xs
xsm
sm
md
lg

(ชมคลิป)“สลิดกัน” ชวนไปกินปลาสลิดกัน! หนุ่มวิศวะมาทำเกษตรต้องพิเศษใส่ไข่ไม่เหมือนใคร ครบวงจรเลี้ยง แปรรูป และขายเอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์





“สลิดกัน” ชวนไปกินปลาสลิดกัน! เมื่อหนุ่มวิศวะมาทำเกษตรเลยต้องพิเศษใส่ไข่ไม่เหมือนใคร แค่เลี้ยงปลาอย่างเดียวยังไม่จบ! ต้องมีการแปรรูปเอง-ขายเองแบบครบวงจรด้วย


ไม่บ่อยครั้งนักที่เราจะได้เห็นปรากฏการณ์ของ “เกษตรครบวงจร” คือมีการผลิตการแปรรูปเองในเชิงอุตสาหกรรมและยังสามารถจำหน่ายเองได้อย่างครบวงจรอีกด้วย เพราะหากกล่าวสำหรับเกษตรกรทั่วไปแล้วอาจเป็นเรื่องที่ยากจะทำได้ครบทั้งหมด แต่นั่นไม่ใช่เขาคนนี้ “นิค-ธนัทธร กาญจนพิศาล” หนุ่มวิศวะเรียนจบมาทางด้านวิศวกรรมอุตสาหการ ปัจจุบันอายุ33 ปี ที่มีดีกรีเป็นถึงเถ้าแก่โรงงานแปรรูปปลาครบวงจร แบรนด์“สลิดกัน”สร้างยอดขายสวนกระแสยุคโควิดฯ เดือนละกว่า10 ตัน ผ่านตลาดออนไลน์และการส่งออกไปยังหลายประเทศแล้ว



นิค-ธนัทธร
เล่าให้ฟังว่า ที่บ้านทำธุรกิจด้านสิ่งทอ (ทำทอผ้า) อยู่เดิมซึ่งตนเองก็ได้เห็นและซึมซับมาในอาชีพของครอบครัวโดยตลอด จนกระทั่งพอเรียนจบช่วงนั้นในใจก็คิดอยากจะหาอะไรอย่างอื่นทำเพิ่มเติมด้วย เพราะเล็งเห็นแล้วว่าสิ่งทอในห้วงเวลานี้อาจจะไม่ใช่เป็นขาขึ้นเหมือนกับที่ยุคหนึ่งสมัยหนึ่งเคยทำได้มาก่อน และเป็นจังหวะเดียวกันที่กระแสของเรื่องเกษตร-อุตสาหกรรมกำลังมีการพูดถึงกันมาก ตอนนั้นไม่ว่าการผลิตพืชอะไรก็ดูจะบูมในเรื่องของการตลาดไปเสียทั้งหมด กอปรกับคุณพ่อเองเดิมพื้นเพก็เป็นคนแม่กลองชีวิตโตมากับการทำสวน และมีสวนมะพร้าวอยู่แล้ว ก็เลยพอมีอายุมากขึ้นก็รู้สึกว่าอยากจะมาทำเกษตรด้วย จึงเริ่มมองหาอะไรที่เราจะทำดี? ก็เลยนึกถึง “ปลา” เพราะที่บ้านชอบทานปลากันอยู่แล้ว ลองหาข้อมูลดูว่าปลาอะไร? จนนึกขึ้นมาได้อีกว่า “ยาย” ชอบให้พ่อขับรถพาไปซื้อปลาที่แหล่งซื้อทีหนึ่ง เป็น 50 กก. แล้วยายต้องไปคัดปลาเอง ซื้อมาแจก! ก็เลยรู้สึกว่าเราก็มีความผูกพันกับปลานี้ด้วย ผู้ใหญ่ให้คุณค่ากับสิ่งนี้ เราอยากทำอะไรที่มันมีคุณค่าแบบนี้ขึ้นมา

“เราก็เลยมาเช็กว่าปลาสลิดราคาดี มีคาราแรกเตอร์ชัดเจน มีเอกลักษณ์อะไรเงี้ยครับ และก็เกษตร-อุตสาหกรรม ณ ตอนนั้นที่เราได้ยินแล้วก็โดดเด่น ก็จะมีทุเรียน มีกล้วย มีมะพร้าวอะไรอย่างนี้นะครับ ซึ่งเป็นเหมือนแบบพืชที่ต่างชาติRecommend มาแล้วต้องได้ลอง เราก็รู้สึกว่าถ้าจะสมมุติว่าโจทย์คือปลา ปลาอะไร? ประมาณนี้ครับ มันก็มองว่า “ปลาสลิด” ก็ได้อยู่นะ คาแรกเตอร์มันได้ เราก็เลยทำปลาสลิด”



