xs
xsm
sm
md
lg

“อุ๊ กรุงสยาม” ผู้บุกเบิกสายมูเตลู สู่ เศรษฐกิจฐานราก SoftPower มูลค่ากว่าหมื่นล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอ่ยชื่อ “อุ๊ กรุงสยาม” คนในวงการพระเครื่อง พระบูชา ไม่มีใครไม่รู้จัก เพราะเขาคือผู้ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของธุรกิจสายมูเตลู เรียกได้ว่าเป็นตัวพ่อแห่งวงการพระเครื่อง และเป็นผู้ก่อตั้งเว็ปไซต์ E- commerce พระเครื่อง ในตำนาน www.uamulet.com ซึ่งต้องบอกว่า เซียนพระเครื่องเบอร์ต้นเมืองไทย ที่มองการณ์ไกล เพราะเป็นคนแรกที่บุกเบิก และมีการโปรโมทพระเครื่องภูมิปัญญาไทย ผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ตั้งแต่เมื่อปี 2545 หรือ เมื่อ 20ปีก่อนหน้านี้


นายวัชรพงศ์ ระดมสิทธิพัฒน์
มารู้จัก เซียนพระเครื่องเบอร์หนึ่งเมืองไทย
กับผลงานบิ๊กที่หลายคนไม่เคยรู้มาก่อน


“อุ๊ กรุงสยาม” หรือ “นายวัชรพงศ์ ระดมสิทธิพัฒน์” ปัจจุบันยังพ่วงด้วยตำแหน่ง นายก อบต.บ้านใหม่ อ.มหาราช จ.พระนครศรีอยุธยา และเป็นผู้ก่อตั้ง และสร้างสรรค์ผลงานต่างๆ ออกมามากมาย ฯลฯ เรียกว่าหลายคน ไม่เคยรู้มาก่อน และเมื่อได้เห็นผลงานของ อุ๊ กรุงสยามคนนี้ จะต้องอ้าปากค้าง กับงานบิ๊ก งานช้าง ของเค้า เริ่มกันที่ผลงานที่โดดเด่น เป็นแลนด์มาร์คด้านการท่องเที่ยวที่เป็นประตูสู่ภาคใต้ นั่นคือ ผลงานการสร้างหลวงปูทวดองค์ใหญ่ ที่วัดห้วยมงคล อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ วันนี้ ใครที่เดินทางลงภาคใต้ หนึ่งในจุดหมาย ต้องแวะสักการะบูชา ไหว้หลวงปู่ทวดองค์ใหญ่ ที่วัดห้วยมงคลแห่งนี้ แหล่งท่องเที่ยวสร้างเม็ดเงินจำนวนมหาศาลให้กับ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

นอกจากนี้ ด้วยความที่เป็นคนพื้นเพ เมืองแปดริ้ว จ.ฉะเชิงเทรา ทำให้ “อุ๊ กรุงสยาม” ไม่ลืมบ้านเกิดเมืองนอนของตัวเอง นำความเจริญมาสู่บ้านเกิดในฐานะกรรมการสมาคมคนแปดริ้ว ก่อสร้างอุทยานพระพิฆเนศคลองเขื่อน จ.ฉะเชิงเทรา ต้นกำเนิดตำนานแหล่งท่องเที่ยวใหม่สายมูเตลู ของเมืองแปดริ้ว ซึ่งเชื่อมต่อการท่องเที่ยวสายบุญ ที่ต่อจากวัดหลวงพ่อโสธร คนที่เดินทางไปวัดหลวงโสธร จะแวะไหว้พระพิฆเนศ ส่งให้เมืองแปดริ้วมีเงินสะพัดเพิ่มขึ้นอีกปีละหลายพันล้านบาท


