จากสายพันธุ์แท้ญี่ปุ่นสู่องุ่นไชน์มัสแคทสัญชาติไทย
ไร่องุ่น คุณนนท์@เขาค้อ ผลิตแบบปลอดภัยจำหน่ายในราคากิโลละ 400 บาทเพื่อคนไทยเข้าถึงได้ง่าย
“ที่ไร่จะเน้นทำแบบ one stop farm ซึ่งคนมาที่นี่จะได้ทานผลไม้ของในไร่ที่ไร้สารทั้งหมด ตามฤดูกาล ทำไมผมเลือกทำองุ่น? เพราะองุ่นเราสามารถที่จะคุมเขาได้ ว่าเราจะให้ออกตอนนี้กี่หลังโรงเรือน กี่โรงเรือนๆ สามารถคอนโทรลเขาได้ว่าจะให้ออกช่วงไหน แต่ผลไม้ตามฤดูกาล เช่น ส้มสายน้ำผึ้ง เขาต้องออกตามฤดูกาล และที่นี่จะทำทุกโปรเซสทุกตัวจะเป็นผลไม้สดที่นี่เลย องุ่นปั่นก็เก็บจากต้นไปปั่น ราสเบอร์รี่ซึ่งเราก็ปลูกเอง เราก็เก็บไปปั่น คือตรงนี้เราต้องการทำเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้วย”
เจ้าของไร่องุ่น คุณนนท์@เขาค้อ เปิดบทสนทนากับผู้ไปเยือนไร่ได้อย่างน่าสนใจระหว่างการออกมาต้อนรับ พร้อมกับนำคณะเข้าชมการผลิตภายในโรงเรือนปลูกองุ่น “ไชน์มัสแคท” ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากหน้าร้านที่เป็นพื้นที่ขายสินค้าของทางไร่มากนัก มีการบอกเล่าเพื่อให้ข้อมูลต่างๆ ไปด้วยสลับกับการตอบคำถามของผู้ไปเยือน สนใจใคร่รู้อยากจะทราบเพิ่มเติม ซึ่งเขาก็ยินดีตอบให้ฟังอย่างไม่มีติดขัดเพราะข้อมูลทั้งหมดล้วนมาจากประสบการณ์ตรงที่เขาเองลงมือทำการเกษตรมานาน นับเกินหลักสิบปีขึ้นแล้ว
เหตุผลที่ เจ้าของไร่องุ่น คุณนนท์ฯ บอกว่าต้องการจะทำเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้วย เรียนรู้คือ การเกษตรเราไม่จำเป็นต้องทำการเกษตรแล้วไปขายพ่อค้า เพราะว่าจะโดนกดเรื่องราคาที่พ่อค้าเป็นคนกำหนดให้ แต่ถ้าหากทำแบบที่นี่ คือได้ส่งต่อถึงผู้กินอันดับแรกที่ได้คือ ราคา เราเป็นผู้กำหนดเอง สองเรื่องสารเคมี เราก็ไม่จำเป็นต้องไปฉีดยาให้หนักเพื่อที่จะเอาผลสวยๆ ไปขาย เพราะว่าเราต้องการความปลอดภัย ซึ่งนี่คือลดต้นทุนแล้ว ส่วนผู้ที่มากินที่นี่หนึ่งคือได้ STORY ได้ความรู้ แล้วได้กินอาหารที่ปลอดภัย แค่นี้เขาก็พอใจแล้ว
เกษตรปลอดสาร ความเหมือนที่แตกต่าง “เกษตรอินทรีย์” อย่างไร?
