xs
xsm
sm
md
lg

ต่อยอด “ควินัว” สายพันธุ์ไทย! พัฒนาสู่ตลาดอาหารสุขภาพรับเทรนด์โลกยุคใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ต่อยอด “ควินัว” สายพันธุ์ไทยเตรียมปล่อยทีเด็ดใหม่! อีก 2 พันธุ์ปลายปี 65 นี้ ปลูกให้ผลผลิตสูงเพื่อพัฒนาสู่ตลาดอาหารสุขภาพ เพิ่มทางเลือกทั้งในรูปแบบราคาที่เข้าถึงได้ พร้อมตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ด้วยเมนูสุขภาพแบบพร้อมทาน


รองศาสตราจารย์ ดร. ปิติพงษ์ โตบันลือภพ แห่ง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หัวหน้าโครงการ “ควินัว: การวิจัยเชิงบูรณาการเพื่อใช้ประโยชน์และพัฒนาห่วงโซ่คุณค่าในระดับอุตสาหกรรมอาหารเชิงหน้าที่” ได้พูดถึงควินัว(Quinoa) ว่า จากเทรนด์การรักสุขภาพที่มาแรงในทั่วโลกยุคปัจจุบัน ได้ทำให้ “ควินัว” เริ่มเข้ามาเป็นที่รู้จักของคนไทยโดยเฉพาะในหมู่ของคนที่ใส่ใจเรื่องสุขภาพมากขึ้นตามลำดับ ต่างกับตอนเริ่มทำงานวิจัยการพัฒนาสายพันธุ์ควินัวในประเทศไทยใหม่ ๆ คนยังไม่ค่อยรู้จักและไม่รู้ว่าการบริโภคต้องทำอย่างไรบ้าง การตีโจทย์วิจัยจึงต้องทำทั้งในเรื่องของ “พันธุ์” และการ educate ตลาดควบคู่กันไปด้วย


“ซึ่งปัจจุบัน “ควินัว” ได้รับการโปรโมตโดย FDA และ FAO ว่า เป็นพืชโปรตีนที่จะช่วยในการแก้ไขเรื่องของ Food Security หรือโอกาสที่ประชากรเข้าถึงสารอาหารที่สำคัญต่อร่างกาย ควินัวจะเป็นตัว serve เข้าไปช่วยแก้ปัญหาดังกล่าว ในขณะเดียวกัน ควินัว ซึ่งถูกจัดอยู่ในกลุ่มของ “ธัญพืชเทียม” (Psuedocereal) หรือพืชใบเลี้ยงคู่ แต่การใช้ประโยชน์เราบริโภค grain เหมือนกลุ่มซีเรียล ทีนี้ประโยชน์จริง ๆ ของควินัว คือ เป็นเกรนที่มี “โปรตีนสูง” ตั้งแต่ 16-28% ซึ่งสิ่งที่แตกต่างของโปรตีนในควินัว ก็คือเมื่อเราวิเคราะห์ไปถึงสัดส่วนของ “อะมิโนแอซิด” เราพบว่า ควินัวเป็นพืชชนิดเดียวที่มี essential AMINO ACID ครบถ้วน และมีสัดส่วนตรงตามที่มนุษย์ต้องการ ในขณะเดียวกัน ควินัว มีสารต้านอนุมูลอิสระที่สูงมาก เมื่อเปรียบเทียบกับธัญพืชทั่ว ๆไป และยังมีแร่ธาตุโดยเฉพาะ เหล็ก แมงกานีส สังกะสี โพแทสเซียม และแมกนีเซียม สูง-สูงมาก อีกทั้งควินัวเป็นธัญพืชที่ “คาร์โบไฮเดรตต่ำ” ค่า GI ต่ำ ดังนั้นตอบเทรนด์ของวัยรุ่นในปัจจุบัน ที่ต้องการรักษาสุขภาพ ลดความอ้วน และอีกปัญหาหนึ่งที่ผู้บริโภคแป้งโดยเฉพาะจาก “ข้าวสาลี” จะเจอเยอะมาก คือ กลูเตน ซึ่งควินัวปราศจากกลูเตน 100% หรือ gluten free ด้วย”


