xs
xsm
sm
md
lg

“หอมข้าว” นวัตกรรมจมูกอัจฉริยะแบบพกพา ตรวจสอบความหอมในข้าวหอมมะลิด้วย AI เครื่องแรกในโลก!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปัญหาสำคัญของข้าวไทยโดยเฉพาะ “ข้าวหอมมะลิ” ที่ระยะหลังถูกข้าวกัมพูชาเบียดแซงแทนที่การค้าในตลาดโลก สาเหตุหนึ่งคือมาจากเรื่อง “กลิ่น” หรือความหอมที่ไม่สามารถระบุ เพื่อการบ่งบอกได้ถึง หอมมาก-หอมน้อย ระดับใดคือเป็นข้าวไทย

ดร.อดิสร เตือนตรานนท์ กับเครื่อง หอมข้าว
“ปกติข้าวบ้านเราจะมีปัญหาเรื่องว่า “กลิ่น” ไม่คงที่ หรือว่ากลิ่นเราถึงแม้ว่าจะเป็นข้าวหอมมะลิ แต่ก็ระดับความหอมบ่งบอกไม่ได้ว่า หอมมาก-หอมน้อย แล้วก็ยิ่งระยะหลังเราแพ้ข้าวกัมพูชา เพราะว่าเขาคือมันแพ้กันที่ว่า มันไม่มีอะไรเป็นตัวบ่งบอก ทีนี้ทางกรมการข้าว โดยศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี ร่วมกับสถาบันวิทยาศาสตร์ข้าวแห่งชาติ จึงได้ให้ทุนมาเพื่อการพัฒนาเครื่องที่ใช้บ่งบอกถึงว่า ระดับความหอมของข้าวที่ได้ โดยที่ปกติข้าวความหอมข้าวหอมมะลิ จะดูที่สารซึ่งเขาเรียกว่าทูเอพี (2AP) สารตัวนี้จะเป็นตัวที่ ถ้ามีมากก็จะหอมมาก มีน้อยก็จะหอมน้อย แล้วเดิมจะต้องเอาข้าวไปส่งในเครื่องมือวิเคราะห์ที่ห้องแล็บ ซึ่งใช้เวลานานแล้วก็ค่าใช้จ่ายสูง ดังนั้นเขาก็เลยบอกว่าอยากจะได้  เครื่องที่มันพกพาออกไปนอกสถานที่ได้ แล้วก็สามารถบ่งบอกระดับของความหอมในข้าวหลากหลายชนิดด้วย”

ข้าวสารที่เตรียมนำเข้าเครื่องเพื่อตรวจสอบความหอมของข้าวต่อไป
ดร.อดิสร เตือนตรานนท์ จากศูนย์เทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงของประเทศและการประยุกต์เชิงพาณิชย์ สวทช. หัวหน้าโครงการพัฒนา “หอมข้าว” อุปกรณ์ตรวจสอบความหอมในข้าวหอมมะลิแบบพกพาด้วยเทคนิคปัญญาประดิษฐ์ กล่าวถึงที่มา และว่าเป็นเครื่องแรกในโลก!! ไม่มีเครื่องE-Nose แบบที่วัดสำหรับข้าวโดยเฉพาะ เครื่องที่ซื้อมาใช้กันจะเป็นทั่วๆ ไป แบบใช้ในห้องแล็บ ซึ่งใช้งานยากแล้วก็ราคาแพง ทีมจึงได้ดีไซน์เครื่องนี้ออกมาเพื่อดมความหอมของข้าวโดยเฉพาะ

การบรรจุข้าวสารเข้าไปในเครื่องที่ต้องการตรวจสอบความหอม


เปรียบเทียบกับถ้าเป็นเครื่อง “จมูกอิเล็กทรอนิกส์” ที่นำเข้าจากต่างประเทศ ราคาหลักประมาณ4 ล้านบาท/เครื่อง! แต่สำหรับเครื่องนี้ราคาต้นทุนที่ทำออกได้คือ4 แสนบาท ซึ่งเป็นราคาถูกกว่ากันถึง10 เท่า! โดยที่สามารถพกพาออกไปนอกสถานที่ได้
หิ้วแบบกระเป๋า สะดวกสำหรับใช้งาน อีกทั้งมีการใช้เทคนิคปัญญาประดิษฐ์(AI) ในการประมวลผล เลียนแบบจากคน เปรียบเทียบกับวิธีการปัจจุบันคือจะใช้ “ผู้เชี่ยวชาญ” มาดม ซึ่งจะมีอยู่แค่คน-2 คนในประเทศ เป็นผู้เชี่ยวชาญที่กรมการข้าวฝึกขึ้นมาโดยเฉพาะ แล้ววิธีการจะดมคือ ต้องเอาข้าวไปหุงก่อน เสร็จแล้วปล่อยให้หายระอุ ถึงจะมาผ่านวิธีการดม แล้วก็บ่งบอกได้แค่เป็นระดับ 1 2 3 4 5 แต่สำหรับการใช้เครื่องสามารถที่จะดมเทียบเคียงกับกลิ่นของที่ใช้ความสามารถของคนได้ และข้อจำกัดของคนคือจะดมได้วันละไม่กี่ตัวอย่างก็เริ่มล้า แต่เครื่องนี้ดมได้อย่างไม่จำกัด และคุณภาพที่ออกมาก็มีความแม่นยำที่เป็นมาตรฐาน ซึ่งในอนาคตถ้าAI ฉลาดมากขึ้นหมายถึงมีการเก็บตัวอย่างเพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลที่มากพอ ต่อไปสามารถที่จะบ่งบอกการปนเปื้อน หรือการปนข้าวได้อีกด้วย

