“จระเข้” ทางเลือกยุคหมูแพง? จากเมนูเปิบพิสดารสู่อาหารโปรตีนทางเลือกใหม่!
EP.1 ทำไมต้องฟาร์มจระเข้ครบวงจร?!!
กระแสการบริโภค “เนื้อจระเข้” ที่กำลังมาแรง แข่งกับเนื้อหมู-ไก่ที่พาเหรดกันขึ้นราคาอย่างไม่เกรงใจผู้บริโภค ซ้ำเติมเศรษฐกิจปากท้องที่แย่จากโควิด-19 อยู่แล้ว กลายเป็นทางเลือก “อาหารโปรตีน” ใหม่ราคาเข้าถึงได้ในยามนี้
ดันยอดขายฟาร์มพุ่งขึ้นจากปกติถึง70%
ร.ต.ต.วิชัย รุ่งทวีชัย เจ้าของฟาร์มจระเข้รุ่งทวีชัยและร้านตึกส้มจระเข้ตุ๋น ตั้งอยู่เลขที่223/4 ต.สามง่าม อ.ดอนตูม จ.นครปฐม บอกว่า หลังจากปีใหม่2565 เป็นต้นมาที่เริ่มเกิดกระแส คนหันมาบริโภคเนื้อจระเข้กันมากขึ้นอาจจะด้วยเพราะเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ เนื้อหมู-ไก่มีราคาแพงขึ้น เลยทำให้ฟาร์มเองมียอดขายในส่วนนี้เพิ่มขึ้นมาจากปกติอย่างเห็นได้ชัด หลังจากโควิดฯ ที่ผ่านมา ทำการตลาดชะงักงันไปหมดไม่สามารถจำหน่ายผลิตภัณฑ์หลักอย่าง
“หนังจระเข้” ได้เลย
กำเนิดฟาร์มจระเข้ครบวงจร แบบไม่ได้ตั้งใจ
จุดเริ่มต้นของฟาร์มเมื่อกว่า 30 ปีที่แล้ว ร.ต.ต.วิชัย เล่าให้ฟังว่า มาจาก “น้องสาว” เป็นคนชอบเลี้ยงสัตว์ แล้วได้ไปเห็น “ลูกจระเข้” เลี้ยงอยู่ในฟาร์มระหว่างการเดินทางไปทำงานที่ต่างจังหวัด จึงรู้สึกชอบเลยอยากจะนำมาเลี้ยงลองดูที่บ้าน โดยครั้งแรกซื้อลูกพันธุ์มาจากฟาร์มจำนวน 20 ตัว ในราคาตัวละ 2,500 บาท ตอนนั้นที่บ้านจะมีบ่อปูนซึ่งเคยใช้เลี้ยงปลาดุกยังว่างๆ อยู่ ส่วนอาหารเลี้ยงที่ให้คือจะเป็นหมู(ที่ตายแล้ว) ได้มาจากฟาร์มของญาติๆ ที่มีการเลี้ยงกันอยู่ก่อนแล้ว จนเมื่อเวลาผ่านไป 3-4 ปีจระเข้เลี้ยงไว้เริ่มโตได้ที่ น้องสาวก็จึงลองติดต่อกลับไปที่ฟาร์มโดยหวังว่าจะขายคืนให้แต่ปรากฏ ราคาที่ได้เพียง8 หมื่นบาทเท่านั้น! ทำให้รู้สึกว่าถูกกดราคามากเกินก็เลยยังไม่ขายให้ กับอีกคราวหนึ่งต่อมาคือ จากการที่น้องสาวเองก็ได้มีการนำลูกพันธุ์ไปจำหน่ายให้กับเกษตรกรที่อยากจะเลี้ยงด้วย แล้วพอถึงเวลาจะขายจระเข้คืนฟาร์มอีกก็เจอกดราคาซื้อต่ำมากๆ อีก เพราะคนซื้อรู้อยู่แล้วว่ายังไงเกษตรกรก็ต้องขายออก ฝืนเลี้ยงต่อไปก็สู้ต้นทุนเพิ่มขึ้นไม่ไหวแน่ เริ่มรับไม่ได้แล้ว! ท้ายที่สุดจึงคิดแก้ปัญหาเองโดยการเปิดเป็นฟาร์มแบบครบวงจรขึ้นมาแทน
