xs
xsm
sm
md
lg

“โนบิทเทอร์” ฟาร์มผักปลอดภัย (ที่ไม่ขม!) ปลูก ณ จุดขาย พร้อมส่งคุณภาพที่สดใหม่กว่า!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“โนบิทเทอร์” สตาร์ทอัพหัวใจสีเขียวผู้เนรมิต สวนผักคนเมือง แปลงตึกอาคารที่พักอาศัยให้เป็นห้องปลูกผักแทน สั่งได้! ไม่ง้อฤดูการผลิตแถมควบคุมคุณภาพก็ง่าย ภายใต้คอนเซ็ปต์ “ปลูก ณ จุดขาย” พร้อมส่งตรงถึงคนกินด้วยความสดใหม่กว่า!

เคลใบหยิกที่ทุกคนคุ้นเคย
การรับรู้ข้อมูลของคนส่วนใหญ่คือ ประเทศไทยตั้งเป้าที่จะเป็นHUB ศูนย์กลางการผลิตอาหารหรือ“ครัวของโลก”เพื่อสร้างจุดแข็งทางการค้าที่สำคัญ แต่ขณะเดียวกันยังมีข้อมูลอีกด้านหนึ่งที่การรับรู้กลับอยู่ในกลุ่มที่เฉพาะมาก ๆ หากเทียบกันแล้ว เพราะใครจะไปคิดว่าเมืองอู่ข้าวอู่น้ำมาตั้งแต่อดีตอย่างประเทศไทยไฉนเลยกลายเป็น อันดับเกือบจะท้าย ๆ ของโลก เปรียบเทียบกับเพื่อนบ้านในอาเซียนอย่าง สิงคโปร์ แล้วพบว่ากลับติดอันดันต้น ๆ ชาติที่ได้ชื่อว่ามี “ความมั่นคงทางอาหาร”มากที่สุดในโลก! ทั้ง ๆ พื้นที่ทางการเกษตรและผลผลิตน้อยนิดมากเทียบกับไทย แล้วทำไมเราจึงหล่นจากอันดับโลกในเรื่องนี้ไปได้?

เคลไดโนเสาร์
รู้จัก noBitter สตาร์ทอัพไทยหัวใจสีเขียว
ดร.วิลาส ฉ่ำเลิศวัฒน์ หรือ ดร.ดิ๊ง นักพัฒนาซอฟต์แวร์หนึ่งในทีมผู้ร่วมก่อตั้ง “noBitter” บริษัท โนบิทเทอร์ จำกัด สตาร์ทอัพไทยที่มีความสนใจเรื่องการสร้างแพลตฟอร์ม“ปลูก ณ จุดขาย”เพื่อตอบโจทย์ของคนเมืองในการสร้างความมั่นคงทางอาหาร
ได้ให้ข้อมูลว่า จากวิกฤตการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นบนโลกในขณะนี้ ทำให้มีการพูดถึงเรื่องความมั่นคงทางด้านอาหารที่แต่ละชาติพึงมีกันมากขึ้น โดย WHO ได้กำหนดให้มีการพิจารณาจากหลักเกณฑ์เบื้องต้น 3 ข้อ ก็คือ อาหารพอเพียง อาหารปลอดภัย และอาหารมีโภชนาการที่ดี ซึ่งสำหรับประเทศไทยพบว่า ถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 51 จากทั้งหมด 113 ประเทศ ที่มีความมั่นคงทางด้านอาหารมากที่สุดในโลก เพราะเมื่อพิจารณาจากการที่ประเทศไทยมีปัญหาเรื่อง “ยาฆ่าแมลง” และสารปนเปื้อนอย่างค่อนข้างมากอยู่(ตรวจหาทีไรก็เจอ) แม้ว่าปริมาณอาหารที่ผลิตได้มากพอเพียงสำหรับประชากรจริง แต่เมื่อวิเคราะห์จากผลผลิตส่วนใหญ่กลับพบว่ายังขาด โภชนาการที่ดี มีเพียงไฟเบอร์ที่มากพอเท่านั้น

