สวทช. ร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีการคัดเลือกพันธุ์และเพิ่มมูลค่า “ฟักทองไข่เน่า” รองรับการขึ้นทะเบียนเป็นพันธุ์พืชพื้นเมืองอัตลักษณ์ของ จ.น่าน พร้อมช่วยยกระดับกลุ่มเกษตรกรให้เกิดการอนุรักษ์สายพันธุ์และใช้ประโยชน์จากผลผลิตอย่างครบวงจร สร้างความยั่งยืนและเศรษฐกิจฐานรากที่เข้มแข็ง
นายณัฐวุฒิ ดำริห์ นักวิชาการฝ่ายถ่ายทอดเทคโนโลยี สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) สวทช. ระบุว่า “ฟักทองไข่เน่า” เป็นฟักทองพันธุ์พื้นเมืองของจังหวัดน่าน จุดเด่นคือมีเนื้อเขียวอมเหลือง มีรสชาติหวานมันและเหนียวหนึบ ที่ผ่านมา สท. ได้ร่วมกับสถาบันวิจัยเทคโนโลยีเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และบริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด นำองค์ความรู้และเทคโนโลยีไปช่วยยกระดับเศรษฐกิจฐานรากให้กับวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรอินทรีย์ตำบลบัวใหญ่ อ.นาน้อย จ.น่าน ที่ปลูกฟักทองหลากหลายสายพันธุ์ แต่ยังขาดองค์ความรู้ในการปลูกและคัดเลือกพันธุ์ให้ผลผลิตมีความสม่ำเสมอทั้งในเรื่องรูปทรง สี รสชาติและเนื้อสัมผัส โดยเฉพาะพันธุ์ฟักทองไข่เน่า
“เราได้ให้ความรู้เรื่องการปรับปรุงพันธุ์ โดยร่วมกับเกษตรกรคัดเลือกสายพันธุ์ฟักทองไข่เน่าให้ได้ตามลักษณะพันธุ์ดั้งเดิม รวมทั้งให้ความรู้ด้านการผลิตเพื่อให้ได้ผลผลิตที่สม่ำเสมอและมีคุณภาพตรงความต้องการของตลาด ที่สำคัญยังสามารถปลูกได้ทั้งปี เพราะระยะเวลาเก็บเกี่ยวลดลงจาก 150 วัน เหลือเพียง 85-90 วัน”
นอกจากการคัดสายพันธุ์แล้ว สท. ยังได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตเมล็ดพันธุ์ เพื่อให้ชุมชนสามารถเป็นผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เองได้ ซึ่งปัจจุบันชุมชนอยู่ระหว่างยื่นจดทะเบียนให้ “ฟักทองไข่เน่า” เป็นพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่นโดยมีชุมชนเป็นเจ้าของพันธุ์ และยื่นขอขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ว่าเป็นฟักทองอัตลักษณ์ของ จ.น่าน
นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า นอกจากนี้เราต้องการให้ฟักทอง 1 ผลเกิดการใช้ประโยชน์สูงสุด จึงได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีการแปรรูปฟักทองเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น เส้นบุกฟักทอง เส้นขนมจีนฟักทอง ข้าวเกรียบฟักทอง ฟักทองผง ซึ่งช่วยเพิ่มมูลค่าผลผลิตและช่องทางการตลาดให้ชุมชนได้มากขึ้น
นอกจากเนื้อฟักทองที่นำไปแปรรูปแล้ว ในส่วนของเมล็ดที่เหลือจากการตัดแต่ง นำมาเพิ่มมูลค่าด้วยการสกัดเป็น “น้ำมันเมล็ดฟักทอง” ส่วนผลผลิตฟักทองที่เสียหายในแปลงหรือเศษเหลือจากการตัดแต่ง ยังสามารถนำไปหมักกับหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่อทำเป็นอาหารเลี้ยงไก่ไข่อารมณ์ดี ทำให้ได้ไข่ไก่ที่มีสารอาหารเพิ่มขึ้นและคุณภาพดี เนื่องจากในฟักทองมีสารอาหารเบต้าแคโรทีนสูง
การเพิ่มมูลค่าผลผลิต “ฟักทองไข่เน่า” ของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรอินทรีย์ตำบลบัวใหญ่ อ.นาน้อย จ.น่าน เป็นชุมชนตัวอย่างของการยกระดับการพัฒนาชุมชนที่ตอบโจทย์โมเดลเศรษฐกิจ BCG ทุกด้าน ด้วยการผลิตในระบบเกษตรอินทรีย์และระบบการผลิตทางการเกษตรให้ปลอดวัสดุเหลือใช้ (Zero waste agriculture) อย่างแท้จริง
“เราเชื่อว่าการทำงานครั้งนี้จะสร้างความยั่งยืนพันธุ์พืชท้องถิ่นและสร้างเศรษฐกิจที่เข้มแข็งให้ชุมชนได้ เพราะชุมชนจะผลิตเมล็ดพันธุ์เองได้ แปรรูปเองได้ จำหน่ายเองได้ ทุกอย่างทำเองได้แบบครบวงจร” นายณัฐวุฒิ กล่าว
ทั้งนี้การพัฒนาสายพันธุ์และเพิ่มมูลค่า “ฟักทองไข่เน่า” เป็นหนึ่งในผลงานวิจัยเด่นในงาน NAC2022 ซึ่งจะมีนิทรรศการออนไลน์ผลงานที่เกี่ยวกับ BCG Model มากกว่า 100 ผลงาน ทั้งด้านเกษตร-อาหาร การแพทย์และอื่นๆ ครบวงจรที่ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมต่างๆและพัฒนาประเทศ ผู้สนใจเข้าร่วมงาน NAC2022 สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมและลงทะเบียนเข้าร่วมงานฟรีได้ที่ www.nstda.or.th/nac หรือสอบถามเพิ่มเติม โทร. 0-2564-8000