xs
xsm
sm
md
lg

“สเต็กกบ” ท้าให้ลอง! บ้านจ่าก้อง กงไกรลาศ จ.สุโขทัย พร้อมไปเรียนรู้วิชาการทำกินผ่านศูนย์เรียนรู้แบบมีชีวิต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“สเต็กกบ” ท้าให้ลอง! บ้านจ่าก้อง กงไกรลาศ จ.สุโขทัย พร้อมไปเรียนรู้วิชาการทำกินผ่านศูนย์เรียนรู้แบบมีชีวิต ทำให้ดู เพื่อปูทางสู่อาชีพอย่างยั่งยืน

จ่าก้อง จ่าสิบโทสุทิน ทองเอ็ม กับสเต็กกบเมนูแนะนำใหม่ท้าให้ลอง!
ความตั้งใจที่จะทำให้ศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้เป็นแบบมีชีวิต คือมีการผลิตและการเรียนรู้ร่วมกันไป ทุกอย่างในที่นี้โดยเฉพาะเรื่องของการทำกิน “จ่าก้อง-จ่าสิบโทสุทิน ทองเอ็ม” บอกว่าจะเน้นทำเป็นตัวอย่างให้เห็นก่อนในลักษณะที่ยังไม่ใช่แบบสำเร็จรูปเลย เห็นข้อดีข้อเสียเพื่อต้องการท้าทายความคิด กระตุ้นให้เกิดการนำไปคิดต่อยอดสร้างความสำเร็จในรูปแบบของตนเองต่อไป โดยมีตัวอย่างของเครือข่ายที่ประสบความสำเร็จแล้ว สามารถสร้างงานอาชีพและรายได้เป็นทางเลือกเพิ่มให้กับชีวิตที่ไม่ใช่มีแค่เพียงทางเดียว

กบทอดกระเทียม
จ่าก้องยกตัวอย่างของ การเลี้ยงกบในกระชังของศูนย์ฯที่ทำต่อเนื่องมาถึงตอนนี้ จากจุดเริ่มคือต้องการให้เกิดการรวมกลุ่มกันผลิตรวมกลุ่มกันขาย สร้างอำนาจการต่อรองราคากับตลาด โดยมีการตั้งกติกากันในช่วงแรกทุกคนมาเลี้ยงรวมอยู่บริเวณเดียวกัน แต่แยกเป็นกระชังของใครของท่านเลี้ยงรวมอยู่ในบ่อใหญ่ซึ่งเป็นพื้นที่กลาง ใครมีความสามารถดูแลก็อาจจะเลี้ยงมากกว่า 1 กระชัง/ราย หรือใครดูแลได้แค่คราวละ1 กระชังเพียงพอแล้ว ก็สุดแท้แต่

แกงคั่วยอดไผ่ดอง
การเลี้ยงกบในกระชัง จะเน้นว่าให้สมาชิกรู้จักประยุกต์ใช้วัสดุอุปกรณ์หาได้ง่าย ในพื้นที่มีอะไรก็ใช้สิ่งที่มีอยู่แล้ว อย่างเช่น ไม้ไผ่ที่นำมาใช้เป็นทุ่นลอย(พื้นที่บนบก) ให้กบที่เลี้ยงอยู่ในลี่(ตาข่ายสีฟ้า) ที่ทำเป็นกระชังเลี้ยงลอยน้ำ
การเลี้ยงกบในกระชังแบบนี้มีข้อดีคือ เนื้อจะหอมและนุ่มกว่า ส่วนในน้ำซึ่งเป็นลักษณะของบ่อน้ำที่ขุดขึ้นมาเองก็จะมีการเพิ่มออกซิเจนโดยการติดเครื่องตีน้ำบนผิวน้ำ และมีการดูดน้ำจากด้านล่างขึ้นมาสลับหมุนเวียนโดยใช้พลังงานจากโซลาร์เซลล์ด้วย จากนั้นในกระชังเลี้ยงจะปล่อยลูกพันธุ์จำนวน1,000 ตัว การให้อาหารโดยจะเลี้ยงด้วยอาหารเม็ดสำเร็จรูป ใช้ระยะเวลาเลี้ยงประมาณ3 เดือน/รุ่น โดยก่อนจะจับขายมีการให้กินอาหารที่ผสมกับน้ำหมักรสหวานด้วย 20 วัน จะช่วยลดในเรื่องกลิ่นสาบดิน-กลิ่นคาวในตัวกบก่อนจะนำไปบริโภค ทั้งนี้หากควบคุมการเลี้ยงไม่ให้เกิน3 เดือนจับขายทั้งหมด จะได้กบเนื้อไซส์ 4 ตัว/กก. ถึง 3 ตัว/กก.จากต้นทุนในการเลี้ยงต่อกระชังประมาณ 5,000 บาท

