xs
xsm
sm
md
lg

เลี้ยงไก่ไข่ในตะกร้าใช้ต้นทุนต่ำด้วยอาหารสูตรสมุนไพร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปลี่ยนสวนยางสร้างเศรษฐกิจพอเพียงตามรอยพ่อ เลี้ยงไก่ไข่ในตะกร้าใช้ต้นทุนต่ำด้วยอาหารสูตร “สมุนไพร”

การเลี้ยงไก่ไข่ในตะกร้าของลุงนอม ใช้ตะกร้า 2 ใบต่อการเลี้ยงไก่ไข่ 1 แม่
“ลุงนอมคะ เลี้ยงไก่ไข่แบบขังให้อยู่แต่ในตะกร้าแบบนี้ แล้วไก่มันจะไม่เครียดแย่หรือคะ วันๆ ไม่ได้ออกไปเที่ยวเล่นที่ไหนเลย มันมีผลกระทบอย่างไรกับไก่ไข่ที่เลี้ยงบ้างไหม”


เริ่มต้นบทสนทนาจากผู้ไปเยือนที่ถามคำถามนี้ทันทีกับ “ลุงนอม” เมื่อแรกที่ได้เห็นการเลี้ยง “ไก่ไข่ในตะกร้า” ประสาคนที่ไม่รู้และถามแทนหลายๆ คนที่อาจกำลังข้องใจสงสัยในเรื่องนี้อยู่เหมือนกัน ซึ่งลุงนอมก็ตอบกลับมาว่า“ไก่ไข่ของลุงนอมที่เลี้ยงมานี่ก็อายุสองปีกว่าแล้วนะ มันก็ยังออกไข่ให้ลุงเก็บมาเรื่อยทุกวัน ขนาดที่ว่าอายุครบการปลดระวางแล้ว แต่มันก็ยังมีไข่ให้ลุงเก็บกินมาเรื่อยๆ อยู่ อาจบางวันน้อยบ้างมากบ้างแล้วแต่ ลุงว่าถ้ามันเครียดจริงมันก็คงจะไม่มีไข่ออกมาให้ลุงเก็บหรอก”

ไข่ไก่สดๆ ที่ยังเก็บกินได้เรื่อยๆ ทุกเช้าแม้ว่าแม่ไก่ไข่จะมีอายุเลยการปลดระวางแล้ว แต่ลุงนอมก็ยังสามารถได้รับผลผลิตต่อเนื่องอยู่
เป็นอันว่าเคลียร์! ชัดเจนสำหรับคำตอบที่ได้ เพราะหากใครยังคาใจอยู่ประเดี๋ยวจะขยายความต่อให้ฟัง ว่าทำไมไก่ไข่ของลุงนอมจึงได้มีอายุการให้ผลผลิตที่ยืนยาวมาถึงปานนี้! ขณะที่การเลี้ยงไก่ไข่โดยทั่วไปจะมีอายุของการให้ผลผลิต(ออกไข่) ให้เก็บได้52 สัปดาห์ก็จะต้องปลดระวางแม่ไก่กันแล้ว ถ้าอย่างนั้นก็มาฟังที่มาที่ไปกันต่อดูซิว่า ลุงนอมคนเก่งของเรามีเคล็ดลับอะไรดีๆ ที่น่าเอามาลองทำตามบ้าง!