“ก็เลยเป็นที่มาของการปรับแนวคิดกันใหม่ ว่าเราจะทำยังไงกับเกษตรที่มีอยู่ สิ่งที่โนบิทเทอร์ทำมันจะเข้าในกรอบที่เรียกว่า
“เกษตรที่ควบคุมสภาพแวดล้อม” มันเป็นเกษตรทางเลือกแบบหนึ่ง ในการที่เราจะทำเกษตรสมัยใหม่ เพราะว่า “ยาฆ่าแมลง” เราติดอันดับโลก แต่ในทางที่ไม่ค่อยดี แล้วก็ “สารปนเปื้อน” อย่างที่ทราบกัน ตรวจทีไรก็เจอ
! ผักออร์แกนิคที่ซื้อในซูเปอร์ฯ ตรวจยังไงก็เจอทุกครั้ง หรือแม้แต่ตัวเกษตรกรเอง อย่างบางคนก็โดนตัดขา จากการที่ใช้พาราควอตที่แปลง ก็เลยเป็นที่มาว่า เราเป็นแพลตฟอร์มเราเป็นสตาร์ทอัพ เราสร้างแพลตฟอร์มที่ “ปลูก ณ จุดขาย” เพื่อจะแทนซัพพลายเชนเดิม ๆ ที่เป็นการปลูกจากต่างจังหวัดซึ่งผ่านการขนส่งหลายทอดมาก ๆ กว่าลูกค้าจะได้ซื้อ ของเราคือ เราปลูก ณ จุดขาย แล้วลูกค้าสั่งเราส่งทีเดียว ก็จะลดการปนเปื้อนต่าง ๆ”


การตัดใบเตลจะเว้นระยะ 1 สัปดาห์/ครั้ง ปลูก 1 รอบจะตัดใบขายได้ราว ๆ 5-6 ครั้ง จากนั้นรสชาติผักก็จะเปลี่ยนแล้วต้องรอปลูกรอบใหม่แทน
เปลี่ยนข้อจำกัด สู่ “สวนผักแนวตั้ง” คนเมือง
สำหรับการตกค้างที่เกิดขึ้น มาจากสาเหตุที่พืชสังเคราะห์แสงไม่พอ สารอาหารส่วนหนึ่งก็กลายเป็นไนเตรทอย่างที่เราได้ข่าว
แล้วทำไมสังเคราะห์แสงไม่พอ ก็เพราะเมื่อปลูกพืชoutdoor ทุกอย่างขึ้นอยู่กับดินฟ้าอากาศ ไม่มีแดดก็สังเคราะห์แสงไม่ได้ แต่ที่ฟาร์มnoBitter ควบคุมทุกอย่างที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช ทั้งแสง อุณหภูมิ น้ำ สารอาหาร ความเป็นกรดด่าง คุมได้ทั้งหมด มันคือการเลียนแบบธรรมชาติที่ควรจะเป็น พืชจึงสามารถนำสิ่งต่าง ๆ ที่เราให้ไปใช้สังเคราะห์แสงได้ทั้งหมด ทำให้ไม่เหลือสารตกค้างเลย มีแต่สารอาหารที่เป็นประโยชน์และความสด

เปรียบเทียบการเก็บรักษาความสดของผักระหว่างถุงบรรจุธรรมดากับแบบนวัตกรรมช่วยยืดอายุ
ส่วนอีกประเด็นเรื่องการปนเปื้อนจากการขนส่ง โดยเฉพาะการขนส่งข้ามจังหวัดหรือข้ามประเทศ “อยากจะบอกว่าผักที่เหมาะกับการบริโภคควรจะมีเอนไซม์ ซึ่งมันยังอยู่ครบไม่ได้สลายไปไหนหลังการเก็บเกี่ยวไม่เกิน 3 วัน แต่ด้วยระยะทางการขนส่งข้ามจังหวัด ข้ามประเทศ ทำให้เอนไซม์ในผักที่ควรจะมีมันน้อยลงกว่าที่เราควรจะได้รับ”

noBitter แก้ไขปัญหาง่าย ๆ ด้วยการจำหน่ายจุดที่เราปลูก คือ เราปลูกเสร็จเราก็ตัดให้ผู้บริโภคเลย ผักที่ได้ก็สดมาก สารอาหารอยู่ครบ และไม่ปนเปื้อนจากการขนส่ง เราอยากให้คนซื้อไปทานเลย อย่าซื้อไปเก็บในตู้เย็นนาน ๆ”

