น้ำพริกครูอรุณี น้ำพริกนักล่ารางวัล โดยมีรางวัลการันตีจากหลายสถาบัน มากกว่า 10 เวทีการประกวด ที่เจ้าของ “นางอรุณี พรหมสุข” หรือ (ครูอรุณี) อาจารย์โรงเรียนแห่งหนึ่ง ในจังหวัดยโสธร ที่มาของรางวัลต่างๆ เกิดขึ้นมาจาก “ครูอรุณี” เธอเป็นสายประกวด หน่วยงานไหนมีประกวดเธอก็มักจะส่งน้ำพริกสูตรต่างๆ ของเธอเข้าประกวดอย่างต่อเนื่อง และทุกครั้ง ก็มีรางวัลติดไม้ติดมือกลับมา โดยยังไม่เคยผิดหวังกับเวทีไหนเลยสักครั้ง เป็นที่มาของ ยอดขายหลักแสนบาทในงานโอทอปใหญ่เมืองทอง
จากบทบาทครู สู่แม่ค้าขายน้ำพริก สุดยอดโอทอปจ.ยโสธร
อาจารย์อรุณี หรือ ที่รู้จักกันในชื่อของครูอรุณี เธอเป็นอาจารย์สอนที่อยู่ โรงเรียนบ้านผือฮีนาลานาจาน จังหวัดยโสธร การเข้ามาทำน้ำพริกขาย เริ่มขึ้นมาตั้งแต่เมื่อ 15 ปีที่แล้ว ในช่วงนั้น มีการก่อตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชน หรือ โอทอป โดยครูอรุณี ได้เป็นผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มโอทอป ที่มีชื่อว่า วิสาหกิจชุมชนแปรรูปอาหารบ้านหนองแฝก อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร มีสมาชิกปัจจุบันประมาณ 15 คน สมาชิกหลายคนมีความเข้มแข็งและได้มีการแยกย้ายกันไปทำกิจการของตนเองบางคนก็ยกระดับเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งในส่วนของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปอาหารบ้านหนองแฝก ก็ยังคงดำเนินกิจการต่อ โดยมีครูอรุณี เป็นประธานกลุ่ม และ “ครูอรุณี” ได้ยกระดับไปเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ด้วยเช่นกัน
สำหรับผลิตภัณฑ์ ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปอาหารบ้านหนองแฝก จำหน่ายผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ของ “ครูอรุณี” เพราะหน่วยงานที่ส่งเสริม มองว่า ใช้ชื่อครูอรุณีจดจำได้ง่าย และเธอก็เป็นเจ้าของสูตรด้วย ซึ่งผลิตภัณฑ์ของครูอรุณี ประกอบไปด้วย น้ำพริกปลาร้าบอง ผลิตภัณฑ์ที่สร้างชื่อให้แบรนด์น้ำพริกครูอรุณี เป็นที่รู้จักทั้งในประเทศและต่างประเทศ ส่วนผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น น้ำพริกปลาย่าง น้ำพริกนรก น้ำพริกแมงดา น้ำพริกเผา น้ำพริกเผาเห็ด น้ำพริกเผาไข่เค็ม น้ำปลาร้า ฯลฯ โดย ในส่วนของน้ำพริกปลาร้าบองได้มีการต่อยอดทำเป็น ปลาร้าบองก้อน คล้ายคนอร์ ส่งไปขายต่างประเทศด้วย โดยมีคนไทยไปพำนักอยู่ที่ประเทศนอร์เวย์ได้ติดต่อมาขอรับไปทำตลาด แต่ในช่วงสถานการณ์โควิด ออเดอร์จากต่างประเทศหายไป ขายได้เฉพาะในประเทศ เพราะกำลังซื้อคนในต่างประเทศหายไปเช่นกัน จากสถานการณ์โควิด