กบแดดเดียวก็มีจำหน่าย
จ่าก้อง บอกด้วยว่า ตามกติกาตั้งแต่แรกก็คือว่า สมาชิกที่เลี้ยงกบซึ่งพอถึงเวลาขายผลผลิตจะต้องนำมารวมกันขายเป็นจุดเดียว ราคาที่ได้เท่ากัน โดยมีพ่อค้าประจำเข้ามารับซื้อให้ราคาเป็นไปตามที่ตกลงกันไว้ แล้วรายได้จากการเลี้ยงทุก1 กระชังสมาชิกจะต้องหักเข้ากองกลาง 100 บาท เพื่อจะกันไว้เป็นทุนสำหรับการเลี้ยงรวมกันต่อไป
ก็ปรากฏว่าสามารถเดินทางมาถึงจุดที่มีทุนกองกลางให้สำหรับสมาชิกที่เลี้ยงกบ ภายใต้เงื่อนไขคือ สนับสนุนลูกพันธุ์ให้ 1,000 ตัว/ราย พร้อมอาหารให้ด้วย 10 กระสอบ แล้วพอเลี้ยงไปถึงจับขายได้จะต้องนำรายได้มาเคลียร์คืนในส่วนของค่าพันธุ์และอาหารก่อน และทุก 1 กระชังก็ต้องแบ่งรายได้ 100 บาทเข้าสมทบทุนกลางเหมือนเดิม จากสมาชิกเมื่อเริ่ม 5-6 รายในปี 2560 ก็กลายเป็น 20-30 คนในปี 2563

ชาใบไผ่ เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพที่ต้องไม่พลาดเมื่อมาที่นี่เช่นกัน

กบกระชังที่เลี้ยงต่อเนื่องมาสำหรับการแปรรูปจำหน่ายในช่วงปลายปี-ต้นปีที่การเพาะเลี้ยงใหม่ยังไม่สามารถทำได้
จนกระทั่งเกิดวิกฤติ “โควิด-19”ซึ่งทำให้กิจการเลี้ยงกบในกระชังของสมาชิก ได้รับผลกระทบแบบเต็มๆ กบเนื้อขายออกสู่ภายนอกไม่ได้เลย เพราะไม่มีผู้ซื้อที่จะเข้ามารับเหมือนปกติ หรือแม้แต่เอาไปตระเวนขายกันเองตามบ้านก็แล้วยังขายไม่ได้เลย จ่าก้องบอกว่าความพยายามที่จะจัดการกับผลผลิตที่มีอยู่ เพราะหากฝืนเลี้ยงต่อไปก็สู้กันไม่ไหวเรื่องต้นทุนผลิต(ค่าอาหาร) เพิ่ม แนวคิดเรื่องการแปรรูปทั้งไม่ว่าจะเป็น กบชำแหละ รวมไปถึงการเปิดร้านอาหาร ทำเมนูจากกบเนื้อที่มีและวัตถุดิบอื่นๆ ซึ่งมีอยู่ในศูนย์เรียนรู้แห่งนี้ เน้นรสชาติแบบพื้นถิ่นๆ เชิญชวนสำหรับคนที่ชอบกิน เมนูออกแนวอาหารป่าหรือสำรับพื้นบ้านแบบสุโขทัย เพื่อเป็นอีกทางเลือกให้กับสมาชิกในการสร้างรายได้

อย่างเช่นแต่เดิม กบเนื้อที่ได้อายุจับขายแล้วจะมีราคาซื้อจากบ่ออยู่ที่ ประมาณกิโลกรัมละ50 บาท เป็นราคาส่ง แต่หากลูกค้าต้องการซื้อปลีกเพื่อจะนำไปทำเมนูเองทานที่บ้าน ในส่วนนี้ก็จะมีค่าทำ/หรือการชำแหละ เพิ่มให้กับคนทำอีกประมาณ 15 บาท/1 กก. ซึ่งมีราคาจำหน่ายต่อแพ็ก(จากกบมีชีวิต1 กก.) อยู่ที่ 100 บาท หรือถ้าสั่งเป็นในรูปแบบของเมนูกับข้าว เช่น กบทอดกระเทียมพริกไทย ขีดละ 60 บาท แบบของทานเล่นอย่าง หนังทอดกรอบปรุงรส ขีดละ 50 บาท เป็นต้น นอกจากนี้ก็ยังมีของขึ้นชื่อห้ามพลาดชิมอย่างยิ่งถ้ามาที่นี่คือ ยอดไผ่ดอง ซึ่งมีเมนูท้าให้ลองคือ กะเพราไก่ยอดไผ่ดอง ที่เวลาใครมาก็มักจะไม่พลาดสำหรับเมนูนี้ รวมถึงเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ อย่าง ชาใบไผ่ และมีน้ำไผ่ ด้วย

