เมื่อโควิดทำพิษทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีหลายรายต้องหยุดพักธุรกิจไว้ชั่วคราว เนื่องจากไม่สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้อย่างเต็มที่หรือบางรายก็เลิกธุรกิจไปอย่างถาวร แต่ยังคงมีธุรกิจอีกมากมายที่เริ่มต้นและเติบโตในช่วงโควิด-19 ระบาด โดยอาศัยการทำการตลาดออนไลน์และหันมาขายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ ซึ่งได้หยิบยกมาทั้งหมด 5 เอสเอ็มอีที่เติบโตในแพลตฟอร์มออนไลน์มาให้ได้ทำความรู้จักกัน
เริ่มต้นที่ SME รายแรก
เชฟจ่อยอร่อยทุกเมนู
คนดังใน TikTok ที่เปิดร้านขายขนมเบเกอรี่ออนไลน์และใช้โซเชียลให้เกิดประโยชน์ จากคนติดตามหลักร้อยทะยานสู่หลักหมื่นในเวลาไม่กี่เดือน พร้อมเผยเทคนิคการทำการตลาดออนไลน์อย่างไรให้คนติดตาม ตั้งเป้าภายในสิ้นปีนี้จะขยายธุรกิจในรูปแบบของการจัดตั้งบริษัทเพื่อต่อยอดกิจการในอนาคต
โดยมีชื่อว่า นายทวี มินะเศษ เจ้าของร้านเบเกอรี่ “เชฟจ่อยอร่อยทุกเมนู” ซึ่งได้มีการทำการตลาดออนไลน์บนแพลตฟอร์ม TikTok เดิมทีตนเป็นผู้ที่อยู่ในแวดวงการทำขนมและเบเกอรี่อยู่แล้ว และตนนั้นได้ป่วยเป็นโรคธาลัสซีเมีย ซึ่งตนไม่ต้องการเป็นภาระใคร จึงตั้งใจเรียนเชฟและหันทำธุรกิจเป็นของตัวเอง โดยการเปิดร้านขนมที่มีราคาเข้าถึงง่ายเริ่มต้นที่ 5 บาท รวมถึงได้ทำการตลาดในแอปพลิเคชั่น TikTok เพื่อโปรโมทสินค้า โดยการโพสต์คลิปวิดีโอ ปัจจุบันจากผู้ติดตามหลักร้อยทะยานสู่หลักหมื่นในเวลาเพียงไม่กี่เดือน และมียอดวิวจำนวนมากในแต่ละคลิปวิดีโอ ซึ่งทุกวันเวลา 20:00 น. เจ้าของร้านจะไลฟ์สดใน TikTok เพื่อมาบอกเล่าเรื่องราวการทำงาน เทคนิคต่างๆ สูตรที่เกี่ยวกับการทำขนมเบเกอรี่และเค้กให้กับลูกค้าและคนที่ติดตามเพื่อที่จะนำเทคนิคต่างๆ ไปปรับใช้และพัฒนาฝีมือสำหรับคนที่สนใจ
SME คนที่ 2
ขนมมันหนึบเพื่อสุขภาพจากร้าน “Better better”
เมื่อเรียนจบแล้วว่างงานไม่มีอะไรทำ จึงหันมาเปิดคาเฟ่เพื่อหารายได้ ต่อยอดธุรกิจด้วยการขาย “ขนมมันหนึบเพื่อสุขภาพ” ด้วยวัตถุดิบที่ดีต่อร่างกาย จากเดิมที่เปิดขายหน้าร้าน ลองหันมาตีตลาดออนไลน์ได้ไม่ถึงเดือนลูกค้าสนใจ ออเดอร์ทะลักยอดขายหลักแสน พร้อมต่อยอดเปิดตัวแทนจำหน่ายในอนาคต
เจ้าของร้านมีชื่อว่า นางสาวเนตรชนก เส็งสมาน หรือ ไอซ์ ก่อนที่จะมาทำขนมมันหนึบขายนั้น ตนได้มีธุรกิจร้านคาเฟ่เป็นทุนเดิม โดยตั้งอยู่ในพื้นที่ตัวเมืองนครปฐมและเปิดมาได้ประมาณ 1 ปี ต่อมามีความรู้สึกต้องการนำขนมรูปแบบใหม่มาขายภายในร้าน โดยปกติส่วนตัวเป็นคนที่ชอบกินขนมเพื่อสุขภาพ บวกกับชอบหาไอเดียใหม่ๆ เพื่อนำมาพัฒนาร้านคาเฟ่ของตน ประจวบกับช่วงหนึ่งได้มีโอกาสไปลองกินขนมที่มีลักษณะคล้ายกันแล้วรู้สึกว่าตอบโจทย์และเป็นขนมใหม่ที่ยังไม่ค่อยมีวางขายมากนัก ทำให้ตนตัดสินใจที่จะผลิตและพัฒนาขนมเพื่อสุขภาพขึ้นมา มีชื่อว่า “ขนมมันหนึบ”
