xs
xsm
sm
md
lg

(ชมคลิป) ชีวิตที่เลือกได้ อาชีพที่เป็นนายตัวเอง ปลูกและแปรรูปเมล่อนสู่เมนูขนมอร่อย ใครอยากชิมต้องสั่งจองก่อนเท่านั้น!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ชีวิตที่เลือกได้.. ในนิยามของแต่ละคนอาจแตกต่างกันไป หลายคนเลือกชีวิตแบบทำตามสิ่งที่เรียนมา จบก็ทำงานหาความก้าวหน้าและเติบโต แต่ก็มีบางคนเลือกชีวิตที่ “อิสระ” ทำในสิ่งที่รัก!

ขุนกับงานการจัดการสวนเมล่อนในโรงเรือน ต้องมีการฟื้นฟูดินก่อนเปลี่ยนคร็อปการผลิตด้วยการเพิ่มอินทรียวัตถุจากปุ๋ยพืชสดไถกลบลงในดินก่อน
‘ขุน-พิศิษฐ จันทร์หงส์’ ปัจจุบันอายุ41 ปีและ ‘จอย-วันเพ็ญ เด่นเพียร’ คู่ชีวิตในวัยเดียวกัน เล่าให้ฟังว่า หลังเรียนจบปริญญาตรี สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า จาก ม.มหานคร ขุนเองไม่ได้คิดอยากทำงานที่ไหนเลยเลือกตรงดิ่งกลับมาบ้านที่ อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร เพื่อช่วยพ่อแม่ทำสวนดีกว่า ด้วยที่บ้านเองก็พอมีที่ทางทำมาหากินได้และตนก็ไม่อยากไปเป็นลูกน้องของใคร และส่วนจอยนั้น เรียนทางด้านวิทยาศาสตร์การอาหาร(Food Science) มาจาก ม.ราชภัฏสวนสุนันทา เคยทำงานประจำอยู่ช่วงสั้นๆ แล้วพอทั้งสองแต่งงานกันก็เลยตัดสินใจลาออกมาดีกว่า เพื่อช่วยกันทำสวนอย่างเต็มตัวอยู่ที่บ้านแทนนับแต่นั้น


เมล่อน...พืชเศรษฐกิจตัวใหม่ที่สั่งได้!

ขุน บอกด้วยว่า ที่เลือกมาผลิต ‘เมล่อน’ ในโรงเรือนซึ่งทำมา 5 ปีกว่าแล้ว จุดเปลี่ยนที่สำคัญคือเกิดจากพืชเศรษฐกิจหลัก แก้วมังกร กับมะม่วง ที่พ่อแม่ทำมากว่า 10-20 ปีนั้น ได้หมดอายุลงกอปรกับที่เห็นมาตลอดเวลาว่าจะต้องมีการรับมือ ‘โรค-แมลงศัตรู’ ที่เข้ามารบกวนหนักข้อขึ้นทุกปี ๆ เพิ่มปัญหาเรื่องต้นทุนผลิตจากการต้องใช้ปุ๋ย-ยามากขึ้นเรื่อย ซึ่งสวนทางกับราคาผลผลิตที่กะเกณฑ์อะไรใด ๆ ไม่ได้เลย แต่หลังจากศึกษาเกี่ยวกับเมล่อนแล้ว พบว่าพืชชนิดนี้สามารถที่จะบริหารจัดการได้ตั้งแต่ระยะเวลาของการปลูก-เก็บเกี่ยว นับไปเลย 90 วัน(หรือบวกลบไม่เกิน 5 วัน) ซึ่งทำให้สามารถกำหนดและวางแผนได้ว่าอยากจะมี ผลผลิตออกมาช่วงไหน เพื่อเตรียมการเรื่องการตลาดล่วงหน้าไว้ และอีกอย่างสามารถผลิตได้ทั้งปีโดยไม่ต้องง้อฤดูกาล ต่างกับพืชกลางแจ้งที่เห็นได้ชัด


สายพันธุ์เด่น ๆ ตัวแจ้งเกิดของสวน

เมล่อนที่ ‘ขุน’ เลือกปลูกนั้นเขาบอกว่าก่อนอื่นใด คือต้องกินเองแล้วชอบก่อน จึงจะนำสายพันธุ์นั้น ๆ เข้ามาปลูกและก็คิดไปถึงลูกค้าด้วยว่า จะต้องชอบเหมือนกันกับเรา สำหรับเมล่อนที่ปลูกอยู่หลัก ๆ และถือเป็นพระเอกเลยต้องยกให้ ‘คิโมจิ’ (KIMOJI) เมล่อนสายพันธุ์ญี่ปุ่นที่สวนเองเกิดมาด้วยคิโมจินี้เลย เนื้อหวานหอม นุ่ม ใครได้ชิมคิโมจิแล้วติดใจทุกคน ต่อมาสีเหลืองเป็นพันธุ์ ‘กาเลีย’ (KALIA หรือGolden Emerald) เมล่อนสายพันธุ์จากเนเธอร์แลนด์ เนื้อกรอบหวาน และยังมีอีกสายพันธุ์หนึ่งคือ ‘โมมิจิ’ (MOMIJI) รสชาติหวานหอม เนื้อสีส้ม ซึ่งจะเน้น 3 สายพันธุ์นี้เป็นหลัก

