วันเสาร์ที่ 7 พฤษภาคม 2565 เวลา 14.30 น. ณ แปลงครัวเรือนต้นแบบ โคก หนอง นา พัฒนาชุมชน แปลงของนางนวลศรี กองน้อย บ้านเสือกินวัว หมู่ที่ 3 ตำบลมิตรภาพ อำเภอแกดำ จังหวัดมหาสารคาม
นายเกียรติศักดิ์ ตรงศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม พร้อมด้วย นางพรศรี ตรงศิริ นายกเหล่ากาชาดจังหวัดมหาสารคาม และหัวหน้าส่วนราชการ ได้แก่ นายพงษ์ศักดิ์ คณะมะ พัฒนาการจังหวัดมหาสารคาม นางไคริกา ศิรประภาเดโช ประชาสัมพันธ์จังหวัดมหาสารคาม และ นางสาวทองย้อย แก้วคำไสย์ หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต สำนักงานเกษตรจังหวัดมหาสารคาม ร่วมลงพื้นที่ติดตามเยี่ยมเยียนให้กำลังใจในการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฏีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” แปลงของนางนวลศรี กองน้อย บ้านเสือกินวัว หมู่ที่ 3 ตำบลมิตรภาพ อำเภอแกดำ จังหวัดมหาสารคาม ซึ่งเป็นแปลงที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 จากการประกวดครัวเรือนต้นแบบ โคก หนอง นา พัฒนาชุมชน จังหวัดมหาสารคามที่ผ่านมา โดยมีนายศฎายุช ไชยะลาด นายอำเภอแกดำ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอแกดำ และเครือข่ายโคกหนองนา อำเภอแกดำ ร่วมให้การต้อนรับ
นายศฎายุช ไชยะลาด นายอำเภอแกดำ ได้รายงานถึงการดำเนินงานขับเคลื่อนโครงการฯ ของอำเภอแกดำ ซึ่งในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ได้รับการจัดสรรงบประมาณตามโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาชีวิตตามหลักทฤษฏีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” แยกเป็น 2 ส่วน คือ งบเงินกู้ จำนวน 17 แปลง และ งบยุทธศาสตร์กรมการพัฒนาชุมชน จำนวน 10 แปลง และในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ได้รับการจัดสรรงบประมาณโครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง (โคก หนอง นา พัฒนาชุมชน) จำนวน 9 แปลง
ในส่วนแปลงของนางนวลศรี กองน้อย บ้านเสือกินวัว หมู่ที่ 3 ตำบลมิตรภาพ ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากงบยุทธศาสตร์กรมฯ พื้นที่ 1 ไร่ โดยมีนายประมวน กองน้อย บุตรชายเป็นผู้บริหารจัดการพื้นที่ที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์ได้มากที่สุด ภายใต้ชื่อ ‘ไร่สลิลทิพย์’ โดยมีการปรับปรุงแปลงตามหลักกสิกรรมธรรมชาติ รวมทั้งขับเคลื่อนแปลงจนพัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้ต้นแบบในปัจจุบัน และยังได้รับการคัดเลือกให้เป็นศูนย์ผู้นำจิตอาสาพัฒนาชุมชนอำเภอแกดำ เพื่อเป็นเป็นแหล่งบ่มเพาะองค์ความรู้แก่ผู้นำและคนในชุมชน
นายประมวน กองน้อย เปิดเผยว่า ตอนสมัครเข้าร่วมโครงการ ตนได้รับเสียงสะท้อนรอบตัวด้วยความไม่มั่นใจว่าจะสามารถพัฒนาแปลงที่แห้งแล้ง ทำได้เพียงปลูกข้าวในหน้าฝนได้ปีละครั้ง จะสามารถพัฒนาให้เป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ สามารถทำการเกษตรได้ตลอดทั้งปี โดยไม่ต้องรอน้ำฝนเพียงอย่างเดียว แต่ด้วยความที่ ตนมีความโชคดีได้ร่วมเป็นหนึ่งใน ‘นักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ การพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ ‘โคก หนอง นา โมเดล’ หรือ (นพต.) มีโอกาสได้เข้าร่วมอบรมการเป็นนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ ที่สำงานพัฒนาจังหวัดมหาสารคามได้จัดขึ้น ณ โครงการฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริฯ บ้านกำพี้ อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม จึงนำความรู้มาต่อยอดเป็นครูพาทำช่วยเหลือกิจกรรมเรื่องขององค์ความรู้ให้กับครัวเรือนในด้านต่างๆให้สามารถบริหารจัดการพื้นที่แปลงและพึ่งต้นเองได้อย่างยั่งยืนในยุคโควิด-19”