ถัดมาด้วยผลงานสุดอลังการณ์ งานช้างของ “อุ๊ กรุงสยาม” นั่นคือ พุทธอุทยานหลวงปู่ทวด ต.บ้านใหม่ อ.มหาราช แห่งพระนครศรีอยุธยา ที่มีหลวงปู่ทวดองค์ใหญ่ตระหง่าน พร้อมต้นแบบตลาดชุมชน ริมถนนสายเอเชีย มุ่งสู่ภาคเหนือ ต้อนรับผู้คนเรือนหมื่นต่อวัน ที่แวะเวียนมากราบไหว้ และซื้อของที่ระลึกที่เป็นของดีของชุมชน จุดเริ่มต้นของหลวงปู่ทวด ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา รังสรรค์ขึ้นมาตั้งแต่ยังเป็นท้องนาโล่ง ๆ จนกลายเป็นพื้นที่มูลค่าสูง และชุมชนเจริญ คนมีรายได้ มีงานทำ นอกจากนี้ รวมไปถึงการก่อสร้างหลวงปู่โต วัด โบสถ์ อ.สามโคก จ.ปทุมธานี ที่กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของ จ.ปทุมธานี และยังเป็นผู้ก่อตั้ง Night Market ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ที่เปิดรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก ก่อนมีสถานการณ์โควิด ไนท์มาร์เก็ตอยุธยาแห่งนี้ มีนักท่องเที่ยวจำนวนมากทั้งไทยและต่างประเทศ แวะเวียนมาเที่ยวสถานที่แห่งนี้

จากผลงาน ของ อุ๊ กรุงสยาม นอกจากทำให้เขาได้รับการยอมรับจากวงการพระเครื่องแล้ว ยังได้รับความไว้วางใจจากชาวบ้าน จากการนำความเจริญเข้าไปพัฒนาพื้นที่ ด้วยการสร้างแลนด์มาร์คด้านการท่องเที่ยวแนวมูเตลู จากการก่อสร้างสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ยึดแนวจิตใจคนไทย ไว้ในหลายพื้นที่ ให้คนไทยได้ไปกราบไว้สักการะบูชา และช่วยดึงเม็ดเงินจากการท่องเที่ยวเข้าไปพัฒนาชุมชน ด้วยเหตุนี้เอง ทำให้ “อุ๊ กรุงสยาม” เป็นที่หมายปองของนักการเมือง ดึงเข้าร่วมทีม และสุดท้ายเขาก็ได้เลือกที่จะเข้าร่าม และสวมเสื้อเป็นทีมเศรษฐกิจ “พรรคกล้า” โดยได้รับมอบหมายให้ดูแลด้านเศรษฐกิจชุมชน ในทีมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ SoftPower หวังสร้างเศรษฐกิจฐานรากกระตุ้นให้คนตัวเล็กได้ลืมตาอ้าปากได้


มรดกทางวัฒนธรรมของชาติเก่าแก่ที่สุด

นายกอุ๊ บอกว่า มรดกปู่ย่า ภูมิปัญญาแห่งสยาม ที่สืบทอดต่อเนื่องกันมานานนับพันปี เป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่ทั้งทรงคุณค่า และสามารถสร้างมูลค่าพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย ให้มาเฟื่องฟูและยังคงอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมให้อยู่คู่กับประเทศไทยไปอีกนานแสนนาน มรดกมูเตลู ที่อยู่คู่แผ่นดินสยาม เกิดขึ้นก่อนภาษา และก่อนจะใช้คำว่า “ประเทศไทย” นายกฯอุ๊ ยกให้ “พระเครื่องพระบูชา” ที่ควรคู่กับคำว่า “มรดกทางวัฒนธรรมของชาติ ที่มีความเก่าแก่ สืบต่อเนื่องยาวนานมาไม่น้อยกว่า 1,000 ปี

