นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า (นายทศพล ทังสุบุตร) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว รายงานให้ทราบว่า เดือนมีนาคม 2565 คณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ได้อนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย จำนวน 53 ราย โดยเป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว แบ่งเป็น ใบอนุญาตประกอบธุรกิจ จำนวน 17 ราย และหนังสือรับรองประกอบธุรกิจ จำนวน 36 ราย โดยมีเม็ดเงินลงทุนทั้งสิ้น 10,838 ล้านบาท
เมื่อวันพุธที่ 23 มีนาคม 2565 คณะกรรมการฯ ได้อนุญาตให้คนต่างชาติ 17 ราย ประกอบธุรกิจในประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็นคนต่างชาติจากฮ่องกง ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ มีการนำเงินเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจกว่า 962 ล้านบาท ส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานคนไทย 447 คน รวมถึง มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นองค์ความรู้เฉพาะด้านโดยตรงจากประเทศผู้เข้ามาลงทุน
การอนุญาตให้ประกอบธุรกิจในครั้งนี้จะมีผลให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นวิทยาการซึ่งเป็นองค์ความรู้ในแขนงที่คนไทยยังไม่มีความชำนาญหรือมีความเชี่ยวชาญในระดับที่ไม่สูงมากนัก เช่น องค์ความรู้เกี่ยวกับการควบคุมหลุมเจาะปิโตรเลียม องค์ความรู้เกี่ยวกับการใช้โปรแกรมในการออกแบบระบบโซล่าขั้นสูง และองค์ความรู้เกี่ยวกับการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า เป็นต้น
เดือนมีนาคม 2565 ธุรกิจที่ได้รับอนุญาตส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่สอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐ และสนับสนุนธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (New S-Curve) รวมถึง สนับสนุนการดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรมอื่นที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในอนาคต อาทิ
* บริการขุดเจาะปิโตรเลียม ภายในบริเวณพื้นที่แปลงสำรวจที่ได้รับสัมปทานในอ่าวไทย
* บริการออกแบบ ก่อสร้าง ติดตั้ง ตรวจสอบ ดำเนินงาน ทดสอบ รวมถึงการบำรุงรักษาและฝึกอบรมเกี่ยวกับระบบกักเก็บพลังงาน
* บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้า (Electric Vehicle Charging Station) สำหรับรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า
* บริการรับจ้างผลิตและประกอบรถยนต์ เป็นต้น
การลงทุนในพื้นที่ EEC ของนักลงทุนต่างชาติ ในเดือนมีนาคม 2565 นี้ นักลงทุนส่วนใหญ่จะลงทุนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 29 ราย และนักลงทุนต่างชาติยังสนใจลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 10 ราย คิดเป็นร้อยละ 19 ของจำนวนนักลงทุนทั้งหมดในเดือนนี้ โดยมีเงินลงทุนในพื้นที่ EEC กว่า 6,323 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 58 ของเงินลงทุนทั้งหมด ทั้งนี้ เป็นนักลงทุนจากจีน 3 ราย ลงทุน 3,189 ล้านบาท ญี่ปุ่น 2 ราย ลงทุน 630 ล้านบาท และ สหรัฐอเมริกา 1 ราย ลงทุน 637 ล้านบาท ธุรกิจที่ลงทุน อาทิ 1) บริการโทรคมนาคมเพื่อสาธารณะ (Public Switched Telecommunication Service) ภายในประเทศ ประเภทบริการขายต่อบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 2) การเป็นบริษัทการค้าระหว่างประเทศเพื่อจัดซื้อสินค้า วัตถุดิบ และชิ้นส่วนสำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ และ 3) บริการรับจ้างผลิตชิ้นส่วนประกอบรถยนต์ เป็นต้น