ลุงนอม หรือนายประนอม รักจริง ปัจจุบันอยู่บ้านเลขที่52 หมู่ที่5 ต.ควนธานี อ.กันตัง จ.ตรัง เล่าให้ฟังว่า เดิมทีตนเองก็มีอาชีพทำสวนยางพาราเฉกเช่นเดียวกับเพื่อนบ้านในละแวก แต่ด้วยความที่มีพื้นที่ผลิตน้อย เพียง4 ไร่ กอปรกับส่วนหนึ่งยังถูกแบ่งมาทำเป็นพื้นที่อยู่อาศัย(บ้าน) ด้วยก็เลย ทำให้ผลผลิตที่ได้มาน้อยไม่ค่อยเพียงพอต่อการใช้เลี้ยงปากเลี้ยงท้องของจำนวนสมาชิกในบ้าน แล้วอีกอย่างหนึ่งคือราคายางเองก็ไม่ค่อยแน่นอน ถ้าจะอาศัยทำอาชีพนี้เพียงอย่างเดียวก็คงไม่พอกินแน่ๆ ลุงนอมก็เลยพยายามมองหาช่องทางที่จะมาช่วยได้อีกทาง กระทั่งพบว่า แนวทางของพ่อ “ในหลวงรัชกาลที่ 9” เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงมีการผลิตหลายอย่างอยู่ในพื้นที่เดียวกันเพื่อช่วยลดความเสี่ยง นี่แหละคือคำตอบ

โรงเรือนเลี้ยงไก่ไข่ในตะกร้าของลุงนอม ร่มรื่นด้วยดงกอไผ่กิมซุ่งช่วยให้ร่มเงาร่วมด้วย
กว่า10 ปีขึ้น มาแล้วที่ลุงนอมบอกว่าตนเองได้ยึดถือการปฏิบัติตามแนวทางของ “พ่อ” มาเรื่อยๆ ภายในพื้นที่เท่าเดิม 4 ไร่ที่มีอยู่ แต่เพิ่มเติมมาคือ การผลิตที่มีหลากหลายขึ้นไม่ว่าจะเป็น พืช3 อย่างเพื่อประโยชน์4 อย่าง เป็นการปลูกพืชที่ไม่ได้เน้นเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่จะต้องสามารถตอบโจทย์ของการใช้ชีวิตประจำวันได้อีกด้วย เช่น ผักที่ไม่ต้องซื้อกินอีกเลย หรือไผ่ก็มีปลูก “ไผ่กิมซุ่ง” ไว้กว่าหลายสิบกอที่ใช้ประโยชน์ได้ทั้งในแง่ของอาหาร ก็คือหน่อไม้ เรียกว่ากินกันอย่างไม่หวาดไม่ไหวเลย ไม้ไผ่ที่นำไปใช้งานได้ตามความประสงค์ที่ต้องการจะใช้ รวมถึงยังมีการเลี้ยงปลาในบ่อผ้าพลาสติกเพื่อสร้างแหล่งอาหารไว้สำหรับการบริโภคเองเหลือก็ขายได้อีกทาง เป็นต้น

พืช 3 อย่างเพื่อประโยชน์ 4 อย่าง ตามคำพ่อสอน
ลุงนอมบอกด้วย ในส่วนของ “บ่อปลาดุก” นั้นถือเป็นการเพิ่มการผลิตลงไปในพื้นที่ แบบไม่ได้รบกวนหรือสร้างปัญหาใดๆ
ให้กับพืชหลักอย่างยางพาราเลย แรกๆ ทดลองเลี้ยงร่วมกันมีทั้งปลาดุกกับปลานิลของพ่อ (สายพันธุ์จิตรลดา) แต่สรุปว่าปลานิลไม่ค่อยดีนักเลี้ยงร่วมกันแบบนี้รู้สึกว่า ปลาไม่ค่อยโตดี ก็เลยมาเน้นเป็นปลาดุกอย่างเดียว เลี้ยงแบบให้กินอาหารเม็ดสำเร็จรูปเป็นหลัก พออายุสัก 4 เดือนก็จับมาแกงได้แล้ว ใช้เป็นแหล่งอาหารโปรตีนในบ้าน หรือหากให้เหมาะเลยก็คือ7-8 เดือนซึ่งส่วนมากเพื่อนบ้านในละแวกจะรู้กันแล้วว่าที่บ้านของลุงนอมมีเลี้ยงปลาดุก ดังนั้นการจำหน่ายผลผลิตที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ เมื่อมีเพื่อนบ้านมาขอซื้อไปทำกับข้าวก็จึงจะทยอยจับขึ้นมาขายให้ในราคามิตรภาพ เพียง50 บาท/กก.เท่านั้น จะไม่ได้เน้นการขายแบบยกบ่อหรือผ่านพ่อค้าคนกลางซึ่งลุงนอมบอกว่า ลุงไม่ขายแบบนั้น

