เกษตรเพื่อชีวิตสู่เกษตรเพื่อธุรกิจ รู้จัก RRABICA EZAN แบรนด์กาแฟสดอาราบิก้าอีสานเจ้าแรก! ที่ยืนหยัดมานานกว่า 17 ปี ผลผลิตจากเทือกเขาภูหลวงที่ความสูง 760 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล ภายใต้คอนเซ็ปต์ “เข้ม! ผสมกับใครก็ได้”
คุณสายพิน พงษ์สมร เจ้าของแบรนด์ RRABICA EZAN เล่าให้ฟังว่า จากความชอบได้พัฒนามาสู่ธุรกิจในที่สุด ย้อนกลับไปเมื่อปี2548 ตอนนั้นตนเองเพิ่งออกจากงานประจำมา สิ่งที่นึกได้และมันเริ่มวนเวียนอยู่ในหัวมาแล้วก่อนหน้า ก็คือว่าเรื่องของ “กาแฟ” ด้วยตลอดเวลาที่ยังทำงานอยู่บริษัทใหญ่(ซีเกทเทคโนโลยี) ในแผนกของHR มีโอกาสได้ดูแลต้อนรับแขกชาวต่างชาติที่มาดีลงานกับบริษัทอยู่บ่อยครั้ง และหนึ่งในสถานที่ได้รับความสนใจคือการ พาไปจิบกาแฟ ขึ้นดอยทางภาคเหนือไปดูถึงแหล่งผลิตซึ่งเป็นต้นทางของวัตถุดิบที่สำคัญด้วย จากการที่ต้องรับบทเป็นผู้ถ่ายทอดเรื่องราวและข้อมูลต่าง ๆ(ล่ามแปล) ตามที่คนปลูกบอกและคนที่ไปดูอยากจะรู้ นานครั้งเข้าก็เริ่มเกิดการซึมซับโดยไม่รู้ตัว มาหวนคิดขึ้นได้อีกทีคืออยากจะลองปลูกกาแฟบนแผ่นดินอีสานลองดูสักตั้ง ซึ่งเมื่อได้โอกาสเป็นอิสระจากงานประจำมาแล้วต้องทำเลย!
จากกาแฟ “คาติมอร์” สายพันธุ์แกร่ง!
กาแฟที่เลือกนำมาลงปลูกครั้งแรก หลังจากที่มีการศึกษามาแล้วพบว่า “คาติมอร์” เป็นสายพันธุ์ซึ่งน่าจะเหมาะสมพื้นที่ทางภาคอีสานมากที่สุด ด้วยคุณสมบัติเด่นจากการเป็น “พันธุ์ลูกผสม” ที่มีครบทั้งรสชาติของกาแฟอาราบิก้าและความแข็งแรงทนทานต่อสภาวะต่าง ๆ ได้ดีกว่า ประกอบกับพื้นที่ปลูกที่เลือกอยู่ในเขตเทือกเขาภูหลวงมีพื้นที่คาบเกี่ยวอำเภอต่าง ๆ ได้แก่ สูงเนิน ปากช่อง วังน้ำเขียว ซึ่งสภาพเป็นป่าดิบแล้ง ที่มีความสูง760 เมตร เหนือจากระดับน้ำทะเล มีการเข้าไปร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่ บ้านดงมะไฟ ซับภู และหนองสาหร่าย เป็นต้น เพื่อทำแปลงปลูกกาแฟร่วมกัน ในรูปแบบของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ ช่วงแรกที่เริ่มทดลองสายพันธุ์มีจำนวน17 ไร่ หลังจาก5 ปีผ่านไปเริ่มเห็นผลผลิตกาแฟที่ชัดเจน สามารถปลูกได้! และพร้อมเดินหน้าการทำธุรกิจกาแฟตามที่ได้มีการศึกษาเตรียมการต่าง ๆ รอเอาไว้แล้ว การขยายแปลงเพื่อเพิ่มพื้นที่ผลิตขึ้นอีกกว่า 400 ไร่จำเป็นต้องมี “แหล่งน้ำ” สำหรับต้นกาแฟที่เพียงพอด้วย ดังนั้นในเวลาต่อมาได้เกิดทั้งความร่วมมือกับภาคส่วนหน่วยงานต่าง ๆ ในการสร้าง “ฝาย” เพื่อกักเก็บน้ำใช้ทำการเกษตรสำหรับชุมชนโดยรอบด้วย และอีกด้านหนึ่งคือการส่งเสริมปลูก “กาแฟ” เป็นพืชเศรษฐกิจใหม่! เพื่อทดแทนรายได้จากพืชไร่มันสำปะหลังหรือข้าวนาปีที่ชาวบ้านทำแล้ว กี่ปี ๆ ความคืบหน้าในการลืมตาอ้าปากได้นั้น เรียกว่าแทบริบหรี่เต็มที เพิ่มทางเลือกโดยการปลูกและแปรรูปเป็น “กาแฟกะลา” ส่งขายได้ทั้งปี โดยให้ราคาในการรับซื้อคือ 100 บาท/กก.