ในส่วนของการทำการตลาดออนไลน์นั้น ทางร้านให้ข้อมูลว่าต้องการถ่ายทอดจุดเด่นของขนมมันหนึบให้กับลูกค้ามากที่สุด โดยขนมมันหนึบอาจเป็นขนมที่แปลกใหม่สำหรับกลุ่มลูกค้า ทำให้มีคนสนใจมากยิ่งขึ้น ด้านเทคนิคในการนำเสนอสินค้าของทางร้านนั้น จะนำเสนอในส่วนของการถ่ายรูปและวิดีโอให้สวยและน่าสนใจ เพื่อที่เวลาโปรโมทสินค้าจะได้ทำให้สินค้าน่าสนใจและเป็นที่จับตามองต่อกลุ่มลูกค้า
มาต่อกันที่ SME คนที่ 3
ไดฟุกุ คู่รักนักศึกษา จากร้าน The.earlybake
คู่รักนักศึกษาจับมือลงขันคนละ 1,000 บาท ทำ “ไดฟุกุ” ขายให้กับลูกค้ากลุ่มนักศึกษาในมหาวิทยาลัยแบบออนไลน์และจัดส่งเอง ครึ่งเดือนสามารถคืนทุนและต่อยอดธุรกิจโดยการเปิดหน้าร้านเป็นของตัวเอง ขยายฐานลูกค้าเพิ่มด้วยการออกบูธและสร้างคอนเท็นต์ลง TikTok ปัจจุบันเปิดร้านมาได้ประมาณ 2 ปี ยอดขาย 6 หลักต่อเดือน
เจ้าของร้านมีทั้งหมด 2 คนคือ นางสาวชญานินทร์ สังขพงษ์ และนายภูมิภัทร แขเจริญสุข คู่รักที่มีไอเดียทำธุรกิจตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ซึ่งในช่วงนั้นอยู่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกแรกๆ พอมีไวรัสเข้ามาระบาดในประเทศไทยทำให้หลายๆ คนมีเวลาว่างจากการกักตัวเพื่อป้องกันการติดเชื้อ หลังจากนั้นทั้งสองคนได้เริ่มคุยและคิดหาช่องทางการเพิ่มรายได้เพื่อแบ่งเบาภาระของทางบ้าน
โดยลงขันทำทุนคนละ 1,000 บาท รวมเป็น 2,000 บาทสำหรับการทำธุรกิจในช่วงแรกและทำมาอย่างต่อเนื่องถึงปัจจุบันได้ประมาณ 2 ปี รวมถึงมีเทคนิคและกลยุทธ์ในการทำการตลาดของทางร้านโดยจะมีการโปรโมทในเพจและออกบูธขายในสถานที่ต่างๆ เมื่อลูกค้าเข้ามาซื้อก็จะบอกปากต่อปากกันเอง รวมถึงได้มีการส่งสินค้าให้กับเน็ตไอดอลรีวิว ซึ่งจะทำให้ลูกค้าตามมาสนับสนุนขนมของทางร้านจากการรีวิวของเน็ตไอดอลค่อนข้างมากพอสมควร นอกจากนี้ยังมีการทำคอนเท็นต์โปรโมทผ่านสื่อออนไลน์ เช่น TikTok ทำให้ขนมของทางร้านเป็นที่รู้จักมากขึ้น จากเดิมที่เปิดส่งต่างจังหวัดจะมีรายได้หลักพันต่อวัน แต่พอลองทำคอนเท็นต์ลง TikTok ทำให้มียอดการสั่งซื้อจากลูกค้าต่างจังหวัดก้าวกระโดดขึ้นไปเป็นหลักหมื่นบาท
SME คนที่ 4
เบอร์เกอร์ข้าวจี่ จากร้าน ข้าวจี่เดอะซีรีย์
ยกระดับจากข้าวจี่ธรรมดาให้กลายเป็นเมนูข้าวจี่ฟิวชั่นที่แตกต่าง ชูเมนู “เบอร์เกอร์ข้าวจี่” เป็นจุดเด่น พร้อมหยิบยกตัวละครมาสร้างเรื่องราวให้เกิดความสนุกในการกินข้าวจี่ เจ้าแรกในจังหวัดอุบลราชธานี ตั้งเป้าต่อยอดการขยายแฟรนไชส์ทั่วประเทศ