เมล่อนคิโมจิ

กาเลียผิวสีเหลืองทอง

เมล่อนโมมิจิ
ควบคุมเรื่อง “คุณภาพ” เพื่อลูกค้าไว้วางใจได้ แต่การทำงานก็มีอุปสรรคเป็นธรรมดา

จากจุดเน้นที่ตั้งใจไว้แต่แรก คือการผลิตที่ต้องลด ละ เลิก การใช้สารเคมีลงให้ได้ ขุนบอกว่า เมล่อนพอปลูกซ้ำที่นาน ๆ เข้าเริ่มมีปัญหาโรค-แมลง เข้ามากวนหนักมากขึ้นเช่นกันแม้ว่าจะอยู่ใน‘โรงเรือนกางมุ้ง’ แบบนี้ก็ตาม ยอมรับว่าปลูกในรุ่นแรกได้ผลดีเลยแบบ100% แต่ว่าในช่วงหลัง ๆ ได้70 หรือ80% บ้างโดยเฉลี่ย จากจำนวนการปลูก250 ต้น/โรงเรือน หรือบางคร็อปมี‘เสียหาย’100% ก็เคยเจอมาแล้ว ซึ่งก็ต้องคอยรับมือหาวิธีการแก้ไขปัญหาไปเรื่อย ๆ การผลิตถือว่าอาจจะยังไม่นิ่งดี แต่ก็เข้าใจได้ว่าการทำงานย่อมมีอุปสรรคเป็นธรรมดา เริ่มใส่ใจเรื่องการฟื้นฟูดินใหม่ทุกครั้งก่อนจะเริ่มการผลิตในคร็อปต่อไป มีการปลูกพืชปุ๋ยสด(ตระกูลถั่ว) แล้วไถกลบในช่วงออกดอกเพื่อช่วยเพิ่มอินทรียวัตถุ มีการใช้ปุ๋ยชีวภาพร่วมกับปุ๋ยเคมี(ธาตุอาหารหลักNPK)
แบบผสมผสานกันอย่างละครึ่ง เป็นต้น ช่วยทั้งการลดต้นทุนผลิตและลูกค้าได้การบริโภคที่ปลอดภัยด้วย


ราคาที่สมเหตุสมผล เป็นเมล่อนที่ใครอยากชิมต้องจองก่อนเท่านั้น!

ตอนที่เริ่มต้นทำ‘เมล่อน’ ช่วงนั้นถือเป็น พืชฮอทฮิต ติดกระแสอย่างมาก ๆ ทว่าผ่านมาถึงเวลานี้แม้ไม่ได้หวือหวาเหมือน แต่ขุนยืนยันว่าลูกค้าของสวนเองยังคงมีอย่างเหนียวแน่นเหมือนเดิม โดยคิดว่าจุดขายที่สำคัญมาจากเรื่อง ‘คุณภาพ’ ตนจะพยายามควบคุมให้ได้เพื่อสร้างความประทับใจทุกครั้ง อย่างรสชาติ/เรื่องความหวานต้องไม่ต่ำ 15-16 บริกซ์ และมีการรับประกันให้ลูกค้าหากเสียหายจะเคลมให้ทั้งหมดด้วย ทั้งนี้จากราคาซึ่งตนคิดว่าตั้งไว้สูงอยู่พอควร คือ กิโลกรัมละ 120 บาท(ทุกพันธุ์)
สวนจะขายเองโดยตรงไม่ได้ส่งแม่ค้าเลย และการตลาดคือจะเน้นผ่าน‘ออนไลน์’ มาตั้งแต่แรก โดยจะมีเพจ/เฟซบุ้ก ชื่อ “บ้านสวนพิศิษฐ” ที่จอยเองรับหน้าที่ฝ่ายการตลาด คอยโพสต์เพื่อบอกเล่าถึงการผลิตแต่ละระยะว่า กำลังผลิตอะไร พัฒนาการตอนนี้เป็นอย่างไรแล้ว และจะเริ่มเก็บเกี่ยวได้เมื่อไร ฯลฯ ซึ่งก็ทำให้ลูกค้าได้เห็น รู้จัก และมีการสั่งซื้อ(พรีออเดอร์)
เข้ามาในที่สุด กลายเป็นว่าไป ๆ มา ๆ พอคนเริ่มรู้จักสวนมากขึ้นอยากชิม ‘เมล่อน’ ซึ่งจะต้องจองไว้ก่อน เพราะถ้าไม่แล้วส่วนใหญ่ของอาจหมดได้ และล่าสุดยังมีสินค้าใหม่‘มะเขือเทศ’ทานผลสดกับ‘ขนม’ที่แปรรูปจากเมล่อนด้วย