รู้จัก “ควินัว” สายพันธุ์ไทย
รศ.ดร. ปิติพงษ์ เล่าให้ฟังว่า จากเดิม “ควินัว” มีแหล่งกำเนิดอยู่ที่ทวีปอเมริกาใต้ ซึ่งเมื่อทาง ม.เกษตรศาสตร์ ร่วมกับ มูลนิธิโครงการหลวง มีความร่วมมือในการทำโครงการวิจัยร่วมกันที่จะพัฒนาเรื่อง “สายพันธุ์” ควินัวเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ก็ได้รับความอนุเคราะห์จากทางสถาบันวิจัยพันธุศาสตร์แห่งชาติชิลี ส่งเชื้อพันธุกรรมของควินัวที่มีการเก็บรวบรวมได้ในประเทศของเขา มาให้สำหรับใช้ในการพัฒนาสายพันธุ์จำนวน 2 สายพันธุ์เพื่อเริ่มต้น ซึ่งปรากฏว่าในปีแรก การปลูกเพื่อทำการคัดเลือกพันธุ์ค่อนข้างประสบปัญหาในเรื่องการปรับตัว ของพืชอยู่พอสมควรเพราะว่า เห็นได้ชัดจากต้นที่ปลูกไปแล้วสูงยังไม่ถึง1 ฟุตดี ก็มีการออกดอกแล้ว แต่ว่าหลังจากนั้นใช้ระยะเวลาในการปลูกเพื่อคัดเลือกพันธุ์อยู่อีก 5 รุ่น หรือเกือบ 4 ปี จึงได้พันธุ์ที่มีการปรับตัวเข้ากับประเทศไทยได้ดีที่สุด พร้อมลักษณะที่ดีเด่น เพื่อขอขึ้นทะเบียนรับรองพันธุ์ใหม่จากกรมวิชาการเกษตรได้สำเร็จ
มี 2 สายพันธุ์ คือ “เหลืองปางดะ”กับ “แดงห้วยต้ม”


2 สายพันธุ์แรกควินัวในประเทศไทย ก็คือสายพันธุ์เหลืองปางดะ กับ แดงห้วยต้ม ที่มาของชื่อเหลืองก็คือลักษณะช่อดอก จะออกเป็นลักษณะของสีเหลือง เมล็ดออกเป็นสีขาวเหลือง ส่วนอีกสายพันธุ์หนึ่ง ช่อดอกจะเป็นลักษณะสีม่วงแดง เมล็ดจะออกเป็นสีขาวนวล ในขณะที่ปางดะคือ สถานที่ทำการวิจัยและคัดเลือกสายพันธุ์นี้มา และแดงห้วยต้ม ก็คือศูนย์พัฒนาโครงการหลวงพระบาทห้วยต้ม โดยยื่นขอรับรองพันธุ์ โดยมูลนิธิโครงการหลวง โดยมีผมเป็นผู้ดำเนินการ”

จากนั้นทางมูลนิธิโครงการหลวงได้นำ “สายพันธุ์ไทย” ที่พัฒนาได้นี้ ไปส่งเสริมเกษตรกรบนพื้นที่สูงปลูกเพื่อรับซื้อผลผลิตคืน
ในราคารับประกันปีแรกคือ 500 บาท/กก. ซึ่งปรากฏว่าข้อมูลที่ได้รับมาจากผู้เชี่ยวชาญของชิลีระบุว่า ผลผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 180
กก./ไร่ แต่ปีนั้นเกษตรกรไทยสามารถปลูกควินัวพันธุ์ใหม่ได้ผลผลิต 600 กก./ไร่ เมื่อรวมกับราคาที่รับซื้อแล้วปลูกเพียงไร่เดียว มีรายได้สูงถึง 3 แสนบาท! ในปีต่อมาได้ทำการปรับลดราคารับซื้อลงมาอยู่ที่ 150 บาท แต่ทว่ารวมกับผลผลิตต่อไร่แล้วก็ยังมีรายได้แตะหลักแสนบาทอยู่ดี ซึ่งเรื่องนี้ทำให้เกิดความสนใจเป็นอย่างมากทุกครั้งที่มีการเปิดรับโควตาปลูก ขณะที่ทางมูลนิธิฯเองตอนหลังได้พัฒนาเรื่ององค์ความรู้ในการปลูก-ดูแลแนะนำแก่เกษตรกรด้วย เช่น ควินัวมีอายุการเก็บเกี่ยว 90-100 วัน การปลูกโดยวิธีหยอดเมล็ดเป็นแถว คล้ายการปลูกงา อายุ 45 วันเริ่มออกดอก-60 วันเริ่มติดเมล็ดแล้ว การจัดการธาตุอาหารไนโตรเจน: ฟอสฟอรัส: โปแตสเซียม คือ 1:1:1 หรือ 30 : 30 : 30 หรือต้องการบำรุงเมล็ดก็ใส่ “โปแตสเซียม” เพิ่มเป็น 50 กก./ไร่/รอบการผลิต การใส่ปุ๋ย 3-4 ครั้ง/รอบการผลิต ก็พอ เป็นต้น รวมถึงมีการพัฒนาสายพันธุ์ใหม่เพิ่มเติมอีกซึ่งได้แล้ว 2 สายพันธุ์กำลังยื่นขอรับรองพันธุ์ใหม่ คาดจะเปิดตัวปลายปี 65 นี้ เตรียมผลิตเมล็ดพันธุ์เพื่อส่งเสริมปลูกต่อไป

