xs
xsm
sm
md
lg

หนึ่งเดียวในอุบลฯ ปลูกองุ่นนอก “3 สี” จัดการด้วยวิธีเกษตรแบบประณีต ผลผลิตขายราคาเดียวทั้งปี “1 ไร่ รายได้ 6 แสน”!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อดีตแรงงานไทยในอิสราเอล นำความรู้การดูแลสวนองุ่นกลับมาต่อยอดที่บ้านเกิด พลิกผืนนาปลูกองุ่นในโรงเรือนจัดการด้วยวิธีเกษตรประณีต องุ่นนอก “3 สี” ผลผลิตขายราคาเดียวทั้งปี

องุ่นไชน์มัสแคทอุบลฯ
นายอธิปัตย์ บุษบาล หรือทัก เจ้าของสวนองุ่นเกศปรียาซึ่งตั้งอยู่ที่ ต.เป้า อ.ตระการพืชผล จ.อุบลราชธานี เล่าให้ฟังว่า กว่า 5 ปีที่ไปทำงานเป็นแรงงานเกษตรอยู่ที่อิสราเอล โดยผ่านทางกรมการจัดหางานเป็นผู้จัดส่งไปทำงานตามสัญญาการว่าจ้างฯ และสำหรับตนเองแล้วถือว่าโชคดีมากได้ทำงานฟาร์มที่ผลิตพืชตรงกับใจซึ่งนึกชอบอยู่ก่อนหน้า นายจ้างเป็นเจ้าของสวนองุ่นคุณภาพและเขาเองมีความเชี่ยวชาญด้านพืชชนิดนี้เป็นอย่างดีอีกด้วย การได้เห็นของจริง(วิธีการผลิต) และใช้เทคโนโลยีเข้าช่วยจัดการ ทำให้เปลี่ยนแนวคิดของตนใหม่จากก่อนเคยมอง “องุ่น” เป็นพืชของคนรวยมีทุนเท่านั้นจึงจะทำได้ ซึ่งพอกลับมาบ้านจึงไม่ยอมพลาดโอกาสในการทดลอง “ทำ” เพื่อให้รู้กันว่าจะสามารถทำได้ไหม!

องุ่นแดงไร้เมล็ด
เดิมทีพื้นที่ผลิต1 ไร่ตรงนี้ คุณทักในวัย47 ปีบอกว่าเคยมีสภาพเป็น “นาดอน” ถูกทิ้งร้างเปล่าประโยชน์มานาน เหตุเพราะน้ำไม่ถึง(อยู่สูง) ก็เลยคิดว่านี่แหละเหมาะดีที่จะลองสร้าง “โรงเรือน” เพื่อปลูกองุ่นดู ทั้งนี้ ได้เริ่มหาความรู้ก่อนในระดับหนึ่งแล้วจากผู้รู้เรื่องการผลิตองุ่นในประเทศไทย จนกระทั่งได้รับคำแนะนำให้ปลูกเป็นรูปแบบของ “สวนเปิด” ให้คนเข้ามาเที่ยวชมดูงานได้พร้อมเรียนรู้เรื่องวิธีต่าง ๆ ในการผลิตควบคู่ไปด้วย ซึ่งตนก็เห็นว่าดีจะได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้เพื่อแชร์กับคนอื่น ๆ ต่อยอดเพิ่มเติมไปอีก ดังนั้นสวนองุ่นเกศปรียาจึงได้เกิดขึ้นมาภายใต้จุดมุ่งเน้นดังกล่าวถึงตอนนี้เป็นเวลากว่า 3 ปีแล้ว

