หนุ่มเรียนจบในช่วงโควิด-19 ระบาดหนัก ทำให้ว่างงาน หันปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ขายและขยายเป็นชุดอุปกรณ์ปลูก ตอบสนองความต้องการของลูกค้า โดยเริ่มจากเล็กไปใหญ่และสามารถสร้างรายได้ให้ตนเองและครอบครัวถึง 60,000 บาทต่อเดือน ประสบความสำเร็จในระยะเวลาเพียง 6 เดือน
นายภานุวัฒน์ กลิ่นหอม เจ้าของธุรกิจผักไฮโดรโปนิกส์ “สวนข้างบ้าน” เล่าว่า จุดเริ่มต้นในการทำสวนผักไฮโดรโปนิกส์นั้นเริ่มต้นมาจากการที่ต้นพึ่งเรียนจบเมื่อเดือนมีนาคม 2564 ที่ผ่านมา ประจวบกับในช่วงนั้นโควิด-19 กำลังระบาดอย่างรุนแรงในประเทศไทย ทำให้ตนและครอบครัวต้องอยู่บ้านเหมือนคนอื่นๆ เพราะกังวลเรื่องการติดเชื้อและยังคงว่างงาน ในขณะเดียวกันตนได้ไปเจอกับวิดีโอการสอนปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ใน Youtube ซึ่งเมื่อตนได้ดูวิดีโอดังกล่าวแล้วทำให้เกิดแนวคิดที่จะทดลองทำดูบ้าง โดยเริ่มทำในวันต่อมาเนื่องจากไม่ได้มีขั้นตอนที่ยุ่งยากจนเกินไป ทั้งนี้การเริ่มต้นนั้นตนได้เริ่มตั้งแต่ขนาดเล็กเพราะยังไม่ได้มีต้นทุนมากนัก โดยการทดลองเพียง 2 กล่อง เป็นผักชี เหตุผลที่เลือกผักชีเพราะว่าต้องการทดลองกับผักที่อยู่ใกล้ตัวและกินอยู่เป็นประจำ ผักชีจึงตอบโจทย์ในช่วงการทดลองดังกล่าว
หลังจากเริ่มทดลองได้ไม่นานก็ได้มีการเพิ่มชนิดผักอย่าง ผักขึ้นฉ่าย ผัดสลัด รวมถึงผักคะน้า โดยได้มีการลงพื้นที่สอบถามร้านค้า ร้านอาหารว่าภายในร้านๆ นั้นต้องการผักชนิดอะไรบ้าง เมื่อได้คำตอบก็นำชนิดผักเหล่านั้นมาปลูก หลังจากนั้นก็ได้ปลูกและเริ่มขายมาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งมีลูกค้าที่สนใจและเริ่มเข้ามาสอบถามเกี่ยวกับอุปกรณ์การปลูก เมื่อตนเห็นว่ามีลูกค้าสอบถามเข้ามาจำนวนมาก จึงตัดสินใจทำชุดอุปกรณ์ปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ขึ้นมาเพื่อขายให้กับลูกค้าควบคู่ไปกับการขายผัก โดยเริ่มขายในช่วงเดือนกันยายนเป็นต้นมา
ปัจจุบันมีผักหลากหลายชนิดสลับกันไปในแต่ละช่วงฤดูกาล แต่ผักที่ปลูกเป็นหลักของทางสวนจะเป็น ผักขึ้นฉ่าย เนื่องจากมีการส่งขายให้กับลูกค้ากลุ่มร้านอาหารเพราะเป็นผักที่ร้านอาหารต้องการในทุกๆ วัน ปัจจุบันส่งขายให้ลูกค้ากลุ่มร้านอาหารประมาณ 4 ร้านค้า ส่วนผักสลัดจะมีการส่งขายเป็นรอบ ไม่ได้จัดส่งขายทุกวัน โดยใน 1 เดือนจะสามารถเก็บขายได้ประมาณ 2 ครั้ง สำหรับผักชีนั้นตนได้เริ่มปลูกและขายในช่วงฤดูฝน ทำให้ราคาผักชีค่อนข้างดี
ทั้งนี้ความยากง่ายและความแตกต่างระหว่างการปลูกผักลงดินและการปลูกแบบไฮโดรโปนิกส์นั้นจะแตกต่างในเรื่องการดูแล การปลูกแบบไฮโดรโปนิกส์ไม่ต้องรดน้ำ เหมาะสำหรับคนที่ไม่ค่อยมีเวลา แต่ถ้าปลูกลงดินจำเป็นต้องดูแลมากกว่า เช่น ต้องรดน้ำทุกวัน ซึ่งการปลูกแบบไฮโดรโปนิกส์จะต้องให้ปุ๋ยสูตร A และ B ซึ่งเป็นสารอาหารที่ผักจำเป็นต้องใช้โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีสารอาหารอย่างอื่นเพิ่มเติมเข้ามาเหมือนการปลูกลงดิน