น้ำพริกเคยทำยอดขายหลักแสนบาท ในงานโอทอปเมืองทอง
ครูอรุณี เล่าว่า ช่องทางขายน้ำพริกครูอรุณี จะมี 2 ช่องทาง โดยร้านที่เปิดประจำแทบจะทุกวัน ที่ตลาดโต้รุ่ง ในจังหวัดยโสธร ส่วนช่องทางอื่นๆ ที่ผ่านมา ครูจะเน้นออกบูทงานแสดงสินค้า ที่หน่วยงานภาครัฐจัด เพราะเราเป็นสินค้าโอทอปได้รับเลือกให้ไปร่วมงานตลอด ซึ่งเดือนหนึ่งจะต้องไปบูทประมาณ 1-2 ครั้ง ตามต่างจังหวัดเป็น ส่วนใหญ่ งานในกรุงเทพฯ จะเป็นงานโอทอปใหญ่ที่เมืองทอง แต่ระยะหลังยอดขายงานโอทอปไม่ได้สูงเหมือนในอดีต ครูก็เลยจะมาเน้นการออกบูทในงานที่จังหวัดจัดขึ้น โดยจะอยู่ในแถบภาคอีสาน และในแถบจังหวัดชายแดนใกล้ๆกับประเทศเพื่อนบ้าน เพราะมีวัฒนธรรมการกินน้ำพริก และอาหารอีสานเหมือนกัน
ครูอรุณี เล่าว่า หลังจากสถานการณ์โควิด ทำให้ยอดขายน้ำพริก ของเธอลดหายไปกว่า ครึ่งหนึ่ง เพราะด้วยกำลังซื้อที่ลดลงไป จากภาวะเศรษฐกิจ จากเดิมลูกค้าเคยซื้อ 3-4 กระปุก ก็ลดเหลือ 1-2 กระปุก หรือ การออกงานแสดงสินค้า บางงานเคยทำยอดขายได้หลักแสนบาท แต่พอเจอสถานการณ์โควิด ยอดขายหายไปกว่า 50% รวมยอดขายจากทั้งตลาดโต้รู่ง และการร่วมออกบูท จากเดิมรายได้เดือนละ 50,000-60,000 บาท เหลือ ประมาณไม่เกิน 30,000 บาท ในอดีตเคยมีรายได้จากการบูทในงานเมืองทอง ครั้งหนึ่งได้หลักแสนบาท หรือ การออกบูทในงานใหญ่ๆ ของจังหวัดได้หลักแสนบาท แต่สมัยนี้ไม่ได้แล้ว เพราะกำลังซื้อของคนลดน้อยลงไปมาก
ด้วยเหตุนี้เอง ครูอรุณี ได้มีการปรับตัว โดยการเพิ่มมูลค่าของน้ำพริก และอาหารแปรรูปอื่นๆ ภายใต้แบรนด์ครูอรุณี ด้วยการเติมส่วนผสมสมุนไพรใบกัญชา เดิมครูอรุณี จะมีสมุนไพรที่เติมลงไปน้ำพริก น้ำปลาร้า ปลาร้าบอง อยู่แล้ว2 ชนิด คือ ใบหม่อม และ ผักไชยา ช่วยเพิ่มรสชาติ ซึ่งการเพิ่มสมุนไพรใบกัญชาลงไปครั้งนี้ เริ่มมาจาก ครูได้ไปอบรมกับหน่วยงานสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ได้ความรู้เรื่องการนำกัญชามาเป็นส่วนผสมในอาหาร หลังจากนั้น ครูมาลองนำมาปรับใช้น้ำพริกของเรา ซึ่งรสชาติไปได้ดี ก็เลยเป็นจุดเริ่มต้น
เหตุผล “ครูอรุณี” เลือกกัญชามาเป็นส่วนผสมครั้งนี้
“ทั้งนี้ ที่ครูนำใบกัญชามาเป็นส่วนผสมในน้ำพริก ครั้งนี้ มาจากเมื่อครั้งที่ครูได้ไปออกงานอีเวนท์ ภายในงานมีการจัดอบรมและให้ความรู้เรื่องการนำกัญชามาเป็นส่วนผสมในอาหาร และพอครูได้เข้าไปอบรม ก็เลยได้ลองนำใบกัญชามาเป็นส่วนผสมน้ำพริกก่อน เริ่มจากน้ำพริกปลาย่าง และปลาร้าบอง และในอนาคตมีแผนที่จะนำใบกัญชาไปใช้เป็นส่วนผสมในอาหารแปรรูปตัวอื่นที่เป็นแบรนด์ของครูอรุณี”