“เมื่อประมาณ 1,200 ปีที่แล้ว สมัยยุคศรีวิชัย ทางภาคใต้ ทวารวดีของภาคกลาง ล้านช้างของอีสาน เราก็มีวัตถุมงคล หรือพระเครื่องเกิดขึ้นแล้ว พอสิ้นยุคศรีวิชัย มาถึงยุคสุโขทัยหรือเชียงแสนประมาณ 700 ปี มานี้ ก็มีการสร้างพระเครื่องมาโดยตลอด และก็มาถึงยุคกรุงศรีอยุธยา ตั้งแต่ราชวงศ์อู่ทองจนสิ้นกรุงนับรวมได้ 417 ปี ก็มีการสร้างพระเครื่องในกรุต่าง ๆ มาตลอด จนกระทั่งมาถึงยุครัตนโกสินทร์ 200 กว่าปีมานี้ เราก็ไม่เคยว่างเว้นจากการสร้างพระเครื่อง พระบูชาเลย เพราะฉะนั้นพระเครื่อง พระบูชา จึงเป็นวัฒนธรรมที่คู่กับวิถีชีวิต ความเชื่อ ความศรัทธาของคนไทยมาโดยตลอด” นายกฯ อุ๊ กล่าว

ทั้งนี้ ระบุว่า การสร้างพระเครื่อง ถือเป็นการสืบทอด ต่ออายุพระพุทธศาสนา อย่างหนึ่งของคนไทย พระเครื่องเป็นเสมือนตัวแทนของพระพุทธเจ้า เพราะฉะนั้นคนโบราณจึงนิยม และใช้เป็นคติในการสร้างพระเครื่อง ส่วนเรื่องของการซื้อขายหรือมูลค่าพระเครื่อง ก็มาเกิดในยุคสมัยปัจจุบันคือยุครัตนโกสินทร์หรือราว ๆ ร้อยปีมานี้ มีการเล่นหาพระเครื่องเป็นของสะสม มันก็เลยทำให้ พระเครื่องที่เป็นพระกรุ ที่คนโบราณสร้างไว้ มีมูลค่ามหาศาลทางตัวเงิน และ ทางจิตใจ มีไว้เพื่อความสบายใจ เพื่อความสุขใจ และการสะสมหรือการซื้อขาย ทำให้พระเครื่องเป็นทรัพย์สิน ที่มีมูลค่าจนถึงปัจจุบันนี้ ตั้งแต่หลักสิบ หลักร้อย หลักพัน หลักหมื่น หลักแสน หลักล้าน ไปจนถึงหลายสิบล้าน


พระเครื่องกับมุมมองในเชิงเศรษฐกิจสร้างสรรค์ SoftPower

“อุ๊ กรุงสยาม” กล่าวว่า ในภาพรวมของพระเครื่อง ก็จะแบ่งเป็นพระเก่ากับพระใหม่ พระเก่าก็จะเป็นพระกรุ และพระเกจิอาจารย์ต่าง ๆ ที่มีมาแต่อดีต ส่วนพระใหม่ คือการที่ วัดวาอาราม องค์กรต่าง ๆ ได้มีการสร้างพระใหม่ หรือ วัตถุมงคลขึ้นมาใหม่ เพื่อให้เช่าบูชา แล้วก็นำเงินที่ให้เช่าบูชานั้นมาสร้างประโยชน์ เช่น สร้างโรงพยาบาล สร้างโรงเรียน ทุนการศึกษา โบสถ์ วิหาร เสนาสนะต่าง ๆ ให้กับวัดทั่วประเทศ ซึ่งสิ่งนี้ก็เป็นประโยชน์ ของพระเครื่อง ที่เป็นพระใหม่ ในเชิงธุรกิจ หรือเชิงเศรษฐกิจ

