เจเนอเรชัน องค์กรสากลเพื่อสังคม (Generation) ถือกำเนิดเมื่อปี 2558 เป็นองค์กรที่มีอยู่ทั่วโลก และประเทศไทยเป็นประเทศลำดับที่ 15 เจเนเรชั่นเลือกมาเปิด เมื่อเดือนสิงหาคม 2564 โดยการเข้ามาของเจเนอเรชันในครั้งนี้ ต้องการที่จะมาช่ว ยลดช่องว่างในการหางานของผู้ที่ต้องการทำงานและวุฒิการศึกษาหรือที่เรียนมาไม่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน และช่วยองค์กรที่ต้องการแรงงานในสายงานที่ขาด
นวัตกรรมใหม่เชื่อมโยงการศึกษา ตลาดแรงงาน
นางสาวปุณยนุช พัธโนทัย ผู้บริหารองค์กรเจเนเรชั่น ประเทศไทย กล่าวว่า เดิมเจเนอเรชัน เป็นองค์กรที่แยกตัวออกมาจาก McKinsey & Company พันธกิจขององค์กร คือการพลิกโฉมการศึกษาให้เชื่อมโยงกับความต้องการและการจ้างงานในตลาดแรงงานอย่างแท้จริง ด้วยโมเดล เป็นเหมือน one-stop service ในการจับคู่ (Matching) ระหว่างผู้ต้องการหางานหรือผู้ว่างงานกับบริษัทหรือนายจ้าง ผ่านกระบวนการฝึกอบรมแบบเข้มข้น (Bootcamp) โดยใช้หลักสูตรอบรมระยะสั้นประมาณ 4-12 สัปดาห์ ในการฝึกอบรมทั้งด้านเทคนิคเฉพาะ ทักษะชีวิต และทักษะในการหางาน โดยมีหลักสูตรสำคัญ 30 หลักสูตร ใน 4 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ 1) Customer Service & Sales 2) Digital & IT 3) Healthcare และ 4) Skilled Trades
ทั้งนี้ ด้วยสถานการณ์และโครงสร้างธุรกิจหลายอย่างที่เปลี่ยนไปทำให้ภาครัฐ และภาคเอกชนมองหาโมเดล และนวัตกรรมใหม่ เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงควบคู่ไปกับการยกระดับการพัฒนาทักษะของแรงงาน เพิ่มโอกาสการเข้าถึงงานของบัณฑิตจบใหม่ และ เจเนอเรชัน เป็นองค์ระดับสากลเพื่อสังคม ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการดังกล่าวได้ ด้วยโมเดลนวัตกรรมใหม่ ที่ให้ผลสัมฤทธิ์ที่มากกว่าการหางานทั่วๆไป
โดย เจเนอเรชัน เป็นองค์กรเพื่อสังคม ซึ่งผู้เข้าร่วมโครงการจะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น และไม่จำกัดวุฒิการศึกษา ไม่จำกัดเพศ และไม่จำเป็นต้องมีประสบการณ์เฉพาะในสายงานนั้นๆ จากประสบการณ์การทำงานด้านนโยบายพัฒนาการศึกษา มากว่า 10 ปี ทำให้มองเห็นปัญหาสังคมไทย ซึ่งหลายอย่างเกิดขึ้นจากความเหลื่อมล้ำทางสังคม การขาดโอกาสในการเข้าถึงการศึกษา และทักษะในการทำงาน ตลอดจนถูกปิดกั้นเชิงระบบให้เข้าไม่ถึงตลาดแรงงาน ที่ผ่านมา เจเนเรชั่น มีความมุ่งมั่นตั้งใจว่าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของฟันเฟืองในการแก้ปัญหาเชิงระบบด้านกำลังคน และแรงงาน
สำหรับการทำงานของเจเนอเรชัน หลังจากเข้าเปิดดำเนินกิจการในประเทศไทย เมื่อต้นปี 2565 ที่ผ่านมา เจเนเรชั่น เริ่มเปิดรับสมัครผู้ที่ต้องการหางาน ซึ่งในครั้งแรกทางองค์กรตั้งใจที่จะเปิดรับสมัครเพียงแค่ 25 คน แต่ด้วยมีผู้มาสมัครเป็นจำนวนมากทำให้เพิ่มจำนวนรับสมัครเป็น 60 คน โดยคัดเลือกจากผู้สมัครมีมากกว่า 1,000 คน ซึ่งการทำงานของเจเนอเรชัน จะเป็นลักษณะของการทำงานร่วมกับภาคเอกชน โดยจะมีบริษัทที่เป็นเครือข่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่ต้องการพนักงานในตำแหน่งต่างๆ และทางบริษัทไม่ต้องการที่จะหาพนักงานเอง ต้องการให้เจเนอเรชัน ช่วยจัดการหาและคัดกรองให้ก่อน ก็จะมาใช้บริการของเจเนเรชั่น รายได้ของเจเนเรชั่นส่วนหนึ่งมาจากภาคเอกชนเหล่านี้