นายอาทิตย์ ชัยโฉม ปัจจุบันอายุ 48 ปี เจ้าของไร่องุ่น คุณนนท์@เขาค้อ ตั้งอยู่ที่ ต.สะเดาะพง อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ บอกว่า จากประสบการณ์ที่ตนเองทำการเกษตรมา ไม่ต่ำกว่า30 ปี การทำเกษตรในประเทศไทยคำว่า “อินทรีย์” ล้วนๆ เลยคือเป็นไปไม่ได้! เพราะว่า ผลไม้ยกตัวอย่าง องุ่น เราจะให้เขาออกดอก หนึ่งคือต้องใช้เคมี เคมีคือปุ๋ยเคมี สองให้เขาสะสมตาดอก แล้วมันต้องใช้สาหร่ายซึ่งต้องผสมกับเคมี แต่สิ่งที่อันตรายที่สุดก็คือ ยาเคมี ที่เราฉีดพ่นเพื่อกำจัดศัตรูพืชต่างๆ แต่สำหรับเรื่องปุ๋ยที่หลายคนไปมองว่า “ออร์แกนิก” ซึ่งคำว่าออร์แกนิกบอกได้เลยว่าในประเทศไทยไม่มี หายาก แล้วออร์แกนิกถ้าทำแล้วผลผลิตมันได้น้อย ถ้าได้น้อยอย่างองุ่นที่ญี่ปุ่นทำไมเขาทำได้ “ไชน์มัสแคท” ขายกิโลเป็น1,000 แต่ของเราแค่กิโลละ400 บาทกำลังซื้อไม่มีแล้ว เพราะนี่คือบริบทของประเทศไทย สองคนไทยองุ่นถ้าเราไม่ให้ปุ๋ยหวาน เราไม่ไห้อะไรที่เพิ่มความหวาน เช่น แคลเซียมโบรอน พวกนี้มันไม่หวาน ถามว่าคนไทยทานไหม คนไทยก็ไม่ทาน จริงๆ แล้วเราเอาแมสก์เขามาใช้ได้ เอาหน้ากากเขามาใช้ได้ แต่เราต้องมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันของเราของคนไทย ซึ่งทำยังไงก็ได้ทุกวันนี้ประเทศไทยให้ “อาหาร” ปลอดภัยก่อน พอปลอดภัยแล้วทุกอย่างก็จะลดตามลำดับ อย่างที่ไปทานผักไฮโดรโปนิกส์ ไฮโดรโปนิกส์กับออร์แกนิกมันคนละเรื่องเลย ไฮโดรโปนิกส์จะเป็นน้ำปุ๋ยที่วิ่งมาในท่อ อันนี้ก็คือไม่ใช่อินทรีย์แล้ว แต่องุ่น “อินทรีย์” ยังจำเป็น จำเป็นตรงที่ว่าเขาใช้เวลาอยู่กับเราเป็นสิบปี เพราะฉะนั้นเราต้องปรุงดินให้ได้ธาตุอาหารรองมากที่สุด แล้วทำให้มันปลอดภัยที่สุด ยาฆ่าแมลงทำไมที่นี่ต้องทำโรงเรือน หนึ่งคือลดเรื่องเชื้อรา เพื่อไม่ต้องฉีดยาเชื้อรา เพราะทำโรงเรือนแล้วเขาไม่โดนฝนไม่โดนอะไรแล้ว สองการที่เราทำให้เขาออกลูก คือ ระบบจะคุมน้ำได้ทั้งหมด คุมอาหารได้ทั้งหมด อันนี้มันจะเป็นการที่ลดต้นทุน แต่ว่ามันจะแพงต้นทุนคือค่าระบบโรงเรือนแค่นั้นเอง
“องุ่นไชน์มัสแคท” จากญี่ปุ่นก็ปลูกได้ผลดีที่เขาค้อ ด้วยแนวทางเกษตรปลอดภัย
สำหรับการปลูก “องุ่นไชน์มัสแคท” ของไร่องุ่น คุณนนท์ฯ เจ้าของบอกด้วย ถ้าเราเข้าใจเรื่องพืช พืชเหมือนคน คนซึ่งถ้าเราทานแต่อาหารหลัก ไม่มีอาหารเสริมเลย มันก็ไม่โต เพราะฉะนั้นองุ่นได้อาหารหลักแล้วก็คือN-P-K อาหารเสริมของเขามีอะไรบ้าง ก็มีแคลเซียมโบรอน เหล็ก สังกะสี แมงกานีส ฯลฯ ซึ่งมาจากไหนก็มาจากมูลสัตว์ ตรงนี้เราก็ต้องเติมลงไป มันจะเอาอินทรีย์เข้าไปใช้ร่วมในกระบวนการเจริญเติบโตและส่งเสริมทางด้าน “คุณภาพ” ทำให้รสชาติที่ได้ออกมาก็จะมีความครบถ้วนด้วย
“องุ่นไชน์มัสแคท”(Shine Muscat) ถูกปรับปรุงพันธุ์ขึ้นในปี พ.ศ. 2531 ที่สถานีวิจัยองุ่นและพลับอะกิซึ จังหวัดฮิโรชิม่า ประเทศญี่ปุ่น และขึ้นทะเบียนพันธุ์ในปี พ.ศ.2549 เป็นลูกผสมระหว่างองุ่นพันธุ์ Akitsu 21 (Steuben (Visit labruscana) x Muscat of Alexandria (V.vinifera) กับองุ่นพันธุ์Hakunan (Katta Kurgan (V.vinifera) x Kaiji (V.vinifera)) ลักษณะผลกลมขนาดใหญ่ มีเมล็ด ผิวผลสีเขียวอมเหลือง ไม่แตกง่าย เนื้อแน่น กรอบ ไม่ฝาด มีกลิ่นมัสแคท ทนต่อโรคผลเน่าและราน้ำค้างได้ในระดับปานกลาง แต่อ่อนแอต่อโรคแอนแทรกโนส ทนต่อความหนาวเย็น ถ้าผลมีเมล็ดจะมีขนาดประมาณ10 กรัม ถ้าให้ผลผลิตไม่มีเมล็ดจะมีขนาด 12 กรัมขึ้นไป มีปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำได้19 องศาบริกซ์ ปริมาณกรด0.4 กรัม/100 มิลลิลิตร อายุเก็บเกี่ยวประมาณ80 วัน หลังดอกบานเต็มที่ในประเทศญี่ปุ่น เมื่อนำองุ่นพันธุ์ “ไชน์มัสแคท” มาปลูกในประเทศไทยพบว่า มีการเจริญเติบโตดี สามารถออกดอกติดผลได้ แต่จะมีอายุเก็บเกี่ยวเร็วกว่าประเทศญี่ปุ่นคือ ประมาณ70 วัน หลังดอกบานเต็มที่
ปัจจุบันที่ไร่องุ่น คุณนนท์@เขาค้อ มีการปลูกองุ่นไชน์มัสแคทสายพันธุ์แท้จากญี่ปุ่นที่นำพันธุ์ดีมาขยายต่อเอง ด้วยวิธีการติดตากับต้นตอพันธุ์แท้(จากกิ่งตอน) โดยไม่ใช้ต้นตอป่าหรือองุ่นสายพันธุ์อื่นเลย เพื่อให้ได้ต้นแม่ที่เป็นพันธุ์แท้เท่านั้น ซึ่งจากที่เห็นมีการให้ผลผลิตอยู่ในโรงเรือน รุ่นนี้จะมีอยู่จำนวน 3 โรงเรือน ขนาด6x50 เมตร แต่ละโรงเรือนจะปลูกองุ่นไชน์มัสแคทจำนวน30 ต้นเท่านั้น โดยมีการดูแลที่ให้ความสำคัญมาตั้งแต่ขั้นตอนของการเตรียมดินก่อนปลูก ต้องปรุงดินให้มีความอุดมสมบูรณ์และมีธาตุอาหารรองสำหรับพืชอย่างเพียงพอ จากนั้นการให้น้ำให้ปุ๋ยสำหรับต้นองุ่น จะเป็นระบบการให้ทางท่อพร้อมกับน้ำ(เป็นน้ำปุ๋ยหรือสารละลาย) เพราะที่นี่จะไม่เน้นการให้ปุ๋ยเป็นแบบปุ๋ยเม็ด โดยจะให้เป็นในรูปแบบของสารละลาย ที่มีธาตุอาหารหลักและธาตุรอง คล้ายหลักการเดียวกับการให้ปุ๋ยในผักไฮโดรโปนิกส์ ทำให้สามารถจัดการเรื่องธาตุอาหารสำหรับพืชได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้น มีการควบคุมป้องกันโรค-แมลงศัตรูพืชที่เข้ามารบกวนโดยการ ฉีดพ่นสารเคมีช่วยบ้าง แต่ว่าจะมีการเว้นระยะ “ความปลอดภัย” ก่อนการเก็บเกี่ยวอย่างเหมาะสม ซึ่งสำหรับองุ่นไชน์มัสแคทของที่นี่เจ้าของบอกว่าจะเป็นผลผลิตแบบ “มีเมล็ด”( ตูดจะไม่บุ๋ม) ส่วนนอกนั้นเรื่องของรสชาติ ความกรอบหวาน และกลิ่นหอมที่เป็นเอกลักษณ์ของสายพันธุ์ จะมีความครบเครื่องหมดเช่นเดียวกับผลผลิตที่ปลูกในประเทศญี่ปุ่น
