เถ้าแก่สวนมะพร้าวคนรุ่นใหม่เผย กว่า 10 ปีที่นำ E-commerce มาต่อยอดธุรกิจสวนมะพร้าวของครอบครัว ถึงตอนนี้ดีต่อเนื่องไม่มีสะดุดเลย รับกับระบบโลจิสติกส์ที่ส่งไวคนซื้อเลือกได้ แม้โควิดฯ พันธุ์มะพร้าวขายดีมากๆ
โบนัส-นภัสวันต์ เพ็ญประภัศร์ เจ้าของสวน "บ้านมะพร้าว" เล่าให้ฟังว่า ตนเองเกิดมาในครอบครัวของชาวสวนโดยเริ่มตั้งแต่รุ่นทวดแล้ว ทำสวนมะพร้าวน้ำหอมพันธุ์ก้นจีบ เตี้ยแท้ บ้านแพ้ว-สมุทรสาคร ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีชื่อเสียงของแหล่งผลิตนี้ที่คนทั่วไปรู้จักกันเป็นอย่างดี โดยก่อนหน้านี้พ่อกับแม่ได้ช่วยกันทำเพื่อสืบสานอาชีพสวน “เพาะพันธุ์มะพร้าวน้ำหอมก้นจีบฯ” แนวการผลิตของที่บ้านเน้นทำจำหน่ายมาแต่ไหนแต่ไร เอกลักษณ์เด่นที่เป็นจุดขายมะพร้าวน้ำหอมก้นจีบฯ พันธุ์แท้ คือน้ำ+เนื้อหวานหอมกลิ่นใบเตย ตัดอ่อนลูกใหญ่ขายได้ราคาดี ทำให้เป็นที่ต้องการของตลาดเสมอมา ซึ่งหลังจากเรียนจบ ป.โท
สาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์และเข้าทำงานบริษัทเอกชนได้สักระยะหนึ่งแล้ว ก็เลยตัดสินใจลาออกมากลับบ้านเพื่อทำสวนดีกว่า
“การที่ได้ลงมาทำสวนคือมันก็ได้อยู่กับธรรมชาติด้วย มันเป็นเหมือนสิ่งที่พ่อแม่เรามีมาอยู่แล้วค่ะ เราชอบไปคิดว่าต้องไปหางานข้างนอกทำอะไรทำ แต่ถ้าเรามาทำดูของสิ่งที่ตัวเองมีอยู่แล้วเราเพิ่มเติม เสริมขึ้นไปให้มันดียิ่งขึ้นกว่าเดิม มันเป็นเรื่องง่ายกว่าที่เราจะไปทำงานบริษัท จริงๆ โบเรียนจบทางคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ที่ ม.สงขลานครินทร์ ก็เรียนต่อ ป.โท
ที่นั่น แต่คือการเรียนมันก็เป็นพื้นฐานสำคัญมันทำให้เรา เอาธุรกิจของตนเองมาต่อยอดได้ แต่ว่าในส่วนของโบเองจะเป็นลักษณะของ มองเรื่องอีคอมเมิร์ชเข้ามาด้วย เพราะเดิมทีเคยไปทำงานให้กับบริษัทเอกชน ทำตลาดอีคอมเมิร์ชโดยตรงเลย
ทีนี้เราก็เลยมามองว่า ทำไมเราไม่เอาสิ่งนี้กลับเข้ามาทำให้กับสวนตัวเองดูบ้าง”
การมาทำตลาด E-commerce ในช่วงแรกๆ นั้น โบบอกว่ายังไม่มีระบบ “โลจิสติกส์” ที่ให้บริการนำส่งไวทันใจแบบเลือกได้เลยเหมือนกับตอนนี้ ลักษณะของการส่งสินค้าคือจะช่วยกันกับพ่อทำโดยมีรถคอกของตัวเอง เพื่อวิ่งไปส่งของให้โดยตรงถึงบ้านลูกค้าเลย แต่ว่าก็ต้องมีกำหนดจำนวนของการสั่งให้ค่อนข้างพอคุ้มค่าน้ำมันที่ไปต่อเที่ยว จะมีตารางการเดินรถส่งของให้ทั่วประเทศเลย ก็ปรากฏว่าผลตอบรับดีมากขึ้นเรื่อยๆ เกิดการบอกต่อๆ กันว่าพันธุ์มะพร้าวของเจ้านี้
เขามีบริการส่งให้เองจนถึงบ้านเลยนะ