จุดเด่นและความพิเศษของการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์นั้นจะตอบโจทย์สำหรับกลุ่มคนที่มีพื้นที่อาศัยค่อนข้างจำกัด และการปลูกแบบไฮโดรโปนิกส์นั้นมีขั้นตอนที่ง่าย เมื่อได้ผลผลิตมาผักจะมีลักษณะรูปร่างที่สวย มีน้ำหนักมากกว่าการปลูกแบบลงดิน นอกจากนี้ในส่วนของการเจริญเติบโตนั้นจะมีระยะเวลาเท่ากันทั้งลงดินและแบบไฮโดรโปนิกส์ ขึ้นอยู่กับชนิดของผักนั้นๆ
นอกจากจะศึกษาหาความรู้จากอินเทอร์เน็ตแล้วยังได้มีการลงพื้นที่เยี่ยมชมสวนของคนอื่น เพื่อนำเอาเกล็ดความรู้มาพัฒนาและต่อยอดเข้ากับสวนของตนเอง จนสามารถกลายเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้ให้กับครอบครัวได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้กลุ่มลูกค้าหลักๆ จะเป็นกลุ่มลูกค้าในพื้นที่ระแวกเดียวกัน ซึ่งส่วนมากจะเน้นขายปลีก เพราะการขายปลีกจะได้กำไรมากกว่าขายส่ง โดยผักสลัดจะขายอยู่ที่ต้นละ 20 บาท ซึ่งในปัจจุบันเจ้าของสวนได้ผันตัวเองมาขายอุปกรณ์ชุดปลูกเป็นส่วนใหญ่ โดยใน 1 ชุดจะเป็นชุดทดลอง ประกอบด้วย กล่องโฟม ขนาด 54x36x15 ซม. ผักเพาะ ฟองน้ำ ถุงดำ ปุ๋ย และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปลูกในราคาชุดละ 299 บาท มีให้เลือกทั้งหมด 3 แบบ เช่น ชุดผักชี ชุดผักขึ้นฉ่าย และชุดผักสลัด
ในส่วนของผลตอบรับจากลูกค้าหลังจากที่ได้เปิดขายทั้งผักและชุดอุปกรณ์นั้น ผลตอบรับอยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยสามารถขายได้อย่างต่อเนื่องตั้งแต่เริ่มจนถึงปัจจุบัน ซึ่งทางสวนได้มีบัญชีแอปพลิเคชั่น TikTok ที่ลงคอนเท็นต์ทั้งการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์และชุดอุปกรณ์ ทำให้มีฐานลูกค้าค่อนข้างมาก ลูกค้าจาก TikTok จะสั่งซื้อชุดอุปกรณ์ปลูกเป็นส่วนใหญ่ โดยส่วนมากจะเป็นกลุ่มลูกค้าจะมีอายุประมาณ 25-40 ปี ที่อาศัยอยู่ในใจกลางเมืองหรืออยู่ตามคอนโด อพาร์ทเม้นท์ที่มีพื้นที่ค่อนข้างจำกัด ซึ่งโดยเฉลี่ย 1 คนจะซื้อประมาณ 2 ชุด
“ถือว่าเป็นความสำเร็จประมาณหนึ่ง เพราะตอนที่ผมเริ่มทำ ผมไม่เคยคาดหวังเลยว่าผมจะมาถึงจุดๆนี้ จุดที่สามารถเลี้ยงตัวเราและครอบครัวได้ปัจจุบันผมได้เริ่มต้นทำงานประจำและจะลองทำควบคู่กันไปทั้งงานประจำและงานสวนผักไฮโดรโปนิกส์ แต่ว่าในอนาคตผมก็อยากจะขยายสวนผักของผม ซึ่งผมจะขยายไปทีละนิดจากเล็กไปใหญ่”