โดยกัญชาที่นำมาใช้ในครั้งนี้ “ครูอรุณี” บอกว่า ได้มาจากแหล่งปลูกกัญชา แหล่งใหญ่ที่สุดในภาคอีสาน ที่จังหวัดนครพนม และที่เลือกนำสมุนไพรใบกัญชามาเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์แปรรูปอาหารในครั้งนี้ มาจาก ตัวคุณสมบัติของกัญชาช่วยดูแลสุขภาพ เริ่มจากที่ตัวครูได้ทดลองเองก่อน และครอบครัวลูกสาวที่เป็นไมเกรน อาการเขาก็ดีขึ้น ครูเป็นคนนอนหลับยาก ก็ช่วยให้หลับสบายขึ้น ช่วยผ่อนคลายได้ดี เป็นเหตุผลที่ครูก็เลยเลือก กัญชามาเป็นส่วนผสมในอาหารแปรรูปที่ครูทำขาย
"สำหรับลูกค้า เนื่องจากครูเพิ่งเริ่มทำ ผลตอบรับที่ได้ก็ยังไม่มาก ส่วนใหญ่คนที่ซื้อไป เขาบอกว่า น้ำพริกปลาย่างที่ครูผสมใบกัญชารสชาตินัวร์ขึ้น อร่อยกว่าเดิม การผสมใบกัญชาในอาหาร ครูจะผสมในสัดส่วนที่ได้ไปอบรมมา และเลือกใช้เฉพาะส่วนที่อนุญาตให้สามารถใช้ได้เท่านั้น ในส่วนของราคาปรับเพิ่มมาจากปกติ เช่นราคาไม่มีส่วนผสมใบกัญชาเดิมขาย100 บาทเพิ่มเป็น 150 บาท เป็นต้น การตั้งราคาในครั้งแรกยังคำนวณไม่ถูก ตั้งราคาจากกระปุก 35 บาท เพิ่มใบกัญชาเพิ่มกระปุกละ 10 บาท เป็น 45 บาท แต่พอมาคิดต้นทุนใบกัญชาตากแห้ง ซึ่งกิโลกรัมละหลักพันบาท ขาดทุน ไม่คุ้ม ทำให้ในส่วนของราคาอาจจะต้องมีการคิดคำนวณใหม่อีกครั้ง ในช่วงเริ่มต้น น่าจะเป็นราคาตามนี้ไปก่อน"
ไอเดีย เริ่มก่อน มีสิทธิ์รวยก่อน
ครูอรุณี กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า การนำกัญชามาเป็นส่วนผสมในอาหารไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะมีอาหารหลายชนิดเริ่มนำกัญชามาเป็นส่วนผสมในอาหารกันเยอะแล้ว แต่ถ้าเราเริ่มตอนนี้ ตอนที่ยังไม่มีคู่แข่งเยอะ น่าจะได้เปรียบ เพราะเราเริ่มทำก่อน คนอื่น ครูก็เลยตัดสินใจทำเลยหลังจาก ที่ได้ไปอบรมกลับมา และได้รู้จักกับแหล่งผลิตกัญชา ยิ่งทำให้มั่นใจว่า การเปิดตลาดน้ำพริกผสมใบกัญชา ตลาดจะต้องไปได้ดี ในอนาคตมีแผนที่จะส่งออกไปยังประเทศแถบยุโรป และอเมริกา ไปเลย คงจะไม่เริ่มที่ประเทศเพื่อนบ้าน เพราะเขามีอะไรคล้ายกับเรา เขาก็ทำเหมือนกับเรา ก็เลยไม่รู้จะไปขายใคร
ครูอรุณี กล่าวถึงการเป็นนักล่ารางวัล และช่วยทำให้การทำตลาดน้ำพริก และอาหารแปรรูปอื่นๆ เป็นที่รู้จัก เพราะมีรางวัลการันตี เวลาครูจะไปออกบูทที่ไหน พอเขาเห็นรางวัลต่างๆ เป็นจุดขายที่ทำให้เขาตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้น ในครั้งแรก หลังจากนั้น ถ้าลูกค้าชื่นชอบก็จะกลับมาซื้ออีกในครั้งต่อไป
ติดต่อ Facebook : Nam-prig Arunee
คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEsผู้จัดการ”รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด
SMEs manager