สู่การพัฒนาแบรนด์กาแฟ “RRABICA EZAN”
“ช่วงระยะเวลาปลูก 5 ปีที่ยังไม่มีผลผลิต เราขาดความรู้ไม่ได้ เพราะว่าเราไม่ได้มีความรู้ทางด้านธุรกิจ เรามีแต่ความรู้เรื่องการทำงานที่เป็นระบบ เราก็ไปเรียนรู้เรื่องการทำธุรกิจตั้งแต่การทำแฟรนไชส์ การคิดต้นทุน การส่งออก การคิดต้นทุนสินค้า การสร้างแบรนด์ การจดลิขสิทธิ์ เราเตรียมความพร้อมไว้ทั้งหมด”
โดยในช่วงเวลานั้นมีโครงการของภาครัฐ “ไทยเข้มแข็ง” ที่สนับสนุนทุนให้พร้อมกับมีพี่เลี้ยงอย่าง สสว. และ ม.ธรรมศาสตร์ เข้ามาช่วยดูและคิดให้ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ถ้าเม็ดออกมาจะต้องชื่อนี้ มีคอนเซ็ปต์นี้ โดยมีที่ปรึกษาตอนนั้นคือ คุณสายชลจาก “บ้านไร่กาแฟ” ที่เข้ามาติวเข้มให้ เพื่อการแจ้งเกิด “อาราบิก้าอีสาน” ขึ้นมา โดยใช้คอนเซ็ปต์จากท่านอาจารย์วิทวัส ม.ธรรมศาสตร์ สร้างแนวคิดการทำกาแฟอีสาน รสชาติจะนิ่ม ที่มีความเหมือนกาแฟบ้านไร่ฯ ได้เป็นสูตรกาแฟมาจากโครงการที่เป็นความช่วยเหลือของภาครัฐ
“หลังจากเราพัฒนาชุมชน มีกาแฟแล้ว เราต้องมาสร้างแบรนด์ให้มันเป็นอินเตอร์ นี่ก็คือเป็นโครงการของภาครัฐอีกว่า ก็เลยคิดออกมันเป็นโครงการอีสาน อิโคโนมี ครีเอทีฟ สมัยนั้น ม.ธรรมศาสตร์ เอาเข้ามา หนึ่ง อาราบิก้า คือ สายพันธุ์กาแฟ สอง ปลูกที่อีสาน จำง่าย ๆ เลยอาราบิก้าสายพันธุ์กาแฟ อีสาน คือ ปลูกในอีสาน เรามีจดลิขสิทธิ์ทางการค้าเอาไว้สำหรับคำว่า “RRABICA EZAN” ที่เขียนเป็นภาษาแบบสเปน แต่เวลาอ่านเป็นภาษาไทยเราอ่านว่า อาราบิก้าอีสาน ได้”
กาแฟรสเข้ม! จากแผ่นดินที่ราบสูง
หลังจากได้สูตรกาแฟมาแล้วโดยความช่วยเหลือของภาครัฐ ผ่านกระทรวงอุตสาหกรรมต่อมาพอเริ่มทำการตลาดก็ได้เข้ามารับความช่วยเหลือผ่านโครงการของ กระทรวงพาณิชย์ ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันนี้ ที่เริ่มต้นจากการตลาดแบบออฟไลน์ก่อนและพอมีกระแสในเรื่องของ “ตลาดออนไลน์” เกิดขึ้นก็ได้เข้าไปเชื่อมต่อการตลาดเพิ่มอีกช่องทางหนึ่งด้วย มีการพัฒนาเรื่อง “การรีแบรนด์” การทำคอนเท้นต์ และส่งเสริมการตลาดผ่านออนไลน์ในรูปแบบต่าง ๆ อย่างกรณีของโลโก้ที่เป็นรูป “แคน” จากเริ่มต้นเลยจะเป็นกลม ๆ แบบแข็ง ๆ แต่หลังจากเข้าร่วมโครงการ “ต้นกล้าTO GO” ซึ่งจะช่วยดูแลในเรื่องของการรีแบรนด์ให้ด้วย ในระยะทุก ๆ 5 ปี เพื่อให้มีความสอดคล้องหรือช่วยส่งเสริมกับธุรกิจเพิ่มมากขึ้น จนปัจจุบันนี้จะเห็นได้ว่าโลโก้รูป “แคน” มีลักษณะของความพลิ้วไหวที่บ่งบอกถึงคาแรคเตอร์ของความเป็นแบรนด์กาแฟที่เด่นชัดมากขึ้น เป็นการรีไวซ์เพื่อให้ดูดีขึ้นด้วย รวมถึงรูปแบบการตลาดก็มีขยายสู่ธุรกิจแฟรนไชส์ และมีหน้าร้านที่เปิดจำหน่ายกาแฟแบบนั่งทานในร้านได้ ภายใต้แบรนด์ RRABICA EZAN ด้วย
แตกไลน์ธุรกิจต่อจากแนวคิด “กาแฟเม็ดเดียว”
ปัจจุบันการเปิดดำเนินธุรกิจในนามของบริษัท PIN CAN โดยมีสินค้าภายใต้แบรนด์ RRABICA EZAN ได้แก่ เม็ดกาแฟสด สูตรคั่ว 3 ระดับที่รวมอยู่เป็นรสชาติเดียวกัน เพื่อรองรับสำหรับธุรกิจแฟรนไชส์และร้านกาแฟ มีกำลังการผลิตไม่ต่ำกว่า2 ตัน/เดือนขึ้นไป และมีการจัดจำหน่ายผ่านตัวแทนทั้ง4 ภาคทั่วประเทศ รวมถึงมีการจำหน่ายไปยังประเทศในกลุ่ม CLMV อย่างเช่นที่ แขวงคำม่วน สปป.ลาว และที่เขมร บันเจียรเมียรเจย และในอีก2 เดือนจะมีที่พระตะบองด้วย ล่าสุดยังได้มีการแตกไลน์กลุ่มสินค้าใหม่จากแนวคิด “กาแฟเม็ดเดียว”พัฒนาสู่กาแฟผงสำเร็จรูปพร้อมชง(Instant coffee) กาแฟสูตรผสมกระชายและกาแฟสูตรผสมจมูกข้าว(ไม่ใช้ครีมเทียม) เป็นแบบ3 in 1 สูตรเพื่อสุขภาพด้วย และตอนนี้ได้รับความสนใจจากอินเดียมีการสั่งซื้อ “กาแฟผสมกระชาย” เพื่อไปทำการตลาดต่อซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการรับรอง อย. แล้ว และในอนาคตที่นอกจากมีแพลนเรื่องการส่งออกด้วยเพื่อบุกตลาดต่างประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น แล้ว ไม่แน่ว่าคอกาแฟอาจจะได้ชิมรสชาติเข้มข้นของ RRABICA EZAN ที่การเข้าถึงได้ง่ายขึ้นผ่านเทคโนโลยีใหม่ อย่าง ตู้กดกาแฟอัตโนมัติ (แบบกดเลือกเมนูได้) ซึ่งเบื้องต้นมีการพูดคุยกันเพื่อติดต่อทาบทามโดยนักพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าว ผู้อยู่เบื้องหลังแบรนด์ดังที่เป็นเจ้าตลาด ตู้กดกาแฟฯ อยู่ในขณะนี้
สอบถามเพิ่มเติมโทร.089-626-2543
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด* * *