สำหรับอุปสรรคในการทำสวนผักไฮโดรโปนิกส์นั้นเจ้าของสวนให้ข้อมูลว่า จะมีอุปสรรคในเรื่องของปุ๋ย เนื่องจากมาตรฐานนั้นจะต้องใช้สูตร A และ B แต่ในส่วนผสมนั้นจะแตกต่างกัน ซึ่งจะขึ้นอยู่กับแต่ละสวนว่าจะผสมปุ๋ยให้ออกมาในรูปแบบใด โดยเจ้าของสวนได้ทดลองผิดถูกอยู่ประมาณ 4 สูตรด้วยกันจึงสำเร็จและใช้อยู่ในปัจจุบัน รวมถึงอุปสรรคในเรื่องของราคาผักในแต่ละช่วงจะมีราคาผักที่แตกต่างกัน ซึ่งมีบางช่วงที่ราคาต่ำมากจนไม่รู้ว่าจะขายในราคาเท่าไหร่ ตัดสินใจขายในราคาที่ต่ำลงจนขาดทุนไปช่วงหนึ่ง ซึ่งวิธีแก้ปัญหาคือปลูกให้หลากหลายชนิดก็จะสามารถพยุงต้นทุนให้ไปต่อได้
สำหรับยอดขายในส่วนของผักสดนั้น ทางสวนเคยได้ขายได้มากสุด 5,000-6,000 บาทต่อเดือน ส่วนชุดอุปกรณ์นั้นยอดขายอยู่ที่ประมาณ 60,000 บาทต่อเดือน และยังสามารถขายได้อย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ทำให้ความคุ้มค่าในการลงทุนของเจ้าของสวนนั้นประสบความสำเร็จถึง 80% และปัจจุบันสามารถทำกำไรได้เดือนละ 40-60%
เทคนิคและกลยุทธ์ในการทำการตลาดโปรโมทสินค้าผ่านช่องทางแอปพลิเคชั่น TikTok นั้น เจ้าของสวนให้ข้อมูลว่า “พยายามทำคลิปวิดีโอให้น่าสนใจ เข้าใจง่าย ให้ลูกค้าคิดว่ามันดูง่ายและสามารถทำได้ แล้วลูกค้าจะสนใจและติดตามมาสั่งซื้อ” นอกจากนี้ทางสวนแนะนำสำหรับคนที่สนใจให้ลองลงมือทำ ศึกษาเรียนรู้ไปทีละขั้นตอน ค่อยเป็นค่อยไปและลงทุนจากเล็กไปใหญ่
ลูกค้าที่เข้ามาสั่งซื้อชุดปลูกและอุปกรณ์การปลูกนั้นส่วนมากประมาณ 60% จะซื้อไปทดลองปลูกเป็นงานอดิเรก เป็นงานเสริม รวมถึงนำไปต่อยอดเป็นอาชีพ เนื่องจากในช่วงโควิด-19 คนว่างงานค่อนข้างมาก จึงต้องหาอาชีพทำเพื่อหารายได้ ซึ่งการปลูกผักก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางสำหรับการหารายได้
ทั้งนี้ในอนาคตทางสวนได้มีการวางแผนต่อยอดธุรกิจให้ไปในทิศทางของการขยายพื้นที่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงเปิดให้คำปรึกษาและแนะนำการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์สำหรับคนที่สนใจ นอกจากนี้ “ผมคิดว่าผมประสบผลสำเร็จได้อย่างรวดเร็ว จนผมตั้งตัวไม่ทัน ลูกค้าเข้ามาสั่งซื้อจนผมตอบแชทไม่ทัน ระยะเวลาที่ผมปลูกผักเพียง 6 เดือนเอง และขายชุดอุปกรณ์ประมาณ 3-4 เดือน แต่ลูกค้ากลับให้ความสนใจและสั่งซื้อสินค้าเข้ามาจำนวนมาก ผมคิดว่าธุรกิจเล็กๆ ของผมขยายและเติบโตไปมาก และผมคิดว่ายังจะเติบโตขึ้นไปได้อีก”
อย่างไรก็ตามในการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์หรือปลูกลงดินนั้น จำเป็นต้องสำรวจตลาดและดูช่วงฤดูกาลว่าผักชนิดใดจะสามารถขายได้ดีในช่วงไหนบ้าง ถ้าหากจะยึดเป็นอาชีพจำเป็นต้องศึกษาและเรียนรู้ช่องทางการเติบโตของธุรกิจขายผักให้เป็นอย่างดี
ติดต่อเพิ่มเติม
Facebook :สวนข้างบ้าน TikTok : @pa_nuwat
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด* * *