สำหรับรูปแบบของการทำ E-commerce ที่ใช้สื่อสารกับกลุ่มลูกค้าในช่วงเวลานั้น ก็คือโบเล่าอีกว่าหลักๆ ก็จะมี Google และมีเว็บไซต์ที่เกี่ยวกับด้านการเกษตรเปิดให้บริการอยู่หลายรายเหมือนกัน โดยลักษณะการเข้าไปใช้บริการคือว่าทางเว็บต่างๆ ดังกล่าวจะให้คนเอาสินค้าเกษตรไปโพสต์ขายได้ฟรีเลย ก็จะเริ่มนำรูปสวนและรูปต้นพันธุ์มะพร้าวเข้าไปโพสต์ไว้ให้คนที่สนใจได้เห็นและสั่งซื้อเข้ามา ซึ่งฟีดแบ็คจากตรงนี้ก็เริ่มดีมาเรื่อยๆ จนมาถึงช่วงที่มีสื่อสารออนไลน์เกิดขึ้นอย่าง hi5 (ไฮไฟว์) และก็ได้เข้าไปใช้งานเพื่อทำ E-commerce ด้วย ใครจะไปคิดว่า hi5 ใช้ขายของก็ได้! หลังจากที่ลงรูปสินค้าไปก็เริ่มมียอดสั่งซื้อเข้ามาทางนี้ด้วยจริงๆ ไม่น่าเชื่อว่า hi5 ส่วนใหญ่กลุ่มคนใช้งานจะเป็นเด็กๆ ก็เกิดการสื่อสารไปถึงลูกค้าซึ่งเป็นผู้ใหญ่ได้เช่นกัน จนกระทั่งต่อมาเริ่มมี facebook คราวนี้คือไม่ต้องทำอะไรมากแล้วขายของต่อไปได้เลยมี Fanpage ด้วยยิ่งครบเรื่องการค้าการขายเลย และยังต่อยอดไปสู่ช่องทางอื่นๆ อย่าง LINE และมีเว็บไซต์เป็นของตัวเองชื่อ www.baanmapraw.com ที่เพิ่มเติมเข้ามาด้วย
ซึ่งเมื่อเกิดการซื้อง่ายขายคล่องผ่านช่องทางออนไลน์ที่เข้ามารองรับแล้ว ก็ทำให้การจัดส่งแบบเดิมจำเป็นต้องปรับไปตามความต้องการของลูกค้าเช่นกัน จากแต่ก่อนสั่งซื้อของแล้วต้องรอคิวส่งนานเป็น10 หรือ15 วัน แต่พอมี “โลจิสติกส์” ต่างๆ เช่น เคอรี่เอ็กซ์เพรส แฟลชเอ็กซ์เพรส ที่ให้บริการส่งถึงไวทันใจมากขึ้น ภายใน 1 หรือไม่เกิน 2-3 วันเท่านั้น และที่สำคัญคือลูกค้าจะสั่งกี่ต้นก็สามารถจัดส่งให้ได้ กลายมาเป็นโจทย์ในการพัฒนาตนเองซึ่งต้องมาเริ่มเรียนรู้วิธีการแพ็กลงกล่องส่งทางไกลแทนด้วย ข้อดีที่เห็นได้เลยกับการปรับเปลี่ยนใหม่นี้คือว่า การสั่งซื้อได้ตามจำนวนที่ลูกค้าต้องการ แบบไม่มีการกำหนดขั้นต่ำให้
อยากได้แค่ต้นเดียวก็สั่งซื้อได้นี้ มันกลับทำให้ตลาดเดินไปได้เรื่อยๆ ตลาดไม่เคยตายเลย! ซึ่งคนซื้อเองก็ได้ของที่ซื้อราคาตรงจากสวนแบบไม่ผ่านคนกลาง คนขายเองก็ได้ราคาดีขึ้นเพราะสามารถเป็นคนกำหนดราคาเอง สรุปแล้วโลจิสติกส์เข้ามาช่วยสร้างตลาดคนซื้อ-คนผลิตได้มาเจอกันโดยตรง เป็นเรื่องที่ดีมากๆ สำหรับสินค้าเกษตร