ทั้งนี้ เจ้าของไร่บอกว่าเหตุผลคือต้องการให้คนไทยเข้าถึงองุ่นไชน์มัสแคทได้ง่ายขึ้น เพราะหากทำแบบ “ไร้เมล็ด” จริงๆ ก็ทำได้แต่ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงขึ้นไปอีก(สารเคมีที่ใช้บังคับ) รวมกับค่าแรงงานที่ต้องใช้จัดการเพิ่มขึ้น ทำให้ต้นทุนสูงขึ้นราคาก็จะต้องแพงขึ้นตาม ดังนั้นจุดเน้นของที่นี่คือการผลิตแบบปลอดภัย(ไร้สาร) และราคาที่จำหน่ายต้องไม่แพงจนเกินไปด้วย สามารถเข้าถึงได้ง่าย ซื้อซ้ำหรือซื้อบ่อยได้ ซึ่งราคาจำหน่ายของไชน์มัสแคทเขาค้อที่นี่จึงเริ่มที่กิโลกรัมละ 400 บาทเท่านั้น โดยใน1 โรงเรือนจะผลิตได้ราว 400-500 กก./รุ่น การจำหน่ายก็จะมีทั้งช่องทางการสั่งออนไลน์ (ผ่านเพจ) โดยเปิดพรีออเดอร์เพื่อให้ลูกค้าสั่งจองไว้ก่อน กับอีกส่วนหนึ่งคือผลที่ไม่สวยก็จะนำมาแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น ทำเมนูเครื่องดื่มผลไม้สดปั่น(ราคา120 บาท/เมนู) สลัดผลไม้รวม (80 บาท/จาน) เป็นต้น ลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นลูกค้าประจำที่สั่งจองหมดทุกรอบ และสำหรับลูกค้าวอล์คอิน(ขาจร) ก็สามารถมาเลือกซื้อผลผลิตสดใหม่จากต้นรวมถึงเลือกชิมเมนูแปรรูปจากผลผลิตในไร่
ทั้งผักและผลไม้ที่ทั้งหมดเป็นการผลิตแบบปลอดภัย(ไร้สาร) ซึ่งก็มีให้บริการไว้อย่างหลากหลายด้วย
บนพื้นที่ผลิตกว่า 10 ไร่ ของไร่องุ่น คุณนนท์@เขาค้อ จากความตั้งใจของเจ้าของซึ่งเข้ามาต่อยอดทางการเกษตรต่อจากคุณพ่อ ซึ่งเดิมทำเกี่ยวกับการปศุสัตว์ มาสู่ฟาร์มเกษตรปลอดภัย(ไร้สาร) โดยมีการผลิตหลักๆ ได้แก่องุ่นสายพันธุ์นำเข้าต่างๆ กว่า5 สายพันธุ์ ได้แก่ ไชน์มัสแคท, แบล็คโอปอล, มายฮาร์ท, เฟลม ซีดเลส และเรดโกลบี(Red Globe) นอกจากนี้ก็ยังมีปลูกเองอีก อาทิ พริกไทย อะโวคาโด ส้มสายน้ำผึ้ง แบล็คเบอร์รี่ ราสเบอร์รี่ ผักเคล และซาโยเต้หรือฟักแม้ว เป็นต้น ทั้งหมดอยู่ภายใต้คอนเซ็ปต์one stop farm เพื่อต้องการจะเปิดเป็นศูนย์การเรียนรู้สำหรับคนรุ่นใหม่ที่สนใจด้านการเกษตร ได้เข้ามาศึกษาดูงานด้านการผลิตและการทำตลาดสินค้าเกษตร แบบไม่พึ่งพาพ่อค้าคนกลาง โดยสามารถผลิตและตั้งราคาขายได้เอง เน้นในรูปแบบของการส่งต่อผู้บริโภคโดยตรง คนกินปลอดภัย คนขายได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่ามากขึ้นอย่างสมเหตุสมผล
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร.088-272-1443
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็