ไม่จำกัดวุฒิ ไม่จำกัดอายุ ทุกคนทำงานในสายงานที่ต้องการได้
การค้นหาแรงงานของ เจเนเรชั่น แตกต่างจากองค์กรที่รับสมัครงานทั่วไป เพราะทุกคนที่มาสมัคร ไม่จำกัดวุฒิการศึกษา เรียนจบม.3 หรือ เรียนจบปริญญาทุกคนสามารถเริ่มต้นทำงานได้ ทุกอย่างจะถูกอบรมให้ใหม่หมด เพื่อรองรับกับความต้องการของตลาดแรงงาน เช่น ปัจจุบันแรงงานในกลุ่มพัฒนาซอฟแวร์ ดิจิทัล ไอที เป็นที่ต้องการของตลาดมาก แต่ประเทศไทยและทั่วโลกขาดแรงงานในกลุ่มนี้ เจเนเรชั่นเปิดรับสมัครแรงงานกลุ่มนี้ในประเทศไทย ซึ่งมีผู้สมัครมาจากหลากหลายอายุ วุฒิการศึกษา เช่น นางสาวชลิชา ผ่องจิตร เรียนจบปริญญาตรีวิศวอุตสาหกรรม จากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง แต่พอเรียนจบมารู้ว่าตัวเองต้องการทำงานสายพัฒนาซอฟแวร์ ไอที แต่ไม่สามารถสมัครงานสายงานนี้ที่ไหนได้ เพราะไม่ได้เรียนมา และ นายเอษรา ปิยะชนกวงศ์ เรียนจบด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ พอเรียนจบมาก็ไม่ได้ทำงานประจำ เพราะสาขาที่เรียนไม่ตรงกับความต้องการตองตลาดแรงงาน ก็เลยต้องผันตัวเองมาเป็นไรท์เดอร์ พนักงานรับส่งของ และอาหาร พอเจเนเรชั่น เปิดรับสมัคร น้องทั้งสองคนก็มาสมัคร และผ่านการสอบสัมภาษณ์ และได้เข้าร่วมอบรม ระบบ GenNX Model
หลังจากผ่านการอบรม จะถูกส่งเข้าไปทำงานในบริษัทเอกชนที่ทาง เจเนเรชั่นได้ทำข้อตกลงร่วมกัน ซึ่ง ในส่วนของน้องชลธิชา ต้องการที่ทำงานกับ บริษัทไมโครซอฟต์ และเมื่ออบรมเสร็จก็จะได้มีโอกาสสัมภาษณ์และเมื่อสอบสัมภาษณ์ผ่านก็จะได้เข้าร่วมทำงานเป็นพนักงานของ บริษัทไมโครซอฟต์ อย่างที่ตั้งใจ ในส่วนของ น้องเอษรา หลังจากอบรมเสร็จได้ทำงานที่บริษัทแห่งหนึ่ง ที่ทางเจเนเรชั่นได้ดิวไว้เลย หรือ ถ้าไม่ได้ทำงานอะไร การได้อบรมหลักสูตรของ เจเนเรชั่น นำไปเป็นหลักฐานเพื่อใช้ประกอบการสมัครงานในสายงานด้านซอฟแวร์ ไอที ในหน่วยงานอื่นๆที่ต้องการพนักงานในสายงานนี้ได้ต่อไป
โดย “ชลธิชา” และ “เอษรา” ได้พูดถึงการเข้าร่วมอบรมในครั้งนี้ ว่า ถือเป็นโอกาสที่ดีมากของตัวเอง เพราะจากสายงานที่ตัวเองต้องการจะทำ กับการเรียนไม่ได้ตรงกัน การอบรมครั้งนี้ แม้จะเป็นระยะสั้น แต่แตกต่างจากการเรียนในโรงเรียน เพราะเป็นการอบรม เพื่อการทำงานโดยเฉพาะโดยไม่ต้องใช้เวลาไปกับการเรียนที่นานมาก และบางครั้งก็ไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์อะไรกับการทำงานในชีวิตจริง แต่การอบรมเพียงแค่ 2-3 เดือน ก็สามารถนำความรู้ไปใช้กับการทำงานได้เลย หรือ ถ้าเราอยากจะทำงานในสายงานใด สายงานหนึ่ง แต่เราไม่ได้เรียนมาโดยตรง โอกาสที่จะได้งานแทบจะไม่มี แต่พอเจเนเรชั่น เข้ามาช่วยแก้ปัญหาลดช่องว่างการทำงานของเราตรงนี้ได้เลย โดยที่ไม่ต้องไปลงเรียนใหม่ที่ต้องใช้เวลา 4 ปี หรือมากกว่านั้น
การทำงานร่วมกันภาคเอกชน รัฐบาล
ผลิตกำลังคนให้ตรงกับตลาดแรงงาน
