง ซึ่งทุกครั้งที่เปิดรับแขกหรือลูกค้าเข้ามาที่ฟาร์มก็จะขึ้นอยู่วัตถุดิบที่มีเป็นสำคัญ ไม่เน้นปริมาณแต่เน้นให้คนที่มาคือได้รับคุณภาพที่ตั้งใจส่งมอบให้จริง ๆ เท่านั้น ส่วนฟีดแบ็คในเรื่องของหน้าพิซซ่าที่ได้รับความสนใจอย่างมากคือ หน้าปลานิลกับกล้วย การตอบรับในรสชาติทุกคนต่างบอกว่าแปลกใหม่และน่าสนใจทีเดียว จากปิกนิกเล็ก ๆ อย่างไม่เป็นทางการนักเพื่อชวนคนมาชิมพิซซ่า ก็เริ่มขยับสู่การเป็นหน้าร้านที่ดูเป็นกิจลักษณะมากขึ้น ตามการตอบรับจากลูกค้าที่เข้ามาอย่างต่อเนื่องรวมถึงเริ่มมีการพัฒนาเมนูและรูปแบบของสินค้าเพื่อเสิร์ฟให้ตรงใจผู้มาเยือนมากขึ้น มีการจัดกิจกรรมเป็นลักษณะของการทำเวิร์กช็อปให้ด้วย ล่าสุดคือมีบริการห้องพักเป็นแบบ “ฟาร์มสเตย์” ให้แต่ว่าทำเอาไว้แค่1 ห้องพอ! เหตุผลคือเพื่อรองรับสำหรับคนที่สนใจซื้อคอร์สมาเรียนรู้กับทางฟาร์ม ใช้เวลา 2 วัน 1 คืน สามารถเรียนรู้ทุกอย่างที่ทำอยู่ในฟาร์มแห่งนี้ จากนั้นพอตกเย็นเสร็จสิ้นภารกิจการทำงานจริงในฟาร์มแล้วกลับเข้าที่พัก ภายในห้องจะมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่เตรียมไว้ให้พร้อม สามารถเข้าพักรวมกันได้สูงสุดถึง 5-7 คน/ห้อง/ครั้ง มีบริการอาหาร “ปิ่นโต” เป็นสำรับเดียวกับที่เจ้าของบ้านทานเอง หรือหากลูกค้าต้องการจะตั้ง “แคมปิ้ง” มื้อเย็นเองโดยทำการจับปลาที่เลี้ยงอยู่ในบ่อนำขึ้นมาปรุงเป็นอาหารก็ได้เช่นกัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ทุกกิจกรรมคือจะต้องมีการจองก่อนและแจ้งล่วงหน้าถึงสิ่งที่ลูกค้าต้องการให้ด้วย
ครบกำหนด “2 ปี” แล้ว! คำตอบที่ได้คือ
“ผมมาเป็นเกษตรกรตามที่ฝันไว้ ถึงตอนนี้ก็ 2 ปีกับ 5 เดือนแล้วครับ ช่วงที่ครบกำหนด 2 ปี ผ่านมาได้สักราว ๆ 3 เดือนตอนนั้น “เจ้านาย” เขาก็มาหาผมที่ฟาร์มจริงด้วยนะ บินจากกรุงเทพฯ มานอนพักอยู่กับผมที่นครฯ และพอได้มาเห็นสิ่งที่ทำอยู่เจ้านายบอก ฉันไม่ชวนเธอกลับไปทำงานแล้ว”
ปัจจุบันบนเนื้อที่ผลิต 1 ไร่ 47 ตารางวาของ “ฟาร์มสุขมี” เกษตรอินทรีย์ แห่งนี้ซึ่งตั้งอยู่ที่ หมู่ 6 ต.แหลม อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช ซีอีโอโต้ง-กัมปนาท บัวจันทร์ บอกว่าเขาสามารถเดินหน้าผลิตแบบ “เกษตรอินทรีย์” ได้ตามความตั้งใจ
และถึงแม้ว่าอาจจะไม่ถึงขั้นครบตามกำหนดเกณฑ์การรับรองมาตรฐานของหน่วยงานรับผิดชอบที่ตั้งเอาไว้ แต่ว่าสำหรับความจริงใจในการผลิตที่ต้องการหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีทุกชนิดในฟาร์ม มีอยู่อย่างเต็มเปี่ยมแน่นอนและไว้ใจซีอีโอโต้งได้! ขณะที่เรื่องของ “รายได้” ถามว่าตอบโจทย์ชีวิตได้เพียงพอแค่ไหน? คำตอบที่ได้คือ ไม่ต่ำกว่า 30,000 บาท/เดือนขึ้นไป ซึ่งเจ้าตัวยืนยันว่าเพียงพอสำหรับ 4 ชีวิต(พ่อ-แม่-ลูก 2 คน) ที่ทั้งหมดนี้ช่วยกันทำงานทุกอย่างในฟาร์มด้วยตัวเองเป็นหลัก มีบ้างในบางกรณีที่อาจจ้างคนเข้ามาช่วยในบางงานที่ทำเองไม่ไหวจริง ๆ เท่านั้น และที่สำคัญคือ ชีวิตมีความสุขดีมากถือว่าตรงตามจุดประสงค์ของตนเองที่ตั้งไว้ก่อนมาด้วย แต่ว่าก็มีการตั้งเป้าหมายในการขับเคลื่อนชีวิตต่อไปอีก คือ ต้องมีรายได้ “1 ล้านบาทต่อไร่ต่อปี” โดยซีอีโอโต้งบอกตั้งเป้าเอาไว้เพื่อให้เกิดความตั้งใจที่จะพิชิตให้สำเร็จ และถึงแม้ว่าอาจจะยังทำไม่ได้ แต่ทว่าสิ่งที่ได้ในตอนนี้มันก็คุ้มค่ากับการที่กล้าเปลี่ยน!
สอบถามเพิ่มเติมโทร.089-196-6201
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด* * *