บรรยากาศร้านท่ามกลางร่มเงาของไผ่กิมซุ่ง
และสำหรับ“สเต็กกบ”ที่เพิ่งเปิดตัวเมนูนี้ช่วงปลายปี2564 เป็นต้นมา หวังสร้างความแปลกใหม่ท้าให้ลอง! สำหรับคนที่ไม่กล้าทานจากเห็นรูปลักษณ์ในแบบเดิม โดยเปลี่ยนใหม่ทำเป็นเมนูสเต็กอาหารแบบสากลแทนให้เลย จ่าก้องบอกถึงกรรมวิธีของการทำสเต็กกบด้วยว่า ตัวของเนื้อสเต็กจะใช้แต่เนื้อกบล้วนๆ นำมาปั่นให้เป็นเนื้อเดียวกัน ก่อนปรุงเครื่องเป็นสูตรของการทำสเต็กตามปกติแล้ว ต่อมาคือจะมีการเพิ่มสมุนไพรไทยๆ อย่าง กระชายและใบมะกรูด ใส่เข้าไปเพื่อช่วยแต่งกลิ่นและรสชาติให้มีความเข้มข้นมากขึ้น ส่วนน้ำเกรวี่ที่ใช้ราดสเต็กก็จะมีให้เลือกได้2 แบบ คือ สูตรปกติเหมือนการทานกับสเต็กหมู-เนื้อ กับสูตรน้ำจิ้มแจ่วเน้นรสชาติเผ็ดแซ่บแบบไทยๆ และส่วนเครื่องเคียงที่ขาดไม่ได้อย่าง เฟรนฟรายด์ ก็มีให้แถมเพิ่มพิเศษ “หนังทอดกรอบ" ที่รับรองเลยว่าทานแล้วอร่อยเพลิน ครบเครื่องในราคาเพียง150 บาท/จานเท่านั้น

ได้รับความสนใจจากสื่อเกษตรดิจิทัลและเอสเอ็มอีไทยร่วมทำข่าวที่ศูนย์การเรียนรู้ฯบ้านจ่าก้อง
จ่าก้องบอกว่าพยายามนำเสนอ เป็นทางเลือกให้กับลูกค้าและในขณะเดียวกัน เพื่อช่วยเหลือสมาชิกให้มีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างไม่มีการสะดุด แม้ว่าฟีดแบ็คในช่วงนี้อาจจะยังไม่ได้หวือหวานักแต่อยากจะให้เกิดการรู้จักเมนูแปลกใหม่ของที่นี่ หวังว่าให้คนที่มาได้ลองเลือกทานกันดูว่าชอบหรือไม่ชอบอย่างไร และคิดว่าก็ยังจะไม่หยุดในการค้นคิดเมนูแนะนำใหม่ๆ ต่อไป เพื่อให้คนที่มาได้รู้สึกตื่นตาตื่นใจทุกครั้ง ซึ่งสำหรับการเลี้ยงกบนั้นก็จะมีการเว้นช่วงหรือพักบ้าง อย่างในเดือน ม.ค.-ก.พ. ที่เพิ่งผ่านหนาวมา กบจะขาดตลาดเพราะไม่สามารถทำการเพาะพันธุ์หรือเลี้ยงในช่วงนี้ จะไปเริ่มเพาะเลี้ยงได้อีกทีคือต้นเดือน มี.ค. แล้ว ซึ่งตอนนี้ที่ศูนย์ฯมีกบที่เลี้ยงต่อเนื่องมาเหลืออยู่ราวๆ สัก 200-300 กก. เพื่อสำหรับการทำแปรรูปจำหน่ายไปจนกว่าของจะหมด และรอการเลี้ยงในรอบต่อไป

ที่ ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนตำบลป่าแฝก (บ้านจ่าก้อง) อ.กงไกรลาศ จ.สุโขทัย ยังมีกิจกรรมการผลิตอื่นๆ ที่น่าสนใจอีก อาทิ
การทำชาใบไผ่ การทำน้ำไผ่(สกัดจากต้น/หรือลำไผ่ในขณะที่เกิดการคายน้ำฯ) การทำธนาคารน้ำใต้ดิน เป็นต้น พร้อมเปิดให้ผู้สนใจได้เข้าไปดูเพื่อศึกษาวิธีการสำหรับนำมาต่อยอดสร้างอาชีพ ฟรีไม่มีค่าเข้าชมหรือหากสนใจทำกิจกรรมเวิร์กช็อปด้วยก็สามารถแจ้งล่วงหน้าก่อนว่าต้องการทำในเรื่องอะไรบ้าง ซึ่งในส่วนนี้ก็อาจจะมีค่าอุปกรณ์ด้วยอีกนิดหน่อยเท่านั้น เพราะจากความตั้งใจของจ่าก้องคือต้องการสร้างศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้ ให้เป็นสวรรค์ของคนในชุมชน โดยจะมีทั้งเรื่องการพักผ่อนหย่อนใจไปจนกระทั่งถึงเรื่องของการสร้างรายได้ เป็นศูนย์การเรียนรู้แบบมีชีวิต ที่เน้นการทำได้จริงและสามารถต่อยอดไปสู่อาชีพอย่างยั่งยืน


สอบถามเพิ่มเติมโทร.086-917-7052

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด* * *


กำลังโหลดความคิดเห็น