เมื่อถามว่าพระเครื่องเกี่ยวพันอย่างไรกับโครงสร้างเศรษฐกิจ “นายกฯอุ๊” บอกว่า การสร้างพระใหม่ก็ดี มันทำให้เกิดการหมุนเวียนของเศรษฐกิจเป็น Value chain ตั้งแต่คนออกแบบพระก็ดี วัตถุดิบต่าง ๆ การทำพิมพ์ โรงหล่อ โรงเหล็ก โรงปั๊ม คนงาน โรงงานพลาสติก โรงงานที่ขายทองแดง ทองเหลือง เม็ดเงิน ซึ่งมีการเชื่อมโยงธุรกิจตั้งแต่สเกลเล็ก ถึงสเกลใหญ่ ธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ การประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ เรื่องคนดีไซน์ คนออกแบบสิ่งพิมพ์ หรือปัจจุบันมีเรื่องของเทคโนโลยี มีเรื่องของ เฟสบุ๊ก ไลน์ ขึ้นมาก็ต้องทำอาร์ตเวิร์ค ต่าง ๆ เพราะฉะนั้น เด็กที่จบมาใหม่ ๆ ก็ต้องทำอาร์ทเวิร์ค ในเรื่องของการโฆษณาประชาสัมพันธ์ การขาย พิธีกรรมปลุกเสก อะไรต่าง ๆ เหล่านี้ ล้วนแต่มีวงจรของธุรกิจต่าง ๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง ที่เกี่ยวกับคนอีกจำนวนมาก แม้แต่ Apple หรือ บริษัทมือถือ บริษัทคอมพิวเตอร์ ได้อานิสงส์ รวมถึงธุรกรรมการชำระเงินของธนาคาร ธุรกิจขนส่ง

“และเมื่อได้เงินตามวัตถุประสงค์แล้ว ก็ไปสร้างศาลา ก็ต้องมีการซื้อปูน ซื้อเหล็ก ซื้อสี หลังคา ต้องเกี่ยวพันกับบริษัทใหญ่ ๆ มากมาย อาทิ บริษัทปูนซีเมนต์ เหล็กสหวิริยา หรือธุรกิจใหญ่อีกมากมาย จะเห็นได้ว่า พระเครื่ององค์เล็ก ๆ แต่เกี่ยวพันกับห่วงโซ่ธุรกิจมีการจ้างงานต่าง ๆ จำนวนมาก วัดวาอาราม ได้เสนาสนะ ได้โรงพยาบาล ได้ทุนการศึกษา เพราะฉะนั้นคนที่ได้ประโยชน์จาก Ecosystem หรือระบบนิเวศน์ของพระเครื่อง ของวัตถุมงคล มีเป็นจำนวนมาก เราอย่ามองว่าเป็นเรื่องของพุทธพาณิชย์เพียงอย่างเดียว แต่เรามองในเชิงเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เศรษฐกิจที่เกี่ยวพันกับสังคม อันนี้เป็นเรื่องที่อยากให้มองมุมนั้นมากกว่า และเราก็จะเห็นว่า มันจะเกิดการจ้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างรายได้ เป็นจำนวนมหาศาล และยังเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยเชิงช่าง ของเราที่มีสืบทอดมากว่า 1,000 ปี ให้ต่อเนื่องต่อไป”


พระเครื่องหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เหลืออยู่

อย่างไรก็ตาม “นายกฯ อุ๊” ย้ำว่า วันนี้ถ้าเรามองย้อนกลับไปจะพบว่า เรามีวัฒนธรรมอะไรที่เก่าแก่และยาวนานกว่า 1,000 ปีบ้าง เมื่อเทียบกับพระเครื่องบ้าง ภาษาไทย เราก็เพิ่งมีมา 700 ปี ศิลปะตามวัดวาอารามต่าง ๆ ก็เปลี่ยนไปตามยุคสมัย เมืองต่าง ๆ ก็ถูกทำลาย สูญสิ้นสลายไปตามกาลเวลา แต่พระเครื่องเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ หลักฐานทางยุคสมัยที่สำคัญ ศิลปะแต่ละยุคบ่งบอกถึงความเจริญ เมืองใดที่มีพระเครื่องมาก ก็แสดงว่าจิตใจของคนในเมืองนั้นมีความเป็นเมืองพุทธ