เริ่มต้นการใช้งานโดยต้องป้อนข้อมูลให้เครื่องเพื่อสอนการจำก่อน
ดร.อดิสร เล่าให้ฟังอีกว่า ปกติชาวนาไปขายข้าวให้โรงสี เขาก็จะดูความหอมด้วย ซึ่งเขาจะใช้วิธีดมเอา แล้วก็ดูความชื้นก่อนจะตีราคา แต่ต่อไปถ้ามีเครื่องที่บอกค่ามาตรฐาน มันก็ทำให้เราสามารถแบ่งเกรดของข้าวได้ ก็จะเพิ่มมูลค่าของการขายของเกษตรกรให้กับโรงสีได้ ซึ่งกรมการข้าวต้องการจะขยายผลเครื่องนี้ไปอยู่ในโรงสีขนาดใหญ่ ตามจังหวัดต่างๆ ที่สามารถจะรับทดสอบ รับประเมินกลิ่นข้าวได้ ระดับความหอม ส่วนในอนาคตอาจจะเป็นตอนปลายทางก็ได้ คือ เช่นสีแล้ว พอสีข้าวออกมาแล้วสามารถที่จะแบ่งเกรดเพื่อที่จะไปขาย ตามเกรดของข้าวที่มีความหอมมาก หอมน้อย หอมกลาง ก็จะเพิ่มมูลค่าของการทำการตลาดได้

การวัดค่าจะใช้เวลา 30-45 นาที ผลที่ได้หรือความหอมของข้าวที่ AI ทำการวิเคราะห์ก็จะออกมา
สำหรับขั้นตอนการตรวจสอบหรือดมความหอมของข้าว หลังจากที่ใส่ตัวอย่างข้าวลงไปในแชมเบอร์เพื่อใช้ตรวจสอบความหอมโดยเครื่อง ครั้งแรกจะมีการทำความร้อนให้ข้าว (อุ่น) ก่อนเพื่อให้มีกลิ่นออกมา จากนั้นจึงทำการแยกกลิ่นที่ไม่ใช่และอ้างอิงเฉพาะ “กลิ่น” ของข้าวชนิดที่ต้องการตรวจสอบ เพื่อนำไปเข้าสู่กระบวนการดมความหอมที่สามารถบ่งบอกค่า ความหอมของข้าวที่ได้ว่าอยู่ในระดับใดต่อไป

หอมข้าว นวัตกรรมจมูกอัจฉริยะแบบพกพาฯ สะดวกสำหรับการใช้งานภาคสนามได้
จุดเด่นของ “หอมข้าว” อุปกรณ์ตรวจสอบความหอมในข้าวหอมมะลิแบบพกพา ด้วยเทคนิคปัญญาประดิษฐ์ คือมีราคาถูกกว่าเครื่องมือจากต่างประเทศ หน้าจอสัมผัส ใช้BASELINE เป็นค่าจาก ACTIVATED CARBON หรือ GAS ZERO ขนาดและน้ำหนัก 34.5x35.5x10 cm หนัก6.5 kg ใช้ระยะเวลารวดเร็ว ในการTRAIN (สอนการจดจำ) และTEST (ตรวจวัด)30
นาที/15 นาที เทียบกับเครื่องมือวัดทั่วไป เร็วกว่า1 เท่า แม่นยำ MODEL ในการวิเคราะห์ค่า 2AP LINEAR MODEL (SK-LEARN) TENSOR FLOW โดยความถูกต้องมากกว่า 90% เมื่อเทียบกับMOS ALPHA FOX 3000ใช้งานได้ยาวนานด้วยGAS SENSOR ELECTRO-CHEMICAL GAS SENSOR อายุการใช้งาน1-3 ปี ขึ้นอยู่กับการใช้งาน ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถไปดูเครื่องจริงได้ในงาน “วันนักประดิษฐ์” ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่2-6 กุมภาพันธ์นี้ Hall 102-104 ศูนย์นิทรรศการและการประชุม ไบเทค บางนา

สอบถามเพิ่มเติมโทร.0-2564-7000 สวทช.

คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEsผู้จัดการ”รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด
SMEs manager



กำลังโหลดความคิดเห็น