‘ไร่สลิลทิพย์’ ได้รับโอกาสในการเข้าร่วมโครงการ ‘โคก หนอง นา โมเดล’ แบ่งพื้นที่ที่เคยทำนามาก่อน 8 ไร่ ได้ผลผลิตไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย เข้าร่วมโครงการฯ 1 ไร่ได้ทำการขุดตามแบบมาตรฐานของกรมการพัฒนาชุมชน ซึ่งพื้นที่จะต้องมีในส่วนของหนอง นา และคลองไส้ไก่ โดยได้บริหารจัดการดังนี้ คือ 1.โคก ได้ทำการปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ปลูกไม้มรดกให้ลูกหลานได้ใช้ในอนาคต เช่น ยางนา สัก 2.หนอง ได้ทำการเลี้ยงปลานิล ปลาตะเพียน กุ้ง หอยขม และกระจับ 3.นา ได้ทำการปลูกข้าวเหนียว กข6
นอกจากนี้บริเวณรอบพื้นที่ยังได้ทำการปลูกพันธุ์ไม้ต่าง ๆ เช่น มะม่วง ลำไย มะไฟ ขนุน มะนาว ดอกกระเจียวขาว ดอกกระเจียวหวาน ฝรั่ง ผักหวาน และกล้วยสายพันธุ์ต่างๆ รวมทั้งยังมี “คันนาทองคำ” ครัวเรือนต้นแบบสามารถใช้เป็นพื้นที่ในการปลูกพืชผักสวนครัว เช่น หอม ขิง ข่า ตะไคร้ มะกรูด มะเขือ แตงกกว่า บวบ และถั่วฝักยาว เป็นต้น โดยใช้องค์ความรู้ต่างๆ ทั้งการทำน้ำหมัก การห่มดิน การทำแซนวิชปลา การทำปุ๋ยหมักแห้ง การทำหลุมพอเพียง เข้ามาช่วยในการลดต้นและรักษาความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่แปลงครัวเรือนต้นแบบได้เป็นอย่างดี
ปัจจุบันไร่สลิลทิพย์ถือว่าเป็นแหล่งอาหารที่สามารถเลี้ยงชุมชนได้เป็นอย่างดีในยุค โควิด-19 พลิกวิกฤติเป็นโอกาส !!…ในการสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารและ ครัวเรือนมีรายได้จากการขายสินค้าเป็นกอบเป็นกำ ถึงแม้จะเพียงแค่หลักร้อย แต่สามารถมีรายได้อย่างต่อเนื่องในทุกๆ วัน โดยใช้ระยะเวลาเพียง 1 ปี ที่ตนและครอบครัวพัฒนาพื้นที่แห่งนี้จนสามารถพลิกฟื้นผืนนา ที่แห้งแล้งเป็นพื้นที่เกษตรที่มีความอุดมสมบูรณ์ สร้างความสุขและความมั่นคงให้แก่ครอบครัว นายประมวน กล่าว
โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบประยุกต์สู่โคกหนองนา นี้ เป็นการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและหลักทฤษฎีใหม่ ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงพระราชทานไว้ให้แก่ปวงชนชาวไทย เพื่อให้มาปรับใช้ให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่เข้มแข็งอย่างยั่งยืน และสำหรับพื้นที่ของ “ไร่สลิลทิพย์” ที่ได้เข้าร่วมโครงการฯ นี้ถือว่าเป็นต้นแบบที่ดีให้แก่ชุมชน เกษตรกรบ้านใกล้เรือนเคียงได้มาศึกษาเรียนรู้ทำเป็นแบบอย่างถือว่าเป็นอานิสงส์ สิ่งที่เห็นชัดเจนคือการลดรายจ่ายให้แก่ครัวเรือน ไม่ต้องทำเยอะ ทำพอดีกับกำลังตัวเอง แค่ปลูกในสิ่งที่กิน กินในสิ่งที่ปลูก เหลือก็ค่อยแบ่งปันหรือขายเพิ่มรายได้ ก็สามารถสร้างความมั่นคงให้แก่ตนเองและครัวเรือนได้แล้ว นายเกียรติศักดิ์ ตรงศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม กล่าวทิ้งท้าย
#ChangeforGood
#สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด