xs
xsm
sm
md
lg

“ทุเรียนเมืองจันทน์” ตลาดและราคาปีนี้ยังผ่านฉลุย! สวนได้กิโลละ 100 ขึ้น! แม้เจอสภาวะอากาศที่แปรปรวนหนัก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ตัดทุเรียนปีมาได้ยังไม่ถึงครึ่งทางดี สถานการณ์ตลาดและราคาจากสวนขายได้กิโลละ 100 ขึ้น! อยู่แม้ว่าปีนี้ เจอสภาวะอากาศที่แปรปรวนหนัก แต่ในวิกฤติก็ยังมีโอกาสดีเรื่องผลผลิต

พี่ตุ๋ยและครอบครัว
พี่ตุ๋ย-จิตรลัดดา ชนะสิทธิ์เจ้าของสวนทุเรียนในอำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี สะท้อนสถานการณ์ผลิตและราคาของทุเรียนจันทน์ปีนี้ให้ฟังว่า หลังจากปีที่ผ่านมาเสียหายไปกว่า 30 ตันขึ้น! ผลผลิตและต้นทุเรียนในสวนได้รับผลกระทบจากพายุที่เข้าถล่มในพื้นที่ ทำให้สูญรายได้ทันทีไปกว่า3.5 ล้านบาทที่กำลังจะได้ เหลืออยู่เพียงแสนกว่าบาทเท่านั้น จากพื้นที่ผลิตราว30 ไร่และมีต้นทุนผลิตต่อรอบไม่ต่ำกว่า 5 แสนบาท มาปีนี้ราคาถือว่าน่าพอใจทุเรียนตัดจากสวนยังได้ไม่ต่ำกว่า 100 ขึ้น/กก. เปิดฤดูกาลมายังไม่ถึงครึ่งทางดี แต่ว่าก็มีความเสี่ยงจากสภาวะอากาศที่แปรปรวนอยู่ไม่น้อย เดี๋ยวเจอฝนตก เดี๋ยวหนาว เดี๋ย วอากาศร้อน ในวิกฤติซึ่งจะมีทั้งข้อดี คือ เพิ่มโอกาสในการติดดอกใหม่ แต่ข้อเสีย หากจัดการได้ไม่ทันการณ์ ความเสียหายก็ไม่แตกต่างจากโดนพายุถล่มสวนเช่นเดียวกัน

ทุเรียนหมอนทองที่ต้นยังสาวของสวนพี่ตุ๋ย
“ปีนี้สถานการณ์ดีค่ะ ราคาก็โอเค ก็สำหรับพี่ราคาออกจากสวนโลละ 100 ถั่วเฉลี่ย พี่แฮปปี้นะ อย่างตอนนี้ราคามันมีเหวี่ยงขึ้น-ลง พี่ตัดออก 130 ผิวสวยบ้างไม่สวยบ้างปน ๆ กันไป แล้วเรทลงมาหน่อยก็คือ 95 คว่ำหนามบางทีก็1 00 หรือแม้แต่ลูกกระป๊อกกระแป๊ก หนามนิด ๆ หน่อย ๆ ก็ไป 100 แต่ถ้าสวย ๆ หน่อยก็ 130-135 อย่างนี้ค่ะ ราคามันก็จะขึ้น ๆ ลง ๆ แต่ละวันในข่วงนี้อยู่แบบนี้”

ต้นใหญ่ที่ให้ผลผลิตสูงขึ้นตามระยะเวลาในการสะสมอาหารของต้นที่สมบูรณ์มากกว่า
สวนของพี่ตุ๋ยและสามี คือ คุณณรงค์ ชนะสิทธิ์ ซึ่งถือได้ว่าเป็นเซียนทุเรียนมือดีเบอร์ต้น ๆ ของจันทบุรี ปัจจุบันเน้นการจัดการสวนเป็นแบบทุเรียนปีหรือตามฤดูกาล(อาจเหลื่อมหรือออกก่อนเล็กน้อย) เป็นหลัก ไม่ได้ทำแบบการบังคับนอกฤดูที่ใช้สารเคมีเป็นตัวเร่งในการออกดอก โดยพี่ตุ๋ยบอกว่าก็เคยทำมาหมดแหละ หรือแม้แต่แนวทางแบบเกษตรอินทรีย์ก็เคยทำมาบ้าง แต่ว่าสุดท้ายแล้วแต่ละวิธีการที่กล่าวมากลับส่งผลกระทบที่ไม่คุ้มค่า ดังนั้นตอนหลังก็เลยมายึดแนวทางการผลิตแบบสายกลาง
คือไม่ได้ปฏิเสธสารเคมีเสียทีเดียว ยังใช้ตามความจำเป็นอยู่ และมีใช้อินทรีย์ควบคู่เพื่อช่วยในเรื่องของการปรับปรุงฟื้นฟูดินไปด้วย ซึ่งในแต่ละปีการผลิตทุเรียนใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูง เพราะไม่ได้มีเฉพาะแต่ค่าปุ๋ย-ยา หากยังต้องใช้ “แรงงาน” เพื่อช่วยจัดการในแต่ละช่วงของการผลิต ระยะดอก- ผล จนกระทั่งไปถึงการโยง-การผูกลูก เพื่อป้องกันการเสียหายจากลมพายุที่อาจเกิดขึ้นในแต่ละปีด้วย และถ้าหากสุดวิสัยจริง ๆ ก็ต้องปล่อยตามเลยอย่างเช่นในปีที่ผ่านมา ต่าง ๆ เหล่านี้คือความเสี่ยงของสวนที่ต้องแบกรับเอง

ทยอยตัดทุเรียนมาได้หลายรอบแล้วตั้งแต่เปิดฤดูกาลปันี้
“คือมันแปลกนะปีนี้ ฝนตกเยอะแล้วก็หนาว แล้วมันกลับมี “ดอก” ขึ้นมาอีก ต้นที่ไม่มีดอกมันกลับมีดอกขึ้นมา ก็ดีสำหรับต้นที่มันยังไม่เคยให้ผลผลิต ซึ่งสวนพี่เสียหายเยอะปีที่แล้วมันระเนระนาดไปตั้งเกือบ 50 ต้น ต้นใหญ่ประมาณ 300-400 กก. แล้วพอมาเจอสภาวะอากาศที่แปรปรวนอีกในปีนี้ คุณรู้ไหมบางสวนก็ร่วงหมดไม่เหลืออะไร ฝนตกเยอะรัดใบอ่อนทำให้ลูกร่วงหมด แถมท็อปฯ ก็เยอะมันมีบนต้น ฝนตกมาเอาไม่ทันก็เสียหายอีก หนอนอีก จาก 10-15 พ่นยาทีก็ต้องฝนตกมาทีไร ฝนตกได้ 3 วัน วันที่ 4 วันที่ 5 ก็ต้องพ่นยาแล้ว หนอนเอย ท็อปฯเอย โอ้โหสารพัดทำสวนไม่ได้ง่ายเลย”




