ศ.พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม แถลงผลสำเร็จโครงการ Quick Wins “เปลี่ยนเกษียณเป็นพลัง” ปีที่ผ่านมา พร้อมผลักดันโครงการสู่เฟส 2 ให้ผู้สูงวัยใช้พลังขับเคลื่อนประเทศด้านต่าง ๆ อย่างเป็นรูปธรรม โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมจัดเสวนา Forum Talk ให้เหล่าไอดอลวัยเก๋า เข้ารับโล่บุคคลวัยเกษียณ พร้อมตีแผ่แง่คิดการใช้ชีวิตอย่างมีพลัง โดยมี รศ.พิเศษ ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง เลขานุการรัฐมนตรีว่าการและโฆษกกระทรวงกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้เกียรติเข้าร่วม ณ สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก กล่าวว่า ปัจจุบันผู้สูงอายุมีปริมาณกว่าร้อยละ 12 ของประชากรไทย และมีแนวโน้มที่โครงสร้างผู้สูงวัยจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ หากไม่มีการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่วัยเกษียณที่ดีพอ จะส่งผลให้สภาพจิตใจและคุณภาพชีวิตเสื่อมถอยลง หากพวกเรามาร่วมกันส่งเสริมคุณภาพชีวิตของกลุ่มผู้สูงวัย ให้แข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจ ห่างไกลจากภาวะซึมเศร้าและติดบ้าน และเห็นคุณค่าของตัวเอง โดยไม่ปล่อยให้ร่างกายที่ร่วงโรยมาบั่นทอนจิตใจ โดยกลุ่มคนเหล่านี้ยังมีความรู้ ความคิด และประสบการณ์ชีวิต ถ้าเราสามารถนำสิ่งเหล่านี้มาใช้ร่วมกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีความเชี่ยวชาญหรือมีทักษะด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ จะเกิดความลงตัวในหลากหลายด้าน ทั้งการเกิดทักษะใหม่ มีการปรับรูปแบบกระบวนการคิดและวิธีการใช้ชีวิตต่าง ๆ ซึ่งเราอยากเห็นความสุขเกิดขึ้นในทุก ๆ ช่วงวัย สามารถช่วยเหลือเกื้อกูลกันได้ โดย อว.มุ่งมั่นผลักดันให้โครงการ “เปลี่ยนเกษียณเป็นพลัง” เป็นวาระแห่งชาติ เป็นโครงการที่มีทั้งความสนุก และความรู้ทางวิชาการ เพื่อพัฒนาทักษะด้านต่าง ๆ ให้กลุ่มคนเหล่านี้เป็นเป็นคนสูงวัยที่มีคุณภาพ พร้อมก้าวสู่การใช้ชีวิตและช่วยเหลือสังคมในวัยเกษียณได้อย่างมีพลัง
รมว.อว. กล่าวต่อว่า ได้มอบหมายให้ วช.สร้างกลไกการเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย โดยสนับสนุนทุนวิจัยและขับเคลื่อนผลงานวิจัยพร้อมใช้ ในประเด็นเรื่อง “การเปลี่ยนเกษียณเป็นพลัง” : ผู้สูงวัยมีทักษะในการประกอบอาชีพ เพื่อเปิดโอกาสและสร้างแรงจูงใจให้วัยเกษียณหรือสูงอายุเข้าสู่สังคมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ให้เห็นผลสำเร็จโดยเร็ว ครอบคลุมการจ้างงาน การสร้างความรู้ภาคเกษตรสมัยใหม่ เสริมทักษะการดำรงชีวิตและอาชีพ เพื่อสร้างรายได้ที่เหมาะสมกับศักยภาพ การป้องกันโรค สร้างเสริมและฟื้นฟูสุขภาพกายใจ พร้อมจัดสภาพแวดล้อมให้เป็นมิตร รวมทั้ง การเตรียมหลักประกันทางสังคมที่สอดคล้องกับความจำเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิต โดยมีสถาบันการศึกษาร่วมดำเนินการ จำนวน 10 สถาบัน ได้แก่ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ปัจจุบัน โครงการ “เปลี่ยนเกษียณเป็นพลัง” มีผู้สูงอายุเข้าร่วมแล้วทั้งสิ้น 19,000 คน จาก 5 ภูมิภาค 26 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง น่าน สกลนคร ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา ร้อยเอ็ด สุรินทร์ อุบลราชธานี ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี นนทบุรี นครปฐม สมุทรปราการ พระนครศรีอยุธยา พิจิตร สงขลา สตูล พัทลุง ชุมพร และกระบี่ ภายใต้ความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมกิจการผู้สูงอายุ สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นต้น ทำให้เกิดเป็นผลสำเร็จในด้านต่าง ๆ ทั้งด้านการส่งเสริมการตลาดออนไลน์ เพื่อพัฒนาทักษะเทคโนโลยีและสร้างธุรกิจออนไลน์สำหรับผู้สูงวัยในยุคดิจิทัล ด้านการเสริมสร้างพัฒนาทักษะอาชีพ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์ ในการเตรียมความพร้อมสำหรับประกอบอาชีพในยุควิถีชีวิตใหม่ นอกจากนี้ ยังได้ขยายขอบเขตการดำเนินงานไปอีก 5 พื้นที่ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร จังหวัดชุมพร จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดลำปาง และจังหวัดสุราษฎร์ธานี