ร.ต.ต.วิชัย บอกด้วยว่าก่อนหน้าที่จะตัดสินใจเปิดเป็นฟาร์มขึ้นมาเองนั้น โชคดีที่ว่าน้องสาวได้รับโอกาสมาจากผู้ใหญ่ในวงการอุตสาหกรรมฟอกหนัง เป็นคนที่ช่วยถ่ายทอดความรู้และกระบวนการต่างๆ ในการทำ ตั้งแต่การเลี้ยง การแปรรูป(การเชือดและการชำแหละเพื่อเอาหนัง) จนไปสู่การเพิ่มมูลค่าในรูปแบบของผลิตภัณฑ์จากหนังจระเข้ให้ทั้งหมด และพาไปรู้จักตลาดด้วย กลับมาสามารถเปิดดำเนินการได้เองในรูปแบบฟาร์มครบวงจร โดยเริ่มต้นจากพ่อแม่พันธุ์ 20 ตัวที่เลี้ยงมาเองก่อน แล้วค่อยขยายเพิ่มเติมมาเรื่อยๆ พร้อมมีการรับซื้อคืนจากเกษตรกรลูกฟาร์มที่ซื้อพันธุ์นำไปเลี้ยงด้วย โดยให้ราคาที่เป็นธรรมกว่าฟาร์มใหญ่ๆ ทั่วไปที่มีการซื้ออยู่ จนกระทั่งฟาร์มได้รับความไว้วางใจเพิ่มขึ้นตามลำดับ ย่างเข้าสู่ช่วง10 ปีแล้วซึ่งก็มีเหตุที่ต้องทำให้ตนเองได้เริ่มเข้ามารับช่วงต่อในการดูแล ด้วยเพราะว่าน้องชายที่ทำฟาร์มอยู่ด้วยกันก่อนหน้าได้เสียชีวิตลง เพราะประสบอุบัติเหตุ ซึ่งจำเป็นที่ตนเองต้องตัดสินใจลาออกจากงานประจำเพื่อกลับมา ช่วยสานต่อกิจการของครอบครัวนับตั้งแต่นั้น
สายพันธุ์จระเข้ที่เลี้ยง
ปัจจุบันที่ฟาร์มรุ่งทวีชัยมีจำนวนจระเข้ที่เลี้ยงอยู่ ประมาณ 1 หมื่นตัว โดยเจ้าของบอกว่าหากเป็นก่อนหน้าจะมีจำนวนที่มากกว่านี้ แต่เพราะว่าภาวการณ์ตลาดหลังได้รับผลกระทบจากโควิด-19 การผลิตและการจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากหนังจระเข้ทำอะไรไม่ได้เลย ซึ่งทำให้ต้องชะลอการผลิตในส่วนของการเพาะฟักลูกพันธุ์ยังไม่สามารถดำเนินการได้ตามปกติ จากพ่อแม่พันธุ์ตอนนี้มีอยู่ประมาณ1,000 กว่าตัว โดยเป็นจระเข้สายพันธุ์มีทั้ง จระเข้น้ำจืดหรือสายพันธุ์ไทย ที่เลี้ยงกันเป็นหลักมาแต่เดิมด้วย และยังมีจระเข้สายพันธุ์น้ำเค็ม ซึ่งตอนหลังมีการนำมาเลี้ยงในฟาร์มกันมากขึ้น เพราะให้คุณภาพของ “หนัง” มีลวดลายที่เด่นชัดกว่ามีความสวยงามมากกว่า และราคาก็แพงกว่าด้วย แต่ว่าการเลี้ยงก็อาจจะมีลักษณะนิสัยที่ดุร้ายกว่าเมื่อเทียบกับจระเข้สายพันธุ์ไทย สามารถเลี้ยงได้ในน้ำจืดปกติ หรือเลี้ยงรวมกันให้อยู่ในบ่อเดียวกับสายพันธุ์ไทยก็ได้
การดูแลและการจัดการ
การเลี้ยงจระเข้จะมีช่วงวัยที่อาจต้องดูแลเป็นพิเศษคือ ช่วงแรกเกิดซึ่งยังมีความอ่อนแออยู่มาก แต่ว่าหลังจากนั้นแล้ว
ร.ต.ต.วิชัยบอกว่า ลูกจระเข้ที่มีอายุ6 เดือนขึ้นไปจะมีอัตราการรอดตายในระหว่างที่เลี้ยง สูงถึง95%ขึ้น ก็จะไม่ค่อยมีปัญหาอะไรมากแล้ว ไม่ต้องดูแลหรืออาจจะเรียกว่าเลี้ยงทิ้งๆ ขว้างๆ ก็ได้ หลักๆ ก็มีเพียงเรื่อง “น้ำ” ในบ่อเลี้ยงซึ่งหากเป็นช่วงเลี้ยงใหม่ๆ ลูกพันธุ์จระเข้ยังเล็กอยู่ก็อาจจะต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำบ่อยครั้งได้ แต่สำหรับตัวโตแล้วอย่างที่เห็นอยู่ในบ่อตอนนี้อายุ3 ปีขึ้น
