สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 กรมวิชาการเกษตร ร่วมกับ สมาคมการค้านวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทย มูลนิธิปิดทองหลังพระสืบสานแนวพระราชดำริ สมาคมทุเรียนใต้ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมการปกครองอำเภอรามัน องค์การบริหารส่วนตำบลกาลอ จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการ การทำการเกษตรที่ดีและเหมาะสม (GAP) เพื่อเพิ่มคุณภาพผลผลิตทุเรียน ให้กับเกษตรกรสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีเป้าหมายสร้างความเข้าใจ พัฒนาทักษะความรู้ระบบปลูกทุเรียนให้มีมาตรฐานความปลอดภัย และหาแนวทางในการแก้ปัญหาศัตรูพืชที่สำคัญของทุเรียน โดยเฉพาะหนอนเจาะทุเรียน ที่ส่งผลให้ผลผลิตทุเรียนมีราคาตกต่ำ เพื่อการเตรียมความพร้อมให้แก่เกษตรกรชาวสวนทุเรียน เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนภาคการเกษตรของประเทศไทย ให้มีศักยภาพพร้อมสู่การแข่งขันในตลาดโลก โดยมีเกษตรกรชาวสวนทุเรียนภายใต้ 17 วิสาหกิจชุมชน จำนวนมากกว่า 100 คน
นายจิระ สุวรรณประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 ประธานเปิดงาน กล่าวว่า ทุเรียนถือเป็นผลไม้ที่มีความสำคัญต่อภาคการเกษตรของไทย และเป็นหนึ่งในผลิตผลที่สำคัญของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่สามารถทำรายได้ให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกค่อนข้างสูง ซึ่งเริ่มต้นฤดูเก็บเกี่ยวตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎาคม และคาดว่าการปฏิบัติอย่างถูกต้องตามมาตรการต่างๆ จะช่วยให้การส่งออกสะดวกขึ้นโดยเฉพาะการส่งออกไปประเทศจีน จนสามารถครองอันดับหนึ่งในตลาดจีนอย่างต่อเนื่อง การที่เกษตรกรชาวสวนทุเรียนภาคใต้มีความตื่นตัวด้านการพัฒนาคุณภาพและมีการจัดการสวนที่ดีขึ้น สามารถลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มคุณภาพผลผลิตทุเรียนให้ดียิ้งขึ้น รวมถึงมีการดูแลจัดการสวนอย่างต่อเนื่อง และมีการจัดการสวนทุเรียนได้อย่างยั่งยืนก็จะเป็นผลดีต่อไปในอนาคต โดยปฏิบัติตามคู่มือการผลิตทุเรียนคุณภาพในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การกำจัดศัตรูพืชในทุเรียน การใช้น้ำและปุ๋ย ซึ่งกรมวิชาการเกษตรพร้อมที่จะให้การสนับสนุนทุก ๆ ด้านในภารกิจที่เกี่ยวข้อง
ด้านนางนงนุช ยกย่องสกุล รักษาการผู้อำนวยการบริหารสมาคมการค้านวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทย กล่าวต่อว่า ประเทศไทยนับว่าโชคดีมาก ที่มีแหล่งเพาะปลูกที่อุดมสมบูรณ์ และสามารถเพาะปลูกพืชสวนได้หลายชนิด รวมทั้งทุเรียนไทย ต้องขอชื่นชมเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนไทย วิสาหกิจชุมชน มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ สมาคมทุเรียนใต้ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และหน่วยงานภาครัฐโดยเฉพาะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงมหาดไทย ที่ทำให้ทุเรียนมีคุณภาพ เป็นที่ต้องการของตลาด สามารถสร้างชื่อเสียงและนำรายได้จำนวนมากเข้าสู่ประเทศ
สมาคมการค้านวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทย ให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาการเกษตรของประเทศสู่การเป็นเกษตรสมัยใหม่ ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญที่มุ่งเน้นให้เกิดการทำเกษตรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด มีการลดต้นทุน ลดการสูญเสีย เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และมีความยั่งยืนของการประกอบอาชีพเกษตรกร ตลอดจนให้ความสำคัญกับการทำงานร่วมกันตลอดห่วงโช่อาหาร ตั้งแต่เกษตรกร ผู้ผลิต ผู้รวบรวม ผู้ค้าปลีก และผู้ปริโภค เพื่อสร้างอาหารให้มีคุณภาพ มาตรฐานการผลิต ความปลอดภัย และเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งภายในและภายนอก
โดยการอบรมเชิงปฎิบัติการครั้งนี้เกษตรกรได้เรียนรู้การเกษตรที่ดีและเหมาะสม (GAP) เพื่อเพิ่มคุณภาพผลผลิตทุเรียนในภาคบรรยายและปฏิบัติ ประกอบไปด้วยการจัดการแหล่งน้ำ พื้นที่ปลูก การจัดการก่อนและหลังการเก็บเกี่ยว การเก็บรักษาและการขนย้าย การบันทึกข้อมูล พร้อมฐานการเรียนรู้การจัดการแปลง GAP โดย รศ.ดร.ชัยณรงค์ รัตนกรีฑากุล รองคณบดีคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กำแพงแสน และเทคนิคการใช้สารป้องกันกำจัดแมลงและไรศัตรูในทุเรียน ตลอดจนสุขลักษณะส่วนบุคคล และฐานศัตรูที่สำคัญของทุเรียน และการจัดการเพื่อการส่งออก โดย ดร.พฤทธิชาติ ปุญวัฒโท ผู้อำนวยการ กลุ่มกีฏและสัตววิทยา และฐานเทคนิคการใช้สารกำจัดศัตรูพืชและอุปกรณ์อย่างถูกต้องและปลอดภัย โดยนายวรวิช สุดจริตธรรมจริยางกูร นักกีฏวิทยาปฏิบัติการ กลุ่มงานวิจัยการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร
สำหรับเกษตรกร หรือบุคลผู้สนใจ การอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อการทำการเกษตรที่ดีและเหมาะสม (GAP) สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สมาคมการค้านวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทย ติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่ https://www.facebook.com/taitacroplifethailand