ถ้าพระนั้นงดงาม ก็แสดงว่าเมืองนั้นมีศิลปะ เป็นเมืองที่ร่มเย็นเป็นสุข เช่น ศิลปะสุโขทัย เราบอกสวยงามมาก ก็แสดงว่ายุคสุโขทัยเป็นยุคที่คนมีความสุข เพราะฉะนั้นเมื่อเป็นยุคที่คนมีความสุข ก็แสดงบ่งบอกออกมาทางเชิงช่างและงานศิลปะ พระเครื่องจึงเป็นหลักฐานอย่างหนึ่ง ที่แสดงถึงความสุขของคนในเมืองนั้น ๆ ในขณะที่พระเครื่องของ กรุงศรีอยุธยา บางยุค หน้าเศร้า หน้าดุ เพราะเมืองแตกบ้าง บ้านเมืองระส่ำระสายบ้าง ในยุคสมัยรุ่งเรืองก็มีการทำเป็นพระทองคำ มีอะไรต่าง ๆ เยอะแยะมากมาย บ่งบอกถึงความรุ่งเรือง เพราะฉะนั้นเรามองในมุมศิลปะเหล่านี้เพื่อบอกเล่าประวัติศาสตร์ และความเป็นอยู่ผ่านพระเครื่องพระบูชา


พระเครื่องไทยกับการสร้างรายได้เข้าประเทศ

เมื่อตัดกลับมาในยุคที่นิยมการ การเช่าพระเครื่อง ก็จะเกิดอาชีพของการให้เช่าพระเครื่อง คนมีอาชีพ มีรายได้ วันนี้พระเครื่องไปไกลถึงต่างประเทศ คนจีน คนสิงค์โปร์ ชอบพระเครื่องไทย มาเลเซียก็มีบางส่วนที่ชอบพระเครื่องไทย แม้กระทั่ง ลาว กัมพูชา ก็ชอบพระเครื่องไทย จะเห็นได้ว่า พระเครื่องของไทยสามารถขายได้ในระดับนานาชาติ และมูลค่า Volume ของพระเครื่องทั้งพระเก่า พระใหม่ ปีนึงไม่ต่ำกว่า 4-5 หมื่นล้านบ้าน ในจำนวนนี้ ก็จะมีทั้งพระเก่าพระใหม่หมุนเวียนกันไป มันเป็นวัฏจักรของเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงกัน เงินก็ถูกใช้ไป หมุนเวียนไปอีกหลายทอด เกิดอาชีพ พระเครื่องจึงเป็น “SoftPower” อย่างหนึ่ง ที่สร้างงาน สร้างเศรษฐกิจฐานรากได้

ยกตัวอย่างวันนี้ ไอ้ไข่ จ.นครศรีธรรมราช ชุมชนวัดเล็ก ๆ ที่อยู่กลาง อ.สิชล ไกลจากตัวนครศรีธรรมราช 60 กิโลเมตร แต่วันนี้เกิดความเจริญ ถ้าไม่มีวัดไอ้ไข่ วัดและชุมชนในละแวกใกล้เคียงก็จะไม่ดังขนาดนั้น ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง คนก็จะไปทำงานนอกพื้นที่ วันนี้คนทั่วประเทศวิ่งเอาเงินไปให้ชุมชนไอ้ไข่ สายการบิน 50 เที่ยวบินต่อวัน ที่บินตรงสู่ จ.นครศรีธรรมราช มากที่สุดในประเทศ เพราะว่าเศรษฐกิจสายมู เป็นตัวอย่างที่เห็นภาพที่สุด คนต้องไปกินข้าว ไปซื้อของฝาก ไปนอนพักโรงแรม ของไหว้ ของแก้บน ล้วนทำให้เศรษฐกิจในจังหวัดโดยรวมดีขึ้น ได้สาธารณูปโภคใหม่ ลูกหลานก็มีงานทำ ขายของได้ นี่