การเปลี่ยนถ่ายน้ำบ่อยๆ อาจจะไม่ค่อยเหมาะนัก แต่จะคอยดูในลักษณะของการเติมน้ำเข้าไปแทนมากกว่า เพราะการถูกรบกวนจากการเปลี่ยนถ่ายน้ำอาจไม่ส่งผลดีต่อจระเข้โต กับเรื่อง “อาหาร” ที่ฟาร์มใช้เลี้ยงอยู่จะเน้นปลาน้ำจืดเป็นหลัก ซึ่งจะไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องการปนเปื้อนสารเคมีและยาปฏิชีวนะที่ใช้เลี้ยงมากนัก ต่างไปจากสัตว์อื่นๆ อย่างเช่น ไก่หรือหมู ที่อาจจะหลีกเลี่ยงการปนเปื้อนดังกล่าวได้ยากกว่า ซึ่งการให้อาหารในแต่ละครั้งก็จะไม่ได้ให้บ่อย เนื่องจากจระเข้เป็นสัตว์ที่มีระบบการย่อยอาหารที่ช้าด้วย อาจจะ 2-3 วัน/ครั้ง หรือสัปดาห์หนึ่งให้อาหารครั้งเดียวจระเข้ก็อยู่ได้ และไม่มีการผอมลงด้วย หรืออย่างช่วงโควิดฯ แบบนี้ที่ฟาร์มเองถือว่าค่อนข้างเลี้ยงโหดมากคือ มีการให้อาหารแค่เดือนละครั้ง! แต่ว่าจระเข้ก็ยังอยู่ได้เป็นปกติดี
โดยปริมาณของอาหารที่ให้เฉลี่ยจะอยู่ประมาณ1 กก./ตัว/ครั้ง
และที่เลี้ยงง่ายมากๆ อีกอย่างคือว่า ไม่ต้องมีการทำวัคซีนป้องกันโรคหรือฉีดยาใดๆ เพื่อรักษาเลย เพราะจระเข้เป็นสัตว์ที่มีเลือดสามารถต้านเชื้อแบคทีเรียก่อโรคต่างๆ ได้ เป็นแผลเกิดจากการต่อสู้กันก็สามารถหายได้เอง หรือไม่ว่าในน้ำที่อยู่อาศัยนั้นคุณภาพจะแย่ขนาดไหน ซึ่งไม่เคยพบว่ามีปัญหาเรื่องการติดเชื้อใดๆ เลย แต่ว่าก็อาจจะพบบ้างในช่วงที่เล็กๆ อยู่ยังไม่มีภูมิต้านทาน เจอเป็นตาแดงกับปากเปื่อย และล่าสุดที่เจอคือเป็น “หมอบตาย” แต่ก็ยังหาสาเหตุไม่ได้ว่าเกิดจากอะไร ทั้งนี้ สำหรับโครงสร้างพื้นฐานของการเลี้ยงก็คือจะมี พื้นที่สำหรับการทำฟาร์มเลี้ยง มีแหล่งน้ำใช้ในการเลี้ยง และมีบ่อเลี้ยงได้มาตรฐานตามที่กรมประมงกำหนดให้ ซึ่งภายในบ่อก็ต้องมีการทำบริเวณที่เป็นพื้นที่น้ำให้ไม่น้อยกว่า50% สลับมีพื้นที่บนบก และต้องทำโรงเรือนมีหลังคาเพื่อบังแดดฝนให้ด้วย โดยสัดส่วนของการใช้พื้นที่ คือ จระเข้1 ตัว: การใช้พื้นที่1.20 เมตร เพียงเท่านี้จระเข้ที่เลี้ยงก็ไม่ค่อยมีปัญหาอะไรแล้ว
การลงทุนสำหรับการทำฟาร์มเลี้ยง
ร.ต.ต.วิชัย ยังบอกด้วย สำหรับคนที่สนใจอยากจะเลี้ยงจระเข้เพื่อเป็นสัตว์เศรษฐกิจใหม่ ซึ่งเหมาะกับคนที่มีงานประจำทำอยู่แล้วและไม่ค่อยมีเวลาดูแลมากนักก็สามารถทำได้ แต่เน้นว่าต้องมีเงินทุนเอง โดยไม่ใช่เป็นการกู้แบงก์มาเพื่อทำฟาร์มถ้าอย่างนั้นไม่แนะนำเลย! เพราะค่อนข้างใช้เวลานานและบางครั้งราคาที่ได้อาจไม่ตอบโจทย์มากนัก ซึ่งหากไม่ใช่เป็นการทำเองแบบครบวงจรเช่นเดียวกับที่ฟาร์มทำอยู่นี้ ดังนั้นสำหรับคนที่พร้อมลงทุน คือจะต้องมี พื้นที่สำหรับการทำฟาร์มเลี้ยง มีแหล่งน้ำที่ใช้ในการเลี้ยงจระเข้ มีแหล่งอาหารโดยเฉพาะถ้าเป็นปลาน้ำจืดจะดีกว่า และต้องมีต้นทุนค่าอาหารที่ไม่เกิน 13 บาท/กก. จึงจะช่วยให้คนเลี้ยงสามารถอยู่รอดได้ ส่วนในเรื่องของราคาลูกพันธุ์ถ้าเริ่มต้นที่อายุ 6 เดือน จะมีราคาตั้งแต่ 800 หรือ 900 หรือ1,000 บาทขึ้นไป/ตัว โดยราคาของลูกพันธุ์จระเข้ขึ้นอยู่กับอายุและความยาวของตัวที่ใช้เป็นเกณฑ์หลัก