องุ่นเขียวไร้เมล็ด
เน้นปลูกองุ่นสายพันธุ์จากต่างประเทศเป็นหลัก ซึ่งแน่นอนว่าแหล่งที่มาก็มีทั้งจากอิสราเอลรวมไปถึงแหล่งพันธุ์อื่น ๆ ที่ขึ้นชื่อด้วย รวมกันแล้วในช่วงแรกมีมากกว่า30 สายพันธุ์ที่นำมาปลูกทดสอบดู และมีครบทั้ง องุ่นแดง, องุ่นดำ และองุ่นเขียว ซึ่งแต่ละสายพันธุ์นั้นมีชื่อเสียงตามที่ตลาดมีความนิยมกันอยู่ ปลูกไปก็เรียนรู้ไปจากนิสัยของพืชที่ต่างสายพันธุ์กันให้ผลเป็นอย่างไรบ้าง จนพบว่าบางพันธุ์ไม่สามารถผลิต (เอาลูก) ไม่ได้เพราะสภาพอากาศไม่เหมาะกัน แต่ว่าสำหรับพันธุ์ที่ทำได้ก็ให้ผลผลิตที่ดี เป็นองุ่นนอกไร้เมล็ด รสชาติหวานกรอบ ที่ถูกปากของคนไทย

สวนเปิดให้คนที่สนใจเข้ามาเรียนรู้เรื่องการทำองุ่นโดยเน้นแนวทางการผลิตปลอดภัย แบบ GAP ด้วย
ทั้งนี้ก็จะมีบางพันธุ์ผลิตได้แต่อาจไม่ตรง “คุณสมบัติ” ที่ตลาดส่วนใหญ่ต้องการหรือว่าคุ้นเคยกันดี อย่าง “องุ่นไชน์มัสแคท” เพราะที่นี่จะทำแบบไม่ใช้สารบังคับใด ๆ เพื่อเร่งให้เมล็ดฝ่อ ธรรมชาติของพันธุ์นี้เป็นองุ่นที่มีเมล็ดอยู่แล้ว ดังนั้นไชน์มัสแคทที่สวนผลิตจึงเป็นเพียงการเน้นปลอดสาร (ที่มีเมล็ดอยู่) รสชาติและกลิ่นเฉพาะตัวไม่แตกต่างต้นตำรับจากญี่ปุ่น เหตุผลสำคัญคือเรื่องต้นทุนในการจัดการที่ยุ่งยากเกินไป และเพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค การปลูกในโรงเรือนแบบนี้สามารถช่วยลดการใช้สารเคมีปราบศัตรูพืชลงได้ แบบแนวทางการผลิตGAP คือ ใช้เคมีด้วย มีปุ๋ยหรือธาตุอาหารหลักพืช (NPK) สารปราบศัตรูพืชใช้ตามความจำเป็นโดยเน้นเป็นกลุ่มของ “สารชีวภัณฑ์” ไตรโคเดอร์มา, บีที, บีเอส ฯลฯ เพื่อการบริโภคที่ปลอดภัยเป็นหลัก


สำหรับการปลูกภายใต้ “โรงเรือน” ที่มุงหลังคาด้วยผ้าพลาสติก พบว่ามีข้อเสียเรื่องความร้อน(อุณหภูมิสูง) จากเฟสแรกที่ทำโรงเรือนหลังคาเตี้ยไปเพียง 1.80 เมตร เจอปัญหาทั้งอากาศที่ร้อนระอุและยังพบ “ใบไหม้” หรือเกิดซันเบิร์นที่สร้างความเสียหายหนักเลย ขณะที่การผลิตทำได้ทั้งปีเพราะองุ่นสามารถบริหารจัดการให้มีผลผลิตออกตามแผนการพรุนนิ่ง (การตัดแต่งกิ่ง) มีการสะสมอาหาร และการควบคุมโดยจำลองสภาวะให้เป็นฤดูใบไม้ร่วงแบบต่างประเทศ(ใช้วิธีงดน้ำ) เพื่อกระตุ้นให้พืชเกิดการติดดอก-ออกผลตามมาได้ ดังนั้นความพยายามแก้ปัญหาในเฟสที่2 โดยการออกแบบโครงสร้างของโรงเรือนปลูกให้กว้างใหญ่ขึ้น สูงขึ้นเป็น 2.70 เมตร เพื่อการถ่ายเทอากาศที่ดีกว่า ทั้งยังมีการจัดการใหม่เรื่อง “พันธุ์” ที่ปลูกเพียง1 ชนิดต่อ1 โรงเท่านั้น ไม่รวมกันแบบเฟสแรกที่พบปัญหาทั้งเรื่องการเจริญของต้นที่ช้า-เร็วแตกต่างกันมาก อายุการเก็บเกี่ยวก็ไม่เท่ากันด้วย ฯลฯ การแยกทำและควบคุมด้วยวิธีเกษตรแบบประณีต ใช้เทคนิคใหม่ในการตัดแต่งกิ่งเพื่อสร้างผลผลิตและช่วยยืดอายุของต้น ที่สามารถอยู่ได้ยืนนานขึ้น

