xs
xsm
sm
md
lg

กรมพัฒน์ฯ เน้นพัฒนาบุคลากรภายในองค์กรให้บริการประชาชน และ ที่ปรึกษาภาคธุรกิจพร้อมใช้บิ๊กดาต้าเป็นเครื่องมือนำพาสู่ความสำเร็จ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ขานรับนโยบายรัฐบาล ปั้นบุคลากรภายในองค์กรให้มีสมรรถนะสูงรองรับนโยบายและการเปลี่ยนแปลงทุกรูปแบบ จากตั้งรับเป็นเดินหน้ารุก เน้นสวมหมวก 2 ใบ เป็นทั้งผู้ให้บริการประชาชนและที่ปรึกษาภาคธุรกิจ พร้อมใช้บิ๊กดาต้าเป็นเครื่องมือนำพาสู่ความสำเร็จ หวังประชาชนได้รับบริการที่ดีมีความพึงพอใจสูงสุด ภาคธุรกิจเติบโตอย่างสมดุล เชื่อบุคลากรที่มีความรู้คู่คุณธรรมจะนำพาองค์กรเข้มแข็ง ส่งผลภาครัฐแข็งแกร่ง ประเทศชาติมั่นคง

นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า “ตามที่รัฐบาลมีนโยบายให้หน่วยงานภาครัฐเร่งผลิตและพัฒนาบุคลากรให้มีประสิทธิภาพสอดคล้องกับความต้องการด้านต่างๆ ของประเทศ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เพื่อสร้างความเข้มแข็งแก่ภาคธุรกิจระยะยาว กรมฯ จึงกำหนดให้นโยบายด้านการพัฒนาและเสริมสร้างสมรรถนะบุคลากรภายในองค์กรเป็นยุทธศาสตร์และภารกิจหลักที่ต้องเร่งดำเนินการเพื่อตอบสนองความต้องการของภาคธุรกิจและประชาชนอย่างตรงจุด ขณะเดียวกัน เพื่อรองรับการก้าวเข้าสู่สังคมแห่งอนาคตอย่างเต็มรูปแบบ

“กรมฯ ได้จัดทำแผนพัฒนาบุคลากรแบบ 3 Types for The Success คือ การฝึกปฏิบัติ (Practice) การศึกษา (Education or Further Study) และการฝึกอบรม (Training) โดยเน้นการเพิ่มขีดความสามารถ 3 ด้าน ได้แก่ ด้านทักษะเฉพาะด้านตามกลุ่มงาน/สายงาน (Technical Competency) ด้านความสัมพันธ์ส่วนบุคคล (Interpersonal Competency) และด้านสติปัญญา (Intellectual Competency) ซึ่งทั้ง 3 ส่วน จะช่วยเติมเต็มจุดอ่อน/เสริมจุดแข็งให้บุคลากรภายในองค์กรแบบครบวงจร รวมถึงปรับเปลี่ยนบริบทการทำงาน จากการตั้งรับเป็นเดินหน้ารุก เพื่อให้ทันต่อความต้องการของภาคธุรกิจ/ประชาชน ช่วยให้เกิดความกระตือรือร้น กล้ารับ กล้าคิด กล้าที่จะนำการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ มาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับทุกการทำงาน โดยหวังผลสัมฤทธิ์สูงสุดของงาน (Outcome) เป็นที่ตั้ง

อธิบดีฯ กล่าวต่อว่า ในฐานะที่กรมฯ เป็นหน่วยงานต้นสายปลายทางธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจตั้งแต่การเริ่มต้นจัดตั้งธุรกิจจนถึงเลิกประกอบกิจการ ทำให้ภารกิจด้านการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจเป็นสิ่งสำคัญ กรมฯ ได้วางนโยบายพัฒนาให้ข้าราชการสวมหมวกการทำงาน 2 ใบ เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่ดีมีความพึงพอใจสูงสุด และภาคธุรกิจโดยเฉพาะเอสเอ็มอีและไมโครเอสเอ็มอีเติบโตอย่างสมดุลและเข้มแข็ง โดย หมวกใบที่ 1 เป็นการให้บริการประชาชนตามภารกิจกรมฯ ด้วยความเต็มที่และเต็มใจ หมวกใบที่ 2 เป็นที่ปรึกษาภาคธุรกิจ โดยปัญหาสำคัญของเอสเอ็มอีและไมโครเอสเอ็มอี คือ การขาดที่ปรึกษาทางธุรกิจที่ดี