อย่างไรก็ดี การทำงานของเจเนอเรชัน จะไม่สามารถดำเนินการไปได้สำเร็จตามเป้าหมาย ถ้าขาดความร่วมมือจากหน่วยงานของภาครัฐ และภาคเอกชน ดังนั้น การทำงานที่ผ่านมาขององค์กร จะทำงานร่วมกับสถาบันการศึกษา และภาคเอกชน ครั้งนี้ ได้ร่วมกับ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม หรือ อว. และ บริษัทไมโครซอฟต์ ประเทศไทย จำกัด นำระบบ GenNX Model ระบบจัดการปัญหาการว่างงาน ด้วยการจับคู่ (Matching) ระหว่างผู้ต้องการหางาน กับบริษัทหรือนายจ้าง ผ่านกระบวนการฝีกอบรมแบบเข้มข้น ช่วยแก้ปัญหาผลกระทบการว่างงานจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19ที่ยืดเยื้อยาวนาน กระทบต่อตลาดแรงงานไทย เกิดการว่างงานจากการเลิกจ้างสูงถึง 7 ล้านตำแหน่ง และ การว่างงานของบัณฑิตจบใหม่ ที่ 2 ใน 3 ของจำนวนบัณฑิตจบใหม่ 340,000 คนไม่มีงานทำ เป็นผลมาจากความต้องการในตลาดแรงงานลดลง
ศาสตราจารย์ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวง อว. กล่าวถึง ความร่วมมือกับ เจเนอเรชัน ในครั้งนี้ ว่า อว.มีเป้าหมายผลิตบัณฑิต เพื่อให้มีทักษะที่ตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการ และตลาดแรงงานเน้นการสร้างกลไกให้เกิดการเรียนรู้รวมไปถึงสร้างสภาพแวดล้อมและโครงสร้างพื้นฐานที่ช่วยให้คนทุกกลุ่มสามารถพัฒนาทักษะของตนเองได้ง่ายขึ้น
ทั้งนี้ โมเดลขององค์กรเจเนอเรชัน เป็นรูปแบบการพัฒนาทักษะการทำงาน ผ่านการฝึกอบรมระยะสั้นแบบเข้มเข้น ตามความต้องการของแต่ละบริบทของประเทศไทย ที่สามารถนำมาใช้ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของประเทศได้ และยังเป็นโมเดลที่ช่วยพัฒนาทักษะให้กับผู้เข้าร่วมโครงการ เพื่อต่อยอดความรู้ และเปิดโอกาสให้เกิดการจ้างงานมากขึ้น ในขณะเดียวกัน สถาบันการศึกษาก็ได้เข้ามามีโอกาสเรียนรู้ในกระบวนการทำงานของเจเนเรชั่นนำไปปรับใช้สำหรับสร้างและพัฒนากำลังคนของสถาบันต่อไปในอนาคต
ด้าน นายธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยและสังคมโลกในระยะหลังได้ทำให้พันธกิจของไมโครซอฟท์ในการเสริมศักยภาพให้กับทุกคนและทุกองค์กรยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเรามองไปที่แนวโน้มความเปลี่ยนแปลงในตลาดแรงงาน โดยข้อมูลจาก LinkedIn และไมโครซอฟท์เองคาดการณ์ว่าภายในปี 2025 จะมีตำแหน่งงานใหม่ที่ใช้ทักษะเชิงดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์ ข้อมูล คลาวด์ AI หรือความปลอดภัยไซเบอร์ เพิ่มขึ้นมาถึง 139 ล้านตำแหน่งทั่วโลก ด้วยเหตุนี้ เราจึงยินดีที่จะให้การสนับสนุนกับเจเนเรชั่น ประเทศไทย ในฐานะอีกหนึ่งพันธมิตรบนเส้นทางสู่การเติมเต็มทักษะดิจิทัลให้คนไทย ซึ่งนอกจากการได้เรียนรู้ทักษะใหม่ๆ และนำไปทดลองใช้จริงแล้ว ยังต่อยอดไปสู่โอกาสในการก้าวเข้าสู่สายงานไอทีได้โดยตรงจากโครงการนี้ ขณะที่ภาคธุรกิจเองก็จะมีโอกาสได้เฟ้นหาบุคลากรหน้าใหม่ที่มีพร้อมทั้งทักษะ ทัศนคติ และความมุ่งมั่นที่จะเติบโตไปด้วยกัน”
ทั้งนี้ จากสถิติพบว่าผู้เข้าร่วมโปรแกรมของเจเนอเรชัน 86% สามารถหางานได้ภายใน 3 เดือนหลังจากเข้ารับการฝึกอบรม มีประสิทธิภาพในการทำงานสูงกว่าเฉลี่ย 84% และมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น 2-6 เท่าเมื่อเทียบกับก่อนเข้าร่วมโปรแกรม ปัจจุบันเจเนเรชั่น มีการดำเนินงานใน 17 ประเทศทั่วโลก และมีผู้จบโครงการทั้งหมดกว่า 55,000 คน ปัจจุบันเจเนเรชั่น เป็นองค์กรไม่หวังผลกำไรด้านการฝึกอบรมและหางานให้กับผู้ว่างงานที่ใหญ่ที่สุดและโตเร็วที่สุดในโลก
คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEsผู้จัดการ”รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด
SMEs manager