การตากปลาในพาราโบลาโดม
การเลี้ยง “ปลาสลิด” สำหรับปูทางไปสู่วัตถุดิบเพื่อป้อนโรงงานแปรรูปครบวงจร นิค-ธนัทธร เล่าว่า การจัดการพื้นที่ในการเลี้ยงปลาหรือบ่อถ้ากำลังดีคือ 10 ไร่/บ่อ และก็อัตราการเลี้ยงประมาณ 1-3 ตัน ส่วนของตนเองนั้นจะเลี้ยงอยู่กลางๆ เพื่อที่จะจัดการได้ง่าย น้ำไม่สกปรกมาก การจัดการจะง่ายกว่าทั่วไป โดยการเลี้ยงที่เลือกใช้เป็นแบบกึ่งธรรมชาติกับกึ่งพัฒนา ก็คือจะมีทั้ง “หญ้า” แบบเลี้ยงธรรมชาติ มีฟันหญ้าด้วยในช่วงเดือนแรกๆ ที่ปลายังตัวเล็ก เพื่อที่จะเอาหญ้าที่เราฟันแล้วล้มลงไปในน้ำให้
เกิดการหมักเป็นพวกไรแดง หนอนแดง เป็นอาหารธรรมชาติให้ปลา แล้วก็แบบเชิงพัฒนาคือ มีทั้งอาหารเม็ด มีพืชน้ำที่ปลากินได้ เราก็เสริมเข้าไป นอกจากนี้ยังมีการ ล้อม มีตาข่ายขึงกันนก มีระบบเช็กน้ำ บำบัดน้ำ-ถ่ายน้ำ


โดยที่ฟาร์มหลังจากมีการจับปลาแต่ละรุ่น จะมีการคัดพ่อแม่พันธุ์เอาไว้สำหรับการเพาะขยาย(ลูกปลา) ใช้เลี้ยงในรอบต่อไปด้วย จากนั้นพอได้ลูกพันธุ์ปลาสลิดที่มีขนาดประมาณ 2 ข้อนิ้ว (500 ตัว/กก.) หรืออายุได้2 เดือนขึ้นไป อัตราการปล่อยเลี้ยงต่อพื้นที่คือ1.5 ตัน/ไร่ ระดับน้ำในบ่อลึก 1-1.5 เมตร ซึ่งในช่วงแรกๆ ที่ปลายังเล็กอยู่จะยังไม่ได้มีการจัดการเรื่องน้ำมากนัก
จนกระทั่งเลี้ยงไปพอปลาเริ่มโตหรือสังเกตจากสีของน้ำ(วัดค่าน้ำ) ในบ่อที่เริ่มมีสีเขียวคล้ำมากขึ้น แพลงก์ตอนเยอะก็จะมีถ่ายน้ำให้บ้าง ประมาณ10% โฟลด์น้ำใหม่เข้าไป สักประมาณเดือนละครั้ง หรืออีกวิธีหนึ่งโดยการ ใส่จุลินทรีย์ลงไปในน้ำเพื่อช่วยบำบัดน้ำ หรือมีการตีน้ำช่วยก็ได้ (ติดตั้งกังหันน้ำในบ่อ) ใช้ได้หมดเลยหรืออย่างมีกรณีของ “อากาศดับ” คือออกซิเจนต่ำ ไม่มีลม ซึ่งจะมีช่วงแบบนี้อยู่เราก็ตีน้ำช่วยได้