กรมฯ จึงพัฒนาบุคลากรให้สามารถเป็นที่ปรึกษาแก่ภาคธุรกิจ ช่วยวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานในการประกอบธุรกิจ โดยใช้คลังข้อมูลธุรกิจ (DBD DataWarehouse+) ของกรมฯ ซึ่งเป็นบิ๊กดาต้าธุรกิจขนาดใหญ่เข้ามาเป็นเครื่องมือช่วยผลักดันให้ภาคธุรกิจประสบความสำเร็จ โดยกรมฯ ได้จัดอบรมหลักสูตร ติดอาวุธ เพิ่มพลัง ด้วยการใช้ข้อมูล (Empower) ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูลและวิธีนำข้อมูลจากระบบ DBD DataWarehouse+ มาใช้ในการทำงาน รวมทั้ง หลักสูตร ยกระดับผู้นำสู่องค์กรดิจิทัล (Digital Leadership for Digital Transformation) ซึ่งเป็นหลักสูตรเฉพาะสำหรับข้าราชการระดับชำนาญการพิเศษ และข้าราชการกลุ่ม Talent เพื่อให้สามารถเป็นผู้นำในยุคดิจิทัล อันเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนองค์กร และนำพาทีมงานก้าวสู่ยุคดิจิทัลไปพร้อมกัน ระยะต่อไปกรมฯ จะพัฒนาหลักสูตรสร้างที่ปรึกษาภาคธุรกิจ และหลักสูตรที่ช่วยเสริมศักยภาพด้านนวัตกรรมบริการในรูปแบบของ Project Based มากยิ่งขึ้น เพื่อให้บุคลากรสามารถเป็นที่ปรึกษาภาคธุรกิจและนำความต้องการของภาคธุรกิจมาปรับกระบวนงาน ต่อยอดนวัตกรรมสร้างสรรค์บริการดิจิทัลใหม่ หรือพัฒนาจากของเดิมอย่างมีประสิทธิภาพ

กรมฯ ได้มีการแบ่งกลุ่มข้าราชการและเจ้าหน้าที่กรมฯ ออกตามช่วงอายุ (Generation) และตามภาระหน้าที่ เพื่อพัฒนาบุคลากรในรูปแบบ Cross Generation ผ่านหลักสูตร พี่อยากโค้ช น้องขอคุย (Powered by DBD WE Talk) โดยเน้นการพัฒนาแบบมีส่วนร่วม (Developmental Partnership) จากผู้บริหารในปีที่เกษียณอายุ (Mentor) เป็นพี่เลี้ยงที่ทำหน้าที่แลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และมุมมองส่วนบุคคล เพื่อเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้บริหาร แลกเปลี่ยนพูดคุยระหว่างบุคลากรที่มาจากต่างสายงาน และต่างช่วงอายุทำให้เข้าใจเนื้องานและภารกิจของเพื่อนร่วมงาน เห็นถึงปัญหา/อุปสรรคในการทำงาน สามารถหาแนวทางการแก้ไขร่วมกันเพื่อให้บริการประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ กรมฯ ได้วางแนวทางพัฒนาบุคลากรอย่างเป็นระบบและเหมาะสมแต่ละบุคคล เพื่อให้ทุกคนมีความสุขในการทำงาน พร้อมให้บริการประชาชนด้วยความเต็มที่และเต็มใจ ขณะเดียวกัน ต้องมีการพัฒนาจิตใจและความประพฤติให้มีคุณธรรม-จริยธรรม ยืนอยู่บนความซื่อสัตย์สุจริตและมีธรรมาภิบาลในการทำงาน เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ข้าราชการรุ่นต่อๆ ไป รวมถึง การปรับทัศนคติให้มองการอบรมฯ เป็นการเติมทักษะสำหรับอนาคต และสร้างเครือข่าย ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการทำงานในศตวรรษที่ 21 ทั้งการพัฒนาตนเองผ่านการทำงาน (OJT) การโค้ชโดยพี่เลี้ยง (Mentoring) การจัดอบรมหลักสูตรต่างๆ ทั้งภายในองค์กร และส่งบุคลากรเข้าร่วมอบรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากกรณีศึกษาภายนอกองค์กร ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว คนที่จะได้รับประโยชน์สูงสุด ก็คือ ข้าราชการผู้เข้ารับการพัฒนาเอง สามารถเป็นที่ปรึกษาภาคธุรกิจ ส่งผลดีต่อองค์กรให้มีความเข้มแข็ง น่าเชื่อถือ ภาครัฐมีความแข็งแกร่ง และประเทศชาติมีความมั่นคง” อธิบดีฯ กล่าวทิ้งท้าย


กำลังโหลดความคิดเห็น