สลัดเป็นหนึ่งในเมนูยอดนิยมที่มักใส่ควินัวเข้าไปช่วยเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการด้วย
การพัฒนาสู่ตลาดอาหารสุขภาพ
จากการสำรวจตลาด “ควินัว” ในประเทศไทยส่วนใหญ่ พบว่าปัจจุบันเป็นการนำเข้าแบบ 100% และมีราคาจำหน่ายตั้งแต่ 152 บาทไปจนถึง 390 บาท/ขนาดบรรจุ 250 กรัม ซึ่งแปลว่า 1 กก.ไม่ต่ำกว่า 1,200 บาท ในขณะที่รูปแบบของควินัวคือเป็น “เมล็ดแห้ง” เพื่อสำหรับนำไปแปรรูปโดยการหุง/ต้มให้สุกก่อน ทานแทน “ข้าว” หรือจะใส่ในเมนูยอดนิยมอย่าง สลัด และอื่น ๆ โดยเฉพาะอาหารยุโรปในเมนดิชจะมีควินัวอยู่เสมอ เหล่านี้เป็นต้น ดังนั้นการวิจัยในครั้งนี้ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจาก วช. จึงมีวัตถุประสงค์หลักในการช่วยแก้ปัญหา โดยนักวิจัยบอกว่า มีการพัฒนาสายพันธุ์ใหม่! ควินัวเลือดไทยอีกจำนวน 2 สายพันธุ์ ซึ่งการพัฒนาต่อยอดมาจากควินัวเมล็ด “สีดำ” และ “สีน้ำตาลแดง” มุ่งเน้นถึงคุณค่าทางโภชนาการที่สูงกว่าสีขาว โดยเฉพาะกลุ่มของสารต้านอนุมูลอิสระ รวมไปถึงกลุ่มของแร่ธาตุต่าง ๆ ด้วย เป็นต้น และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบจำนวน 2 ผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปแล้ว เป็นควินัวพร้อมทานในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อการเข้าถึงได้ง่ายโดยเฉพาะกลุ่มของวัยรุ่น ความเป็นไปได้ในเรื่อง “ราคา” ของเมล็ดแห้งสำหรับนำไปปรุงที่จะต้องถูกลงกว่าเพื่อให้คนไทยส่วนใหญ่เข้าถึงได้ และเทรนด์อุตสาหกรรมอาหารโลกซึ่งมีการพัฒนาสู่วัตถุดิบสกัด AMINO ACID บริสุทธิ์ ใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมทาน(แบบซอง) สำหรับเด็ก ผู้สูงวัย และเพื่อเติมสำหรับภาวะบกพร่องทางโภชนาการ เป็นต้น ที่จะต้องมีการศึกษาต่อไปด้วย

เมนูของหวานอย่่างเช่น ถั่วแดงหลวงควินัวน้ำขิงก็เข้ากันได้ดี

ร้านอาหารสุขภาพชื่อดังก็มีเมนูแนะนำจากควินัวให้กับลูกค้าได้เลือกทานด้วย
พืชเศรษฐกิจมูลค่าสูงใหม่! ช่วยแก้ปัญหารายได้เกษตรกรบนพื้นที่สูง
รศ.ดร. ปิติพงษ์ ยังบอกด้วย และอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญคือ การแก้ปัญหารายได้ให้กับเกษตรกรที่อยู่บนพื้นที่สูงของไทย จากระบบเกษตรที่ต้องพึ่งพาน้ำฝนเป็นหลัก ซึ่งทำให้การเพาะปลูกพืชหลักได้เพียง 1 รอบ/ปี มีรายได้เฉลี่ยต่อปีต่ำมากไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ พบว่าควินัวเป็นพืชที่ค่อนข้างชอบภูมิอากาศแบบเย็นสบาย ฤดูกาลที่เหมาะ คือ ตุลาคม-มีนาคมของปีถัดไป ดังนั้นเทียบกับปฏิทินการเพาะปลูกของระบบเกษตรบนพื้นที่สูงแล้ว ยังมีช่วงที่ว่างอยู่คือ “ท้ายฝน-ต่อหนาว” หลังหมดฤดูกาลของพืชหลักก่อนจะเข้าสู่หน้าแล้ง สามารถที่จะปลูกควินัวช่วยเสริมรายได้จากอายุเก็บเกี่ยว 90-100 วัน ซึ่งเพียงพอในการปลูกและให้ผลผลิตได้ทันเวลาพอดี นอกจากนี้ยังพบว่า ในอาหารกลางวันของเด็ก ๆ ค่อนข้างขาด “โปรตีน” ที่สำคัญ ซึ่งการเติมควินัวลงไปในอาหารกลางวันก็จะช่วยแก้ปัญหาโภชนาการได้อย่างดีอีกทางหนึ่ง


ทั้งนี้ผู้สนใจ “ควินัว” สายพันธุ์ไทย(แบบเมล็ดสำหรับนำไปปรุง) ปัจจุบันมีวางจำหน่ายในร้านมูลนิธิโครงการหลวงทุกสาขา ขนาดบรรจุ 300 กรัมราคาประมาณ 250 บาท กำลังมีโปรโมชั่นพิเศษ 1 แถม1 ด้วยนะ!

คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEsผู้จัดการ”รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด


กำลังโหลดความคิดเห็น