หรือคำชะโนด จ.อุดรธานี เราจะเห็นว่าได้ว่าไกลมาก แต่เมื่อเกิดความเชื่อ คนไปไหว้ วังนาคิน วังพญานาค เกิดความเจริญ หรือที่ เขาคิชกูฎ จ.จันทบุรี คนแห่กันไปปีละหลายแสนคน ที่ จ.บึงกาฬ ก็มีถ้ำนาคา ที่ผู้คนให้ความนิยม เพราะฉะนั้น คำว่าเศรษฐกิจสายมู ไม่ใช่เรื่องของความงมงาย แต่เป็นการมองอย่างสร้างสรรค์ เปรียบเสมือน เมล็ดข้าวเปลือก ที่หว่านออกไป มันจะ งอกบ้างตายบ้างก็เป็นเรื่องปกติ

“ที่มีคนบอกว่าไม่ใช่แก่นแท้ของพระพุทธศาสนา อย่าลืมว่า ก่อนที่จะเข้าถึงแก่นได้ มันต้องผ่านเปลือกและกระพี้ก่อน คนไปวัดไม่ว่าจะไปด้วยความเชื่ออะไรก็ตาม เขาก็ไปวัด ไปหาพระ ไม่ได้ไปในแหล่งอบายมุข มันต่างกัน เศรษฐกิจวงการพระ Volume ของมันให้มุมมองที่สร้างสรรค์มากกว่าเดิม” นายกอุ๊ กล่าว


ประเมินรายได้วงการพระเครื่อง ปีละกว่า 50,000 ล้านบาท

เมื่อถามว่า ประเมินค่าได้ไหม ทั้ง การซื้อขาย และ ผลพวงอันเกิดจากเงินรายได้ที่ไปสร้างอรรถประโยชน์ต่าง ๆ อันเกิดจากวงจรพระเครื่องพระบูชาปีละประมาณเท่าไร นายกฯ อุ๊ บอกว่า ปีหนึ่งตกราว ๆ 50,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นวงเงินที่คิดรวมทั้งวงจรธุรกิจ วิธีคิดคือ เซียนพระ 1 คน ซื้อขายปีละ 10 ล้านบาท ปีนึงก็ 100 ล้านบาท 100 คน ก็ 10,000 ล้านบาท บางคนปีนึงอาจจะขายได้ 5 ล้าน บางคนขายได้ 20 ล้านก็มี ตัวเลข 50,000 ล้านบาท ไม่ได้ดูเยอะไป คิดง่าย ๆ สมมุติว่า ปีนึงทั้งประเทศสร้างพระกัน 500 วัด เฉลี่ยวัดละ 3 ล้านบาทเงินทุนหมุนเวียน พันห้าร้อยล้าน บางวัดยอดจองหลายร้อยล้าน โรงหล่อมีรายได้ คนงานมีรายได้ ช่างหล่ออยู่ได้ ครอบครัวอยู่ได้ วัดวาอารามต่าง ๆ ก็อยู่ได้ ดังนั้นเราจะมองข้ามไม่ได้ อันนี้ก็ถือว่าเป็นระบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือ Ecosystem อย่างหนึ่งขององค์ประกอบ เป็น Section หนึ่งของเศรษฐกิจมหภาค

ถ้าพูดถึงเทรนด์พระเครื่อง ซึ่งในวงการพระเครื่องจะมีช่วงเวลา ความนิยม เหมือนกับดารานักแสดง นักร้อง หรือ เพลง ในวงการพระเครื่องเช่นเดียวกัน เช่น ทำไมมีคนสร้างท้าวเวสสุวรรณเยอะ นายกฯ อุ๊ อธิบายว่า ยุคนี้เป็นยุคที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของ ฮวงจุ้ย ยุค 8 เป็นเรื่องของยุคเปิดประตูผี ยุคของโรคภัยไข้เจ็บ เทพประจำยุคสมัยก็อาจจะเป็นท้าวเวสสุวรรณ เทพเจ้าแห่งภูตผีปีศาจ และยังเป็นเทพในเรื่องของโชคลาภด้วย เพราะท่านดูแลทรัพย์สิน ประทานทรัพย์สินและโชคลาภ ท่านยังมีชื่อธนบดี ท้าวกุเวร ท้าวจตุโลกบาล ที่ดูแลโลกมนุษย์และสวรรค์ด้วยคุณสมบัติ คนอาจจะแสวงหาความมั่นใจเป็นช่วงของจังหวะเวลา ยุคก่อนหน้านี้ ก็จะเป็นจตุคาม พอถึงช่วงหนึ่งมีเยอะเกินไป เป็นหลักดีมานด์ ซัพพลาย ปกติ แต่คนก็ยังนับถืออยู่ คนยังไปไหว้ ศาลหลักเมืองนครศรีธรรมราชอยู่ ความศรัทธากับวัตถุมงคลอาจจะสวนกระแสกัน