เคลใบตำลึง (หมายถึงการเก็บเกี่ยวใบในระนะที่กำหนดนี้)
เลือกผัก “เคล” ตอบโจทย์ตลาดและราคา
ผักเคล (Kale) หรือ คะน้าใบหยิก ได้รับการยกย่องให้เป็น ราชินีผักใบเขียว (Queen of Greens) เป็นที่นิยมอย่างมากในต่างประเทศ เพราะเป็น super food ที่อุดมไปด้วยวิตามินและสารต้านอนุมูลอิสระมากมาย มีสารอาหารมากแต่น้ำตาลน้อย แคลอรี่และคอเลสเตอรอลต่ำ ไฟเบอร์สูง อีกทั้งยังให้คาร์โบไฮเดรตที่มีค่า Glycemic Index (GI) ต่ำ ซึ่งก็คือคาร์โบไฮเดรตจะแตกตัวอย่างช้า ๆ ค่อยๆ ให้กลูโคสเข้าสู่กระแสเลือดอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้เคลยังมีไฟเบอร์และซัลเฟอร์เช่นเดียวกับ สไปรูลิน่า จึงช่วยล้างพิษที่สะสมอยู่ภายในร่างกายได้เป็นอย่างดี ได้ชื่อว่าเป็น 1 ในผักใบเขียวที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง ช่วยต้านโรคมะเร็งได้อย่างดีชนิดหนึ่ง ผักเคลจึงกลายเป็นกระแสในหมู่ของคนรักสุขภาพ และคนที่ต้องการลดน้ำหนัก

คุณค่าทางโภชนาการ ต่อ 100 กรัม ประกอบด้วย พลังงาน 35 แคลอรี โปรตีน 2.9 กรัม วิตามินซี 93.4 มิลลิกรัม แคลเซียม 254 มิลลิกรัม เหล็ก 1.6 มิลลิกรัม

ที่ฟาร์ม noBitter จะเลือกปลูกผักเคลมีสายพันธุ์หลัก ๆ ที่ผู้บริโภคในไทยให้การตอบรับที่ดีแล้ว อย่างเช่น เคลไดโนเสาร์ หรือ ไดโนแคล (Lacinato or Dinosaur Kale or Tuscan Kale), Russian Kale และ Siberian Kale เป็นต้น โดยจะเน้นเป็นลักษณะของ “การตัดใบ” จำหน่ายให้กับลูกค้า รูปแบบของสินค้า เช่น เคลใบหยิก 150 กรัม 99 บาท, ยอดเคล 50 กรัม 99 บาท (ไม่ได้มีทุกวัน), ใบตำลึงเคล 50 กรัม 99 บาท (ไม่ได้มีทุกวัน) และไดโนเคล (lacinato) 150 กรัม 99 บาท

Paris Kale Cheese ครัวซองต์

ราเมนผักเคลอบแห้ง พร้อมซอส 2 รส มีซอสต้มยำ และซอสโชยุ

Chiang Mai Kale Cooktes
แจ้งเกิดธุรกิจในช่วง “โควิด19” ขายผ่านออนไลน์แบบ 100%
จากรูปแบบการตลาดที่เน้นออนไลน์ 100% มาตั้งแต่แรกอยู่แล้ว พบว่าช่วงโควิด-19 ในระลอกแรก ซึ่งเป็นเวลาเดียวกับที่บริษัทเองก็เริ่มเปิดตัวทำธุรกิจอย่างเป็นทางการครั้งแรก และมีการเตรียมการต่าง ๆ เอาไว้ที่ค่อนข้างพร้อมอยู่พอสมควร เลยทำให้กลายเป็นได้รับผลดี เพราะเกิดการสั่งซื้อ “ผักสด” เพื่อจะนำไปปรุงเป็นอาหารกันอย่างมาก ขณะที่บริษัทเองก็มีรูปแบบในการจัดส่งผักสดที่สามารถคงคุณภาพให้อยู่ได้นาน จนไปถึงมือของผู้บริโภคโดยที่ผักยังใกล้เคียงกับที่เพิ่งเก็บจากในแปลงตั้งแต่เรื่องของเทคโนโลยี “ถุงใส่ผัก” ที่ช่วยยืดอายุหรือเก็บรักษาความสดไว้ได้นานขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีจาก สวทช. เข้ามาช่วยจัดการในเรื่องนี้ได้ ระบบการนำส่งที่มีความรวดเร็วโดยเลือกได้ทั้งแบบ same day ผ่านพาร์ทเนอร์ที่ให้บริการนำส่งแบบไว คิดตามระยะทางจริง สามารถเช็คผ่าน app ได้เองและระบุช่วงเวลารับได้ และมีแบบ next day สำหรับลูกค้าทางไกลที่สามารถรับของได้ส่งถึงไม่เกินในวันรุ่งขึ้น แต่ทั้งนี้ หลังจากนั้นมาพอเข้าสู่ช่วงโควิด-19 ในระลอก2, 3, 4 และจนกระทั่งถึงปัจจุบันพบว่า พฤติกรรมของผู้บริโภคก็เปลี่ยนไปด้วย มีการสั่งซื้อผ่านระบบดิลิเวอรี่เป็นในรูปแบบของ“อาหารปรุงสุกแล้ว”  พร้อมรับประทานมากขึ้นแทนที่เป็นการปรุงเอง ดังนั้นกลายเป็นโจทย์ของการพัฒนาต่อหลังจากที่ “ปลูกได้-ขายดี” แล้ว
ก็คือว่าเริ่มมีการแปรรูปผักเคลสู่เมนูแนะนำต่าง ๆ ให้สำหรับลูกค้า รวมถึงมีผลิตภัณฑ์พร้อมทานในรูปแบบต่าง ๆ ที่พัฒนาร่วมกับเจ้าของสูตรต้นตำรับเพื่อนำเคลเป็นส่วนผสมที่สำคัญอีกด้วย