 
ข้อดีของปลาสลิดที่ต่างจากปลาอื่นๆ อีกอย่างคือ อึดทน ไม่ค่อยป่วยเป็นอะไร อยู่ได้แม้ในสภาวะที่ค่าออกซิเจนต่ำกว่าปกติขณะที่ปลาอื่นอย่างเช่น กะพง ไม่สามารถทนได้ เป็นต้น ส่วนเรื่องของ “อาหาร” ที่ให้จะเน้นโปรตีน30% ให้วันละ2 เวลาคือ เช้ากับเย็น ในปริมาณคิดเป็น%ต่อน้ำหนักตัว แล้วในระหว่างวันก็จะเสริมอาหารธรรมชาติ ใช้ระยะเวลาเลี้ยงไปจนกระทั่งถึง 11 เดือนก็เริ่มทยอยจับปลาตามไซส์ก่อน และพอครบ1 ปีก็จึงจับปลาขึ้นทั้งหมด ปลาที่ได้มีไซส์เฉลี่ยตั้งแต่7 ตัว/กก.จนถึง15 ตัว/กก. โดยในช่วงที่เลี้ยงได้ดีๆ เลยจับปลาได้ต่อรอบเฉลี่ยอยู่ที่3 ตัน/1 ไร่ หรือหากตามปกติบ่อขนาด10 ไร่จับปลาได้เฉลี่ยรอบละ 20 ตัน

ไข่ปลาสลิด
จากนั้นพอปลาที่เลี้ยงถูกนำมาเข้าสู่กระบวนการ “การแปรรูป” ที่โรงงาน ผ่านขั้นตอนต่างๆ ตั้งแต่เรื่องของการขอดเกล็ด ควักไส้ และตัดหัวออก โดยใช้เครื่องจักรกลทั้งหมดแล้ว ต่อมาจะถูกนำเข้าสู่กระบวนการหมักปลา หรือทำเค็มก่อน โดยสูตรของที่นี่จะไม่ได้คลุกเกลือกับตัวปลาโดยตรงแต่เน้นการควบคุมเรื่องน้ำ+น้ำแข็งเป็นหลัก ใช้น้ำน้อยน้ำแข็งเยอะกว่าจะมีการคุมเรื่องอัตราส่วนทุกวัน เพื่อให้มีอุณหภูมิเหมาะสมและเกิดเชื้อได้น้อยที่สุด ทำให้เกลือซึมเข้าเนื้อปลาได้ดีในระหว่างการหมักและไม่เกิดกลิ่นเหม็น พอหมักครบตามเวลาที่กำหนดไว้ 

การตากปลาสลิดจะใช้โดม(พาราโบลาโดม) ซึ่งมีการติดตั้งแบบระบบปิดต่อเชื่อมกับตัวของโรงงานเลยเพื่อลดการปนเปื้อนจากภายนอก ปลาจะถูกจัดวางในตะแกรงสำหรับนำไปตากภายในโดม ซึ่งมีอุณหภูมิภายในที่สูงกว่าอุณหภูมิจากข้างนอกสามารถตั้งค่าในการที่จะให้ความร้อนในการตากปลาเพื่อแห้งเร็ว-ช้า ภายในกี่วัน เพราะปกติการตากในโดมแบบนี้ของที่ตากจะสามารถแห้งได้เร็วและแห้งอย่างทั่วถึงได้ดีกว่าการตากแบบกลางแจ้งทั่วไปหรือตากแดดตามปกติอยู่แล้ว ดังนั้นปลาสลิดของที่นี่จึงสามารถกำหนดได้ว่าเอาแบบความแห้งประมาณไหน(แบบแดดเดียวปกติ) หรือแบบพรีเมียมคือแห้งมาก ก็สั่งได้หมดเลย


นิค-ธนัทธร บอกว่าสำหรับเรื่องการตลาด ช่องทางการขายตอนนี้หลักๆ ก็จะเป็นออนไลน์ ทางเฟซบุ้ก กับไลน์แอด จะเข้ามาเยอะสุด โดยลูกค้าจะเสิร์ชหาคำว่า “สลิดกัน” ปลาสลิด คำค้นหาก็จะประมาณนี้ก็พบแล้ว จะเป็นรูปหัวปลาสีเหลือง และก็การตลาดทางอื่นจะมีขายส่ง ที่เขาเอาไปทำต่อเอง เช่น ตากเองขายเอง โดยลูกค้าตอนนี้มีทั้งเหนือ ใต้ อีสาน ก็แล้วแต่เจ้าบางเจ้าก็สั่งทีละหลายร้อยกิโล บางเจ้าก็หลักไม่กี่สิบโล ก็แล้วแต่ว่าเขาจะไปขายมากขายน้อยแค่ไหนก็มีแตกต่างกันไป แล้วก็ยังมีตลาด “ส่งออก” ไปต่างประเทศด้วย ซึ่งตลาดนี้ก็จะมีเงื่อนไขในเรื่องของ “มาตรฐานรับรอง” ต่างๆ ที่จะต้องมีควบคู่ในการผลิต