การเลี้ยงปลาดุกในบ่อผ้าพลาสติกของลุงนอม
และสำหรับการเลี้ยง “ไก่ไข่ในตะกร้า” แต่เดิมเลยลุงนอมเคยเลี้ยงอยู่กับต้นมะพร้าว หลังจากที่ได้ศึกษาหาความรู้ผ่านยูทูบมาแล้วสู่การลงมือปฏิบัติจริง เพราะลุงนอมเองเป็นคนที่พอได้รู้อะไรมาแล้วต้องมาลองทำดูให้รู้ด้วย เมื่อต้องเสียเวลาเดินไปดูแลไก่ไข่ที่เลี้ยงไว้ที่ต้นมะพร้าวทุกวันเริ่มรู้สึกว่ามันไกล ก็เลยเปลี่ยนใหม่มาสร้างโรงเรือนง่ายๆ โดยใช้ไม้ไผ่กิมซุ่งที่มีอย่างเหลือเฟืออยู่แล้ว และได้รับทุนสนับสนุนจากทางราชการมาด้วยส่วนหนึ่ง ก็เลยนำมาซื้อกระเบื้องเพื่อมุงหลังคาให้ไก่ไข่ได้อยู่อาศัยแบบไม่ต้องกลัวแดดฝน ส่วน “ตะกร้า” ก็ยังคงเป็นอุปกรณ์หลักอยู่เหมือนเดิม ใช้2 ใบประกบกัน(บน-ล่าง) ต่อการเลี้ยงแม่ไก่ไข่ 1 ตัว ลุงนอมบอกจะเน้นใช้เป็น ไก่ไข่สาวที่พร้อมจะออกไข่เลย ซื้อมาในราคาตัวละ185 บาท ส่วนตะกร้าราคาใบละ18 บาท ใช้2 ใบก็เท่ากับ36 บาท นี่คือต้นทุนเริ่มต้นหลักๆ ในการเลี้ยง