นายเสฎฐวุฒิ เดชาติวงศ์ ณ อยุธยา เจ้าของร้าน ข้าวจี่เดอะซีรีย์ ให้ข้อมูลว่า จุดเริ่มต้นในการเปิดร้านนั้นเริ่มต้นจากการที่ตนได้ขับรถแวะปั๊มน้ำมันและได้ซื้อข้าวเหนียวหมูปิ้งกลับมากินด้วย แต่จะกินยากเพราะอยู่ในช่วงการขับรถ แฟนของตนจึงเอาหมูปิ้งออกจากไม้แล้วเอาไปรวมกับข้าวเหนียวในถุงเพื่อที่จะได้กินง่ายกว่าปกติ ทำให้เกิดไอเดียในการกินข้าวเหนียวหมูปิ้งแบบง่ายในช่วงขับรถและเป็นที่มาของการสร้างแบรนด์ “ข้าวจี่ เดอะซีรีย์”
สำหรับเทคนิคและกลยุทธ์ในการทำการตลาดนั้น ทางร้านจะนำเสนอข้าวจี่และอาหารอีสานให้กินง่าย เข้าถึงได้ทุกเพศ ทุกวัย ผ่านตัวละครและเรื่องราวการผจญภัยของเด็กชายข้าวจี่และผองเพื่อนที่กล่าวมาข้างต้นของการสร้างตัวละคร ซึ่งเมื่อช่วงที่โควิด-19 ระบาดหนักก็ได้พักร้านไปชั่วคราวและกลับมาเปิดสาขาเพิ่มและทำการตลาดใหม่ โดยการโปรโมทผ่านช่องทาง TikTok และสามารถกลับมาเป็นที่รู้จักในกลุ่มลูกค้ามากยิ่งขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งเปอร์เซ็นต์การเข้าถึงและสนใจเพิ่มขึ้นกว่า 10-20 เท่า
มาถึง SME คนสุดท้าย
ผักสลัดออร์แกนิค จาก ฟาร์มสุขทางใจ
นางสาวกนกพร เขื่อนแก้ว เจ้าของฟาร์มสุขทางใจ เล่าว่า จุดเริ่มต้นในการทำฟาร์มสุขทางใจปลูกผักสลัดอินทรีย์นั้น มีที่มาจากการที่ตนเพิ่งเรียนจบ เป็นเด็กจบใหม่อยากมีธุรกิจเป็นของตัวเองจึงได้เปิดร้านอาหารในพื้นที่หน้ามหาวิทยาลัยพะเยา ซึ่งเมื่อเปิดร้านไปได้ช่วงแรกผลตอบรับดีแต่ต้องมาโดนผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้รายได้ลดลง ต่อมาตนจึงจำเป็นต้องหารายได้และอาชีพเสริม ประจวบกับที่บ้านมีพื้นที่ว่างตนจึงเกิดแนวคิดในการปลูกผักสลัดเพื่อหารายได้อีกหนึ่งช่องทาง หลังจากที่ตัดสินใจปลูกผักสลัดขายนั้นในช่วงแรกจะเน้นขายแบบพรีออเดอร์ และทำการโพสต์โปรโมทสินค้าในกลุ่มเพจเฟซบุ๊ก “กินอะไรดี” ของพะเยา เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้มากยิ่งขึ้น
ในส่วนการทำการตลาดนั้นทางฟาร์มจะนำเสนอความเป็นตัวเอง โพสต์โปรโมทสินค้าและทำคลิปวิดีโอสอดแทรกความรู้เพื่อให้คนที่ติดตามสามารถดูและจำคำแนะนำไปทำตามได้ ซึ่งเมื่อลูกค้าได้ดูคลิปวิดีโอที่ทางฟาร์มนำเสนอไปแล้วก็จะชื่นชอบและตามด้วยการสั่งซื้อผักไปลองกิน โดยส่วนใหญ่จะเป็นลูกค้าต่างจังหวัดกว่า 90% ที่สนใจสั่งซื้อผักของทางฟาร์มไป และจัดส่งโดยการใช้บริการรถเย็นควบคุมอุณหภูมิเพื่อป้องกันการเน่าเสียของผักและคงความสดใหม่เมื่อถึงมือลูกค้า
อย่างไรก็ตามการทำการตลาดออนไลน์มีความสำคัญและจำเป็นอย่างมากในยุคปัจจุบันสำหรับผู้ประกอบการ SME รวมถึงการขายสินค้าในรูปแบบออนไลน์ก็เช่นเดียวกัน เพราะคนส่วนมากสะดวกและง่ายต่อการจับจ่าย รวมถึงยังเป็นช่องทางการต่อยอดธุรกิจให้กับผู้ประกอบการในอนาคตได้อีกด้วย
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด* * *