ส่วนประเด็นที่มีการพูดถึงเรื่อง “ปัญหาทุเรียนอ่อน” ในฐานะของเกษตรกรที่มีอาชีพหลัก การทำสวนทุเรียน พี่ตุ๋ยบอกว่าหากเป็นชาวสวนเองนั้นจะไม่มีทางตัดทุเรียนที่ยังอ่อนอยู่เด็ดขาด ด้วยรู้ดีว่าเหตุผลสำคัญที่ทำให้ “ทุเรียนจันทน์” ยังสามารถครองใจตลาดได้ ก็คือคุณภาพที่แตกต่างไปจากแหล่งอื่น ๆ นอกเหนือจากการเป็นแหล่งผลิตที่มีความเหมาะสมกับพืชชนิดนี้มากกว่าแล้ว การตัดแก่จะทำให้ได้คุณภาพที่มีความครบเครื่องของทุเรียนจันทน์มากกว่า ดังนั้นในสภาวะที่การตลาดยุคปัจจุบันซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า “ล้งจีน” เข้ามาเป็นตลาดรองรับหลักของสวนทุเรียนในเขตนี้เกือบทั้งหมด สิ่งที่สวนเองสามารถทำได้เพื่อจะบอกถึงความเหมาะสม (อายุแก่-อ่อน) ในการกำหนดตัดทุเรียนก็คือว่า จะมีการผูกเชือกสีต่าง ๆ เอาไว้ที่ลูกแต่ละลูกให้รู้ว่า ลูกไหนก่อน ลูกไหนหลัง ที่จะตัดได้เพื่อให้คนตัดทุเรียนเลือกตัดให้ถูก เพราะว่าลักษณะของการตกลงซื้อขายกันกับคนเข้ามาซื้อ(ซึ่งส่วนใหญ่เป็นล้งจีน) ก็คือเขาจะมีทีมตัดเข้ามาเลือกตัดทุเรียนในสวนเอง ทุกลูกที่ตัดลงมาแล้วคือจะต้องซื้อจากสวนทั้งหมด บางครั้งการแข่งขันในการเข้าซื้อจากสวนมีอยู่ค่อนข้างสูง เพราะความต้องการบริโภคทุเรียนจากจีนยังคงมีอย่างต่อเนื่อง หากไม่สามารถจัดส่งทุเรียนไปจีนได้ครบตามออร์เดอที่กำหนดแต่ละรอบ จะมีบทลงโทษเป็นลักษณะของค่าปรับที่จ่ายค่อนข้างสูงอยู่ จึงมีโอกาสที่เรื่องการตัดทุเรียนอ่อนออกไปซึ่งบางครั้งมีการใช้กลโกงต่าง ๆ และพอมีทางราชการเข้ามาช่วยกวดขัน/จับกุมอย่างจริงจังในเรื่องนี้ให้ด้วย ซึ่งถือว่าดีมาก ๆ ลำพังสวนเองไม่สามารถจัดการทั้งหมดนี้ได้เลย

ช่วงที่มีการนำทุเรียนของสวนเข้าไปขายเองในห้างฯ

สบู่่แอนด์เมดจากหญ้ารีแพร์ผสมทานาคาและมังคุด ที่พี่ตุ๋ยมีการผลิตเองเพื่อจำหน่ายในช่วงว่างเว้นจากฤดูกาลของทุเรียน ซึ่งพบว่าลูกค้าให้การตอบรับดีมากสำหรับคนที่มีปัญหาเรื่องผิวหนังโดยเฉพาะในผู้สูงอายุที่มีปัญหาเรื่องแผลกดทับใช้ได้ผลดีมีการบอกต่อกัน

สครัปขัดผิวสูตรนำ้ตาลก็ทำจำหน่ายด้วยและตลาดตอบรับดีมากเช่นกัน
ก่อนช่วงที่จะมี “โควิด” เกิดขึ้นมา พี่ตุ๋ยเล่าว่าที่สวนเองเคยขยายตลาดทุเรียนออกไปขายไกลได้ถึง ในห้างสรรพสินค้ารายใหญ่ ใจกลางเมืองของประเทศเมียนมาซึ่งปรากฏว่ามีการตอบรับดีมาก ๆ เพราะนอกจากมีผลผลิตของตัวเองแล้วก็ยังมีสวนอื่นที่ดูแลอยู่อีกกว่า 100 ไร่ ที่ตนเองและสามีได้เข้าไปช่วยจัดการเรื่อง “การผลิต” ให้ด้วย เป็นลักษณะการแบ่งรายได้กัน แต่พอเกิดผลกระทบจากโควิดก็ทำให้ต้องหยุดการค้าการขายลงชั่วขณะไปตามเหตุการณ์ และมาเริ่มการขายในประเทศได้กำลังดีอีกครั้งช่วงหลังจากที่ “โควิด” กลายเป็นเรื่องที่ทุกคนและในหลาย ๆ ประเทศเรียนรู้ในการรับมือกับโรคนี้ได้ดีพอแล้ว รอจังหวะที่ทุกอย่างกำลังจะกลับมาเป็นปกติ ซึ่งในระหว่างนี้ก็ต้องลุ้นกันต่อเรื่องราคาทุเรียนปีนี้ รวมทั้งฤดูกาลที่อาจนานยาวไปจนถึง ก.ค. กว่าที่ทุเรียนจันทน์คาดว่าจะหมดชุดของผลผลิตลงจริง ๆ สำหรับปีนี้ด้วย

สอบถามเพิ่มเติมโทร.098-249-7428

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด* * *


กำลังโหลดความคิดเห็น