ใช้เนื้อที่ทุกตารางนิ้วที่มีให้เกิดประโยชน์สูงสุด
จากนั้นการดูแลบำรุงต่างๆ ลุงนอมเผยถึงขั้นตอนว่า พอไก่ไข่สาวมาอยู่ในตะกร้าเลี้ยงที่จัดสรรเอาไว้ให้ แรกๆ อาจจะด้วยรู้สึกว่ายังแปลกที่ก็มี เลยไม่ยอมกิน แต่ว่าพอเวลาผ่านไปสักหน่อยเริ่มชินและคงหิวจัดด้วย ก็ถึงจะยอมกินอาหารที่ลุงนอมจัดเตรียมไว้ให้แต่โดยดี และพออยู่ไปได้สักประมาณ10 วันแม่ไก่ไข่สาวก็จะเริ่มออกไข่ให้แล้ว การดูแลต่อจากนั้นก็โดยให้อาหารวันละ2 มื้อ(เช้า-เย็น) ก็จะมีเป็น อาหารไก่ไข่ที่ใช้แค่ครึ่งเดียวจากปกติที่เลี้ยงกันพอ! ส่วนที่เหลือก็จะมีเพิ่มเข้ามาเป็นเศษอาหาร ข้าวเย็นที่เหลือ ผัก ผลไม้โดยเฉพาะกล้วยน้ำว้าสุกงอมไก่จะชอบมากๆ หรือมีหน่อไม้สับ เอามาผสมคลุกเคล้าให้เข้ากัน กับมีต้นกล้วยสับด้วย ใบตำลึง ใบเหลียง และที่ขาดไม่ได้เลยคือ “สมุนไพร” อย่างเช่น ฟ้าทะลายโจร บอระเพ็ด ฯลฯ
เน้นของที่หาง่ายใกล้ตัวมีอยู่ในสวนเอามาให้ไก่ไข่ได้กินด้วย การให้อาหารปริมาณต่อครั้งคือ 1 มือ/ตัว/ครั้ง แล้วก็ยังมีน้ำกินที่ให้2 ครั้ง/วันเหมือนกัน ลุงนอมจะใช้ “น้ำหมักชีวภาพ” ที่มีหยวกกล้วยสับ 3 กก.ต่อกากน้ำตาล1 กก. หมักไว้10 วันแล้วนำน้ำหมักชีวภาพที่ได้ มาเจือจางกับน้ำ1 ถ้วยตวง : น้ำ20 ลิตร ใส่ในถ้วยไว้ให้ไก่กิน ข้อดีของการเลี้ยงแบบนี้คือว่า สามารถลดต้นทุนค่าอาหารได้กว่า 50% แถมไก่ไข่ยังแข็งแรงมากๆ ไม่พบการเจ็บป่วยหรือเป็นโรคระบาดใดเลย ซึ่งปรากฏว่าพออายุครบการปลดระวางแม่ไก่แล้วแต่สรุปลุงนอมก็ยังหาคนมาซื้อเพื่อนำไปใช้ทำไก่เนื้อต่อไม่ได้ ระหว่างนี้ก็จึงเลี้ยงมาเรื่อยๆ
และพบว่าแม่ไก่ไข่ก็ยังคงสามารถออกไข่ให้ลุงนอมเก็บได้เป็นปกติ เหมือนเดิม คือเก็บทุกเช้าจากแม่ไก่ไข่70 กว่าตัวที่เหลืออยู่ อายุปาเข้าไป2 ปีกว่าแล้ว แต่ทว่าก็ยังมีไข่ออกมาให้เก็บได้ทุกวัน เฉลี่ยบางวันน้อยบ้าง-มากบ้าง ด้วยต้นทุนผลิตค่าอาหารที่ไม่ได้สูงมากนักลุงนอมบอก ก็ยังถือว่ามีความคุ้มค่าในการเลี้ยงต่อไปได้อยู่

ความภาคภูมิใจที่ได้เดินตามคำสอนของพ่อ ชีวิตจึงพอเพียงและผาสุกในปัจจุบัน
ในวันนี้ลุงนอมอายุ76 ปีแล้วสิ่งที่ได้ก็คือ มีไข่ไก่สดๆ กินที่เก็บจากฟาร์มของตนเองทุกเช้าๆ ละ2 ฟองเป็นประจำทุกวัน เคล็ดลับสุขภาพดี ที่ตอนนี้ยังคงเดินทางไปอบรมดูงานตามที่ต่างๆ ได้อยู่ อย่างไม่มีปัญหาเลย ขณะที่บ้านของลุงนอมเองก็เปิดเป็นศูนย์เรียนรู้ให้กับประชาชนที่สนใจศึกษาดูงาน โดยร่วมกับสำนักงานเกษตรอำเภอกันตังด้วย และสำหรับความเปลี่ยนแปลงเรื่องของรายได้ที่เกิดขึ้นลุงนอมบอกว่าจากเมื่อก่อนไม่ค่อยพอกิน แต่เดี๋ยวนี้มีกินจนเหลือ แถมเก็บขายกันไม่ค่อยจะทันแล้ว!
มีรายได้เกิดขึ้นทุกวัน

สอบถามเพิ่มเติมโทร.085-069-5121 หรือสนง.เกษตรอำเภอกันตัง075-251742


* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด* * *


กำลังโหลดความคิดเห็น