คนรุ่นใหม่กับศาสตร์ความเชื่อ วัตถุมงคล

อย่างไรก็ตาม “นายกอุ๊” ยอมรับว่า สิ่งที่เขาคาดผิดมาตลอดคือ เด็กรุ่นใหม่จะไม่เข้าวัด ไม่นับถือพระ หรือองค์เทพทั้งหลาย แต่ผิดคาด เพราะวัยรุ่นสนใจวัตถุมงคลมากขึ้น แรก ๆ ส่วนหนึ่งอาจเพราะเป็นเรื่องใหม่ของเขา ที่อาจจะยังไม่มีความรู้ พอได้ไปศึกษาเรื่องราวมันโดนใจ ซึ่งอาจจะถูกจริตเขาว่า คุ้มครองได้ มีอำนาจ สื่อได้ถึงพลานุภาพ เป็นที่พึ่งทางใจที่ทำให้มีความสุข เช่นเดียวกับเรื่องสัก ก็เป็นความเชื่อที่มีมาแต่โบราณเป็นพันปี ไม่ใช่เพิ่งมี การสักอยู่คู่กับสังคมไทย เป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง เป็น SoftPower อย่างหนึ่ง การสักทำกันทั่วโลก หลายวัฒนธรรม หลายประเทศ แต่สักของไทยเกี่ยวกับเรื่องของความเชื่อความศักดิ์สิทธิ์และความขลัง เป็นเรื่องของภูมิปัญญา เมืองนอก ตะวันตก เขาเน้นศิลปะ

นายกฯ อุ๊ ย้ำด้วยว่า นอกจากการเที่ยววัดวาอารามต่าง ๆ แล้วสินค้าของท้องถิ่น ชุมชน ที่เป็นอัตลักษณ์ของชุมชน ก็ขายได้ ไม่ว่าจะเป็นอาหาร การกิน ของที่ระลึก ของฝากตามท้องถิ่น ทั้งหมดนี้คือ SoftPower ที่มันเกี่ยวพันกับวงจร ห่วงโซ่ธุรกิจอีกหลายเรื่อง เข้าถึงชาวบ้านได้จริง และเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ที่ทำให้เม็ดเงินเข้าสู่ชุมชนเร็วที่สุด ชาวบ้านเข้าใจระบบ ความเชื่ออะไรเหล่านี้และพร้อมให้ความร่วมมือ เพราะทุกคนได้ประโยชน์ร่วมกัน เป็นอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องที่จะเติบโตไปด้วยกัน

“ภูมิปัญญาและวิถีไทยที่มีเสน่ห์ สามารถขายได้ทั่วไทย และไปไกลได้ทั่วโลก เพราะมันคือความงดงาม ของวัฒนธรรม บนโลกนี้ ที่มีความหลากหลายเป็นเรื่องแปลกใหม่ ของคนที่ไม่รู้ และสามารถแปรเปลี่ยนมาเป็นเรื่องอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เชิงศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรมได้ สร้างความเจริญให้กับชุมชนท้องถิ่น อย่างถึงฐานรากโดยตรงและรวดเร็ว” นายกอุ๊ กล่าวในตอนท้าย

สนใจ ติดต่อ www.uamulet.com

คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEsผู้จัดการ”รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด
SMEs manager



กำลังโหลดความคิดเห็น