ขนมต่าง ๆ ที่แปรรูปจากเมล่อน
เพิ่มความหลากหลายของสินค้า สร้างการติดตามเพื่อไม่ให้ลูกค้าเบื่อ

ด้าน ‘จอย’ ก็บอกด้วย มีเมล่อนที่ตกเกรดอยู่เป็นเกรดB จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้เป็นอะไรอีกบ้าง และจากที่สวนเองมี‘มะพร้าวน้ำหอม’ อยู่แล้วโจทย์ที่อยากจะทำก็คือว่า เอาทั้ง2 อย่างนี้มารวมกันให้ได้ ซึ่งพอไปค้นหาวิธีการที่จะมาประยุกต์ใช้ดูในยูทูบต่าง ๆ บ้างจนได้เป็นไอเดียออกมา ว่าลองทำ ‘พุดดิ้งเมล่อน’ ใช้เนื้อเมล่อนปั่นเป็นวุ้นทำไข่มุกเมล่อน และลองใส่น้ำกับเนื้อมะพร้าวอ่อน ๆ ลงไปด้วย พบว่ามันก็สามารถเข้ากันได้ดี และอีกอย่างคือเป็น ‘ชิฟฟ่อนเมล่อน’ ไส้มะพร้าวลาวา ซึ่งใช้วัตถุดิบหลักทั้ง 2 อีกก็พบว่ามันเข้ากันได้ดีเช่นเดียวกัน พอทำออกมาแล้วและลองให้ลูกค้าได้ชิมด้วย สรุป คือ ทุกคนชอบมากมีการออเดอร์ขนมเข้ามาอยู่เรื่อย ๆ เพราะจะเน้นการทำสดใหม่เพื่อเสิร์ฟให้ลูกค้าเท่านั้น

มะเขือเทศทานผลสดแบบผลไม้ได้เลย รสชาติหวานอร่อยมาก สายพันธุ์โซลาริโนนำเข้าจากเนเธอร์แลนด์
และสำหรับ ‘มะเขือเทศ’ พันธุ์ทานผลสดแบบ‘ผลไม้’ ได้เลยนั้น จริง ๆ อยากจะทำมานานแล้วจนกระทั่งมีโอกาส พอโรงนี้ว่างลง จากการพักช่วงปลูกเมล่อนซึ่งก็ยังมี ‘ขุยมะพร้าวเก่า’ อยู่จึงลองเอามะเขือเทศสายพันธุ์นำเข้าจากเนเธอร์แลนด์(พันธุ์โซลาริโน) มาปลูกลงไปจำได้ว่า เริ่มทำในช่วงฤดู ‘ปลายฝน-ต้นหนาว” พอดีน่าจะมีสภาพอากาศที่เข้ากันได้ หลังจากนั้นพอสักพฤศจิกา-ธันวา ก็เริ่มตัดลูกสุกได้ที่จะทยอย ๆ กันให้ตัดวันเว้นวัน จนมาถึงตอนนี้(ก.พ.64) ซึ่งหลังจากได้สร้างความตื่นตาให้กับลูกค้าเกิดการสั่งจองออเดอร์เข้ามา พออีกสักระยะคิดว่าก็ต้องโละออกเพื่อรอปลูกรอบใหม่ ในช่วงฤดูกาลที่เหมาะกันอีกครั้ง
ซึ่งสำหรับมะเขือเทศที่สวนขายอยู่ ราคา 250 บาท/กก. หรือกล่องเล็ก 4 ขีดก็ราคา 100 บาท

ปัจจุบันการผลิตพืชเมล่อนของ “บ้านสวนพิศิษฐ”ที่เริ่มต้นมาจาก 2 โรงก่อนถึงตอนนี้ได้ขยายเพิ่มขึ้น เป็น 8 โรงเรือนแล้ว
ซึ่งสามารถที่จะยืนยันได้อย่างดีว่า สิ่งที่เจ้าของเลือกและตั้งใจทำมานั้น มันเวิร์กจริง! กลายเป็นที่พบปะของกลุ่มคนสนใจการเกษตรแวะเวียนกันเข้ามาเป็นลูกค้า อุดหนุนสินค้า และเพลิดเพลินไปกับผลผลิตที่ใครมาเห็นต่างก็ชื่นใจไม่แพ้คนปลูกเช่นเดียวกัน และสำหรับ‘ขุน’ แล้ววันนี้เขาบอกเพียงว่า เลือกความอิสระไม่คิดอยากไปเป็นลูกน้องใคร “ผมก็พอใจนะ เพราะว่าทำนี่มันเป็นงานของเราเลย แต่ถ้าเราไปทำงานวิศวะอย่างนั้นมันเป็น งานของเขามันไม่ใช่งานของเรา คืองานอันนี้เราทำมัน ของ ๆ เราเลย เราสร้างขึ้นมาเลย ก็มันสบายใจกว่าที่จะไปทำงานข้างนอก”



สอบถามเพิ่มเติมโทร.081-995-3571



คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEsผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด
SMEs manage



กำลังโหลดความคิดเห็น