ฟาร์มเลี้ยงจระเข้ต้องมีการขออนุญาตให้ถูกต้อง
พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 นี้ได้กำหนดให้จระเข้น้ำจืดพันธุ์ไทย จระเข้น้ำเค็ม และตะโขงทั้ง 3 ชนิดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามกฎหมาย กล่าวคือกฎหมายจะกำหนด ห้ามล่า ห้ามค้า ห้ามครอบครอง ห้ามเพาะพันธุ์ ห้ามนำเข้า ห้ามส่งออกจระเข้และผลิตภัณฑ์จระเข้ทันที แต่อย่างไรก็ตาม กฎหมายก็มีเจตนารมณ์ที่จะอนุญาตให้ทำการเพาะเลี้ยงและค้าขายสัตว์ป่าคุ้มครองได้หากสัตว์ป่าชนิดนั้นสามารถทำการเพาะเลี้ยงในเชิงพาณิชย์ได้
ซึ่งจากกฎหมายคุ้มครองสัตว์ป่าดังกล่าวข้างต้น และนำมาสู่การขออนุญาตเลี้ยงได้เชิงพาณิชย์ ในฐานะสัตว์เศรษฐกิจใหม่โดยที่ฟาร์มเอง ร.ต.ต.วิชัย เล่าให้ฟังว่า ได้มีการขออนุญาตจากกรมประมงไว้อย่างถูกต้อง สามารถดำเนินการได้ตามที่ขอจดแจ้งเพื่อแสดงจุดประสงค์ในการดำเนินงานฟาร์ม โดยเบื้องต้นจะต้องไปขอใบอนุญาตจากกรมประมงก่อน ซึ่งพอกรมประมงอนุญาตให้ทำการเพาะเลี้ยงได้ จากนั้นทุกอย่างจะต้องดำเนินการตามอย่างเคร่งครัด ทำผิดไปจากที่ระบุไว้ไม่ได้เลย ไม่ว่าจะเป็นตั้งแต่เรื่องของ สถานที่เลี้ยงตั้งอยู่เลขที่อะไร จำนวนที่เลี้ยงและเป็นจระเข้สายพันธุ์อะไรบ้าง แล้วพอมีการเกิดลูกจากการเพาะฟักได้ในแต่ละปีก็ต้องแจ้งอีก มีจำนวนเท่าไร หลังจากนั้นถ้ามีการตายไปก็ต้องแจ้งเพื่อให้ทราบถึงจำนวนที่เหลืออยู่ด้วย
หรือเวลามีการขายก็ต้องแจ้ง คนซื้อเป็นใคร ลูกจระเข้ที่จำหน่ายให้มีขนาด/หรือไซส์เท่าไร เป็นสายพันธุ์ไหน และส่วนคนซื้อเองก็ต้องมีใบอนุญาตเลี้ยงจากกรมประมงด้วย การขนส่งก็ต้องมีการระบุทะเบียนรถชัดเจนและคนขับเป็นใคร ทุกอย่างต้องทำตามที่แจ้งไว้ถูกต้อง หรือแม้แต่ที่ตั้งฟาร์มอยู่ติดกันเจ้าของฟาร์มเป็นพี่น้องกันก็ไม่สามารถขนย้ายหรือฝากกันเลี้ยงได้ เพราะหากมีการตรวจพบถือว่ามีความผิดและโดนโทษปรับเป็นจำนวนเงินที่สูงอยู่ ฉะนั้นการเพาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์หากมีการขออนุญาตจากกรมประมงและได้รับใบอนุญาตอย่างถูกต้องแล้ว การดำเนินการทุกอย่างตามที่ระบุไว้โดยเคร่งครัดก็สามารถทำอาชีพฟาร์มเลี้ยงจระเข้ได้
ในวิกฤติ ที่ยังมีโอกาส!