รับประกันความสดใหม่! ลูกค้าใกล้-ไกลก็จัดส่งให้ได้
ปัจจุบันnoBitter เปิดดำเนินกิจการมาแล้วกว่า 4 ปี มีฟาร์มสาขา 3 แห่งในขณะนี้ ได้แก่ สาขาสาธุประดิษฐ์ ซึ่งเป็นรูปแบบของอาคารที่พักอาศัย 3 ชั้นมี 2 คูหาติดกัน ถูกปรับปรุงใหม่เพื่อการใช้ประโยชน์พื้นที่ภายใน(แต่ละห้อง) เปลี่ยนเป็นห้องปลูกผักแทน ภายใต้ระบบการจัดการปลูกพืชแบบสวนแนวตั้ง Plant Factory ที่มีความจุในการผลิตได้รวม 24 ทาวเวอร์ มีการวางแผนปลูกแบบการไล่รุ่น เพื่อหมุนเวียนให้ได้ผลผลิตที่มีปริมาณพอเหมาะกับออร์เดอจากลูกค้า และยังมี สาขามหิดล-ศาลายา ซึ่งเป็นลักษณะของฟาร์มที่มีการทำวิจัยร่วมกัน เพื่อศึกษาเรื่องโภชนาการที่มีในผักควบคู่กันไปด้วย กับอีกที่คือ สาขาศรีนครินทร์
ซึ่งจะเป็นลักษณะของการรีโนเวตจากโกดังเก่าเพื่อปรับใช้ทำเป็นฟาร์มผักปลอดภัยต่อไป ทั้งนี้ รูปแบบการตลาดล่าสุดซึ่งจะเน้นเป็นระบบ pre-order รับเงินมาก่อน ส่งของทีหลัง รวมทั้งยังมีแบบเป็นสมาชิกหรือ subscription ด้วย จ่ายครั้งหนึ่ง ๆ มีตั้งแต่ 3,000-5,000 บาท และบางช่วงที่มีการขายสินค้าแปรรูป ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ก็จะขายดี ทำให้มียอดขายที่ค่อนข้างบอกได้ยากหากต้องฟิกซ์ตายตัวว่าต่อวันอยู่ที่ประมาณเท่าไร เพราะบางวันยอดพุ่งมาก แต่ถ้ายอดตัดผักต่อวันซึ่งในส่วนนี้จะค่อนข้างนิ่งแล้ว โดยมีการวางแผนรอบตัดตามdemand หรือเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 2-4 ทาวเวอร์/วัน หากคิดเป็นรายได้ในส่วนนี้ก็เฉลี่ยอยู่ราว ๆ 7,000-14,000 บาทต่อวัน

เห็นด้านหน้าแบบนี้ใครจะรู้ว่าข้างในเป็นฟาร์มผักแนวตั้ง Plant Factory ที่สุดอลังการซ่อนอยู่ในนี้
นอกจากนี้ ถึงแม้ว่าในกระบวนการผลิตของฟาร์ม noBitter จะไม่มีการใช้สารเคมีปราบศัตรูพืชทุกชนิด แต่เพื่อให้ความมั่นใจด้านการบริโภคที่ปลอดภัยแก่ลูกค้า บริษัท โนบิทเทอร์ จำกัด ได้รับการรับรองปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืชอาหาร
(มกษ. 9001-2556) หรือGAP Certificate โดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (วว.) เป็นหน่วยงานที่ให้การรับรอง และมีสัญลักษณ์ “Q” ที่แสดงเพื่อการการันตีถึงคุณภาพด้วย

สอบถามเพิ่มเติม โทร.0-2079-1175

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด* * *


กำลังโหลดความคิดเห็น