ทั้งนี้  ที่โรงงานเองก็จะมีมาตรฐานรับรองแล้ว เช่น อย.GMP HACCP และกำลังดำเนินการเพื่อขอรับรอง “ฮาลาล” ด้วยอีกมาตรฐาน สำหรับประเทศปลายทางที่มีการส่งออกไปแล้ว ได้แก่ อเมริกา อังกฤษ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และเพื่อนบ้านก็มีด้วยอย่าง ฮ่องกง และสิงคโปร์ เป็นต้น ลักษณะของผลิตภัณฑ์ที่ส่งออกไปส่วนใหญ่เป็น ปลาสลิดแดดเดียว และแดดเดียวแบบทอดแล้ว และก็มีแบบทอดกรอบด้วยอีกนิดหน่อย กับแบบน้ำพริกอีกนิดหน่อยด้วย ขณะที่ปัจจุบันโรงงานมีกำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 10 ตัน/เดือน และจากการมีตลาดหลากหลายมากขึ้นก็ทำให้วัตถุดิบ(ปลาเลี้ยงเอง) ไม่พอทำให้ต้องมีการสั่งซื้อปลาจากบ่อของเกษตรกรที่เป็นพันธมิตรกัน เพื่อนำเข้ามาแปรรูปเสริมอีกทางหนึ่ง ขณะเดียวกันก็เริ่มมีการเลี้ยงปลาอื่นๆ เสริมอย่างเช่น ปลากะพง เพื่อจะทำตลาดไปควบคู่กันด้วย

ปลาสลิดแดดเดียวแบบทอดแล้ว

ต่อยอดจากทอดกรอบสู่น้ำพริกรสชาติต่างๆ
เจ้าของแบรนด์ “สลิดกัน”ยังบอกด้วยว่าช่วงโควิดฯ ที่ผ่านมา ก็ได้รับผลกระทบทั้งดีและไม่ดีด้วย อย่างเช่นกลุ่มลูกค้าที่เป็นร้านอาหาร คือไม่มีออเดอร์เลย เงียบหมดเลยเพราะเขาปิดกันหมดเลย แม่ค้าปลาบางเจ้าก็คือเลิกขาย หยุดขายเขาก็ไม่สั่งเลย แต่ก็จะมีเจ้าที่เกิดใหม่ คือกลุ่มที่ขายผ่านออนไลน์ หรือว่ามีทำเลใหม่ที่เป็นเหมือนขายในช่วงโควิดฯ ในตอนนั้น ก็ทำให้ได้ยอดออนไลน์ได้ยอดจากลูกค้าใหม่ๆ ที่เพิ่งเกิด ขณะที่ลูกค้าเก่าๆ ก็มีล้มหายตายจากไป แต่ว่าอย่างช่วงนี้ก็มีเริ่มกลับมาบ้างแล้ว เพราะร้านอาหารเริ่มเปิด แต่บางร้านก็ยังไม่เปิดยังไม่กลับมาสู่สภาวะปกติ สั่งน้อยก็มีบ้าง ดังนั้นก็เลยต้องมี “ขายส่ง” เสริมไปด้วยเพื่อจะปูฐานเอาไว้ เพราะว่าที่ทำปลาอยู่ก็จะทำหลายเกรดมีทั้งแบบ เกรดตลาดทั่วไป และแบบพรีเมียมตลาดบนด้วย ซึ่งถ้าขายเพียงตลาดเดียวอาจจะยังไม่พอ

นิค ธนัทธร กาญจนพิศาล เจ้าของแบรนด์ปลาสลิด สลิดกัน
สำหรับที่มาของชื่อแบรนด์ “สลิดกัน”นั้นนิค-ธนัทธร เจ้าของซึ่งได้เฉลยให้ฟังว่า แบรนด์ของผมก็เป็นชื่อสลิดกัน สลิดกันคล้ายๆ กับสนิทกัน พ้องจองและก็เป็นชื่อแบบทันสมัย เหมือนชวนให้มากินปลาสลิดกัน ประมาณนี้ครับ”




สอบถามเพิ่มเติมโทร.084-074-9499







* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด* * *


กำลังโหลดความคิดเห็น