อย่างไรก็ตาม อาชีพฟาร์มเลี้ยงจระเข้ที่ทำแบบครบวงจรเช่นเดียวกับ “รุ่งทวีชัยฟาร์ม” มีการดำเนินการอยู่โดยมีผลิตภัณฑ์หลักคือ “หนังจระเข้” ที่ถือว่าเป็นผลผลิตในลำดับที่1 ของการเลี้ยง การแปรรูปสู่กระบวนการนี้คือใช้จระเข้ที่มีอายุตั้งแต่ 2-3 ปีขึ้นหรือได้ขนาดความยาวไม่น้อยกว่า1.80 เมตร ซึ่งการซื้อขายหนังจระเข้ในตลาดจะคิดมูลค่าตามขนาด(วัดเป็น ซม.) ที่ใช้เป็นเกณฑ์ ส่วนผลผลิตในลำดับต่อไปซึ่งถือว่าเป็นผลพลอยได้ ก็อย่างเช่น เลือด และเนื้อจระเข้ ที่กำลังมีมูลค่าทางการตลาดอยู่ในปัจจุบัน สมัยก่อน ร.ต.ต.วิชัย เล่าให้ฟังว่าโดยเฉพาะ “เลือด” คือแทบจะไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไรเลย ส่วนใหญ่พอเชือดเสร็จจะปล่อยทิ้งเลือดไหลลงน้ำไป จนเมื่อตอนหลังพอมีงานวิจัยของ ม.เกษตรศาสตร์ ออกมารองรับก็ทำให้เลือดจระเข้จากที่เคยทิ้งขว้างไปอย่างไม่มีค่าเลย ก็กลับมาเริ่มมีราคาขึ้น สร้างมูลค่าการซื้อขายอยู่ในตลาดยา/อาหารเสริมเพื่อสุขภาพ อย่างมหาศาลเป็นผลตามมา และส่วน “เนื้อจระเข้” เองเมื่อก่อนก็พอมีตลาดเฉพาะกลุ่ม เป็นคนที่นิยมกินเนื้อจระเข้อยู่บ้างแต่ว่าก็ไม่ได้กว้างมากนัก ซึ่งหากเปรียบเทียบเรื่องการสร้างรายได้อย่างไรเสีย “หนังจระเข้” ก็ยังคงสามารถทำเงินได้เป็นอันดับหนึ่ง
จนกระทั่งสถานการณ์ทุกอย่างได้เปลี่ยนไปหลังจากที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 เกิดขึ้นมา ก็ทำให้ตลาดของหนังจระเข้หยุดชะงักไปพร้อมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ต้องหยุดลงด้วย และไม่น่าเชื่อว่าในระหว่างนี้เองสถานการณ์ของฟาร์มที่ทำท่าว่าว่าจะซบเซาแบบ100% ไปตามภาวการณ์เศรษฐกิจ แต่อยู่ๆ กลับมี “ยอดขาย” ที่โดดเด่นเกิดขึ้นมาช่วยกู้สถานการณ์ให้ได้ทันเวลาพอดี ซึ่งก็คือเลือดกับเนื้อจระเข้ที่ตอนนี้กลายเป็นรายได้หลักแซงหน้า “หนังจระเข้” ไปเรียบร้อยแล้ว เป็นเพราะว่ามีการ..
(โปรดติดตามเรื่องการตลาดในตอนต่อไป)
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด* * *