องุ่นดำไร้เมล็ด
การปลูกในระยะห่างที่เหมาะสมช่วยเรื่องการจัดการง่าย โดยเลือกช่วง 4-5 เมตร การทำค้างซึ่งตอนแรกเน้นจัดทรงเป็นรูป “ตัววาย”(Y) ก็เปลี่ยนเป็นตัว T หรือทรงก้างปลาที่จัดระเบียบต่าง ๆ ในแปลงได้ง่ายขึ้นกว่าแทน การไม่ยกร่องปลูก(เฟสแรกยกร่อง) ที่พบว่าไม่จำเป็นสำหรับพื้นที่นี้ การให้น้ำจากเดิมวางเป็นระบบน้ำหยดไว้แต่พบว่าไม่เวิร์กสำหรับการให้ปุ๋ยแบบเม็ด จึงเปลี่ยนเป็นแบบหัวจ่ายมินิสปริงเกลอร์แทน และตอนหลังยังได้เปลี่ยนวิธีการใส่ปุ๋ยเป็นแบบละลายน้ำก่อนนำไปใช้ราดลงโคนต้นขององุ่นโดยตรงแทน เป็นต้น


ส่วนการผลิตในปัจจุบันคุณทักบอกว่า ได้มีการวางแผนจัดการเพื่อให้มีผลผลิตทยอยออกทุกเดือน แบบไล่รุ่น จากพื้นที่ผลิต1 ไร่ในเฟสแรก มีองุ่นที่ปลูกไว้รวมกัน 12 แถว วางแผนให้ออกลูกตัดขายได้เดือนละ 2 แถว โดยใน 1 ปีต้นองุ่นจะทำให้ติดดอก-ออกผลได้ 2 รอบ/ต้น หรือคิดเป็นผลผลิตเฉลี่ย 200-300 กก./รุ่น/เดือน จากองุ่นนอก 8 สายพันธุ์ที่ให้ผลผลิตได้แล้วและมีให้เลือกครบทั้ง 3 สี(แดง ดำ เขียว) โดยที่สวนจะตั้งราคาจำหน่ายทุกพันธุ์ในราคาเดียวกัน คือ 250 บาท/กก. มีการสื่อสารกับลูกค้าผ่านเฟซบุ้กชื่อ : Athipat Butsaban เพื่อนำเสนอเรื่องราวการผลิตของสวนเป็นการอัปเดตให้ผู้ที่ติดตามได้ทราบอยู่เรื่อย ๆ ซึ่งทำให้เกิดการสั่งซื้อผลผลิตเข้ามา และส่วนหนึ่งเกิดจากการเปิดสวนให้คนเข้าชมด้วย กลายเป็นว่าทำไปทำมาผลผลิตไม่พอขาย เริ่มเกิดความมั่นใจและมีแนวคิดว่าอยากจะขยายเพิ่มอีกจึงได้ไปขอกู้ยืมเงินทุนจาก ธ.ก.ส. นำมาสร้างโรงเรือนใหม่ ขนาด 10 x 30 เมตร เพื่อทำการผลิตในเฟส 2 ต่อไป

สอบถามเพิ่มเติมโทร. 082-231-9526

คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEsผู้จัดการ”รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด
SMEs manager



กำลังโหลดความคิดเห็น