xs
xsm
sm
md
lg

กขค. เปิดผลการกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้า ปี 65 คุมเข้มธุรกิจ แพลตฟอร์ม การรวมธุรกิจ ส่งเสริม SMEs ภายใต้เศรษฐกิจดิจิทัล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) เปิดผลการกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้าตามพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 ตั้งแต่ปี 2561 – 2564 ได้รับเรื่องร้องเรียนรวมทั้งสิ้น 134 เรื่อง โดยในปี 2564 มีการรับเรื่องร้องเรียนสูงสุดถึง 71 เรื่อง เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ประมาณ 2.36 เท่า กลุ่มธุรกิจที่มีการรับเรื่องร้องเรียนมากที่สุดคือ ธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (Platform) จำนวน 40 เรื่อง รองลงมาคือธุรกิจแฟรนไชส์และธุรกิจบริการอื่นๆ จำนวน 15 เรื่อง และธุรกิจการผลิตและการค้าส่งค้าปลีกจำนวน 16 เรื่อง และเมื่อจำแนกตามพฤติกรรมพบว่าเป็นการใช้อำนาจเหนือตลาดโดยมิชอบจำนวน 40 เรื่อง การปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมจำนวน 28 เรื่อง และการตกลงร่วมกัน จำนวน 3 เรื่อง โดยได้ดำเนินคดีอาญา จำนวน 3 เรื่อง ผู้ต้องหาจำนวน 28 ราย อยู่ระหว่างส่งฟ้องอัยการ จำนวน 2 ราย และผู้ต้องหาขอเปรียบเทียบปรับตามกฎหมายจำนวน 26 ราย ในส่วนของคดีปกครองมีการลงโทษทางปกครองจำนวน 11 เรื่อง ผู้กระทำความผิด จำนวน 16 ราย มีค่าปรับรวมประมาณ 34 ล้านบาท นอกจากนี้ ในปี 2564 เป็นปีที่มีการรวมธุรกิจมากที่สุดถึง 32 เรื่อง เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ประมาณ 2 เท่า และมีมูลค่าการรวมธุรกิจประมาณ 2.1 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 3.4 เท่า


ศาสตราจารย์สกนธ์ วรัญญูวัฒนา ประธานกรรมการการแข่งขันทางการค้า เปิดเผยว่า ในปี 2565 คาดว่าสถานการณ์เศรษฐกิจของไทยมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ยังคงได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่อยู่ระหว่างการฟื้นตัวจากการระบาดของโรค COVID-19 ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจไทยเกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และจากระบบเศรษฐกิจดิจิทัลที่มีการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่สำคัญ (Megatrends) อย่างรวดเร็ว และการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการประกอบธุรกิจ ทำให้รูปแบบการประกอบธุรกิจเปลี่ยนแปลงไปเป็นรูปแบบธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (Platform) เพิ่มมากขึ้น และจะมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทางการค้าเพื่อแข่งขันกันมากขึ้น นอกจากนี้ ผู้ประกอบธุรกิจมีแนวโน้มจะควบรวมธุรกิจเพิ่มมากขึ้นด้วย เพื่อปรับตัว
ให้มีศักยภาพในการแข่งขันมากขึ้นและสามารถอยู่รอดได้ ซึ่งส่งผลให้ผู้ประกอบธุรกิจรายใหญ่มีการใช้อำนาจเหนือตลาดหรือมีการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมเพิ่มมากขึ้น ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) 
ไม่สามารถแข่งขันได้ และอาจไม่สามารถอยู่รอดได้ ซึ่งเป็นความท้าทายที่สำคัญในการกำหนดแนวทางการกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้าให้มีการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ


ทั้งนี้คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า จึงได้กำหนดนโยบายและทิศทางการกำกับการแข่งขันทางการค้า ปี 2565 ได้แก่

1) การกำกับดูแลการแข่งขันในธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (Platform) ทุกรูปแบบ ซึ่งมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว เนื่องจากสามารถให้บริการลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพในระบบเศรษฐกิจดิจิทัลที่ผู้บริโภคไม่นิยมใช้เงินสด โดยในปี 2564 มีมูลค่าทางธุรกิจมากถึง 4 ล้านล้านบาท อาทิ การจำหน่ายสินค้าหรือบริการ (E-Market Place) การขนส่งสินค้า (E-Logistic) การให้บริการรับสั่งและจัดส่งอาหาร (Food Delivery) และธุรกิจจองโรงแรมที่พัก (OTA) ซึ่งผู้ประกอบธุรกิจส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบธุรกิจรายใหญ่จากต่างประเทศ

2) การกำกับดูแลการรวมธุรกิจ (M&A) โดยเฉพาะการควบรวมธุรกิจด้านเทคโนโลยีที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นอย่างชัดเจน

3) การส่งเสริมและสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบธุรกิจ SMEs สามารถแข่งขันได้


นอกจากนี้คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าจะมีการพัฒนาแนวทางการกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้าในด้านอื่นๆ เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้สามารถกำกับดูแลธุรกิจในระบบเศรษฐกิจดิจิทัลที่มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการประกอบธุรกิจอย่างรวดเร็ว โดยการปรับปรุงกฎหมายการแข่งขันทางการค้าและแนวปฏิบัติทางการค้าและกฎระเบียบต่างๆ และเสริมสร้างความร่วมมือในการกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้ากับหน่วยงานต่างประเทศ รวมทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีและสร้างฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เพื่อเป็นเครื่องมือศึกษาวิเคราะห์โครงสร้างตลาดและพฤติกรรมการแข่งขันทางการค้าในการกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้าได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ โดยการจัดตั้งศูนย์วิเคราะห์ธุรกิจเชิงลึก (Business Intelligence Unit) เพื่อให้การแข่งขันทางการค้าไทยมีแนวทางการพัฒนาที่ดีขึ้น รวมทั้งการเสริมสร้างสภาพแวดล้อมการแข่งขันทางการค้า นอกจากนี้ คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าได้มีการเปลี่ยนแปลงชื่อตราสัญลักษณ์ของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า และสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า เพื่อให้เป็นไปตามหน่วยงานกำกับดูแลกฎหมายอื่นๆ ในประเทศ และชื่อภาษาอังกฤษเป็นรูปแบบเดียวกันกับองค์กรการกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้าของต่างประเทศ โดยมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้


องค์ประกอบและความหมาย

- เส้นตรงแนวนอน หมายถึง ความเรียบง่ายและการทำงานที่ตรงไปตรงมาด้วยความรับผิดชอบตามหลักการความถูกต้องชอบธรรม (Integrity) เพื่อรักษาไว้ซึ่งการแข่งขันทางการค้าที่เสรีและเป็นธรรม

- เส้นโค้งที่มีความสมมาตร หมายถึง แม้จะยึดมั่นในหลักการความถูกต้องชอบธรรม 
แต่กระบวนการทำงานก็มีความยืดหยุ่น (Adhere to principle, flexible in working process) อ่อนน้อมให้ความเคารพต่อผู้อื่นด้วยมิตรไมตรี และมีรอยยิ้มแห่งสำนึกของการบริการ (Service Mind)

- สีน้ำเงินกรมท่า หมายถึง ความน่าเชื่อถือศรัทธา ความมั่นคง สุขุมรอบคอบ

- สีแดง หมายถึง ความกล้าหาญ ความมุ่งมั่น ความกระตือรือร้น ความมีชีวิตชีวา และภาวะผู้นำในการขับเคลื่อนภารกิจ






















* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด* * *


กำลังโหลดความคิดเห็น