ทั้งนี้ หากลูกค้าต้องการคำแนะนำในเรื่องของการเลือก “พันธุ์ดี” ตลอดจนวิธี “การปลูก-การดูแล” โดยที่สวนเองก็มีขั้นตอนต่างๆ ที่แนะนำให้ด้วย เช่น เรื่องพันธุ์จะมีการคัดเลือกมะพร้าวน้ำหอมก้นจีบฯ ผลแก่ที่มีผิวเข้า “สีก้ามปู” แล้วเท่านั้น หลังจากที่เก็บมาแล้วจะต้องทิ้งเอาไว้ให้เปลือกค่อนข้างแห้งก่อน จึงค่อยนำไปปาดหัวและนำไปวางลงแปลงเพาะ เอาด้านที่ปาดอยู่บนสุดแล้วคลุมทับทั้งผลไว้ด้วยขุยมะพร้าวพร้อมติดตั้งระบบการให้น้ำ ใช้เวลาประมาณ 5 เดือนจึงได้ต้นกล้าที่พร้อมปลูกลงแปลง ความสูง 50 ซม.ขึ้นหรือประมาณ 1 ข้อศอกจะดีที่สุด แข็งแรงและปลูกติดได้เร็ว สำหรับการปลูกแนะนำอยู่ 2 ระยะคือ 5 เมตร ปลูกได้ 50 ต้น/ไร่, 6 เมตร ได้ 44 ต้น/ไร่ หลุมปลูกลึกพอให้กลบดินทับลูกมะพร้าว(ต้นกล้า) ได้พอดี การให้น้ำ2 เดือนแรก รดทุกเช้าอย่าให้ขาด หลังจากนั้นในช่วง 6 เดือนแรก รดน้ำอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง หรือ 2 สัปดาห์/ครั้งก็ได้ ใส่ปุ๋ยสูตรเสมอ 16-16-16 สลับกับยูเรีย 46-0-0 ช่วงให้ผลเปลี่ยนเป็น13-13-21 เป็นต้น
ช่วงโควิดที่ผ่านมาโบบอกว่า กลายเป็นช่วงนาทีทองของการขาย “พันธุ์มะพร้าว” เลยก็ว่าได้ เมื่อคนเริ่มหันกลับมาสู่ภาคการเกษตรกันมากขึ้น เป็นทางเลือกแทนการอยู่ในเมืองที่แออัดผู้คนซึ่งเสี่ยงต่อการติดเชื้อฯ มากกว่า ก็เลยกลับมาอยู่บ้านคืนถิ่นภูมิลำเนาตนเอง หลายคนพอมีที่ทางสำหรับทำกินเพื่อจะเริ่มต้นชีวิตใหม่ ดังนั้นก็เริ่มหาซื้อพันธุ์ไม้ต่างๆ นำไปปลูก ณ ช่วงเวลาที่ผ่านมาถือว่ามะพร้าวน้ำหอมฯ ติดอันดับต้นๆ ของพันธุ์ไม้ที่ได้รับความสนใจในการซื้อหานำไปปลูกกัน ทำให้ที่สวนเองแม้โควิด-19 แต่ก็ไม่ได้ก่อผลกระทบใดๆ การค้าการขายไม่สะดุดเลย มีแต่กลับกลายเป็นว่ายิ่งขายดีมากกว่า
จากพื้นที่ผลิตในปัจจุบัน โบ-นภัสวันต์ บอกว่าสวนของตนเองที่ดูแลอยู่จะมีด้วยกัน 3 แปลง คือ แปลงนี้เนื้อที่ประมาณ 15 ไร่
ถัดออกไปคือเป็นแปลงที่บ้านจะมีต้นพ่อแม่พันธุ์(อายุกว่า 50 ปีแล้ว) กับเป็นหน้าร้านเพื่อให้ลูกค้าเข้ามาเลือกซื้อพันธุ์นำไปปลูกได้ และมีอีกแปลงถัดไปซึ่งจะอยู่แถวๆ วัดท่าไม้ตรงนั้นก็จะมีอยู่ 30 ไร่ โดยทั้งหมดนี้จะเน้นการผลิตกล้า “พันธุ์มะพร้าว” เป็นหลักเพราะลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นคนปลูกมะพร้าว แต่ว่าก็มีบ้างในบางช่วงที่ตัดเป็น “มะพร้าวอ่อน” ออกตลาดเสริมกันไปนิดๆ หน่อยๆ ด้วย ทั้งนี้หากลูกค้าต้องการซื้อแบบไหนก็สามารถสั่งได้ หรือหากต้องการสั่งพันธุ์นำไปปลูกซึ่งไม่ต้องห่วงเรื่องจำนวน สามารถสั่งได้ทั้งไม่ว่าหลักร้อยหลักพันหรือว่าจะสั่งเป็นหลักหมื่นต้นก็ได้ ถ้าสั่งจำนวนเยอะๆ ก็อาจจะต้องมีการวางมัดจำล่วงหน้าบางส่วนก่อน ที่สวนสามารถผลิตได้ตามจำนวนที่ลูกค้าต้องการตลอดทั้งปี
สอบถามเพิ่มเติม โทร.086-890-5339
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด* * *